วันอาทิตย์, ตุลาคม 14, 2561

เริ่มแล้ว 'ยุทธศาสตร์ คสช.' บ่วงคล้องคอและโซ่ตรวนผูกข้อเท้าประชาชน ไปจนถึงปี ๒๕๘๐

๑๓ ตุลา วันที่ประชาชนไทยสูญเสียอิสรภาพทางการเมืองอย่างทางการ เหมือนถูกเอาบ่วงคล้องคอ เอาโซ่ตรวนผูกข้อเท้า เมื่อยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี คสช. เป็นผลบังคับใช้ไปจนกระทั่งปี ๒๕๘๐

ข้อสำคัญเหนืออื่นใด เป็นยุทธศาสตร์ที่คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า คสช. (คณะรักษา...บลา บลา) เป็นทั้งผู้กำหนดและผู้บังคับใช้ไปตลอดระยะเวลาดังกล่าว คนกลุ่มนี้เข้ามาสู่อำนาจด้วยการใช้อาวุธบังคับ และกำลังสั่งสมยุทโธปกรณ์ไว้ใช้ครองอำนาจต่อไปอีกนานเท่านาน

แม้นว่า คสช.ชุดนี้ที่เป็นกรรมการยุทธศาสตร์กันสลอนจะม้วยมรณากันไปก่อนครบกำหนดสิ้นสุด แต่ก็จะมี คสช.รุ่นใหม่ๆ มาแทนที่ ดีไม่ดีถ้าประชาชนยอมให้กำกับอย่างเบ็ดเสร็จโดยดุษฎีตลอดยี่สิบปี อาจมีการต่ออายุอีกสิบหรือยี่สิบปี ไม่ให้ได้โงหัวกันทั้งชาติ

“ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาบริหารประเทศหลังจากเลือกตั้ง ก็จะต้องเดินตาม เส้นทาง ของยุทธศาสตร์ คสช. ที่วางไว้โดยไม่แตกแถว” ไอลอว์ สำนักสื่อที่ให้ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเตือนเอาไว้

ว่ายุทธศาสตร์ที่ผูกมัดชีวิตคนไทยในอีกอย่างน้อย ๒ ทศวรรษข้างหน้านี้ เป็น “การดำเนินการของคนเพียงหยิบมือเดียว ที่ใช้ชื่อต่างๆ กัน” และ “ทั้งหมดมีต้นกำเนิดเดียวกัน ก็คือ คสช.”

ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ ๑๕ คน หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์เอง ๒๙ คน ก็ล้วนแต่เป็นชาว คสช. “เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, วิษณุ เครืองาม ฯลฯ”
มิหนำซ้ำสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ผู้ให้ความเห็นชอบ ๒๔๘ คน ก็ล้วนเป็นทหาร “เป็นผู้ชายวัยหกสิบขึ้น และมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด” แล้วยังมีอีกกลไกกำกับยุทธศาสตร์ชาติต่อไปในอนาคตที่ คสช.กำลังจะแต่งตั้งอีก ๒๕๐ คน ก็คือวุฒิสภา

“คสช. มักอ้างต่อสาธารณะว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องทางนโยบาย ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็จะต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่พรรคการเมืองต่างสลับกันขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้วก็ออกนโยบายเพื่อหวังคะแนนเสียงทางการเมือง

แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นในทางตรงกันข้าม เพราะนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์จำนวนมากที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคการเมือง ก็สามารถยืนหยัดมั่งคงข้ามรัฐบาลได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไป

แต่นโยบายก็ยังคงอยู่ได้ เช่น นโยบาย ๓๐ บาท รักษาทุกโรคของพรรคไทยรักไทย หรือนโยบาย เรียนฟรี ๑๕ ปี ของพรรคประชาธิปัตย์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์ที่ว่านี้เป็น พิมพ์เขียว ของ คสช. เพื่อใช้ครองเมืองระยะยาว แอบกำหนดกันเอาไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ หลังจากยึดอำนาจได้ไม่นาน นัยว่ามีคณะกรรมการชุดหนึ่งจัดทำไว้ในเบื้องต้นก่อนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะได้รับมอบหมายให้ทำการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ด้วยซ้ำ

ยุทธศาสตร์ที่ คสช.อ้างว่าออกมาตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ นี้ แท้จริงเป็นเพียงฉบับที่ทำให้สมบูรณ์ด้วยการลงรายละเอียดว่าจะทำการบังคับ และกำกับอย่างไรเป็นเรื่องใหญ่ พ.ร.บ การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ ลงโทษ ไว้ ๓ ทาง ดังนี้
 
๑.เมื่อหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บท (ม.๒๖) ให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการ โดยคณะกรรมการ จัดทำ ยุทธศาสตร์ (๑๕ คน) เป็นผู้แจ้ง (ตักเตือน) และแนะวิธีแก้ไขก่อน หากเตือนแล้วยังไม่ทำตามให้แจ้งแก่คณะกรรมการชุดใหญ่ (ที่ประยุทธ์เป็นประธาน) ไปฟ้อง ครม. เพื่อดำเนินการ

๒.หลังจากที่ ครม.สั่งการหน่วยงานรัฐให้ปฏิบัติอย่างใดๆ แล้วยังไม่ยอมแก้ไข (ม.๒๕ และ ๒๖ วรรค ๓) คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ หรือสภาผู้แทนราษฎร/วุฒิสภา เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ส่งเรื่องไปยัง ปปช. “พิจารณาลงโทษหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น

โดยการดำเนินการของ ป.ป.ช. ต้องแล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง” และเมื่อ ปปช.มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ก็ให้ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้นสั่งพักงาน ออกจากราชการ หรือให้พ้นตำแหน่งได้ทันที

๓.ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเองถูกกล่าวหาว่าไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ หรือว่ามติ ครม. ทำให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติผิดไปจากยุทธศาสตร์ (ม.๒๙) ให้คณะกรรมการจัดทำฯ แจ้งต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ และวุฒิสภา แล้ววุฒิสภาเป็นผู้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นความผิดก็ส่งเรื่องไปยัง ปปช. จัดการพิจารณาอีกชั้นหนึ่งภายใน ๖๐ วัน เมื่อ ปปช.ชี้ว่าผิดจริงจึงส่งคดีไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตัดสิน ทันทีที่ศาลประทับรับฟ้อง ผู้ถูกร้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

เมื่อศาลฯ มีคำพิพากษาว่าผิด รัฐมนตรีทั้งคณะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และถูกเพิกถอนทั้งสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งและรับสมัครเลือกตั้งเป็นเวลา ๑๐ ปี แล้วยังไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป นอกจากนี้ยังอาจถูกฟ้องคดีประพฤติมิชอบในหน้าที่ ตามมาตรา ๑๗๒ ของ พรบ.ปปช. ซึ่งมีโทษจำคุก ๑-๑๐ ปี ด้วย


ไม่ว่าการเขียนตัวบทกฎหมายให้ซับซ้อน เกี่ยวกับบทลงโทษต้องผ่านองค์กรอยู่หลายขั้นตอน ทำให้ดูเหมือนว่ามีความรัดกุมสูง แต่เป็นความรัดกุมเฉพาะตอนทำโทษ ทว่าสาเหตุแห่งความผิดนั้นกำหนดโดย คสช. แท้ๆ

แล้วยังบุคคลากรผู้ทำหน้าที่ชี้ความผิดก็เป็น คสช.ทั้งนั้น การจะเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่าเป็นของ คสช. จึงต้องตรงต่อความเป็นจริงอย่างยิ่ง และดังได้เกริ่นไว้แล้วแต่ต้นว่า คสช. คือกลุ่มคนที่เข้ามาจัดการกำหนดยุทธศาสตร์ได้เพราะการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ประชาชนเลือก

คณะทหารสามารถยึดอำนาจได้อย่างเหนียวแน่นเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีอาวุธอยู่ในมือ การสนับสนุนและเรียกร้องจากม็อบข้างถนนจำนวนหนึ่งแม้จะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ไม่ใช่ความชอบธรรม

ฉะนั้นยุทธศาสตร์ คสช.นี้จะครอบหัวประชาชนไปตลอด ๒๐ ปีหรือนานกว่านั้นก็เพราะคณะทหารที่ใช้นาม คสช. นี้มีอาวุธเป็นอำนาจ ตลอดเวลาที่คนเหล่านี้ครองเมืองมาเกือบ ๕ ปี ได้สวาปามงบประมาณและทำการสั่งสมยุทโธปกรณ์ไม่หยุดหย่อน

เราได้เห็นข่าวทัพบกซื้อเฮลิค้อปเตอร์จากรัสเซียเพิ่ม ๒ ลำ นาวิกโยธินตกลงซื้อรถถังจากยูเครนอีก ๒ คัน และกองทัพอากาศซื้อเครื่องโดรน ๑๗ ลำ เป็นเงินงบประมาณ ๕๗๙ ล้านบาท
 
ทั้งๆ ที่เครื่องโดรนนี้นายหน้าผู้ขาย “เป็นบริษัทในเครือข่าย เอวิเอแซทคอม ผู้ตุ๋นขาย จีที ๒๐๐ ให้กองทัพ” โดยมีลักษณะ ฟิสชี่ คาวๆ ให้เห็น จากข้อสังเกตุของ VoteNoจ้า @iamasiam14 ที่ว่า

“ปี ๕๙ ทำสัญญากับเอวิเอแซทคอม พอตอนส่งงานปี ๖๐ กลายเป็นอาร์วี คอนเน็กซ์ –สัญญาจัดซื้อของรัฐเปลี่ยนชื่อบริษัทกันดื้อๆ ได้”