วันเสาร์, ตุลาคม 06, 2561

ทำไม 6 ตุลา กลับมาเป็นที่สนใจ ?




...

6 ตุลา 19 ที่สังคมลืมไปแล้ว จนบางคนเอา 14 ตุลา 6 ตุลามาเรียกรวมว่า "16 ตุลา" กลับมาเป็นที่สนใจเพราะประวัติศาสตร์มันย้อนรอย โดยเฉพาะเมษา พฤษภา 53 ที่มวลชนเสื้อแดงถูกปราบปรามด้วยกระสุนจริง และไม่ได้รับความยุติธรรม คนเสื้อแดง คนรักประชาธิปไตย อ้าแขนรับ มีอารมณ์ร่วม กับนักศึกษาประชาชนที่ถูกกระทำก่อนหน้านั้น 34 ปี เห็นภาพเก้าอี้ฟาด แล้วก็น้ำตาไหลไปด้วยกัน (แต่ตลกร้าย คนตุลาอีกฝั่งหนึ่งกลับผลักไสปฏิเสธเสื้อแดง)

ประวัติศาสตร์มันย้อนรอย ไม่เฉพาะการเข่นฆ่า แต่เหมือนกันแทบทุกอย่างทั้งดาวสยามปลุกขวาพิฆาตซ้าย ชี้หน้า นศ.เป็นพวกแดง "ล้มเจ้า" คอมมิวนิสต์ สมควรตาย ฆ่าไม่บาป มีมวลชนแยก 2 ฝั่ง นวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน แม้ยุคนี้เหลืองแดงขยายใหญ่โตกว่า แม้ช่วงเวลาอาจยาวนานกว่า แต่จบลงที่รัฐประหาร กวาดล้าง "แดง" เหมือนกัน

คำถามคือ แล้วมันจะลงเอยเหมือนเดิมไหม ครั้งนั้น ขบวนการนักศึกษาซึ่งเข้าป่าจับปืนต้องพ่ายแพ้ ชนชั้นนำ ทหาร ครองอำนาจได้ยาวนานภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งดูๆ ไป รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ต้องการซ้ำรอยเดิม ทำลายประชาธิปไตย อ้างความวุ่นวาย ยึดอำนาจ แล้วค่อยๆ คลายกลับไปเป็นครึ่งใบ

แต่นั่นมัน 2 ปีแล้วไง ปัจจัยอะไรๆ เหมือนเดิมหรือเปล่า

ปัจจัยสมัยนั้นแยกคร่าวๆ 3 ข้อ ข้อแรก อุดมการณ์สังคมนิยมแบบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพล่มสลาย จีนต้องเปลี่ยนเป็นทุนนิยม โซเวียตแตก แม้เหตุการณ์เหล่านี้ทยอยเกิดทีหลัง แต่มันเห็นริ้วรอยตั้งแต่ตอนนั้น (จีนโค่นแก๊งสี่คนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พอดี) พคท.แตกเพราะปัญหาภายใน นศ.ตั้งคำถามเรื่องแนวทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ปฏิวัติ ที่ไม่สอดคล้องสภาพสังคม ซึ่งตามมาด้วยปัญหาประชาธิปไตย ไม่รับฟังความเห็นต่าง

ข้อสอง ชนชั้นนำและกองทัพสามารถปรับตัว เมื่อเห็นว่ารัฐบาลหอยสุดโต่งไปไม่รอด ก็รัฐประหารกันเอง พล.อ.เกรียงศักดิ์รีบร่าง รธน. ไปสู่เลือกตั้ง นิรโทษกรรมผู้นำ นศ. ต่อมา พล.อ.เปรมก็ออกนโยบาย 66/23 แล้ววางระบอบครึ่งใบ ซึ่งสังคมสมัยนั้นยอมรับได้ ก็อยู่ใต้เผด็จการถนอมประภาสมายาวนาน 16 ปี เป็นประชาธิปไตยแค่ 3 ปี มาเจอเผด็จการสุดขั้ว 1 ปี พอกลับไปครึ่งใบ มีพื้นที่ให้นักการเมือง ให้ภาคธุรกิจ (กรอ.เริ่มยุคเปรม) ให้สื่อ (หนังสือพิมพ์เปิดใหม่เพียบ) ให้ประชาสังคม (ยุค NGO เบ่งบาน) สังคมก็รู้สึกว่ายังดีวะ

ข้อสาม เศรษฐกิจโลกยุคนั้น เงยหัวขึ้นพอดี เพราะราวปี 24 ก็เข้ายุครีแกน แธตเชอร์ ที่เริ่มเป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ โลกย่างสู่ยุคเปิดเสรีการค้าการลงทุน ต่อมาก็เป็นโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมบริโภค วัฒนธรรมตะวันตก ที่แอนตี้กันนัก ก็หลั่งไหลมายุคนั้นแหละ แต่ทุนนิยมที่เติบโตมันก็ค้ำจุนอำนาจอนุรักษ์นิยมนะ ง่ายๆ เลยคือคนพอใจเศรษฐกิจดี ยุคป๋าต่อเนื่องมาน้าชาติ คือยุคโชติช่วงชัชวาล การต่อสู้เรียกร้องอะไรก็ทำได้ยาก พลังนักศึกษาแทบจะตายสนิท เพราะรีบเรียนให้จบมีงานทำ มหาวิทยาลัยก็กลับไปสู่ยุควัยหวานบันเทิง ฟื้นโซตัส ซึ่งนายทุนก็ชอบจารีตนิยมก็ชอบ จะได้อยู่ในโอวาท ไม่ต้องคิดเป็น ไม่ต้องคิดมาก มีศีลธรรมดีงามฉาบฉวยแบบโฆษณาทีวี แล้วก็กลายมาเป็นพวกไม่เอาเลือกตั้งทั้งที่ใช้ชีวิตแบบฝรั่งในปัจจุบันนี้ไง

ถ้าย้อนอดีตแล้วกลับมาเทียบปัจจุบัน ปัจจัย 3 ข้อเป็นไง

ข้อแรก ใช่ละ มันเหมือนประชาธิปไตยเลือกตั้งกำลังมีปัญหาทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้มีคำตอบอื่นที่ดีกว่า เผด็จการดีกว่า? เลือกฝ่ายขวาดีกว่า? ยิ่งสร้างปัญหาทั้งนั้น มันเป็นวิกฤติที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำสูงลิบ ของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่ทำให้ประชาธิปไตยโลกจะต้องปรับตัว แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่มีใครเขาเอาแบบไทย

ข้อสอง ยิ่งไปกันใหญ่ ทหาร ชนชั้นนำ ไม่ได้พยายามปรับตัวเลย มีแต่ร่วมมือกันสร้างรัฐเข้มแข็งควบคุมประชาชน ไม่เห็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ คิดหาหนทางอยู่ร่วมกับสังคมอย่างเหมาะสม มีแต่แข็งขืนด้วยอำนาจ

ประชาธิปไตยครึ่งใบตอนนั้น เกิดหลังเผด็จการ 16 ปี ประชาธิปไตย 3 ปี แต่นี่ประเทศเปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว ไล่ รสช.ปี 35 แล้วใช้ รธน.40 มา 9 ปี ลดความเป็นประชาธิปไตยมาใช้ รธน.50 อีก 7 ปีก็ไปไม่รอด ยังจะถอยไปอีก มันสวนทางโดยสิ้นเชิง แต่พวกเขาตันแล้วไง หาจุดลงตัวไม่ได้แล้ว ได้แต่ดันทุรังไป

ข้อสาม นี่คือสิ่งที่ประยุทธ์ สมคิด หวังพึ่ง ขายฝันพึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนมองไปข้างหน้า EEC 4.0 พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ขอให้ลืมความขัดแย้ง ลบอดีต เลิกทวงความยุติธรรม เลิกทวงอำนาจ แล้วรับบัตรคนจนไป คนรุ่นใหม่ก็ให้ว่านอนสอนง่าย ฝึกท่องอาขยาน หรือไม่งั้นก็อยู่ในโลกส่วนตัวไป ความหวังของอำนาจอนุรักษ์วันนี้คือผนึกรัฐเข้มแข็ง กับทุนใหญ่ ปกครองประเทศแบบแข็งขืน แล้วหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น สุดท้ายก็จะลืมประชาธิปไตย ลืมบาดแผล ความอยุติธรรม ลืมปี 53 ไปเอง

ทำได้จริงเหรอะ


Atukkit Sawangsuk