เป็นการเปลี่ยนไปครั้งสำคัญของประเทศไทย
ที่อยู่ในสายตาชาวโลก จากข่าวเจแปนไทมส์ไปถึงบีบีซีเวิร์ลด์ รับรู้กันทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย
ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทรัพย์ศฤงคารส่วนพระองค์เป็นมูลค่ามหาศาล อย่างน้อยๆ ๓๐
พันล้านดอลลาร์ หรือ ไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านล้านบาท
ประกาศของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เมื่อ ๑๖ มิถุนายน ศกนี้ ที่ว่าเป็น “คำชี้แจง
การเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
มีนัยยะประทับลงอย่างมั่นคงว่าพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ฯ “จะทรงจัดการทรัพย์สินนั้นตามพระราชอัธยาศัย”
และ “ให้มีการเสียภาษีอากรทุกประเภทเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป” ด้วย
ดังคำชี้แจงข้อ ๒ ที่ว่า
“จึงต้องเปลี่ยนชื่อความเป็นเจ้าของทรัพย์สินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในบังคับของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร”
นสพ.เจแปนไทมส์
อ้างอิงสำนักข่าวเอเอฟพีและจิจิ ระบุว่า “นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บอกว่าจักรีเป็นราชวงศ์หนึ่งที่ร่ำรวยที่สุดของโลก
ด้วยมูลค่าประเมินระหว่าง ๓๐,๐๐๐ ถึง ๖๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์
ทั้งที่สถาบันกษัตริย์ไทยไม่ต้องแจ้งทรัพย์สินต่อสาธารณะ
และปกป้องจากการวิพากษ์วิจารณ์โดยกฎหมายเหี้ยมเกรียม เลส มาเจสตี้”
ทางด้านบีบีซีเน้นตอนหนึ่งถึง
‘คำชี้แจง’
จากสำนักงานทรัพย์สินฯ
ปาวารณาว่าจะมีการบริหารทรัพย์สินนั้นอย่างโปร่งใส และเปิดให้มีการตำหนิติชมได้”
(อยู่ในข้อ ๔ ตอนท้ายของคำชี้แจง)
อย่างไรก็ดีบีบีซียอมรับว่าปริมาณทรัพย์สินทั้งสิ้นเป็นจำนวนเท่าไรไม่แน่
แต่อ้างอิงรายงานของนิตยสารฟอร์บเมื่อปี ๒๕๕๕ ว่ามูลค่าประเมินทั้งอสังหาริมทรัพย์และการลงทุน
เกินกว่า ๓ หมื่นล้านดอลลาร์
อีกทั้ง
“ข้อมูลตลาดหุ้นเมื่อเดือนมีนาคมแสดงว่า พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเข้าครอบครองหลักทรัพย์ของบริษัทสยามซีเม็นต์
เป็นมูลค่า ๑๕๐ ล้านดอลลาร์” (ราว ๔,๘๐๐ ล้านบาท) กับทรงรับโอนหุ้นส่วนธนาคารไทยพาณิชย์กว่า
๕๐๐ ล้านดอลลาร์ (ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท) มาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์”
(https://www.bbc.com/news/world-asia-44507590 และ https://www.japantimes.co.jp/news/2018/06/16/asia-pacific/thai-king-granted-full-ownership-crowns-billions/#.WyW3cadKj4Z)
ทั้งนี้ใน คำชี้แจงฯ แจ้งไว้ชัดแจ้งถึง “พระราชปณิธานที่จะสืบสานพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช”
ในฐานที่รัชกาลที่ ๕ ทรงก่อตั้งแบ๊งค์ ‘สยามกัมมาจล’
(ที่กลายมาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์) และ ร.๖ ทรงให้กำเนิดบริษัทปูนซีเมนต์ไทย
ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ ร.๑๐ จึง “ทรงรับเป็นพระราชภาระในการดูแลกิจการเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง”
ทั้งสิ้น โดยที่ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินฯ
ถือหุ้นในไทยพาณิชย์ ๑๘.๑๔%
เมื่อรวมกับหุ้นที่เพิ่งโอน ทำให้ในหลวงฯ วชิราลงกรณ์ทรงเป็นเจ้าของแบ๊งค์เอสซีบี
๒๑.๔๘% ทำนองเดียวกับทรงเป็นเจ้าของหุ้นปูนซีเมนต์ ๓๐.๗๖% เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้ถือหุ้นปูนซีเมนต์อยู่แล้ว ๓๐%
ทั้งหมดนี้เป็นผลจากรัฐบาล
คสช.ได้ทำการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินสถาบันกษัตริย์เสียใหม่
จากฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๙ มาเป็นฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๐ “โดยรวมทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าด้วยกัน
เป็นทรัพย์สิน ‘ฝ่าย’ พระมหากษัตริย์”
อันเป็นผลให้ทรัพย์สินหลายอย่างที่เคยอยู่ในสังกัดทรัพย์สิน
‘ส่วน’ พระมหากษัตริย์ บัดนี้เปลี่ยนมาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งหมดในชื่อ ‘ฝ่ายพระมหากษัตริย์’ รวมทั้ง ‘ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน’ ที่กฎหมายใหม่ได้เลิกประเภทนี้ไปรวมอยู่ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว
อันแสดงจุดมุ่งหมายหลักสำคัญอยู่ที่ “การจัดการ การดูแลรักษา
การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์...ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” ในหลวงฯ ร.๑๐ ซึ่งจะทรงมอบหมายให้ใครเป็นผู้ดำเนินการก็ได้
ความแตกต่างจากสมัย ร.๙ อยู่ที่ “ในหลวงภูมิพลไม่เคยมีพระนามเป็นผู้ถือหุ้นในสองบริษัทยักษ์ดังกล่าว”
ต่อการนี้ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย ตั้งข้อสังเกตุว่า ทรัพย์สินที่เคยอยู่ในสังกัดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น
มีบางส่วนที่ไม่ใช่ของตระกูลมหิดลเป็นส่วนตัวมาก่อน (ก็มี)
ตัวอย่างสำคัญคือที่ดิน ‘วังเพ็ชรบูรณ์’ (ที่ตั้งเซ็นทรัลเวิร์ลปัจจุบัน
คงพอนึกออกว่ามูลค่าขนาดไหน) เคยเป็นของตระกูลวรานนท์ธวัช ที่ไม่กี่ปีนี้ก่อนนี้เอง
คุณจิรายุเคยให้สัมภาษณ์นักวิชาการฝรั่งคนหนึ่งว่าไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันกับมหิดล
[not really the same family]”
ข้อสังเกตุเดียวกันของ สศจ. ในเรื่อง ‘ที่ทรัพย์สินฯ’ คือ “ที่ดินสำคัญๆในกรุงเทพ (เช่น
ประตูน้ำ, ราชเทวี, สีลม, วิทยุ ฯลฯ ฯลฯ) ซึ่งเป็นทั้งที่ตั้งศูนย์การค้าและชุมชนสำคัญๆ ที่เคยมีเจ้าของที่ดินในนาม
‘สำนักงานทรัพย์สินฯ’ ต่อไปก็จะมีเจ้าของที่ดินในนาม
‘วชิราลงกรณ์’ โดยตรง”