เข้าใจละประยุทธ์เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ ‘I-Hear’
ไม่ใช่ ‘I-Tube’ แต่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่แย่งเขามา ต้องทำให้ได้ดีกว่าเขา (และเธอ) ไอ้ที่มีโมโห
มีโกรธ ต้องเก็บไว้บ้าน ไม่ใช่เที่ยวบ้วนทิ้งข้างทาง (ส่วนใหญ่ก็ใส่พวกนักข่าว
ที่เอาไปแพร่ต่อตามวิชาชีพ)
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงไม่มีระบุไว้โจ่งแจ้งในรัฐธรรมนูญ
ก็ต้องมาพร้อมกับการรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดจากการทำงานในหน้าที่นี้ ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ ทั้งชุ่ยและชอบ
ที่ทั่วโลกเขาเรียกว่า ‘Accountability’
สี่ปีทำหน้าที่ ‘ดีที่สุด’ ตามมาตรฐานของตัวเองไม่พอ
ต้องให้คนทั้งประเทศเห็นผลว่ามันดีที่สุดจริงๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นก็ต้องรับคำติ
คำด่า และ (โดยเฉพาะ) คำผรุสวาสที่เกิดจากความสามหาว กร่าง และวางท่า ‘ข่มเขาโค’ ของตนเองต่อประชาชน
ที่จริงมีคนเขาไล่ เขาวอนให้ออกไปหลายหน
ตั้งนานแล้ว ก็จับพวกเขาไปเข้าคุกแล้วตั้งคดีร้ายแรงเป็นชนักปักไว้ ที่พูดว่า “ไม่รู้จะทำไปทำไม”
น่ะใช่เลย พูดได้แต่ไม่คิดอย่างนี้ น่าจะมีคำเรียกที่ตรงกับบุคคลิกภาพมากกว่า ‘I-Hear’ ‘I-Tube’ หละ
อย่างพวกคนอยากเลือกตั้งที่ถูกตั้งข้อหาร้ายแรง
เขาเรียกร้องคาดคั้นให้มีเลือกตั้งโดยเร็วภายในปี ๖๑ ตามสัญญาที่เลื่อนมา ๕
ครั้งแล้ว พอกันที ก็จับกุมพวกเขาและฟ้องร้องเอาผิดในข้อหากระด้างกระเดื่อง
ปลุกปั่นยุยง แถมด้วยความผิดฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. เสียอีก
จะอ้างว่าคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ด้วยคำวินิจฉัยศาลไหน
ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลเจ้า ศาลหรือพระภูมิ ถ้าตัดสินโดยขัดแย้งกับหลักนิติธรรม
‘Rule of Law’ และนิติรัฐ ‘Rechtstaat หรือ Rationality’ ก็ย่อมเป็นความผิดพลาด
(หรือประสงค์ร้าย) ที่ต้องถูกด่าเป็นธรรมดา เพราะเขาไม่มีกำลังอำนาจบังคับให้กลับจากร้ายเป็นดีได้
มิฉะนั้นคงต้องย้อนกลับไปสู่ศตวรรษที่ ๑๖ แล้วใช้หลัก
‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’
กระนั้นหรือ
ข้อเรียกร้องของ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา
หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินสู่ศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ห้ามชุมนุมการเมือง ๕ คนขึ้นไป นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
แต่คำร้องไปยังไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะถูกผู้ตรวจการฯ ตีตกเสียก่อน อ้างว่า คสช.ได้รับการคุ้มครอง ฟ้องไม่ได้ สั่งอะไรออกมามีฐานะเป็นกฎหมายหมด
จะทำอะไรผิดก็ได้ ปลอดจากการต้องรับผิดโดยสิ้นเชิง ตามนัยยะที่เขียนไว้ใน รธน.
มาตรา ๒๗๙ (นิคเนม ‘คสช.เป็นพ่อทุกสถาบัน’)
วานนี้ (๖ มิถุนา) ครูโบว์จึงได้ยื่นร้องเรียนอีกครั้ง
เหตุไฉนผู้ตรวจการแผ่นดินเล่นตัดตอน สกัดเรื่องขอให้วินิจฉัยประเด็น ‘๓/๕๘’ ในเมื่อหน้าที่ของผู้ตรวจฯ
ก็คือตรวจคำร้องเบื้องต้นเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย
มาตรา ๒๓๑ (๑) ของ รธน.๖๐
เธอยกเหตุผลมาสนับสนุนว่า “เพื่อขจัดความเคลือบแคลงในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
ซึ่งควรตั้งอยู่บนหลักการว่ากฎหมายคือเครื่องอำนวยความยุติธรรมและดำรงอยู่เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
ผิดจากนี้จะถือเป็นกฎหมายตามหลักนิติธรรมมิได้”
นอกจากนั้นข้ออ้างอำนาจวิเศษของ คสช. มาตรา
๒๗๙ ทำให้ผู้ตรวจฯ ตีตกคำร้องครั้งแรกของเธอนั้น สมควรให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดว่า “ขัดต่อหลักนิติธรรมในการตรากฎหมาย
มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และบ่อนทำลายรัฐธรรมนูญหรือไม่”
เรื่องนี้น.ส.ณัฏฐา ชี้หลักคิดอย่าง ‘ปุถุชน’ ว่า “โดยสามัญสำนึกของวิญญูชน
การจะรับรองการกระทำใดๆ ว่าชอบธรรมล่วงหน้าโดยที่การกระทำนั้นยังไม่เกิดขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้”
ประการหนึ่ง
“และการจะรับรองคำสั่งของบุคคลคนเดียว โดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นคำสั่งใดว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น
ย่อมหมายความว่าคำสั่งของบุคคลนั้นมีศักดิ์เหนือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ”
(ดู https://www.facebook.com/bow.nuttaa/posts/10155709551180819
และ https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_106478)
ข้อต่อสู้ของครูโบว์สมเหตุสมผลตามวิถีแห่ง Rule
of Law แท้จริง ที่ว่าท้ายที่สุดแล้วกฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย
จักต้องตั้งอยู่บนสามัญสำนึกของมนุษย์