วันอาทิตย์, มิถุนายน 17, 2561

พบน้ำตกใหม่ "ป่าแหว่งธาราธาร" 😂😂😂




...





ป่าแหว่ง : หมู่บ้าน “อาคารวิบัติ” ทั้งแหว่ง ทั้งชัน ดินสไลด์ พัง ทรุด

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ศึก “หมู่บ้านป่าแหว่ง” โครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 เชิงดอยสุเทพ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ยกใหม่มีการการันตีมันส์ ซี้ด... ถึงใจพระเดชพระคุณแน่ เพราะหมดเวลาเกมยื้อแล้ว และเห็นแล้วว่าฟากฝั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ทำทีโยนผ้า แต่ว่าเอาเข้าจริงกลับทำ “เสมือน” ไม่ยอมรับกติกาที่ตกลงกันเอาไว้ ทำให้คำบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ว่าให้ตั้งกรรมการร่วมหาทางออก ฟื้นฟูสภาพ และห้ามใครเข้าอยู่อาศัย หาความเชื่อถืออะไรไม่ได้ เสมือนตบหน้าโชว์สาธารณะกันฉาดใหญ่

“.... เรากำลังแก้ปัญหาอย่างถูกวิธีก็คือแก้ทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ .... ขอให้ไว้เนื้อเชื่อใจ ในเมื่อผมไม่ให้ใครอยู่ก็ไม่ให้ใครอยู่ .... เรื่องจะรื้อไม่รื้อเป็นเรื่องของคณะกรรมการไปว่ากันมานะ...”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2561 ณ อาคารเอนกคุณาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 ซึ่งมีความชัดเจนว่าให้เคลียร์ปัญหาให้จบและห้ามเข้าอยู่อาศัยโดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นป่าแหว่งแทงใจสาธารณชน

ปัญหารอบใหม่อุบัติขึ้น ด้วยปรากฏว่า คณะอนุกรรมการศึกษาการดำเนินการในส่วนของสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้พื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ กรณีก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ (อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) ที่มีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน เพื่อหาข้อยุติปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อขอเข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 แต่กลับได้รับการปฏิเสธไม่ให้ตัวแทนประชาชนที่เป็นกรรมการและอนุกรรมการเข้าไปในพื้นที่ เป็นเสมือนการตบหน้าผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรี ตลอดถึงนายกรัฐมนตรี อย่างจัง อีกครั้ง

“.... การไม่ให้ตัวแทนประชาชนที่เป็นกรรมการ/อนุกรรมการเข้าไปในพื้นที่ ก็คือการตบหน้าผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรี ตลอดถึงนายกรัฐมนตรีอย่างจังๆ ก็นายกฯ แถลงข่าวออกมากับปาก ว่าจะให้มีคณะกรรมการไปศึกษาหาทางออก ไปตั้งกรรมการมา ... นี่ก็ตั้งแล้ว ... แล้วไง อำนาจหน้าที่เพื่อไปศึกษาข้อเท็จจริง แต่เข้าพื้นที่ดูข้อเท็จจริงไม่ได้ มันพิสูจน์ด้วยตัวเอง ว่าตั้งแต่ปี 56 - 57 ทำไมโครงการมาทำโดยไม่ต้องแจ้งใคร อบต.ท้องที่ก็เข้าไม่ได้ ไม่มีใครเคยเห็นแบบแปลน ก็ไม่ต้องแยแสใครแบบนี้นี่เอง” นายบัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Bunnaroth Buaklee จี้จุดต้นตอปัญหา

ต่อด้วยความที่ว่า “ท่านไม่ให้เข้า เราก็เอามาโชว์ซะ ตัวแทนของคณะกรรมการและหน่วยราชการที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ประชุมที่ศาลากลาง ทำหนังสือล่วงหน้าขอเข้าไปดูพื้นที่วันที่ 12 มิ.ย. ส่งรายชื่อแนบด้วย ให้เกียรติเจ้าของสถานที่ตามขั้นตอน จน .... 11 มิ.ย. ณ เวลา 17.00 น. เลยเวลาราชการไปแล้วยังไม่มีคำตอบ สำหรับภาคเอกชนอย่างเรา นี่เป็นเรื่องง่วงเง่าน่างุนงง ในเมื่อท่านยอมรับให้ฝ่ายบริหารดำเนินการ ขนาดที่นายกรัฐมนตรีของประเทศประกาศให้มีกลไกไปดู ศึกษา เสนอเรื่อง เพื่อยุติปัญหา แถลงข่าวออกสื่อดังๆ ท่านก็ไม่นำพา !!

“เราสงบเงียบเรียบร้อย ทำตามกลไก ขั้นตอนทุกอย่าง เพื่อให้เรื่องยุติในห้องประชุม แต่ในเมื่อท่านไม่เข้าใจ ว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่สังคมเขาเห็นตำตา ประจักษ์ชัดเจนขนาดไหน ...ท่านยังไม่เข้าใจ ท่านก็จะได้เข้าใจ ไว้ท่านรอดูแล้วกันนะขอรับ การันตีความมันส์ ซี้สที่นี่..เร็วๆ นี้.....”

Bunnaroth Buaklee ยังได้แชร์โพสต์ของ “ชาติ มาลัย” ในเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าฯ ด้วยว่า “.... การค้ดค้านบ้านป่าแหว่งของชาวเชียงใหม่ และชาวไทยทั่วประเทศ ที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ต้องยอมรับกันว่า คู่กรณีที่แท้จริงตั้งแต่ต้นก็คือ สำนักงานศาลยุติธรรม และข้าราชการตุลาการบางคน

ในเบื้องต้นนั้น คนเชียงใหม่เริ่มเห็นรอยแหว่งของป่าดอยสุเทพ ต่างก็กังขา ตั้งคำถามกันต่าง ๆ นานา บางคนก็ก่นด่าประกอบความสงสัยไปด้วย เมื่อเสียงคัดค้านดังมากขึ้น ๆ ก็มีคนใหญ่โตระดับอธิบดี ออกมาแถลงพร้อมกับขู่ไปพร้อมกันว่า ที่พวกคุณกำลังด่ากันอยู่นั้น มันคือโครงการของศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ซึ่งทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายนะ หากยังยังไม่หยุด ยังเผยแพร่ ยังคัดค้าน และทำให้ศาลฯเสียหาย จะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จนถึงที่สุด ได้ผล ทุกสำนักข่าว ทุกนักเลงคีย์บอร์ด ทุกนักเคลื่อนไหว หยุดกันหมด

และเมื่อคนเชียงใหม่ทนไม่ได้ ออกมาคัดค้านอีกครั้ง ก็มีการโยนกลองไปให้รัฐบาล โดยแถลงว่า จะเอาอย่างไรกับบ้านป่าแหว่งก็เอาเถอะ ตามแต่รัฐบาลก็แล้วกันจนทำให้รัฐบาลส่งคุณสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ ออกมาตั้งโต๊ะเจรจาผลออกมา ก็จะต้องเป็นไปตามที่รัฐบาลขีดเส้นไว้ นั่นคือเข้าสู่โหมดยืดเยื้อ แต่ภาคีเครือข่ายเอง ก็ดูเหมือนจะเต็มใจ(หรืออาจจำใจ) ที่จะทำตามขั้นตอนที่รัฐบาลขีดเส้นไว้ นัยว่า นี่คือการเรียกร้องของพลเมืองดี

สถานการณ์กำลังเป็นไปอย่างเชื่องช้า ค่อย ๆ ดำเนินการไปในแต่ละขั้นตอน ซึ่งถือว่าไม่เป็นสิ่งที่ประชาชนชอบนัก แต่แล้วการณ์กลับตาลปัตร สำนักงานศาลยุติธรรม ที่เคยเบี้ยวนัดการพบปะพูดคุยกับประชาชนมาถึงสองครั้ง และยังกีดกันไม่ให้ตัวแทนเครือข่ายฯที่เป็นตัวแทนของชาวเชียงใหม่เข้าไปร่วมรังวัดแนวเขตป่ามาแล้ว วันนี้ท่านยังรักษาสถานภาพที่คงเส้นคงวา โดยไม่ยอมให้คณะอนุกรรมการฯที่เป็นประชาชน เข้าร่วมทำงานโดยการตรวจสอบโครงการบ้านป่าแหว่ง จะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้ แต่การกระทำเช่นนี้ มันคือการตบหน้าประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จะเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากต้องการที่จะยืนอยู่คนละข้างกับประชาชน

“กรณีนี้ จะเป็นการเรียกแขกอีกครั้งหนึ่ง แขกที่จะมารอบนี้ อาจจะไม่มีการออมชอม ไม่มีการเจรจา ไม่มีการประนีประนอมเพราะคู่กรณีตัวจริงกลับมาเผชิญกับประชาชนอีกครั้งหนึ่งแล้ว” “ชาติ มาลัย” เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าฯ อุ่นเครื่องรอแขก

สำหรับเรื่องการไม่ให้เข้าพื้นที่นั้น ทางเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ เห็นพ้องกันว่า จะทำหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะเป็นประธานกรรมการแก้ปัญหาในส่วนของจังหวัด ว่าเหตุใดทางเครือข่ายภาคประชาชน ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อร่วมตรวจสอบทั้งที่เป็นคณะทำงานร่วม ซึ่งในส่วนของภาคประชาชนต้องการเข้าไปสำรวจพื้นที่โดยภาพรวม สำรวจผลกระทบเรื่องดิน เรื่องแหล่งน้ำ พื้นที่ก่อสร้างอาคารต่างๆ รวมทั้งตรวจสอบผู้ที่เข้าไปใช้พื้นที่ ซึ่งทราบมาว่ามีมากกว่า 30 ครอบครัว เข้าไปอยู่อาศัยในอาคารชุดที่อยู่ในพื้นที่ต้องส่งคืน

ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ ล่าสุด ทางธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง “ขอกำหนดการรับมอบบ้านพักข้าราชการตุลาการจากผู้รับจ้างก่อสร้าง” เพื่อขอความชัดเจนเรื่องความพร้อมในการส่งมอบงานให้ทันกำหนด วันที่ 18 มิ.ย. 2561 หรือไม่ แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

หลังวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามสัญญาของผู้รับเหมาที่จะต้องส่งงาน เครือข่ายฯ มองเห็นแล้วคาดว่าทางผู้รับเหมาจะไม่สามารถส่งงานได้ทันเวลาต้องถูกปรับวันละ 1 แสนบาท ทางศาลเองสามารถใช้ข้อสัญญานี้บอกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา และคืนพื้นที่กับธนารักษ์ได้ทันที และจะต้องให้คนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวออกทั้งหมดและส่งมอบพื้นที่ต่อไป เรื่องนี้ทางเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าฯ จะทำหนังสืออีกฉบับเพื่อเร่งดำเนินการอีกครั้งหลังวันที่ 18 มิ.ย. 2561

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถึงเวลานี้ หมดข้ออ้างสุดท้ายที่ว่าขอให้มีการส่งมอบงานตามสัญญาที่จะสิ้นสุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 นี้ก่อน แล้วสำนักงานศาลฯ จึงจะส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ เพื่อให้ดำเนินการฟื้นฟูกันต่อไปตามข้อตกลงไม่งั้นจะผิดสัญญา

นายบัณรส ระบุว่า 1. ไม่ทันแน่นอนทั้ง 2 สัญญา 2.กำหนดเวลาต้องปรับตามสัญญา รวมแล้วราว ๆ วันละ 3.5 แสนบาท 3. ผู้รับเหมาอาจต่อรองให้ต่อสัญญาออกไป (เพื่อไม่ต้องปรับ) โดยชี้ว่าเป็นปัญหาจากฝ่ายผู้ว่าจ้าง (งานนี้ต้องจับตา...สนง.ศาลจะต่ออายุสัญญาอีกไหม) 4. ข้อเท็จจริงคือ มีการต่อสัญญามาแล้ว ยืดให้เกือบ 3 ปี จนบัดนี้ก็ไม่แล้ว... ดูสภาพแล้วไม่น่าจะแล้วง่ายๆ

5.บางจุดสร้างไป พังแล้ว ต้องสร้างใหม่ 6. ฝนตกชะดินภูเขามาถมถนนคอนกรีตในโครงการ จุดนี้แก้ยังไง ทางไหลของน้ำ เพราะอาจเป็นงานงอก ไม่มีงบเพื่อการนี้หรือเปล่า? 7. มีการปรับเปลี่ยนแบบ/รายละเอียดมาแล้วหลายครั้ง ดูได้จากมีการทำบันทึกท้ายสัญญา 12-16 ครั้งมาแล้ว 8. นี่เป็นวิบากกรรมของการเลือกทำเลผิด ออกแบบผังพลาด สภาพแวดล้อมภูเขาและป่าดอย ผิดธรรมชาติของคนอยู่ ก็ดันทุรัง มันเป็นวิบากกรรม...ก็ยังมีคน(บางคน)พยายามดันทุรังต่อไป ช้างตายทั้งตัว......

การยึกยักยื้อเวลา เรียกแขกรอบใหม่ ไม่ใช่แต่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพเท่านั้น ที่ประกาศลั่นจะไม่มีรายการประนีประนอมกันอีกแล้ว แม้แต่ธรรมชาติก็ยังไม่ประนีประนอมด้วย ดูจากสภาพพื้นที่ที่ตั้งโครงการเวลานี้ บอกได้คำเดียวเลยว่า “อยู่ยาก”

ดังที่ รศ. ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มช. โพสเฟซบุ๊ค ส่วนตัว Chuchoke Aryupong เมื่อวันที่ 12 มิ.ย 2561 ว่า “...ทั้งแหว่งทั้งชัน.!!” โดย รศ.ชูโชค ซึ่งเป็นผู้แทนศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มช. ในฐานะกรรมการของจังหวัด ลงพื้นที่โครงการบ้านพักตุลาการ เก็บข้อมูลการใช้พื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ประเด็นความเหมาะสมของการเลือกพื้นที่และควรรื้อหรือไม่ “.... เท่าที่ดู เดินไปหอบไป สามารถตอบได้อย่างไม่ต้องวิเคราะห์อะไรให้ซับซ้อนครับ..???”

เมื่อดูภาพที่ รศ.ชูโชค โพสต์โชว์ต่อสาธารณะก็มีคำตอบชัดเจนในตัวอยู่แล้ว

รศ.ชูโชค ได้กล่าวไว้ในการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาการดำเนินการในส่วนของสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้พื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ กรณีก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ (อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) ที่มีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2561 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง “สำนักข่าวเห็ดลม” รายงานว่า “..... เป้าหมายใหญ่คือการรื้อ เพราะกระทบต่อสังคม จากการเลือกทำเลที่ไม่เหมาะสม หรือ Site Selection ซึ่งล้มเหลวมาตั้งแต่ต้น เพราะพื้นที่ล้อมรอบด้วยผืนป่า ยังไม่รวมผลกระทบต่อดิน น้ำหลาก และปัญหาไฟป่า เพราะฉะนั้นเราใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เห็นนี้อ้างอิงไปในคำเสนอแนะต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ได้เลย รวมทั้งเราจะใช้ข้อกฎหมายตัวไหนมานำสิ่งปลูกสร้างออกไม่ว่าจะรื้อหรือมีวิธีการใดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

“แค่ปัญหาไฟป่า ก็ไม่กล้าอยู่แล้ว แต่ยังล้ำเข้าไปในป่าว่าพื้นที่นี้ไม่เหมาะสม ถือเป็นธงที่ชัดเจนที่สุด การสร้างบ้านพัก 40 หลัง บนที่ดิน 40 ไร่ ผิดตั้งแต่คิด เพราะบ้าน 1 หลัง ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ก็ไม่เหมาะสมแล้ว นี่ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนที่สุด ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการรื้อบ้านคนบุกรุกป่าก็เพราะบุกรุกที่ป่า ไม่ได้ใช้เหตุผลในทางวิศวกรรม เราก็ใช้พื้นฐานเดียวกัน” รศ.ชูโชค กล่าว

นายธำรงค์ สมพฤกษ์ จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สาขาภาคเหนือ 1 กล่าวว่า สรุปคือ 1.เราจะฟื้นฟูป่าโดยไม่มีสิ่งปลูกสร้าง 2.ไม่จำเป็นต้องไปประเมินปัญหาสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเออีก เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่แล้ว 3.ผิดระเบียบและข้อบังคับใดบ้าง ทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อม สิ่งก่อสร้าง และอื่นๆ 4.ในแง่ความเหมาะสมไม่ได้ทั้งผลกระทบทางวัฒนธรรม สังคม และจิตใจ สรุปคือไม่ควรมีบ้านอยู่

5.ข้อเสนอแนะในการจะรื้อทิ้ง หรือเอาไปใช้ ให้ประสานกับบริษัทที่มีการทำโครงการปลูกป่าในลักษณะ CSR รับซื้อไปและนำเงินคืนหลวง เชื่อว่ามีบริษัท เช่น ปตท. หรืออื่นๆ ที่มีโครงการปลุกป่าเป็น 100 ล้านต่อปี ยินดีซื้อบ้านหลังละ 10 ล้าน ก็ได้เงินคืนหลวงแล้ว ไม่มีใครเสียหาย และ 6.หาทางออกให้ศาลด้วยการหาพื้นที่ปลูกบ้านให้ใหม่ โดยให้เสนอแนะไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ว่าจะใช้อำนาจบริหารด้วยการมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าปัญหาส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือใช้กฎหมายสิทธิชุมชน หรือจะใช้อำนาจนิติบัญญัติ ก็เสนอ สนช.ออกกฎหมายและประกาศเป็นกฤษฎีกา

“..... เห็นอยู่แล้วว่าไม่เหมาะสม มีข้อมูลมีทางออกอยู่แล้ว ไม่ต้องศึกษาแล้ว เพราะนี่คือข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนเห็น หรือจะเรียกว่าความผิดซึ่งหน้า ไม่ต้องไปโทษว่าเป็นความผิดใคร สรุปว่าไม่เหมาะสมและไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้าง นาทีนี้ไม่ควรใช้หลักนิติศาสตร์และต้องใช้รัฐศาสตร์เพื่อประคับประคองจิตใจ ซึ่งภายใน 10 วัน การรวบรวมข้อมูลน่าจะเรียบร้อย พร้อมนำเสนอแนะข้อยุติต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการทั้งสองชุดในวันที่ 6 กรกฎาคม 2561นี้ ก่อนที่จะนำเข้าประชุมร่วมในคณะกรรมการชุดใหญ่ระดับจังหวัดภายในเดือนกรกฎาคมนี้” นายธำรงค์ กล่าว

ทั้งเงื่อนเวลาของสัญญา ทั้งสภาพพื้นที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้ว ต้องบอกว่าหมดเวลายื้อ มีแต่ต้องรื้อสถานเดียวเท่านั้น



ผู้จัดการ สุดสัปดาห์