วันศุกร์, มิถุนายน 08, 2561

สื่อนอกชี้ 'งบกลาโหม' ปี 62 เพิ่มทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง





สื่อนอกชี้ 'งบกลาโหม' ปี 62 เพิ่มทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง


June 7, 2018
Voice TV


'พอล แชมเบอร์' และ 'พิชัย นริพทะพันธุ์' ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ กรณีร่างงบประมาณปี 62 ชี้งบฯ กลาโหมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนรัฐประหาร แม้รัฐบาลและกองทัพจะถูกโจมตีหนักเรื่องทุจริต และยังสรุปไม่ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด


สำนักข่าวเอเอฟพี/ยาฮูนิวส์ รายงานข่าวการประชุมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ของรัฐบาลทหารไทย วันนี้ (6 มิ.ย.) โดยระบุว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา และในปีนี้มีการตั้งงบสำหรับกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานในกำกับรวมกว่า 2.27 แสนล้านบาท แต่กระทรวงที่มีการตั้งงบสูงที่สุด คือ กระทรวงศึกษาธิการ รวมกว่า 4.8 แสนล้านบาท

เอเอฟพีได้สัมภาษณ์ 'พอล แชมเบอร์' นักวิชาการด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่าในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมักใช้งบประมาณกระทรวงกลาโหมในการโฆษณาประชาสัมพันธ์และเพิ่มศักยภาพของกองทัพ และการที่งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 อาจจะเป็นภาพสะท้อนได้ชัดเจนว่ารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นในส่วนของกลาโหมและกองทัพไปในทิศทางเดียวกัน




อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีรายงานว่า การตั้งงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มขึ้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาล คสช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีที่รัฐมนตรีถูกกล่าวหาและถูกสอบสวนว่าเกี่ยวพันการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ดีขึ้นจากสมัยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และระบุด้วยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้เดินสายพบปะประชาชนตามต่างจังหวัดต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แบบเดียวกับที่นักการเมืองมักปฏิบัติกันในช่วงก่อนเลือกตั้ง แม้จะยังไม่อาจกำหนดวันเลือกตั้งได้อย่างชัดเจน แต่นี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่รัฐบาลทหารจะเพิ่มงบกลาโหมด้วยตัวเองได้

ด้านพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีเช่นกัน โดยเขาระบุว่า หากไทยต้องการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง จะต้องตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม และนำงบประมาณไปสนับสนุนโครงการที่สำคัญอื่นๆ เช่น โครงสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

ขณะที่การประชุมเสนอร่างงบประมาณฯ ในวันนี้ พบว่า กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในกำกับ 92 หน่วยงาน จะได้งบประมาณมากที่สุด คือ 4.89 แสนล้านบาท รองลงมา คือ งบกลาง 4.68 แสนล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 3.73 แสนล้านบาท กระทรวงการคลัง 2.42 แสนล้านบาท ส่วนกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ 6 หน่วยงาน ได้งบมากเป็นอันดับ 5 รวมเป็น 2.27 แสนล้านบาท ส่วนกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในกำกับ 14 หน่วยงาน ได้งบประมาณ 1.04 แสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: