วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 07, 2561

ณัฏฐายันคำสั่ง 3/58 ขัด รธน. ย้ำผู้ตรวจฯควรส่งศาลวินิจฉัย


...





ณัฏฐายันคำสั่ง 3/58 ขัด รธน.
ย้ำผู้ตรวจฯควรส่งศาลวินิจฉัย

โบว์-ณัฎฐา ยื่นค้านคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน แย้งคำสั่ง 3/58 ไม่ชอบ ม.279 ขอให้เปลี่ยนคำวินิจฉัยเสนอศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาชี้ขาดปมขัดแย้ง รธน.

เมื่อ 6 มิ.ย. 2561 น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ ครูโบว์ นักกิจกรรมทางสังคม มายื่นหนังสือแย้งคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งอ้างถึงนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ตอบผู้ร้องขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และ เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

น.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยว่า คำสั่งดังกล่าวไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลหลักว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ได้รับการรับรองโดยมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ 2560

ดังนั้น ตนขอยืนยันให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ ให้พิจารณาคำร้องที่ผู้ร้องได้ยื่นไว้เมื่อ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา และ ส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความตามหน้าที่ มิใช่ตัดตอนความยุติธรรมด้วยการวินิจฉัยอย่างหยาบเสียเอง โดยเฉพาะเมื่อคำร้องนี้เป็นที่สนใจของสาธารณชน และ มีผู้ร้องในประเด็นเดียวกันมาแล้วเป็นจำนวนมาก

“แสดงให้เห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นั้นมีปัญหาจริงในสายตาของสาธารณชน นักกฎหมาย นักวิชาการ และ สื่อมวลชน และ สมควรที่จะได้รับการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขจัดความเคลือบแคลงในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ซึ่งควรตั้งอยู่บนหลักการว่ากฎหมาย คือ เครื่องอำนวยความยุติธรรม และ ดำรงอยู่เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ผิดจากนี้จะถือเป็นกฎหมายตามหลักนิติธรรมมิได้”

น.ส.ณัฏฐา ยืนยันว่า ขอให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่ามาตรา 279 ที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ 2560 นั้น ขัดต่อหลักนิติธรรมในการตรากฎหมาย มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ บ่อนทำลายรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในมาตราดังกล่าวได้บัญญัติรับรอง ให้บรรดาประกาศ คำสั่ง และ การกระทำของคสช. หรือ ของหัวหน้าคสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือ ที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง

“ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือ การกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือ ทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือ การกระทำนั้น เป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ และ กฎหมาย และ มีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป”

น.ส.ณัฎฐา กล่าวว่า โดยสามัญสำนึกของวิญญูชน การจะรับรองการกระทำใดๆว่าชอบธรรมล่วงหน้าโดยที่การกระทำนั้นยังไม่เกิดขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้ และ การจะรับรองคำสั่งของบุคคลคนเดียวโดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นคำสั่งใดว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมหมายความว่าคำสั่งของบุคคลนั้นมีศักดิ์เหนือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่รับรองสิทธิของพลเมืองทั้งประเทศ

ในกรณีนี้เท่ากับว่า การมีอยู่ของมาตรา 279 เป็นการรับรองว่าหัวหน้า คสช.แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการออกคำสั่งใดๆแม้จะเป็นคำสั่งที่ละเมิดสิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ หรือ กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกก็คือการมีอยู่ของมาตรา 279 ทำให้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นมาตราที่ให้อำนาจอย่างไม่จำกัดของหัวหน้า คสช.ไว้นั้น หมดความหมาย

“ไม่ต่างกับการให้สิทธิหัวหน้าคสช.ในการฉีกรัฐธรรมนูญล่วงหน้า หรือ ที่นักวิชาการบางคนเรียกขานว่าเป็น “รัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ” การมีอยู่ของมาตรา 279 ดังกล่าวจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อหลักนิติรัฐนิติธรรม และ เป็นภัยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

นอกจากนี้ น.ส.ณัฎฐา ยังได้นำเอกสาร ของ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ที่ได้รวบรวมรายละเอียดคำสั่ง คสช.ไว้ทั้งหมด และ มีที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างน้อย 35 ฉบับ ทำให้เกิดแคมเปญ ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช. โดยได้มีการรวบรวมรายชื่อ 10,000 คน เพื่อขอเพิกถอนคำสั่ง คสช.ทั้งหมดดังกล่าวนี้

เมื่อมีรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง มาให้ผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาเป็นข้อมูลเสริมด้วย ทั้งนี้ เป็นที่มาว่า ทำไมต้องเอามาตรา 279 ออกให้ได้ เพราะหากมาตรา 279 ยังอยู่ทุกสิ่งเหล่านี้ก็จะยังอยู่ ประชาชนไทยก็ไม่มีโอกาสโต้ตอบใด ๆ ทั้งสิ้น ดังเช่นที่วานนี้ (5 มิ.ย.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ได้กล่าวเอาไว้ว่า อย่ามาสัมภาษณ์คนเหล่านี้

นั่นก็หมายถึงพวกตน มีกี่คดีแล้ว ซึ่งแต่ละคดีที่มีนี้ก็มาจากการผิดคำสั่ง คสช.นั่นเอง ตนก็ขอขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชนไว้ ณ ตรงนี้ ขนาดถูกขู่ ถูกห้าม ขนาดนั้นก็ยังเดินทางมาทำข่าว พวกตน

PEACE NEWS


Peace News