วันอังคาร, มีนาคม 13, 2561

อีกไม่นานละครเรื่องบุพเพสันนิวาสจะมีตัวละครเพิ่มมาอีกหนึ่งตัวคือ ศรีปราชญ์ Pat Hemasuk ขอบอกก่อนว่า ในทางวิชาการ ศรีปราชญ์นั้นไม่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์


ooo





ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้มาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพราะว่าอีกไม่นานละครเรื่องบุพเพสันนิวาสจะมีตัวละครเพิ่มมาอีกหนึ่งตัวคือ ศรีปราชญ์ ที่ตามท้องเรื่องนั้นเป็นกวีเอกชื่อดังแห่งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นบุตรของพระโหราธิบดีและเป็นพี่ชายของ ขุนศรีวิสารวาจา พระเอกของเรื่อง

ในละครรับบทโดย ณฐณพ ชื่นหิรัญ คงออกมาให้สาวๆ กรี๊ดกันได้อีกคนหนึ่ง ผมเชื่อมือคนเขียนบทและทีมสร้างละครชุดนี้ว่าจะทำให้ ศรีปราชญ์ มีชีวิตโลดแล่นได้ไม่แพ้ตัวละคนตัวอื่น ผมบอกได้เลยว่าละครเรื่องนี้มีประวัติศาสตร์หลากหลายมิติที่ทับซ้อนกันอยู่อย่างน่าแปลกใจ ต้องยกเครดิตให้ทั้ง ผู้แต่ง ผู้เขียนบท ผู้กำกับ คอสตูม และทีมงาน ที่สร้างละครเรื่องนี้ได้ประทับใจแฟนละครทั้งประเทศ

ในทางวิชาการนั้นผมอยากจะบอกว่าศรีปราชญ์นั้นไม่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ ที่เราอ่านมาทั้งหมดคือเรื่องจินตนาการน้ำแตกไม่เกินหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาทั้งนั้น ถ้าเชื่อว่าศรีธนชัยไม่มีตัวตนจริงๆ เป็นเพียงเรื่องแต่งเล่าขานกันสนุกๆ ก็ต้องเชื่อว่าศรีปราญ์นั้นไม่มีตัวตนจริงๆ ไม่ต่างกัน เพราะไม่เคยมีบันทึกแบบมีนัยยะที่เชื่อถือได้อ้างอิงได้ในประวัติศาสตร์

เรื่องของศรีปราชญ์นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกจากงานเขียนของพระยาตรัง กวีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ น่าจะได้แนวคิดมาจากเรื่องเล่าสมัยปลายกรุงศรีอยุธยากับเรื่องที่เขียนโดยนายนรินทร์ธิบศร์ (อิน) และมีการเอ่ยถึงชื่อนี้ในบันทึกคำให้การของชาวกรุงเก่าซึ่งน่าจะเป็นเรื่องเล่าสืบกันมามากกว่าเรื่องจริง และอีกครั้งที่ชื่อนี้ถูกเล่าขานคือพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) แต่งขึ้นใหม่เมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 แล้วทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปจริงๆ จนถึงทุกวันนี้โดยบรรจุเป็นตำราเรียนกลายเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ

โคลงกำสรวลศรีปราชญ์และอนิรุทธคำฉันท์ นั้นไม่ใช่ศรีปราชญ์แต่งเหมือนอย่างที่เรียนกันมา เพราะชื่อเดิมของกำสรวลศรีปราชญ์คือ กำสรวลสมุทร ซึ่งชื่อนี้ถูกเรียกในตำราจินดามณีที่พระโหราธิบดีที่อ้างว่าเป็นบิดาท่านได้เขียนขึ้นมาเป็นฉบับแรก (ยังมีฉบับบหลังของท่านอื่นอีก) ถ้าจะดูตามสำนวนและการใช้ถ้อยคำน่าจะถอยหลังไปอีกสักไม่ต่ำกว่า 200 ปี เพราะการแต่งโคลงในสมัยนั้นจะนิยมการใช้โคลงด้น และพระโหราธิบดีใช้กำสรวลสมุทรเป็นตัวอย่างโคลงครูชิ้นหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นศรีปราชญ์อาจจะยังเด็กเกินกว่าจะแต่งโคลงระดับใช้ความสามารถสูงขนาดนั้นถ้าศรีปราชญ์มีตัวตนจริงๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่พ่อจะอ้างอิงโคลงของลูกเป็นโคลงครูในตำราเรียน และกลุ่มการใช้คำรวมถึงสำนวนในกำสรวลสมุทรนั้นร่วมสมัยกับ ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ และมหาชาติคำหลวง ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

อย่างนั้นใครคือคนแต่งกำสรวลพระสมุทรที่เวลานี้เรียกอย่างผิดๆ ว่ากำสรวลศรีปราชญ์ ตามหลักฐานแล้วน่าจะเป็นพระบรมราชาธิราชที่ 3 (โอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ขึ้นครองราชย์แล้วสวรรคต ในปี พ.ศ. 2034 เป็นผู้แต่ง ดังนั้นพระองค์จะต้องพระราชนิพนธ์กำสรวลก่อนหน้านั้น

อีกจุดคือการล่องแม่น้ำเจ้าพระยาในกำสรวลพระสมุทรนั้นใช้เส้นทางอ้อมตามแม่น้ำเดิมที่เวลานี้เป็นคลองบางกอกน้อย ซึ่งทำให้เข้าใจว่าน่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2077 - 2089 ) ได้โปรดให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ซึ่งเวลานี้คือแม่น้ำเจ้าประยาในปัจจุบัน และในโคลงนั้นก็อธิบายถึงกระบวนเรือที่เป็นกระบวนเรือหลวงไม่ใช่เรือชาวบ้านทั่วไปที่บอกว่าศรีปราชญ์แต่งตอนโดนเนรเทศไปนครศรีธรรมราช ซึ่งไม่ใช่แน่นอน ถ้าจะดูตามห้วงเวลาแล้วน่าจะเป็นกระบวนเรือที่ยกทัพไปตีตะนาวศรี และเป็นปีที่พระบรมไตรโลกนาถสวรรคต พ.ศ.2031 ถ้าจะตีความอีกมุมหนึ่งถ้าเป็นคนธรรมดาในยุคสมเด็จพระนรายณ์จะเสียเวลาพายเรืออ้อมไปทำไมอีกวันหนึ่งในเมื่อมีคลองลัดใช้แล้วเกือบสองร้อยปี

มีการเรียกศรีจุฬาลักษณ์แบบผู้สนิทสนทระดับเดียวกันอยู่บ่อยครั้งในโคลงตัวอย่างเช่น "บาศรีจุฬาลักษณ์ ยศยิ่ง พู้นแม่" ในบทที่ 28 และมีการใช้คำราชาศัพท์ทั้งกับตัวเองและหญิงคนรักนั้นแสดงให้เห็นผู้แต่งคือคนระดับเดียวกัน และถ้าเป็นตามการตีความว่าเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์น้องสาวของพระเพทราชานั้น ศรีปราชญ์จะอายุน้อยกว่าสิบกว่าปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไปรักคนแก่กว่าและสูงศักดิ์ขนาดนั้น แต่จะเข้าในช่วงเวลาที่น่าจะเป็นศรีจุฬาลักษณ์พระองค์เดียวกับที่ตามเสด็จพระบรมไตรโลกนาถไปประทับอยู่เมืองพิษณุโลก ซึ่งทุกอย่างจะลงล็อกกันพอดี

ศรีจุฬาลักษณ์ในกำสรวลสมุทรนั้นน่าจะเป็นคนเดียวกับที่ต่อมากลายเป็นมเหสีของพระบรมราชาที่ 3 ตามธรรมเนียมการอวยยศหญิงราชนิกูลส่งมาถวายตัวจากสุโขทัย ไม่ใช่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์น้องสาวพระเพทราชาที่เป็นมเหสีพระนารายณ์แล้วมีแต่ก่อเรื่องร้ายให้ศรีปราชญ์หลายรอบจนโดนเนรเทศ ซึ่งในเรื่องเล่าสืบมานั้นทั้งสองคนไม่ชอบหน้ากันเท่าไร และถ้าจะนับอายุกันแล้วเป็นคนอายุต่างกันมากจนไม่อาจจะเป็นคนรักกันได้ และอีกอย่างคือในกำสรวลสมุทรนั้นทั้งสองได้ร่วมหลับนอนกันแล้ว และไม่ใช่ชู้รักเสียด้วย เพราะในฉากอีโรติกนั้นเขียนว่า *** ดวงเดียวนาภิศน้อง นางสวรรค์ กูเอย กระแหน่วแนวนาภี พี่ดิ้น (โอ๊ยยย..ตาย ตาย ตาย อยากจะขาดใจตายนัก) ใครเห็นอรเอววรรณ ใจวาบ วางฤๅ ปานปีกน้อยน้อยริ้น ฤๅร้างกลัวตาย *** อ่านดูก็รู้ว่าไม่ใช่ชายชู้แน่นอนแต่เป็นการหลับนอนกับเมียที่ถูกต้อง

พ. ณ ประมวญมารค หรือตัวจริงคือหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ได้ให้ความเห็นว่า "ข้าพเจ้าจะแสดงจากตัวบทกำสรวญว่าปฏิภาณกวีในสมัยพระนารายณ์ที่เรารู้จักกันว่าศรีปราชญ์มิได้แต่งนิราศที่เรารู้จักกันว่ากำสรวญศรีปราชญ์ พ ณ. ประมวญมารค เรียกชื่อวรรณคดีเล่มนี้ว่ากำสรวลสมุทรตามชื่อในจินดามณีแทนชื่อเรียกด้วยคงามเข้าใจผิดว่ากำสรวลศรีปราชญ์

สิ่งที่ทำให้เข้าใจผิดอีกจุดหนึ่งคือมีผู้เขียนโคลงบานแผนกหน้าโคลงกำสรวลว่า "กำสรวลศรีปราชญ์ร้าง แรมสมร" นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเรียก "กำสรวลสมุทร" ว่า "กำสรวลศรีปราชญ์"

ในท่อนร่ายเริ่มเรื่องนั้นขึ้นว่า ศรีสิทธิวิวิทธบวร..... แล้วจบว่า ราเมศไท้ท้าวต้งง(ทรง) แต่งเอง ประโยคนี้สำคัญครับ คนธรรมดาอย่างศรีปราชญ์นั้นใช้ประโยคจบที่บอกว่า "ราเมศไท้ท้าวทรงแต่งเอง" นั้นหัวขาดแน่นอน เพราะการอ้างตัวว่าเป็นกษัตริย์หรือราชวงค์เป็นคนเขียนนั้นผิดธรรมเนียมอย่างมาก

อีกเรื่องคือการประหารพระยานครฯ เพื่อแก้แค้นให้ขุนนางเล็กๆ ของกรุงศรีอยุธยาอย่างศรีปราชญ์นั้นเกินจริงไปมากมาย เพราะตำแหน่งพระยานครฯ ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นบางครั้งสืบทอดทางสายเลือดไม่ต่างกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ บางครั้งก็ถึงกับมีการแต่งตั้งอุปราชเมืองนครฯ และการแต่งตั้งพระยานครฯ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเป็นเรื่องใหญ่โตในราชสำนักพอสมควร เพราะมีเครื่องยศมากมายระดับประเทศราชเลยทีเดียว แม้แต่ในยุคหลังคนต่างชาติ เช่นสังฆราชปาลเลกัวซ์ (Pallegoix) กัปตันเจมส์ โลว์(James Low) และนายเฮนรี เบอร์นี(Henry Burney) ที่เข้าไปติดต่อกับนครศรีธรรมราชต่างเวลากัน ต่างก็เข้าใจผิดว่าเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เป็นเจ้าประเทศราชของสยาม นั่นคือความยิ่งใหญ่ของตำแหน่งนี้แม้แต่ในยุคหลังในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้วก็ตาม ดังนั้นการที่พระนารายณ์จะส่งคนไปจับพระยานครฯ ประหารแก้แค้นให้ศรีปราชญ์นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ด้วยการทั้งปวง

ดังนั้นผมอยากจะให้เข้าใจกันว่าในวงการนักวิชาการแล้วส่วนมากจะไม่เชื่อว่าศรีปราชญ์นั้นแต่งกำสรวลศรีปราชญ์หรืออนิรุทธคำฉันท์ หรือแม้แต่จะมีตัวตนจริงๆ อยู่ในประวัติศาสตร์เสียด้วยซ้ำไป


เครดิตภาพ บุพเพสันนิวาส ช่องสาม


Pat Hemasuk