กระแสเลือกตั้ง พลังประชาธิปไตยนี่แรง
แรงเสียจนหัวหน้าพรรคแมลงสาบต้องหันมาประกาศ “จุดยืนเสรีนิยมประชาธิปไตยและสังคมสวัสดิการ”
มิวาย Atukkit Sawangsuk เหน็บเอาว่า “จุดยืน ประชาธิป-ปัตย์ คือแพ้เลือกตั้งทั้งชาติต้องบอยคอตต์...สังคมสวัสดิการของทหาร
อำมาตย์...มีแต่หวังส้มหล่นตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นอีกคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามสร้างค่าให้ตนเอง
ในสถานการณ์ ‘ทางเลือกใหม่’ มาแรง ด้วยการตีตราว่าร้ายคู่แข่งที่จนกระทั่งวันนี้ตนเองยังเป็นรอง
หลังจากตลอดเวลาที่ผ่านมาในยุค
คสช.ครองเมือง ปชป. เป๋ “เป็นสถาบันการเมืองที่ขามันหักไปข้าง” เหมือนอย่างที่
ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ คนกันเองสายก้าวหน้าวิจารณ์ไว้ “อุดมการณ์ถ้าเราไม่แข็งแต่แรก
จบ ถ้าเราเป๋แต่แรกไปต่อไม่ได้”
คนหนุ่มหน่วยก้านดี ที่ บก.ฟ้าเดียวกัน เม้นต์ว่า “ถ้าประชาธิปัตย์ได้คนนี้ไปทำงานในพรรค น่าจะมีอนาคตและปรับตัวได้” พูดเปิดอกในรายการสัมภาษณ์ของ ‘The101.world’ ด้วยว่า “การที่กลุ่ม
กปปส.ออกไป การทีกลุ่มธนาธรออกมา เป็นเรื่องดีสำหรับประชาธิปัตย์”
(https://www.facebook.com/the101.world/videos/1785377121771524/)
จะได้ทำให้พรรคฝ่ายวังที่ตั้งขึ้นมาเพื่องัดข้อกับคณะราษฎรในอดีต
“กลับมาตรงกลางมากขึ้น...เป็นกลางเอียงขวา...ผมว่ามันไม่มีทางอื่นไปละ” ฟูอาดี้ว่า
ทายาทของอดีตนักการเมือง ‘คนเก่ง’ แห่งพรรค ปชป. ที่ออกตัวว่าเขาไม่ใช่
‘คนใน’ แต่ใช้สรรพนามแทนกลุ่มการเมืองที่
ปชป.ไม่เคยเอาชนะได้ว่า ‘ฝ่ายนู้น’ และแจงตนเองอยู่ในฟากที่
“พวกเรายังเชื่อในประชาธิปไตยอยู่”
ก็น่าเชื่อได้ว่าคงเป็นเช่นนั้น
จากการที่เขาอธิบายถึง ‘ทศวรรษที่หยุดนิ่ง’ (น่าจะเป็นทศวรรษเดียวกับของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เรียกว่า ‘ทศวรรษแห่งความสูญหาย’) อันเกิดจาก “ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างสองฝ่าย”
ฟูอาดี้พูดถึงความไม่เข้าใจกันนั้นว่า
เหมือนทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างปิดตาข้างหนึ่ง
ฝ่ายหนึ่งพูดถึงประชาธิปไตยในเชิงครรลอง (เขาใช้คำอังกฤษแทนในเวลาต่อมาว่า ‘process’) อีกฝ่ายพูดในเชิงเนื้อหา เรียกว่า substances
เรื่องคอรัปชั่น
“ความเป็นประชาธิปไตยที่ดีมันต้องมีทั้งสองแบบ...มีทั้งครรลอง...ทั้งเนื้อหา”
เขาว่าฝ่ายหนึ่งจะไปให้ถึง substances โดยไม่ผ่านครรลอง “อีกฝ่ายหนึ่งก็เอาแต่ครรลอง...แล้วก็ไปไม่ถึง substances ก็เลยหยุดอยู่แค่นั้น”
ไม้หล่นไม่ไกลต้นของ
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรรณ ให้ความเห็นถึงสถานการณ์แบ่งขั้วแบ่งสีที่ผ่านมา
อันนำร่องเรียกทหารเข้ามายึดอำนาจ ว่าที่จริงแล้ว “มันต้องใช้ประชาธิปไตยแก้ประชาธิปไตย...
ฝ่ายที่ต้องการ substances democracy นี่ไม่ต้องการเลือกตั้ง...เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับ
กปปส. ที่ไปหาว่าเค้าดันไปสุดซอย ตัวเองดันไปสุดซอยเสียเอง เกินเลยสุดซอยไปเสียด้วย”
เขาระบุถึงตอนที่ยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้ว กปปส.พลาดตรงที่ไม่ยอมหยุดแค่นั้น
มีคน “ที่ดันให้ไปถึงจุดที่ทหารเข้ามา
ซึ่งไม่ควรไปถึงจุดนั้น” มันเลยมาถึงจุดนี้ที่ผู้สัมภาษณ์เอ่ยถึง “การตื่นตัวเรื่องคอรัปชั่นมันหายไป”
ที่ฟูอาดี้เสริม “ยิ่งตอนนี้มันไม่มีอะไรที่ตรวจสอบได้เลยนะ ยิ่งกว่าก่อนเสียอีก”
เขาเปรยออกมาว่า “ผมตอบไม่ถูกเหมือนกัน”
นั่นอาจเป็นดังอาการที่เขาเองวิเคราะห์คนในเมืองทำเฉยชากับการคอรัปชั่นยุคทหารว่า “คือแบบพวกที่ใกล้กับตัวเองมากกว่าขึ้นมามีอำนาจ
พยายามจะทำความเข้าใจ พยายามจะเห็นพวกกันเองหรือเปล่า”
ก็เลยขอตอบให้แทนตรงนี้แล้วกันว่า
กปปส. ไม่ยอมหยุดอยู่แค่นั้นเมื่อยิ่งลักษณ์ยอมยุบสภา ก็เพราะว่าเจตนาเบื้องลึกนั้นรู้เห็นเป็นใจ
(รับงาน) ต้องการระบอบทหาร มากเสียกว่าต่อต้านระบอบทักษิณ
และการเปิดตัวของพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ ที่ฟูอาดี้บอกเองว่า “ในชั่วโมงนี้ต้องเป็นเขาละ” ไม่ได้ทำให้ “ระบอบการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีความชอบธรรมขึ้นมาทันที”
ดังที่เขาอ้าง
“แล้วถ้าพรรคตรงข้ามหรือพรรคทหารเข้ามา เขาพูดไม่ได้นะ
เขากระโดดเข้ามาในเกมนี้แล้ว เขายอมรับระบอบที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่เป็นประชาธิปไตย
ระบอบที่ถูกสร้างขึ้นโดยทหาร” ซึ่งก็เป็นอีกกับดักหนึ่งซึ่ง คสช.วางไว้
แต่การแก้ไขโดยไม่ลงสังเวียน ไม่ใช่ทางเลือกของพรรค ‘ยังบลัด’
อย่างแน่นอน อ่านได้จากที่ปิยบุตรให้สัมภาษณ์ไว้กับ ‘ศัลยา ประชาชาติ’ ว่าเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่
‘ไม่รับ’ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐
ที่เขียนขึ้นมากีดกันพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด
และเปิดช่องคณะทหารครองอำนาจต่อไประยะยาว
(https://www.matichonweekly.com/column/article_87518)
ดังนั้น คงไม่เป็นปัญหาสำหรับพรรคนี้ถ้าพวกเขาไม่ได้รับเลือกตั้ง “ถ้าแพ้ผมจะทำต่อ รณรงค์ให้คนเห็นว่าการเมืองแบบใหม่เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย” ปิยบุตรกล่าว
“เราจะมีวิถีทางที่จะเข้าไปแก้ไข เปลี่ยนแปลง คือ 1.เข้าไปอยู่ในกติกา และใช้ช่องทางเต็มความสามารถที่จะแก้ไข 2.วิถีนอกรัฐธรรมนูญ นอกระบบ ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็นรูปอะไรก็ไม่ทราบ
ซึ่งผมไม่สนับสนุน”
“เราจะพิสูจน์ให้คนเห็นว่าเราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ
แต่เป็นพรรคที่จริงจัง จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น”