วันอังคาร, มีนาคม 13, 2561

ตลาดผู้บริโภคปี 2561 มีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง กำลังซื้อทรุดหนักในรอบ 10 ปี รายได้คงที่ แต่หนี้สูงขึ้น





กำลังซื้อทรุดหนักในรอบ 10 ปี รายได้คงที่ แต่หนี้สูงขึ้น


March 11, 2018
เวป Investing-street


แนวโน้มตลาดผู้บริโภคในปีนี้ ประเมินว่ายังคงเป็นปีที่ยากลำบากในการทำตลาด และคาดว่าอาจติดลบได้ถึง 1%

ตลาดผู้บริโภคปี 2561 มีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องถึง 1% หลังผู้บริโภครายได้คงที่ แต่หนี้ยังคงสูงอยู่ ถ้าลองดูเมื่อปีที่ผ่านมา ถือว่าตลาดตกต่ำสูงสุดรอบ 10 ปี เหลือมูลค่ากว่า 4.42 แสนล้านเท่านั้น โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มโดนหนักสุด คือ ติดลบไป 2.4% เพราะคนพิจารณาตัดรายจ่ายได้ง่าย และเลือกกินของที่ถูกกว่าแทน

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบทำให้สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ตกต่ำมาโดยตลอด ล่าสุด บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์)ฯ ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ออกมาบอกว่า การเติบโตของกลุ่มสินค้าดังกล่าว ในปี 2560 ที่ลดต่ำลงมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยอัตราการเติบโตที่ติดลบ 0.4% มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.42แสนล้านบาท



Fast Moving Consumer Goods


ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเติบโตของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค คือ ภาวะเศรษฐกิจและความระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคทั้งประเทศ ขณะที่รายได้ของผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ตามภาวะเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวนทางกับหนี้ครัวเรือนของภาคประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยถึงผลการศึกษาชุด “สรุปภาพรวมตลาด FMCG ในปี 2560และแนวโน้มปี 2561-2562 พร้อปัจจัยที่กระทบต่อการเติบโตและการปรับกลยุทธ์” พบว่าภาพรวมของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ที่มีอัตราการเติบโต 2.6% ปี 2558 มีอัตราการเติบโต 2.2% ปี 2559 มีอัตราการเติบโต 1.7% และในปี 2560 ติดลบ 0.4% ดังกล่าว นับว่าเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ที่ได้เกิดวิกฤติด้านการเงินในปี 2550 เป็นต้นมา จากที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าหากสถานการณ์เลวร้าย สินค้าคอนซูเมอร์จะติดลบเพียง 0.1% เท่านั้น





จากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อในรอบปีที่ผ่านมายังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น ยังส่งผลกระทบให้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย คือ ผู้บริโภคลด จำนวนครั้งในการออกไปซื้อสินค้า แม้ว่าผู้ประกอบการผู้ค้าปลีกจะออกแคมเปญโปรโมชันจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นความถี่ในการซื้อสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นได้ และผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนแหล่งช็อปปิ้งไปเรื่อย ๆ เพื่อแสวงหาสินค้าและโปรโมชันที่มีความคุ้มค่าและประหยัดเงินมากที่สุด

แหล่งอ้างอิง ฐานเศรษฐกิจ