วันจันทร์, มีนาคม 12, 2561

พรรคแพลตฟอร์มใหม่-พลเมืองใหม่ ในสนามการเมืองไทย - ปิยบุตร : แพ้ไม่ถอย-ไม่ชนะ-ไม่เลิก





ศัลยา ประชาชาติ / ปิยบุตร : แพ้ไม่ถอย-ไม่ชนะ-ไม่เลิก สร้างการเมืองแพลตฟอร์มใหม่ เบ้าหลอมพลเมืองประชาธิปไตย


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 มีนาคม 2561
คอลัมน์ ศัลยา ประชาชาติ
เผยแพร่ วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2561


แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ

เมื่อพลังพลเมืองใหม่ รวบรวมมวลชน ขนกันขึ้นรถไฟขบวนใหม่ ก้าวออกจากสถานีความขัดแย้ง

หวังไปไกลกว่าสถานีเลือกตั้ง ปักหมุดที่ใจกลางความเหลื่อมล้ำ และประชาธิปไตยใหม่

มติชนสุดสัปดาห์สนทนาพิเศษกับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” กลางโลกโซเชียล ที่คลุมไปทั้งกองเชียร์-แฮชแท็กหนุน

“ปิยบุตร” วัย 38 ปี มีโปรไฟล์นักวิชาการ-นักเขียน และคอลัมนิสต์ และ 1 ในคณะนิติราษฎร์

ร่วมกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศตัวเป็นพลเมือง “ทางเลือกใหม่” หวังต่อสู้ทางการเมืองในระบบ เพื่อแก้ไขระบบที่พวกเขาไม่เห็นด้วย-และไม่ยอมรับ

“ผมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้าเราไม่รับ เราจะมีวิถีทางที่จะเข้าไปแก้ไข เปลี่ยนแปลง คือ 1.เข้าไปอยู่ในกติกา และใช้ช่องทางเต็มความสามารถที่จะแก้ไข 2.วิถีนอกรัฐธรรมนูญ นอกระบบ ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็นรูปอะไรก็ไม่ทราบ ซึ่งผมไม่สนับสนุน”

“การตั้งพรรคการเมืองของเราก็จะแสดงให้เห็นข้ออ่อนของรัฐธรรมนูญ และเสนอแนวทางแก้ไข”

เขาเรียกช่วงแห่งความโกลาหลทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นทศวรรษแห่งความสูญหาย และให้ความหวังใหม่จากนี้ไปจะเป็น “ทศวรรษแห่งการทวงคืนอนาคต”

“ผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยไม่สามารถอยู่กับรัฐบาลทหารไปได้เรื่อยๆ วันหนึ่งต้องกลับไปเลือกตั้งแน่นอน ถ้าเรามองจากภายนอก การเมืองตลอด 10 ปีน่ากลัวอยู่พอสมควร”

“คนรุ่นหลังจากผม อายุ 25 ลงไป เขาหวังอนาคตที่ดี ถ้าคนเหล่านี้สนับสนุนผม ผมคิดว่า ขวากหนาม ความน่ากลัว อันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในสนามการเมืองในอดีตมันจะลดลงไป”

พลเมืองใหม่-ไม่ใช่แค่พรรคการเมือง แต่เขายังวางโพสิชั่นนิ่งเป็น “แพลตฟอร์มใหม่” ทางการเมือง

“วิกฤตการณ์ครั้งนี้คือโอกาส ถ้าไม่ลงมือทำก็เกิดวิกฤตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นี่คือการเสนอทางเลือกอนาคตให้สังคมที่เป็นรูปธรรม เชื่อว่าคนจำนวนมากใฝ่ฝันเรื่องนี้อยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบไหน นี่คือแพลตฟอร์มใหม่ ให้คนเห็นว่าเป็นไปได้ และหวังว่าจะมีการสนับสนุนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ”

เขาไม่ใช่จะโลกสวย นำพาสังคมออกจากความวิกฤตความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำ แร้นแค้นประชาธิปไตย แต่เมื่อวันใดที่มีสถานภาพเป็น “พรรค” จะมีชุดนโยบายหลากหลาย พาสังคมไทยออกจากสถานีเผด็จการ ไปสู่สถานีประชาธิปไตย

“พรรคการเมืองที่ทำงานระดับชาติจำเป็นต้องมีนโยบายที่หลากหลาย ตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคม สิ่งแวดล้อม ไอที เทคโนโลยี ซึ่ง 2 เรื่องนี้ได้เตรียมการไว้แล้ว การศึกษา สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม เราเตรียมความคิดไว้แล้ว”

“ผมมั่นใจในคนรุ่นใหม่มาก ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เยอะมาก พรรคจะเปิดช่องให้นักศึกษา นักเรียน เข้ามามีบทบาท ทำงานการเมืองระยะยาว จริงจัง เป็นสถาบันการเมือง ศึกษาโมเดลพรรคการเมืองตะวันตกหลายประเทศ พรรคการเมืองต้องทำหน้าที่แบบนี้ พรรคต้องไม่ใช่เสื้อวินมอเตอร์ไซค์ ที่หยิบมาใส่เฉพาะตอนลงไปขับรถ พรรคการเมืองก็เช่นกัน ไม่ใช่เข้ามาเพื่อเป็น ส.ส. แต่เป็นเบ้าหล่อหลอมคนให้เป็นพลเมืองที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย”

“ดังนั้น เราจะไม่ใช่มีนโยบายเพื่อให้พรรคเป็นรัฐบาล ให้ได้ที่นั่งในสภาเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เราจะเอามาเป็นจุดขายคือการบริหารจัดการพรรคแบบใหม่ให้เห็นจริงๆ ตัวอย่าง อาคารที่ทำการ จะเป็นอาคารที่เปิด ไม่ใช่ซ่อนอยู่ในมุมที่ดูขรึมขลัง เข้าถึงยาก แต่เป็นอาคาร open มี co-working space”

“ปิยบุตร” คิดภาพรูปธรรมของการออกจากสังคมอุดมเผด็จการ ในบันไดขั้นแรก ที่เป็นงานหิน-งานช้างคือ “ขั้นต้นน้อยที่สุด เขากล้าที่จะเลือกตั้ง ด้วยตัวเลือกและแนวทางใหม่ๆ”

“ในขั้นที่ 1 อยากให้คนเห็นว่า พรรคที่เกิดขึ้นมาเป็นพรรคทางใหม่ จะได้กล้าตัดสินใจ พร้อมที่จะกลับไปสู่ระบบปกติ ไม่จำเป็นต้องกลับไปอยู่กับระบบเผด็จการทหาร”

“ลำดับต่อไป สิ่งที่รัฐบาลทหารทำมา มีมรดกทิ้งไว้มากมาย อะไรที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ขัดแย้งกับสิทธิและเสรีภาพ ก็ต้องตามไปแก้ไข”

“รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ต้องหาทางแก้ คำสั่งและประกาศ คสช. ฉบับต่างๆ ต้องจัดการทิ้งก่อน แล้วค่อยมาดูเป็นกรณีๆ เช่น ประกาศและคำสั่ง คสช. ฉบับใดที่จำเป็นต้องใช้อยู่ หรือมีคนสุจริตที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้ โดยการเปลี่ยนรูปให้เป็น พ.ร.บ. แต่สิ่งใดที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ต้องเปลี่ยน ซึ่งมีจำนวนมาก”

“คนที่ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนให้ไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ กับคนอีกกลุ่มที่เขียนรัฐธรรมนูญโดยอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร ความชอบธรรมจากประชาชนต้องมากกว่าอยู่แล้ว”

“ปิยบุตร” วาดวิกฤตรัฐธรรมนูญ 2560 ไว้หลังการเลือกตั้ง (ถ้ามี) ภาพใหม่เดิมพันใหญ่จะไปตกอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

“เมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ทดลองใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วติดล็อกต่อๆ กันหมด จะเกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญขึ้นมา ปัญหาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพียงองค์กรเดียว จะหลงเหลือความชอบธรรมเพียงพอที่จะจัดการวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญได้อย่างสันติหรือไม่”

“เราจะพบเห็นการร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีนุงตุงนังเต็มไปหมด พลังของฝ่ายที่อยากจะแก้รัฐธรรมนูญก็จะพยายามทำ และหนังม้วนเก่าก็จะกลับมาคือแก้ไม่ได้”

“ต้องไม่ลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทุกองค์กรก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องจบแบบนี้ แต่องค์กรอื่นที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน รู้สึกไม่ใช่ ก็จะเกิดการปะทะในทางอำนาจ วิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญจะเกิดแน่นอน”

ทุกวันนี้ “ปิยบุตร” ยังทำหน้าที่วิ่งรอกระหว่างห้องเรียนที่ธรรมศาสตร์รังสิตและท่าพระจันทร์ จนถึงที่ต้องลงสนามเลือกตั้ง จึงจะพ้นสถานภาพ “อาจารย์ประจำ”

หากวันนั้นมาถึง แม้ผลการเลือกตั้งจะไม่ชนะ ไม่สำเร็จ “ผมไม่กลับมาเป็นอาจารย์ประจำแล้ว…ถ้าแพ้ผมจะทำต่อ รณรงค์ให้คนเห็นว่าการเมืองแบบใหม่เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย”

“ถ้าลงเลือกตั้งแล้วแพ้ กลับมาเป็นอาจารย์ นั่นหมายความว่ามองการเมืองในแง่ของอาชีพ ตำแหน่ง เข้าไปเพราะอยากเป็นอะไรบางอย่าง เป็นผู้แทน เป็นรัฐมนตรี พอไม่ได้ก็กลับมาเป็นอาชีพเดิม แสดงว่าไม่ได้มองการเมืองในเรื่องอุดมการณ์ที่เราต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลง”

“ผมต้องการพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า คนแบบผม คนอย่างคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเขามีธุรกิจระดับโลก เขาตัดสินใจยุติ อีกหลายคนที่จะเข้ามาร่วมในอนาคต เขาคิดแล้วว่าเป็นความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องมาทำ ทั้งๆ ที่มีทางเลือกที่ไม่ต้องลงสนามอันตรายแบบนี้”

“การแพ้การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เรายุติบทบาท ถ้าเราทำแบบนั้นแสดงว่า กลายเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจ เราจะพิสูจน์ให้คนเห็นว่าเราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ แต่เป็นพรรคที่จริงจัง จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น”

แน่นอนที่สุดว่า คนรุ่นใหม่ที่เปิดหน้า มีทั้ง “ปิยบุตร” และ “ธนาธร” แต่คนเบื้องหลังที่เป็นกองทุน-Think Tank ยังไม่เปิดตัว มีทั้งเชี่ยวการเมืองระดับขงเบ้ง และปัญญาชนสายแข็งอีกหลายสำนัก

พรรคแพลตฟอร์มใหม่-พลเมืองใหม่ ในสนามการเมืองระทึกอย่างยิ่ง