วันพุธ, มีนาคม 07, 2561

ในจินตนาการใหม่ที่มุ่งสู่อนาคตของคนรุ่นใหม่ คนเก่า ๆ แก่ ๆ รุ่นไม้ใกล้ฝั่งทั้งหลาย จะมีที่ทางอยู่ตรงไหนบ้างไหม? และพึงทำอะไร?





ปลดแอกจากอดีต?

%%%%%

ในสังคมที่หมกมุ่นหวนหาและยึดติดกับอดีตในอุดมคติอย่างเหนียวแน่น กระทั่งพยายามใช้อำนาจเด็ดขาดเนรมิตอดีตแล้วบังคับยัดเยียดให้ปัจจุบันและอนาคตอีกยี่สิบปีข้างหน้าจนพ้นเลยรุ่นอายุของผู้มีอำนาจปัจจุบันไปแล้วนั้น

การปรากฏขึ้นต่อสาธารณะของคนรุ่นใหม่และจินตนาการทางการเมืองใหม่ที่มุ่งสู่อนาคตของพวกเขาท่ามกลางความเก่าอันเหม็นอับอบอ้าวอึดอัดย่อมเป็นความหวังที่ชุ่มชื่นและปลอบประโลมสังคม

และแทนที่จะวาดผังล้มเจ้าแผ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อปลุกความเกลียดชัง บดบังสติปัญญาสังคม ผมอยากชวนคิดถามเถียงเรื่องที่เป็นสาระกับ "คนรุ่นใหม่" มากกว่า

ผมคิดว่าในฐานะนักเรียนปรัชญา สิ่งที่ควรทำคือถามอย่างผิดกาลเทศะ เพื่อกระตุกกระตุ้นเตือนถึงสิ่งที่อาจถูกมองข้ามหรือลืมเลือนไป โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงฐานรากของการคิด เช่นถามว่า

-ในจินตนาการใหม่ที่มุ่งสู่อนาคตของคนรุ่นใหม่ คนเก่า ๆ แก่ ๆ อย่างผมและเพื่อนร่วมรุ่นไม้ใกล้ฝั่งทั้งหลาย จะมีที่ทางอยู่ตรงไหนบ้างไหม? และพึงทำอะไร? เป็นผู้ชมปรบมือร้องเชียร์? หรือนั่งดูเฉย ๆ เพราะเป็นสินค้าหมดอายุแล้วและรอวัน "ไปดี"?

ผมอดกลับไปอ่าน "การิทัตผจญภัย" บทว่าด้วยเมือง "ประโยชน์นคร" (Utilitaria) ไม่ได้ ชาวประโยชน์นครไม่สนใจอดีต และหมกมุ่นคำนึงถึงแต่อนาคตถ่ายเดียว ในนั้นมีข้อความ ๒ ตอนที่ชวนให้นึกเปรียบเทียบกับการคิดเรื่องอนาคตตอนนี้

๑) "เมื่อไปถึงห้องทำงาน นิโคลาสนั่งขบคิดเนื้อหาคำบรรยายเข้ารับตำแหน่งซึ่งประกาศไปว่าจะเป็นเรื่อง "ปลดแอกจากอดีต" แล้วเขียนบันทึกคำบรรยายกับเค้าโครงคร่าว ๆ ขึ้นมา เขาจะสืบสาวให้เห็นวิธีการต่าง ๆ ที่อดีตเผยอฟื้นกลับขึ้นมายึดกุมบรรดาผู้ที่พยายามดิ้นรนหลีกหนีมันอย่างสุดฤทธิ์ ประเด็นของเขาจะเป็นว่าการหมกมุ่นสนใจอยู่กับอนาคตนั้นอาจทำให้แพ้ภัยตัวเอง การเพียรแสวงหาสิ่งแปลกใหม่หาใช่หนทางดีที่สุดในการได้มันมาไม่ และการศึกษาอดีตอาจเป็นแหล่งที่มาของการริเริ่มสิ่งแปลกใหม่ได้โดยตัวของมันเอง เขาจะยกตัวอย่างประกอบการอธิบายความคิดประเด็นหลังนี้โดยอ้างอิงนักคิดยุครู้แจ้งหลายคน รวมทั้งวอลแตร์ ฮูม และรุสโซ เขาเอาบันทึกคำบรรยายให้เลขานุการของเขาที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งสด ๆ ร้อน ๆ นำไปพิมพ์ดีดสำหรับเช้าวันถัดไป" (น. ๑๒๐)

๒) "เขานอนวิวาทะกับกองสตองแตง-ฟรองซัวส์ วอลเนย์ อยู่บนเตียงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอดีต ปัจจุบันและอนาคต เมื่อเปรียบกับกองดอร์เซ่ต์ผู้เป็นเพื่อนและมิตรร่วมรณรงค์ต่อต้านระบบทาสมาด้วยกันแล้ว วอลเนย์รู้สึกมั่นใจน้อยกว่าเรื่องลู่ทางความก้าวหน้าของมนุษย์ แต่กระนั้นเขาก็เฉกเช่นเดียวกับกองดอร์เซ่ต์ คือตั้งตารอเวลาที่ "เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งมวลจะกลายเป็นสังคมใหญ่หรือครอบครัวหนึ่งเดียวที่ปกครองโดยจิตวิญญาณเดียวกัน โดยกฎหมายร่วมกัน และเสพสุขทั้งปวงซึ่งธรรมชาติมนุษย์สามารถเสพได้" แต่ครั้นมองย้อนหลังกลับไป เขาก็ครุ่นคิดถึงซากปรักหักพัง

"ฝูงชนคับคั่งจอแจที่เคยชุมนุมกันอยู่ใต้วิหารมุขเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยวิเวกแห่งความตาย ความเงียบเชียบของหลุมศพเข้าทดแทนเสียงอึงมี่ของสาธารณสถาน ความมั่งคั่งร่ำรวยของนครพาณิชย์เปลี่ยนไปเป็นยากจนข้นแค้น ปราสาทราชวังกลายเป็นที่พำนักของกวางและสัตว์เลื้อยคลานโสโครกก็เข้าอาศัยในศาลเทพเจ้า..... ความรุ่งโรจน์โชติช่วงถึงปานไหนที่ถูกบดบังมืดมิดไปในที่นี้ และเรี่ยวแรงของผู้คนสักเท่าไรที่ถูกทำลายล้างไป!..... ผลงานของมนุษย์ก็วอดวาย อีกทั้งจักรวรรดิและชาติต่าง ๆ ก็พากันมลายหายสูญไปด้วยอาการฉะนี้!

"ใครจะให้หลักประกันฉันได้" เขาเรียกร้องเอากับนิโคลาสอย่างสลดเศร้า "ว่าความอับเฉาร่วงโรยของจักรวรรดิและชาติเหล่านี้ในปัจจุบัน จะไม่กลายเป็นชะตากรรมของประเทศเราเข้าเองสักวันหนึ่งข้างหน้า?"

"ไม่มีใครให้ได้หรอก" นิโคลาสตอบ "เราได้แต่หาทางไม่ให้อดีตน่าหดหู่ท้อแท้เกินไป หรือไม่ให้อนาคตน่าคึกคักฮึกเหิมเกินไปเท่านั้น"

และโดยยืนยันว่าอดีตเป็นประหนึ่งบ้านให้อยู่อาศัยและปรับปรุงดัดแปลงมากกว่าจะเป็นซากปรักหักพังสำหรับสร้างขึ้นมาใหม่หมด เขาก็ผล็อยหลับไป (น. ๑๓๒-๓๓)


Kasian Tejapira