วันพฤหัสบดี, มีนาคม 01, 2561

กระบวนยุติธรรมไทยตอนนี้มีสองอย่าง ถ้าไม่ 'บิดเบี้ยว' ก็ 'ล้าหลัง'


กระบวนยุติธรรมไทยวันนี้ (จะสี่ปียุค คสช.) ถ้าไม่บิดเบี้ยวก็ล้าหลังเต็มทน ดูคดี เปรมชัย กรรณสูต เศรษฐีบริษัทก่อสร้างอิตาเลี่ยนไทย เข้าป่าล่าสัตว์สงวนในเขตหวงห้าม ยังไม่ทันได้พิจารณาคดี หลุดไปแล้ว ๒ กระทง

หลังจากรอง ผบ.ตร. คนดังของ คสช. แถลงว่าการสอบสวนคดีนายเปรมชัยคืบหน้าไปไกลทีเดียว ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วได้ความว่าผู้ต้องหา ไม่ผิด ในกรณี ทารุณกรรมสัตว์ เพราะไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พรบ.ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๗

เนื่องจาก “ในมาตรา ๓ ที่ระบุว่าสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน ใช้เป็นอาหาร เพื่อการแสดง และให้รวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ตามที่รัฐมนตรีประกาศ แต่ยังไม่ได้ประกาศถึงสัตว์ป่าคุ้มครอง

ซึ่งก็คือ กฎหมายค่อนข้างล้าหลัง ไล่ตามไม่ทันพัฒนาการสังคม แม้จะครอบคลุม สัตว์ป่าแต่มีข้อแม้ให้เป็นไปตามรายชื่อสัตว์ที่รัฐมนตรีประกาศ บังเอิญผ่านมาสามปีกว่ารัฐมนตรียังไม่มีเวลาประกาศ เจ้าสัวนักล่าเลยรอดตัวไป

นี่เป็นการบิดเบี้ยวกฎหมาย ในเมื่อเสือดำเป็นสัตว์ป่าสงวน แม้จะยังไม่ได้มีการประกาศชื่อใน พรบ.คุ้มครองสัตว์ป่า ก็น่าจะตีความได้ว่าเข้าข่ายอยู่แล้ว แต่นี่ตำรวจ คือเจ้าพนักงานสอบสวนรีบตีความยกประโยชน์แก่จำเลยเสียก่อนกระบวนพิจารณาความจะเริ่ม

เสร็จแล้วไหนๆ ก็ไหนๆ สอบมาได้ตั้งเกือบร้อยแล้วอย่าให้ต้องคว้าน้ำเหลว หันไปเล่นงานเจ้าหน้าที่ซึ่งทำการจับกุม และแจ้งความเรื่องนี้ดีกว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล “ยังสั่งการให้พนักงานสอบสวน พิจารณาเจตนารมณ์ของผู้ที่แจ้งความในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ว่ามีเจตนากลั่นแกล้ง หรือมีจุดประสงค์อื่นไหม”


ตานี้พวกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องพากันหนาวละสิ “คดีกำลังพลิก คล้ายกับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะแจ้งข้อหาเจ้าหน้าที่ป่าไม้เรื่องของการละเว้นปฏิบัติหน้าที่นั้น” เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่เข้าเวรประจำคนหนึ่งให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวอมรินทร์ทีวี

“ตนขอยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุทุกคนต่างปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มที่ ไม่ได้ปล่อยปละละเลย แต่ทำไมถึงกลับถูกตั้งข้อหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่”
 
มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจทองผาภูมิที่รับแจ้งความจากหัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี กลับถูกหัวหน้าคือ ผู้กำกับฯ สภ.ทองผาภูมิสั่งภาคทัณฑ์ ฐานที่รับแจ้งความ “ให้ดำเนินคดีกับนายเปรมชัย กรรณสูต กับพวก ในความผิดฐานกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร” เสียอีก


สำหรับอีกกระทงที่หลุด เกี่ยวกับที่ปรากฏในคลิปเสียงต่อรองระหว่างคณะล่าสัตว์ของนายเปรมชัยกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการสนทนาหลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น

พ.ต.อ.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ รองผู้บังคับการ ปปป. “ยืนยันว่าจากการตรวจสอบนั้นไม่ใช่เสียงของนายเปรมชัย แต่เป็นของคนขับรถนายเปรมชัย คือนายยงค์ โดดเครือ ซึ่งพูดคุยในเรื่องทั่วไป

“ทั้งนี้ในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๑ จะมีการเชิญตัวนายวิเชียร ชินวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก กับพยานอีก ๕ คนมาให้ปากคำเพิ่มเติม ก่อนจะมีการประชุมสรุปว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ในวันที่ ๑๒ มีนาคมนี้


รูปการณ์จากท่าทีของรอง ผบ.ตร.ในตอนนี้ น่าจะยึดมั่นถือมั่นตามกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้กระทำความผิด ทำนองเดียวกับที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยกฎหมายล้าหลังมาแล้วเช่นกัน

มาตรฐานของผู้บังคับใช้กฎหมายไทยในประเด็นนี้จึงอยู่ที่ ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องการจะ ละโทษหรืออยาก กลั่นแกล้งใครนั่นต่างหาก ดังเช่นกรณีไผ่ ดาวดิน ที่ถูกศาลขอนแก่นปฏิเสธแล้วปฏิเสธเล่าไม่ยอมให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยข้ออ้างหนึ่งว่าเขาโพสต์เฟชบุ๊คหยามเหยียดศาล

โดยที่กฎหมายว่าด้วยการละเมิดต่อศาลนี้เป็นกฎหมายล้าสมัย อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ปี ๒๔๗๗ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จึงยังมีบทลงโทษที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน แม้สิบปีต่อมามีการระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงระวางโทษ จากจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท ไปเป็นจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน ปรับ ๕ หมื่นบาท


และใน พรป. ใหม่ยุค คสช.นี้ ที่ผ่านอนุมัติโดย สนช.แล้ว ยังไม่ได้ประกาศใช้ มีเพิ่มเติมให้นำ ป.วิอาญาเข้ามาประกอบเพื่อการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาก็ตาม โดยเนื้อแท้ของกฎหมายยังคงไม่ได้มาตรฐานสากล ๓ กรณี
 
ดังที่ ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในการเสวนาเรื่องกฎหมายละเมิดอำนาจศาล ที่ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. เมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์

1) เป็นการลงโทษบุคคลหลายครั้งจากการกระทำกรรมเดียว ทั้งถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล และยังอาจถูกดำเนินคดีฐานดูหมิ่นศาลหรือฐานอื่นได้อีก
2) ขาดความชัดเจน เมื่อไปศาลแต่ละแห่งก็จะเห็นป้ายชั่วคราวแปะไว้ไม่เหมือนกัน
3) ไม่ได้พิจารณาคดีโดยตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง แต่เป็นคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียด้วย”