วันพฤหัสบดี, มีนาคม 08, 2561

พรรคธนาธรมาแรงเพราะเน้นภาพ "คนรุ่นใหม่" จนได้ใจคนเกลียดประยุทธ์-เบื่ออภิสิทธิ์-เซ็งเพื่อไทย พรรคใหม่นี้จะสามารถขนะการเลือกตั้งโดยปราศจากฐานมวลชนหรือฐานทางสังคมได้ไม๊ - สิ่งที่จะต้องทำ...





ส่วหนึ่งของบทความใน The Standard
โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


พรรคธนาธร โจทย์ที่ต้องทำ หากไม่ได้ทำพรรคเล่น


... ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ พรรคธนาธรเปิดตัวบนยุทธศาสตร์สี่ขา คือการเข้าหาประชากรกลุ่มใหม่ การตอบสนองความใฝ่ฝันเรื่อง ‘คนรุ่นใหม่’ การพูดเรื่อง ‘ระบอบ’ มากกว่าบุคคล และการสร้างความรู้สึกว่าพรรคนี้เป็นของทุกคน

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวพรรคก็เหมือนกับการเปิดตัวองค์กรอื่นๆ นั่นคือการเปิดตัวขององค์กรไหนล้วนไม่เท่ากับการดำเนินการจริงขององค์กรนั้น และยิ่งไม่ต้องพูดว่าการเปิดตัวจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างที่ผู้ก่อตั้งองค์กรต้องการ

ถ้าหยิบจับพรรคธนาธรไปจัดวางโดยคำนึงถึงการตั้งพรรคการเมืองใหม่ในประเทศไทย รวมทั้งการตั้งพรรคการเมืองลักษณะเดียวกันในประเทศอื่น เราจะพบว่ามีอุปสรรคอย่างน้อยสามข้อที่พรรคต้องคิดให้เยอะ หากอยากประสบความสำเร็จทั้งในแง่ชนะการเลือกตั้ง รวมทั้งในแง่เป็นองค์กรทางการเมืองเพื่อทำงานจนชนะเลือกตั้งในระยะยาว

ข้อแรก พรรคธนาธรไม่ใช่พรรคแรกที่ชูประเด็น ‘คนรุ่นใหม่’ เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในประเทศไทย

คนที่เพิ่งสนใจการเมืองอาจคิดว่าการสร้างพรรค ‘คนรุ่นใหม่’ เพิ่งเกิดในประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงคือเรามีพรรคและคนที่ทำการเมืองด้วยประเด็น ‘คนรุ่นใหม่’ เยอะไปหมดในยุคที่มีเลือกตั้งต่อเนื่อง เหตุผลง่ายๆ คือคำนี้เป็นทั้งข้อเท็จจริงและวาทกรรมโยนขี้ว่า ‘คนรุ่นเก่า’ คือต้นตอของปัญหาที่คนไม่พอใจ และหากอยากขจัดปัญหาให้สิ้นซาก ก็ต้องเทคะแนนให้ ‘คนรุ่นใหม่’ ไม่ใช่ ‘คนรุ่นเก่า’ ที่ถูกสร้างภาพว่าเป็นชนวนสังคมทราม

ความยุ่งยากของการชูประเด็น ‘คนรุ่นใหม่’ มีสองเรื่อง เรื่องแรกคือไม่ใช่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งทุกคนจะคิดว่าประเทศมีปัญหา และข้อสองคือไม่ใช่คนที่เห็นปัญหาทุกคนจะคิดว่า ‘คนรุ่นใหม่’ คือทางออกของประเทศไทย

อย่าลืมว่าขณะที่คำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ทรงพลังในการโจมตีคนอื่นว่าสร้างปัญหา แต่ทันทีที่มีการเลือกตั้ง วาทกรรม ‘คนรุ่นใหม่’ จะถูกแทนที่ด้วยบุคคลที่ไม่สวยหรูเหมือน ‘คนรุ่นใหม่’ ในจินตนาการ เช่นเดียวกับ ‘คนรุ่นเก่า’ ตัวเป็นๆ ที่ไม่ได้บัดซบตามวาทกรรมกล่าวหาไปหมด ความโหยหาที่สังคมมีต่อคนรุ่นใหม่จึงไม่แน่ว่าจะกลายเป็นการลงคะแนน

ชวน, สุขุมพันธุ์, ศุภชัย, จักรภพ, สกลธี, คุณหญิงสุดารัตน์, พรรคนำไทย, พรรคเสรีธรรม, น้องไอติม, ปลื้ม ฯลฯ เคยเข้าการเมืองครั้งแรกโดยชูประเด็นคนรุ่นใหม่ในยุคตัวเองทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จทันทีทุกกรณี

ทำอย่างไรที่จะนำเสนอ ‘คนรุ่นใหม่’ ตรงกับที่คนจินตนาการและเหนือกว่าทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่จากพรรคอื่นๆ คือเส้นแบ่งระหว่างพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่กับพรรคการเมืองที่ใช้คนรุ่นใหม่เป็นฐานความนิยม

ข้อสอง การชูยุทธศาสตร์นำประเทศออกจากความขัดแย้งเป็นความหวังที่ต้องทำให้คนเชื่อว่าเป็นไปได้

ประเทศไทยหลังรัฐประหาร 2549 คือดินแดนแห่งความขัดแย้งซึ่งหลายฝ่ายลากประเทศลงเหวจนปัจจุบัน ผลพวงอย่างความถดถอยด้านนิติธรรม ประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล ฯลฯ เป็นหายนะที่ทุกคนเห็นกันหมด โศกนาฏกรรมคือถึงจุดนี้ทุกฝั่งมีคนชี้นิ้วว่าอีกฝ่ายเท่านั้นที่ทำชาติเสียหาย และที่สุดการออกจากความขัดแย้งก็ถูกเตะถ่วงด้วยสงครามน้ำลาย

สิบสองปีที่ผ่านมาคือสิบสองปีที่การนำประเทศออกจากความขัดแย้งทุกสูตรล้มเหลว ไม่มีใครเชื่อคณะปรองดองของอานันท์ ไม่มีใครสนเรื่องพรรคข้อกลางของพลเอก ชวลิต ลบผลพวงรัฐประหารสูตรนิติราษฎร์ถูกมองว่าใช้ไม่ได้ ยิ่งลักษณ์แก้ไขไม่แก้แค้นถูกรัฐประหาร สุดารัตน์ถูกพวกเดียวกันถล่มหลังบอกว่าเพื่อไทยต้องไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นมา

ขณะที่จุดแข็งของพรรคธนาธรอยู่ที่การสร้างแบรนด์ ‘คนรุ่นใหม่’ ในสายตาคนที่ไม่โอเคกับพรรคไหนเลย อุปสรรคของพรรคคือคนกลุ่มที่มี political preference กับบางฝ่ายนั้นมองว่าพรรคเป็นส่วนหนึ่งของ ‘กีฬาสี’ แน่ๆ ไม่ต้องพูดถึงประเด็นประเภท ‘ต่อสู้กับผู้กดขี่’ ซึ่งง่ายจะถูกสงสัยว่าพรรคอยู่ไหนในแผนที่ใหญ่เรื่องหยุดความขัดแย้งทางการเมือง

พรรคธนาธรพูดดีเรื่องการนำประเทศออกจากความขัดแย้งที่เป็นมาสิบกว่าปีด้วยประชาธิปไตย แต่อุปสรรคของเรื่องนี้มีสองข้อ ข้อแรกคือทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าพรรคไม่ได้เป็นพวกเดียวกับพรรคไหนหรือฝ่ายใดจนสร้างปัญหา และข้อสองคือทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าพรรคจะประสบผลด้านยุติความขัดแย้งที่ไม่มีผู้มีบารมีหรือพรรคไหนทำสำเร็จเลย

หากทำไม่ได้ พรรคก็จะเจอปัญหาที่โหดเหี้ยมอย่างสงครามทางอุดมการณ์ ซึ่งนั่นหมายถึงสงครามกับรัฐราชการและกลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งหมด และนั่นคืออวสานของการพูดว่าพรรคจะพาประเทศออกจากความขัดแย้งที่เป็นมาตลอดสิบสองปี

ข้อสาม ทำอย่างไรให้ยุทธวิธีของพรรคทางเลือกในต่างประเทศเป็นคะแนนเสียงเลือกตั้งในประเทศไทย


พรรคธนาธรแปลกใหม่กว่าพรรคใหม่อื่นเรื่องการสร้างพรรคจากประชาชน แม้ตอนนี้พรรคเกรียนและพรรคสามัญชนจะพูดเหมือนกัน แต่พรรคธนาธรนั้นชัดเจนที่สุดเรื่องทำพรรคโดยมีแรงบันดาลใจจากพรรคทางเลือกที่มีผู้นำโนเนมแต่กลับเติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง Pademos ของสเปน, Demosisto ของฮ่องกง, M5S ของอิตาลี ฯลฯ สุดแท้แต่กรณี

แน่นอนว่าพรรคที่กล่าวมานี้เริ่มต้นจากคนธรรมดาเหมือนพรรคธนาธร และการเติบโตของโซเชียลมีเดียก็ทำให้พรรคสื่อสารกับประชากรรุ่นใหม่ที่ไม่โอเคกับผู้นำการเมืองเดิมสำเร็จ หัวใจของพรรคจึงคล้ายการสร้างแบรนด์และความเชื่อมั่นจนแปรกระแสคนกลุ่มใหม่เป็นคะแนนได้ แต่ไม่ถูกที่สรุปว่าพรรคทางเลือกชนะแค่เพราะประชากรศาสตร์การเมือง

Political Geography ไม่ใช่ Political Spectrum และประชากรวัยเดียวกันไม่จำเป็นว่าจะมีพฤติกรรมลงคะแนนเหมือนกัน

ใครรู้การเมืองเปรียบเทียบคงรู้ว่าพึงเลี่ยงเอาพฤติกรรมการเมืองในสังคมหนึ่งไปอนุมานสังคมอื่น และที่จริงพรรคทางเลือกแต่ละกรณีชนะด้วยปัจจัยซับซ้อนกว่าแมตชิ่งของโซเชียลกับประชากร ตัวอย่างเช่น อิตาลีการเมืองวุ่นจนมีช่องให้ M5S จูงใจวัยรุ่นด้วยนโยบายต้านผู้อพยพกับให้พลเมือง 780 ยูโร/เดือน ส่วน Podemos สร้างผู้นำบนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เข้มแข็งกับประสบการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ และกลุ่มต้านโลกาภิวัตน์สเปน

พรรคธนาธรมีจุดแข็งที่การโฟกัสประชากรกลุ่มใหม่ และใช้โซเชียลเข้าถึงกลุ่มนี้ได้แม่นยำ แต่ในทางกลับกัน จุดแข็งนี้เป็นจุดอ่อนสองข้อ ข้อแรกคือพรรคธนาธรได้เปรียบเพราะพรรคใหม่อื่นประสบการณ์ต่ำ แต่ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยไม่มีทางด้อยประสบการณ์แบบนี้ ส่วนข้อสองคือ โซเชียลที่ไร้พื้นฐานทางสังคมย่อมเหมือนการสร้างบ้านบนพื้นทราย

จริงอยู่ว่าประเทศไทย ค.ศ. 2018 มีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงจนพฤติกรรมลงคะแนนของคนเปลี่ยนไป และเป็นความจริงว่าพรรคการเมืองต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองประชากรให้มากที่สุด แต่ไม่มีสังคมไหนที่ทุกอย่างเปลี่ยนในพริบตา พรรคที่จะประสบความสำเร็จต้องเข้าใจการดำรงอยู่ของปัจจัยเก่าเท่ากับขี่ยอดคลื่นของความเปลี่ยนแปลง

มีเรื่องอีกเยอะที่พรรคทางเลือกใหม่ต้องทำเพื่อให้เป็นทางออกประเทศ ถ้าไม่อยากเป็นแค่ห้องทดลองเปลี่ยนประเทศด้วยพลเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง

Photo: www.forbes.com, www.bbc.com/thai
อ่านบทความเต็มได้ที่...