วันศุกร์, มีนาคม 02, 2561

Aum Neko สรุปสาระสั้น ๆ อธิบายความเข้าใจผิดๆ ของการได้เป็น "ผู้ลี้ภัย"




ภาพจากประชาไท


อยากจะอธิบายความเข้าใจผิดๆ ของการได้เป็น "ผู้ลี้ภัย" ว่าจะได้เงินช่วยเหลือ อยู่สบาย เนื่องจากเห็นและได้รับคำถามอะไรพวกนี้มาบ่อย จะสรุปอะไรที่สำคัญสั้นๆ ให้ละกันค่ะ
.
- ได้สถานะลี้ภัยแล้วรัฐบาลจะส่งเสียมีเงินให้

ไม่จริงค่ะ หลังจากได้สถานะลี้ภัยแล้ว เงินช่วยเหลือไม่ได้มาเองแบบอัตโนมัติ ถ้าอยากได้ก็ต้องเข้าโปรแกรมจำพวก integration หรือการทำให้เราเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เช่น ฝึกงาน หางาน เรียน รัฐถึงจะมีพวกสวัสดิการเป็นเงินให้ระหว่างแสดงตัวว่าอยากทำงาน และเรียนเพื่อไปใช้ในงานหรือในชีวิตที่ประเทศนั้นๆ และที่สำคัญเงินที่ได้ไม่ใช่เงินแบบให้มาสบายไปช็อปปิ้งได้สวยๆ จำนวนที่ได้มามันแค่ไว้พอยาไส้เดือนต่อเดือนค่ะ และเขาไม่ได้ให้ตลอด พอได้งานปุ้ปก็ตัดออก หรือถ้าหางานเกินสามเดือนแล้วปฏิเสธงานที่เขาเสนอบ่อยก็ตัดเงินค่ะ
.
- ได้สถานะแล้วจะมีบ้านให้อะไรให้

ถ้าอยู่เมืองใหญ่ๆ คงไม่มีโอกาสค่ะ ยากบอกเลย และเขาไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเราจะมีที่ซุกหัวนอนหรือไม่ คนที่ช่วยคนไร้บ้านก็พวก NGO กะบางหน่วยงานรัฐค่ะ มีที่พักฉุกเฉินที่ต้องนอนรวมๆ กัน เสี่ยงโดนปล้นขโมย แต่ถ้าไปอยู่เมืองคนน้อยๆ ตึกร้าง บ้านว่างเยอะก็มีสิทธิได้บ้านง่ายขึ้น แต่ก็ต้องมีเงินจ่ายนะคะ ส่วนคนที่จะได้บ้านของรัฐอันดับต้นๆ เขาเน้น คนมีลูก ครอบครัว คนสูงอายุ คนถูกข่มขืนตบตีหนีผัว เขาไม่ได้มองค่ะว่าเพราะเป็นผู้ลี้ภัยธรรมดาแล้วจะมีสิทธิอะไรมากกว่าคนอื่น แล้วการขอบ้านรัฐนี้อย่างในปารีสรอไปเถอะค่ะไทยได้เลือกตั้งที่นี้ก็ยังไม่ได้บ้าน ปกติเขารอกัน 5 ปี 6 ปี อย่างเร็วสุด
.
- เป็นผู้ลี้ภัยแล้วไม่ต้องทำงาน เขามองเราราวนักรบเพื่อบ้านเมือง

ไม่จริงค่ะ ผู้ลี้ภัยที่นี้ถูกคาดหวังเสมอจากสังคมทุนนิยมให้ต้อง contribute หรือทำอะไรแก่สังคม โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การได้สวัสดิการอะไรบางอย่าง หรือได้สถานะลี้ภัยไม่ใช่ว่าเค้าให้เฉยๆ ราวกับเป็นคนใจบุญไม่คิดส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ลี้ภัยที่นี้มี "ความจำเป็น" ที่จะต้องพยายามเป็นส่วนหนึ่งในสังคม เพื่อที่จะสามารถอยู่รอดได้ หากใครที่บ่นว่าลำบากๆๆ จังเลย ให้คิดได้เลยค่ะว่า 1) ไม่เรียนหนังสือ ภาษาก็ไม่ได้ 2) ไม่คิดจะหางานทำ ดังนั้นในประเทศที่เจริญแล้วถ้าทำงานทำการบ้างอย่างน้อยก็จะสามารถพออยู่ได้แบบอยู่แบบประหยัดกินเคบับนะคะไม่ใช่หรูหรา และถ้าบางคนที่เรียนหนังสือ หรือทำงานแต่เงินมันไม่พอใช้ก็เข้าใจได้ค่ะว่าเค้าทำเต็มที่แล้ว มีความลำบากแต่พยายามไม่หยุดนิ่ง แต่ถ้าบางคนที่ไม่พยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเลยแล้วลำบากนี้ต้องถามพวกเขาค่ะว่าวันๆ ทำอะไร รัฐที่นี้ไม่ได้คาดหวังให้เราต้องต่อสู้เพื่อบ้านเมืองเกิด 24 ชม. นะคะ หากจะทำนั้นคือทางเลือกของเขาเองค่ะ เยี่ยงงานอดิเรก
.
สรุปก็คือผู้ลี้ภัยไม่ใช่อะไรที่ใครๆ ก็ฝันอยากเป็นนะคะ ถ้าไม่ได้มีความสามารถในการปรับตัวจริงๆ ก็ลำบากค่ะ ไม่ได้มีใครหยิบยื่นความช่วยเหลือพิเศษมาให้ถ้าไม่ใช่คนรู้จักเรา แล้วถ้าได้เป็นผู้ลี้ภัยแล้วรัฐก็ไม่ได้คาดหวังให้เรานิ่งดูดายไปวันๆ นะคะ ถ้าอยากได้ความช่วยเหลือก็ต้องทำอะไรเพื่อสังคม "ที่นี้" ไม่ใช่ทำเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนนะคะ และสุดท้ายสถานะนี้ไม่ได้ได้มาง่ายๆ โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรปตะวันตกตอนนี้ อย่างองค์กรที่ช่วยผู้ลี้ภัย lgbt เล่าว่า ไม่ใช่เพราะแค่เป็นเกย์ที่อิรัก แล้วจะได้สถานะนะคะ ต้องแสดงให้เห็นว่ามีการถูกข่มขู่ไล่ล่าจากรัฐจริง ในไทยก็เช่นกันค่ะไม่ใช่แค่เขียนสเตตัสด่าประยุทธ์แล้วจะได้สถานะลี้ภัยค่ะ


Aum Neko