วันอาทิตย์, มีนาคม 11, 2561

สาวสวยชาวฝรั่งเศสคนนี้แหละ ที่แต่งงานกับ อ.ปิยบุตร - เมื่อ 3 ปีที่แล้ว "สารคดี" สัมภาษณ์ – Eugenie Merieau เมืองไทยเท่าที่เห็น - คุณติ่งว่าเธอสวยไหม



ooo


สัมภาษณ์ – Eugenie Merieau เมืองไทยเท่าที่เห็น






กรกฎาคม 25, 2015
ที่มา "สารคดี"


โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปลภาษาในระหว่างการสนทนา และไม่ใช่เพราะว่าภาษาฝรั่งเศสผมดีเยี่ยม แต่นั่นเป็นเพราะ เออเชนี เมรีโอ (Eugenie Merieau – ผมเรียกเธอสั้น ๆ ว่า “เจนนี่”) พูดภาษาไทยได้ คำว่าได้ที่ผมหมายถึง ไม่ใช่แค่เพียงพอต่อการเอาตัวรอดเท่านั้น หากแต่ภาษาไทยของเธอยังอยู่ในระดับที่ใช้ทำมาหากินได้สบาย ๆ เธอไปไกลกว่าประโยคพื้น ๆ อย่าง “ไปไหนมา” “กินข้าวรึยัง” เพราะหลายครั้งที่เราคุยถึงเรื่องยาก ๆ เธอก็เข้าใจความหมาย นัยที่ถูกซ่อน หรือกลุ่มคำที่ถูกเข้ารหัสไว้

“เจนนี่” เล่าว่าเธออยู่เมืองไทยมา ๗ ปี ระยะเวลาขนาดนี้ สิ่งที่เธอเห็นในฐานะชาวต่างชาติย่อมไปไกลกว่าวัดพระแก้ว ต้มยำกุ้ง ตุ๊กตุ๊ก หรือฟูลมูนปาร์ตี้แห่งเกาะพะงัน เธอคิดอย่างไรกับหลายสิ่งที่เห็น เธอมองเมืองไทยในแบบที่เราอยากให้มองรึเปล่า มองคนไทยเป็นไทยสไมล์ ชอบแจกรอยยิ้ม แต่รอยยิ้มแบบไหนล่ะ ยิ้มกว้างปากฉีก ยิ้มแบบฝืดฝืน ยิ้มพอเป็นมารยาทแบบขอไปที หรือยิ้มที่มุมปากแล้วทำเสียงหึหึ

แน่นอนว่าการมองอะไรในระยะที่ใกล้เกินไปอาจทำให้ภาพพร่ามัวสั่นเบลอ บางทีสายตาของคนนอกที่มองเข้ามาอาจเห็นบางอย่างที่เราไม่เห็น แล้วสะท้อนสิ่งที่เขาเห็น ช่วยปรับโฟกัสให้เราได้เห็นตัวเองชัดขึ้น ผมเลือกคุยกับเจนนี่ด้วยเหตุผลนี้ น่าสนใจว่าหลายปีที่อยู่เมืองไทย เธอเห็นอะไรบ้าง

หมายเหตุ บทสัมภาษณ์นี้ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำตามที่ผู้ให้สัมภาษณ์พูด โดยไม่ถอดเป็นภาษาไทย







เจนนี่มาเมืองไทยได้ยังไง

ตอน ๑๕-๑๖ เดินทางทั่วยุโรปแล้วชอบเดินทางคนเดียว เปิดโอกาสให้เผชิญหน้ากับ magic เลย พออายุ ๑๗ ไปเรียนรัฐศาสตร์ที่ Sciences Po ปารีส พอปี ๓ หลักสูตรรัฐศาสตร์บังคับให้ไปอยู่ต่างประเทศ ๑ ปี เจนนี่เลือกนิวซีแลนด์ ไปเรียน Sound Engineering ซึ่งคนละเรื่องกับสิ่งที่เราเรียนอยู่คือรัฐศาสตร์ แต่ก็ไม่เป็นไร มหาวิทยาลัยที่ปารีสยอม พอเรียนจบจากนิวซีแลนด์ เพื่อนที่นั่นก็แนะนำให้เดินทางคนเดียวไปทุกประเทศที่อยู่ระหว่างทางกลับฝรั่งเศส ไปฟิจิ ไปศรีลังกา ประเทศไทย แล้วก็กลับยุโรป เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเจนนี่ีน่าจะเหมาะกับประเทศไทย ลองไปอยู่เมืองไทยดู อย่างน้อยก็สัก๑ เดือน

จาก ๑ เดือนทำไมกลายเป็น ๗ ปี ติดอกติดใจอะไรที่นี่

ตอนแรกไปตามแพลนของเพื่อน คือไปฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะพะงัน อยู่ราว ๑ เดือนแล้วก็กลับ แต่รู้สึกเหมือนยังไม่ได้เห็นเมืองไทย ตอนที่กำลังจะขึ้นเครื่องบินบอกตัวเองว่าจะกลับมาอีก อยากกลับมาเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม อีกอย่างประเทศไทยสอดคล้องกับสิ่งที่เราเรียนมา เพราะเราเรียนรัฐศาสตร์ มันมีเรื่องวิกฤตทางการเมือง สงครามภายใน การก่อการร้าย การขายอาวุธ ค้ามนุษย์ ยาเสพติด ประเทศไทยมีครบหมดเลย (หัวเราะ) ก็คิดว่ามาเมืองไทยไม่น่าจะตกงานนะ (หัวเราะ) คือสำหรับคนที่ทำวิทยานิพนธ์ที่นี่น่าสนใจ เพราะการเมืองเปลี่ยนไปทุก ๆ วัน ต้องติดตามความเคลื่อนไหวตลอด

ใช้เวลานานไหมกว่าจะพูด เขียน อ่าน ภาษาไทยได้ ไปเรียนภาษาไทยจากที่ไหน

เรียนที่มหาวิทยาลัย INALCO ที่ปารีสซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยดีเด่นเรื่องภาษาศาสตร์ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของโลกที่เรียกว่า Oriental คือโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก พูดง่าย ๆ แอฟริกาและเอเชีย ในอดีตมีคนดัง ๆ ด้านไทยศึกษาเป็นอาจารย์ที่นั่น อย่างเช่น Georges Cœdès (ยอร์ช เซเดส์) คนที่สร้างทฤษฎีว่าด้วยอิทธิพลอินเดียต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Robert Lingat (โรแบร์ แลงกา) คนแรกที่สอนและเขียนตำราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมายไทย แต่ตอนนี้มีคนเรียนไทยศึกษาไม่มากนัก เจนนี่อยากจะเรียนภาษาไทยอยู่แล้ว ปัญหาส่วนตัวในชีวิต คืออยากเรียนทุกภาษา ทุกวิชา ทุกเครื่องดนตรี ไปทุกที่ ทำทุกอย่าง (หัวเราะ) พอเข้าไปเรียนก็สนุกมาก คนละแบบกับที่ Sciences Po ซึ่งค่อนข้างเป็น elite พอสมควร แต่ที่ INALCO มีนักศึกษาหลากหลายมาก เช่น นักวิจัยโบราณคดีด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลูกครึ่งลาว-ฝรั่งเศส กัมพูชา-ฝรั่งเศส ไทย-ฝรั่งเศส มาเรียนภาษาเพราะอยากจะคุยกับแม่หรือเอาไว้ใช้สอนลูก มีแม่ที่อยากจะสื่อสารกับลูกสะใภ้ที่เป็นคนไทย มีคนที่มีภรรยาเป็นไทย แล้วก็มีคนที่เข้ามาเรียนโดยไม่ได้คิดอะไรมาก อยากลองเรียนดู แล้วก็มีเจนนี่ที่สนใจการเมืองไทยอยู่คนเดียว

ที่นั่นสอนภาษาไทยยังไง

เรียนภาษาไทยด้วยวิธีแบบคนฝรั่งเศส คือ เรียนภาษาสุภาพ ภาษาทางการ เน้นการเขียน ตอนนั้นจำได้ว่า สงสัยว่าทำไมต้องเรียนคำว่า “ศิลาจารึก” จะมีโอกาสได้ใช้คำนี้ในบทสนทนาบ้างไหม สุดท้ายต้องยอมรับว่าในชีวิตประจำวันใช้คำนี้บ่อยจริง ๆ (หัวเราะ) หลังจากเรียน ๑ ปีก็มาที่เมืองไทย แล้วรู้แค่ภาษาเขียนและภาษาสุภาพ คนไทยได้ฟังก็หัวเราะกันใหญ่ แต่ไม่มีใครบอกว่าเจนนี่พูดตลก เจนนี่ก็งง พอวันหลังเพื่อนร่วมงานบอกว่า เจนนี่ ไม่ต้อง “ดิฉันรับประทานแล้วค่ะ” ให้พูด “กินข้าวแล้ว” ก็พอ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเจนนี่ struggle มากกับการใช้สรรพนามแทนตัวเอง ตามที่เรียนมาว่าผู้ชายใช้ “ผม” ผู้หญิงใช้ “ดิฉัน” แต่สุดท้ายคำว่า “ดิฉัน” กลายเป็นคำที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน คนฟังแล้วแปลก ๆ แต่ผู้ชายใช้ “ผม” ได้ตลอดเวลา ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้หญิงเลย (หัวเราะ) แล้วใครเรียกเจนนี่ว่า “หนู” เราจะรู้สึกถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาก ใครเรียก “คุณ” ก็รู้สึกตลกมาก มันไม่ค่อยสนิท ใครเรียก “อาจารย์” ก็รู้สึกไม่ยุติธรรมต่อเขา ก็เลยต้องให้คนอื่นเรียกชื่อ “เจนนี่” แล้วเจนนี่ก็เรียกตนเองว่า “เจนนี่” ซึ่งตลกมาก สำหรับผู้หญิงไทย การเลือกใช้สรรพนามแทนตัวเองนั้นยากกว่าผู้ชาย นี่เป็นอุปสรรคในการสนทนา ในการเลือกใช้คำ ยิ่งเจนนี่มาทำงานราชการที่สถาบันพระปกเกล้า ๔ ปี ถ้าอยากเอาตัวรอดก็ต้องเขียนบันทึกข้อความทั้งวัน แล้วเข้าประชุม จำเป็นต้องเก่งภาษา การเรียนภาษาเป็นกระบวนการต่อเนื่อง จำเป็นต้องฟัง พูด อ่าน เขียน ทุกวัน

ตอนนี้เจนนี่ทำอะไรอยู่

ตอนนี้เป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ สอนรัฐศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ หลักสูตรอินเตอร์เนชันแนลภาษาอังกฤษ สอนทั้งปริญญาตรีปริญญาโท สอนวิชาเกี่ยวกับกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เจนนี่เรียนด้านรัฐศาสตร์ กฎหมาย แล้วก็ภาษาศาสตร์ด้วยที่ปารีส เรียนทั้งสามมหาวิทยาลัย มี Sciences Po, Sorbonne, INALCO มีปริญญาทางกฎหมาย ภาษาศาสตร์ และอีกตัวหนึ่งคือรัฐศาสตร์ เรียนปริญญาเอก อาจเป็นดอกเตอร์เร็ว ๆ นี้ รอมา ๕ ปีแล้ว เจนนี่ลาออกจากงานที่สถาบันพระปกเกล้าเพื่อมาทำปริญญาเอก แล้วก็ไปทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ก่อนที่จะไปเป็นอาจารย์ที่ฝรั่งเศสประมาณ ๖-๗ เดือน ตอนนี้ตัดสินใจมาอยู่เมืองไทย น่าจะยาวเลย ส่วนปริญญาเอกก็จะจบแล้ว หัวข้อตอนแรกเกี่ยวกับเรื่องตุลาการภิวัฒน์ แต่ตอนนี้ก็มาศึกษาให้ใหญ่ขึ้น ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมาย ศาสนา ภาษา และกษัตริย์

นอกจากการเป็นอาจารย์แล้วเห็นว่าไปปรากฏตัวในบางรายการของวอยซ์ทีวีด้วย

เป็นเกสต์ประจำให้รายการ “Divas Café” แล้วก็ “Talking Thailand” ซึ่งเป็นรายการสองภาษาที่กำลังมาแรง

สนุกไหมกับบทบาทการเป็นผู้ดำเนินรายการทีวี

สนุกค่ะ ส่วนใหญ่จะพูดถึง หนึ่ง มุมมองยุโรปต่อประเด็นร้อนในสังคมไทย อย่างเช่น ข้อเสนอการตั้งสัดส่วนผู้หญิงในสภา หรือข้อเสนอการเก็บภาษีบ้านและมรดก เป็นต้น สอง วิเคราะห์เหตุการณ์การเมืองในยุโรป อย่างกรณี Charlie Hebdo สาม พูดถึงสิทธิมนุษยชน เช่น สภาพปัญหาของ Rohingya หรือสิทธิมนุษยชนใหม่ ๆ ที่คนไทยคงยังไม่รู้จัก อย่างเช่น สิทธิการเลือกตั้งสำหรับคนต่างชาติที่อยู่อาศัยในสังคมใดสังคมหนึ่ง หรือสิทธิเรียนหนังสือฟรีถึงปริญญาโท เป็นต้น สี่ พูดถึง gender studies ในแง่เฟมินิสต์จริง ๆ อยากจะเล่นเนื้อหาให้ได้มากกว่านี้

ได้มากกว่านี้คือ

ถ้าเทียบกับฝรั่งเศส ที่นี่มีหลายเรื่องเราไม่สามารถพูดถึงได้ มีหลายครั้งที่รายการไม่ได้ออนแอร์ เพราะมันอาจจะพูดถึงไวน์ เหล้า หรือพูดวิจารณ์ศาสนามากเกินไป หลาย ๆ เรื่องค่อนข้าง sensitive บางเรื่องที่จะพูดใหญ่โตเกินไป แต่มีเวลาให้แค่ ๑๐ นาที แล้วในรายการก็ต้องพูดเป็นภาษาไทย ซึ่งเราอาจจะพูดช้าไปหน่อย แต่น่าสนใจสำหรับคนไทยเพราะนี่เป็นมุมมองของคนต่างชาติที่ถ่ายทอดอย่างง่าย ๆ นอกจากนี้แล้วเจนนี่ยังเขียนบทความในนิตยสารฝรั่งเศสชื่อ Gavroche ซึ่งขายในประเทศฝรั่งเศสและประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศส มีประเทศในเอเชียด้วย ช่วยสมาคมภาษาฝรั่งเศสเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับการเมืองไทย มีสัมภาษณ์ด้วย คนแรกก็อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุลเลย (หัวเราะ) คุณรสนา โตสิตระกูล Andrew Macgregor Marshall ที่สิงคโปร์ ครั้งที่แล้วก็ วิจักขณ์ พานิช ครั้งก่อน SpokeDark TV คุยกับจอห์น-วิญญู เพื่อให้คนฝรั่งเศสได้รู้จัก