วันอังคาร, ตุลาคม 03, 2560

“เกียรติที่หาได้ยากสำหรับผู้นำทหาร" รายการช้อปปิ้งเนื้อหมู เนื้อไก่งวง โบอิ้ง ฮาร์พูน และแบล็คฮ้อว์ค

นี่ถ้าไม่ใช่ยุคทรั้มพ์ก็คงไม่ได้อย่างนี้ “เกียรติที่หาได้ยากสำหรับผู้นำทหาร ที่ยึดอำนาจในการทำรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๕๗ แล้วยังดึงดันไม่ยอมนำประเทศกลับสู่การปกครองประชาธิปไตย”

เป็นรายงานข่าวของ วีโอเอหรือเสียงอเมริกา สำนักข่าวอิสระของสหรัฐ ต่อการไปเยือนทำเนียบขาวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนางนราพรผู้เป็นภรรยา เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม โดยประธานาธิบดีดอแนลด์ ทรั้มพ์ และนางเมลาเนียให้การต้อนรับอย่างเป็นทางการในห้องทำงานวงรีภายใต้ภาพอดีตประธานาธิบดี ๓ คน

“ความสัมพันธ์ทางการค้าของสองเรากำลังมีความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเป็นประเทศที่น่าค้าขายด้วยอย่างมหาศาล” ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวตามสไตล์ไม่เหมือนใคร ทรั้มพ์ทาร์ดในพิธีพบสื่อเพื่อถ่ายภาพ หรือ ‘photo op.’ ก่อนจะพากันเข้าสู่ห้องเจรจาที่ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวติดตามเข้าไป


ว้อยซ์ออฟอเมริกาให้ภูมิหลังด้วยว่านี่เป็นการพบได้พบกับทรั้มพ์ครั้งแรกของประยุทธ์ ก่อนหน้านี้ไม่นานศาลไทยได้ตัดสินลับหลังให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เขาเองยึดอำนาจมา ลงโทษจำคุก ๕ ปี ข้อหาละเลยปฏิบัติหน้าที่ในความอาญา

(และเรื่องไม่เกี่ยวกัน ที่วีโอไอไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง แต่ผู้อ่านอดคิดพาดพิงไม่ได้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษของไทยเพิ่งออกหมายเรียกคนในตระกูลชินวัตรอีกรายเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา สมคบกับการฟอกเงิน ในคดีการทุจริตของธนาคารกรุงไทย เมื่อปี ๒๕๕๐)*

อย่างไรก็ดีข้อน่าสนใจที่สุดของการเยือนทำเนียบขาวโดยหัวหน้าคณะรัฐประหารไทย เป็นข้อคิดมาจากคำพูดสั้นๆ ของทรั้มพ์ต่อประยุทธ์ ในรายงานของวีโอเอ

“ทรั้มพ์หันไปทางผู้นำไทยพร้อมกล่าวว่า ผมคิดว่าเราจะพยายามขายของให้กับคุณมากขึ้นไปอีกหน่อยด้วย”


ขณะเขียนนี้ยังไม่ทราบว่าผลการเจรจาซื้อขายกันจะออกมาอย่างไร เพราะเอกสารทางการที่ฝ่ายไทยปล่อยออกมาก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยวาทกรรมความร่วมมือ บลา บลา บลา หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ การค้าและลงทุน เทคโนโลยี่และการศึกษา

เนอร์มอล กอสช์ บรรณาธิการข่าวของ นสพ. สเตรทไทม์ ประจำกรุงวอชิงตันรายงานว่า ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐเริ่มบูดเปรี้ยวหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๕๗ แต่ค่อยๆ กลับสู่ปกติอย่างช้าๆ ในยุคทรั้มพ์ โดยมีการค้าเป็นประเด็นสำคัญ

เมื่อปีที่แล้วไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่า ๒๙,๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ขณะที่นำเข้าจากสหรัฐเพียง ๑๐,๔๐๐ ล้านดอลลาร์ หลังจากที่เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลทรั้มพ์เปิดรายชื่อประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ ๑๖ ประเทศ ที่ทรั้มพ์ตั้งเป้า ตัดทอน หนึ่งในประเทศเหล่านั้นคือไตแลนเดีย


เว้นแต่รายละเอียดบางอย่างหลุดออกมาไม่เป็นทางการ ระบุว่า ไทยตั้งหน้าซื้อแหลกจากสหรัฐ ดังรายการช้อปปิ้งซึ่งข่าวช่อง ๓ ชื่นชมเป็น “ก้าวสำคัญผู้นำไทยเยือนสหรัฐฯ ครั้งประวัติศาสตร์”

ได้แก่การเจรจานำเข้าเนื้อหมู เนื้อไก่งวง ซื้อเครื่องบินโบอิ้ง ๒๘ ลำ ซื้อขีนาวุธฮาร์พูน บล็อคทู รุ่น RGM-84L จำนวน ๕ ลูก และซื้อเฮลิค้อปเตอร์แบล็คฮ้อว์ค อีก ๔ ลำ

“เกียรติที่หาได้ยาก” และการเยือน “ครั้งประวัติศาสตร์” นี้เกิดขึ้นท่ามกลางฉากหลังที่คณะทหารยึดอำนาจมาสามปีกว่า เสียงบ่นชาวบ้านหากินฝืดเคือง สถานะปากท้องของประเทศ “รวยกระจุก จนกระจาย” แถมไม่กี่วันมานี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังออกมาคุยคำโต

“เงินคงคลังในปัจจุบันที่มีจำนวนกว่า ๓ แสนล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ประมาณ ๑.๒หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงฐานะการคลังที่เข้มแข็ง และพอเพียงสำหรับการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงต่อไป”


ครั้นเมื่อลงลึกรายละเอียดย่อยจึงพบว่า รายได้ ๑๑ เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ ๒.๐๘ ล้านล้านบาท แต่เบิกจ่ายไปแล้ว ๒.๖๗ ล้านล้าน (จ่ายเกินเกือบ ๖ แสนล้าน) รัฐบาล คสช. ได้กู้เงินมาเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน ๔.๖๒ แสนล้าน

จึงทำให้มีเงินคงคลังเหลืออยู่เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม ๓.๑๕ แสนล้านบาท “เพียงพอ” ช้อปปิ้งอเมริกา ว่างั้นเถอะ

----------

*หมายเหตุ เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มานานแรมเดือน หลังจากมีการเร่งเร้าจากนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ติ่งสำมะคัญในทีมงานโฆษณาสร้างภาพให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ให้ดีเอสไอจัดการนายพานทองแท้ ชินวัตร หนึ่งในผู้เคยได้รับเช็คจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ จำเลยเอกในคดีธนาคารกรุงไทยอนุมัติให้กู้เงินจำนวน ๙,๙๐๐ ล้านบาทแก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร ที่ได้มีการตัดสินจำคุกผู้บริหารเครือบริษัทกฤษดาฯ และธนาคารกรุงไทย ไปแล้วในความผิดฐานปล่อยกู้นั้นเมื่อปี ๒๕๕๘

ข้อวิพากษ์อยู่ที่ว่า ผู้ได้รับเช็คจากนายวิชัยนั้นมีราว ๒๐๐ คน รวมทั้ง พล.ร.อ.พระจุณณ์ ตามประทีป และมูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ ในนาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วย แต่ผู้ถูกเรียกสอบมีสามสี่คนที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวชินวัตรเท่านั้น

ซ้ำยังมีข้อน่าสังเกตุด้วยว่าผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่มีผิดฐานปล่อยกู้ ๕ คน ไม่ต้องถูกเรียกสอบในคดีฟอกเงินนี้ด้วย ส่วนคดีปล่อยกู้ที่ตัดสินจำคุกไปแล้ว ก็มีคนถูกลงโทษเพียงสาม ยกเว้นนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กับนายอุตตม สาวนายน โดยอ้างว่าสองคนนี้ถูกกันตัวไว้เป็นพยาน ซึ่งต่อมานายอุตตมได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. จนกระทั่งบัดนี้