...คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : แง่มุมในหลืบประวัติศาสตร์— iLawFX (@iLawFX) October 6, 2017
•พิจารณาคดีในศาลทหาร
•ชีวิตนักโทษการเมือง
•นิรโทษกรรม
📖:https://t.co/yS2UwQndhO pic.twitter.com/1OXeFPBuxp
คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : แง่มุมในหลืบประวัติศาสตร์
โดย admin
3 มกราคม 2017
ILAW
เขียนโดย อัฑฒพล ธนศานติ
แก้ไขเพิ่มเติมโดย iLaw
6 ตุลาคม 2519 คือ เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ของความรุนแรงที่เกิดใจกลางเมืองหลวงของประเทศไทย… ที่นั่นคือ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” … มหาวิทยาลัยที่เคยผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอย่าง 14 ตุลาคม 2516 มาแล้ว แต่ครั้งนี้มันต่างออกไป นิสิตนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน รวมถึงประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมไม่ใช่ “วีรบุรุษ” อย่างเหตุการณ์เมื่อเกือบสามปีก่อน แต่พวกเขากลับถูกตราหน้าว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ลัทธิที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมไปทั่วประเทศเพื่อนบ้าน และกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย
มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับเด็กรุ่นใหม่ในการทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เด็กรุ่นใหม่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “เคยได้ยิน” แต่หากถามพวกเขาต่อไปว่า “มันคือเหตุการณ์อะไร?” เชื่ออย่างยิ่งว่าคงมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถเล่า และอธิบายถึงที่มาของเหตุการณ์นี้ได้ อาจด้วยความซับซ้อนของเหตุการณ์ ความคลุมเครือของประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ฝ่ายขวาเป็นผู้เขียน หรือการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองจากประวัติศาสตร์กระแสรองของฝ่ายซ้าย ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากทั้งฝ่ายที่เป็นผู้กระทำ และฝ่ายที่ถูกกระทำ ถ่ายทอดออกมาทั้งในรูปแบบหนังสือ งานเสวนาต่างๆ เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตที่เหตุการณ์นี้
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากเสนอในแง่มุมที่อยู่ใน “หลืบประวัติศาสตร์” ของเหตุการณ์นี้ ที่คนร่วมสมัยไม่ได้กล่าวถึงมากนักนั้นคือ คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าศาลทหารที่นำมาใช้และมีอำนาจเหนือพลเรือนในยุคนั้นเป็นเช่นไร กลุ่มนักโทษการเมืองที่เรียกตนเองว่า นิสิตนักศึกษาพวกเขาเหล่านั้นคือใคร ข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการพิจารณาคดีในยุคนั้น รวมถึงเกร็ดประวัติศาสตร์จากการบันทึกของนักโทษหญิงในคดีนี้ และบทเรียนในการใช้ศาลทหารกับสังคมไทยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
1. เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 กับการเช็คบิลรอบแรก ต่อนิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้ชุมนุม
หลังจากควันไฟจากยางล้อรถ เสียงกระสุนปืนจากอาวุธสงครามสงบลง ซากปรักหักพังรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งตึกบัญชี ตึกวารสารศาสตร์ ตึกโดม ต่างถูกเจาะด้วยกระสุนโดยรอบ นิสิตนักศึกษาทั้งชายและหญิงถูกจับกุมให้นอนราบกับพื้นสนามฟุตบอล มือไพล่หลัง ถอดเสื้อ กึ่งหมอบกึ่งคลานไปตามพื้น…นี่คือ ภาพที่ผู้เขียนสรุปจากความคิดที่ได้จากการค้นหนังสือพิมพ์เก่า หนังสือภาพ หรือหนังสือเพื่อระลึกถึงคนเดือนตุลา มีการจับกุมนิสิตนักศึกษา รวมถึงประชาชนจำนวน 3,094 คน[1] เมื่อทั้งหมดถูกจับกุมได้ถูกแยกการคุมขังไปสามแห่ง ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี และหนึ่งในสถานที่สำคัญนั้นคือ โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน สถานที่ในการควบคุมตัวนิสิตนักศึกษาแกนนำในเหตุการณ์นั้น
จากหนังสือเรื่อง ฤาจะเลือนลบกลบสิ้นระบุว่า ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตแยกออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ฝ่ายนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่เป็นผู้ต้องหา และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ[2]ดังนี้ ฝ่ายนักศึกษาประชาชนเสียชีวิต 41 ราย เป็นศพถูกเผารายละเอียดไม่สามารถระบุเพศได้ 4 ราย เป็นศพชายไม่ทราบชื่อ 5 ราย ผูกคอตายที่สถานีตำรวจบางเขนเมื่อเช้าวันที่ 22 มกราคม 2520 (ขณะเป็นผู้ต้องหา) 1 ราย ชื่อ นายวันชาติ ศรีจันทร์สุข และส่วนอีก 31 รายสามารถระบุชื่อและมอบให้ญาติประกอบพิธีตามศาสนาได้ เป็นชาย 27 ราย และหญิง 4 ราย
นอกจากนั้นแล้วตามบันทึกประจำวันของมูลนิธิร่วมกตัญญู บันทึกถึงการเสียชีวิตของนิสิตนักศึกษาและประชาชนกว่า 500 คน รวมถึงมูลค่าความเสียหายทรัพย์สินกว่า 50 ล้านบาท[3]และในส่วนเจ้าพนักงานเสียชีวิต 5 ราย จำนวนดังกล่าวเป็นการรวบรวมรายชื่อและจำนวนผู้เสียชีวิตเบื้องต้นเท่านั้น
หลังจากเช้าแห่งการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความวุ่นวายโกลาหลของบ้านเมืองที่กำลังเปราะบางเหลือเกิน การประโคมข่าวการล้อมปราบกลุ่มคอมมิวนิสต์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบกับ ข่าวลือการทำรัฐประหารหนาหูขึ้น จนกระทั่ง เย็นในวันเดียวกันเวลา 18.00 น. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ ความว่า “ ขณะนี้ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม เป็นต้นไป และสถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน…” โดยมีเหตุผลในการยึดอำนาจการปกครอง คือ “…คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประจักษ์แจ้งถึงภัยที่ได้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่ม ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก”
การยึดอำนาจดังกล่าวเป็นการรวบรัด ตัดตอนเหตุการณ์ในช่วงเช้าอย่างง่ายดายและโยนความผิดให้แก่ ผู้ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเบ็ดเสร็จ และจากนั้นหัวหน้าคณะรัฐประหารจึงแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อบริหารประเทศต่อไป
เหตุการณ์อันขมขื่นในเช้าวันนั้นยังมิได้สิ้นสุดทันทีตามความปรารถนาของหัวหน้าคณะรัฐประหาร การเช็คบิลรอบสองกับฝ่ายซ้ายหรือเหล่านิสิตนักศึกษา และประชาชนที่ถูกจับกุมกำลังจะเริ่มต้นขึ้น การจับกุมผู้ต้องหาในเหตุการณ์กว่า 3,000 คน คงเป็นไปได้ยากในการจับทุกคนมาลงโทษ รัฐจึงกรองเหล่าผู้ต้องหาให้เหลือเพียงคนสองกลุ่มเท่านั้น คือ หนึ่งกลุ่มคดีแขวนคอ (ซึ่งก็คือแกนนำนักศึกษาเช่นกัน) และสอง กลุ่มแกนนำนิสิตนักศึกษา รวม 18 คน โดยกลุ่มแรก จำนวน 6 คน ถูกจับกุมก่อนขณะเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่บ้านพักตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม และถูกนำมาคุมขังที่กองปราบฯ โดยหกคนนั้นประกอบด้วย สุธรรม แสงประทุม, สุรชาติ บำรุงสุข, ประพนธ์ วังศิริพิทักษ์, วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์, อภินันท์ บัวหะภักดี และอนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ [4]ซึ่งเป็นแกนนำนักศึกษาและทีมงานละครแขวนคอ การเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ครั้งนี้ก็เพื่อออกแถลงข่าวและชี้แจงความบริสุทธิ์ในการแสดงละคร กล่าวคือ การแสดงละครมิได้แสดงขึ้นเพื่อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แต่อย่างใด แต่การแสดงละครนั้นเพียงแค่ล้อเลียนกรณีการตายของช่างการไฟฟ้า 2 คนที่ถูกแขวนคอที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม จากสาเหตุการเป็นผู้ปฏิบัติงานของขบวนการนักศึกษา ซึ่งผู้ตายทั้งสองชื่อ ชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงษา แต่เมื่อการแก้ตัวไม่สามารถทำได้ จึงต้องกลายเป็นผู้ต้องหาทันทีและถูกคุมขังอยู่เรือนจำกลางบางขวาง แดนพิเศษ (นักโทษการเมือง)
ส่วนกลุ่มที่สอง ต่างถูกควบคุมตัวและกลายเป็นผู้ต้องหาในข้อหาคอมมิวนิสต์เช่นกันหลังเหตุการณ์ล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สงบลง และอยู่เรือนจำคนละแห่งแยกกันไป ดังนี้ มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม, อารมณ์ พงศ์พงัน, ประยูร อัศรบวร, อรรถการ อุปถัมภากุล, สุชาติ พัชรสรวุฒิ, ธงชัย วินิจจะกุล, คงศักดิ์ อาษาภักดิ์, สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล, โอริสสา ไอราวัณวัฒน์ และเสรี ศิรินุพงศ์ ถูกคุมขังเรือนจำชั่วคราวโรงเรียนตำรวจนครบาล ส่วนนักโทษหญิงและอยู่ในกลุ่มที่สอง คือ สุชีลา ตันชัยนันท์ และเสงี่ยม แจ่มดวง ถูกแยกไปคุมขังที่ ทัณฑสถานหญิงลาดยาว ทั้งหมดรวม 18 คน ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา
2. การเช็คบิลรอบสอง : การพิจารณาคดีความโดยศาลทหารในคดี 6 ตุลาคม 2519
2.1. รายละเอียดการพิจารณาในคดีนี้[5]
“…คดีของพวกเราสร้างความปวดเศียรเวียนกบาลให้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่สุด เพราะไม่ว่าจะเล่นงานเราอย่างไรก็ติดขัดในข้อกฎหมายไปเสียหมด… ”(สุธรรม แสงประทุม, จากหนังสือ เกิดเดือนตุลา)
ในวันที่ 17 ตุลาคม 2519 ได้มีการประกาศใช้คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 28 แก้ไขอำนาจเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องหากรณี 6 ตุลาคม 2519 เสียใหม่ ให้ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งละ 30 วัน รวมแล้วไม่เกิน 180 วัน จนกระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 เจ้าพนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้ต้องหาทั้ง 18 คน จึงหลุดพ้นจากคำสั่ง ฉบับที่ 28 และถูกคุมขังตามกฎหมายคอมมิวนิสต์แทน โดยมีอำนาจคุมขังได้ 30 วัน หากสอบสวนไม่เสร็จก็ขออนุมัติอธิบดีกรมตำรวจขังได้ 60 วันจากนั้นหากสอบสวนไม่เสร็จก็ขออนุญาตศาลขังได้อีกครั้งละ 90 วัน ไม่เกิน 3 ครั้ง
การควบคุมตัวที่ยาวนานเพื่อสอบสวนและจัดการเช็คบิลรอบสองกับเหล่านิสิตนักศึกษา ประชาชน รวม 18 คนนี้ล้วนถูกฟ้องโดยอาศัยเขตอำนาจของศาลทหารตามกฎอัยการศึกในฐานเป็นคอมมิวนิสต์และฐานอื่นๆ โดยโจทก์คือ อัยการศาลทหารกรุงเทพ และมีอัยการผู้ร่วมรับผิดชอบ คือ พันเอกอุทัย ปะถะคามิน, พันตรีชาญพิชญ์ พรหมปรีชาวุฒิ และร้อยเอกวิรัตน์ บรรเลง ในส่วนของจำเลยทั้ง 18 คนมีทนายความคือ ทนายทองใบ ทองเปาด์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อสู้คดีความรวมถึงทนายความอาสารวมทั้งสิน 44 คน
“คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519” ถูกฟ้องเป็นคดีดำที่ 253ก./2520 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2520 ส่วนจำเลยได้แก่ นายสุธรรม แสงประทุม กับพวกรวม 18 คน โดยทั้ง 18 คนถูกตั้งข้อหาหนักรวม 11 ข้อหาในหนึ่งการกระทำด้วยกัน กล่าวคือ[6]
หนึ่ง ร่วมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์
สอง กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
สาม ดูหมิ่นองค์รัชทายาท
สี่ ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น
ห้า ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่
หก ร่วมกันสะสมกำลังคนและอาวุธเพื่อเป็นกบฏ
เจ็ด ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเป็นหนังสือหรือวิธีอื่นใดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนในหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร
แปด ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นซ่องโจรเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกายของผู้อื่น
เก้า ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดชนิดธรรมดาและชนิดที่ใช้แต่เฉพาะราชการสงคราม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
สิบ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในสำนักงาน สถานที่ราชการ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรโดยมีอาวุธและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ในเวลากลางคืน และทำให้เสียทรัพย์
สิบเอ็ด มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ และเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่ยอมเลิก
รายละเอียดทั้งหมดของการต่อสู้คดี คำร้อง คำฟ้อง คำให้การฝ่ายจำเลย คำให้การฝ่ายโจทก์ การถามค้าน รวมถึงบัญชีระบุพยาน การพิจารณาคดี ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2520 ถึง 29 มิถุนายน 2521 ก่อนการออก “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521” สามารถศึกษาได้จาก หนังสือชื่อ คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ใครคือฆาตกร โดยมี รองศาสตราจารย์ สมยศ เชื้อไทย เป็นบรรณาธิการ ประกอบกับเอกสารคดีประวัติศาสตร์ที่ได้ค้นคว้ามาจากหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์[7] ผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านเอกสารต้นฉบับได้ตามลิงค์นี้
2.2 เกร็ดจากการเช็คบิล : จากหนังสือ “เปิดบันทึกนักโทษหญิง 6 ตุลา”[8]
เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์อันทรงพลังที่สุด ย่อมต้องมาจากการบอกเล่าจากผู้ประสบพบเจอเหตุการณ์นั้นๆมาด้วยตนเอง ดังนั้นนอกจากข้อเท็จจริงในเชิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงอันเป็นการบอกเล่าผ่านความทรงจำของ คุณสุชีลา ตันชัยนันท์ 1 ใน18 ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 ที่ปรากฏในหนังสือ “เปิดบันทึกนักโทษหญิง ๖ ตุลา” ทำให้ผู้เขียนจึงฉุกคิดขึ้นได้ว่า ควรต้องนำมาเปิดบันทึกถึงเป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เพื่อแต่งเติม คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ให้น่าสนใจมากขึ้น
คอมมิวนิสต์ : นิสิต นักศึกษา และผู้ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นล้วนถูกกล่าวหาจากฝ่ายขวาว่าเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ (ซึ่งอาจจะฝักใฝ่ระบอบคอมมิวนิสต์จริงบางส่วน และไม่ฝักใฝ่จริงบางส่วนก็เป็นได้--ความคิดเห็นของผู้เขียน) แม้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะถูกปล่อยตัว แต่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวคือ เหล่าแกนนำนิสิต นักศึกษา และประชาชน ทั้ง 18 คนถูกตั้งข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ อันเป็นข้อหาหลักในการดำเนินคดี จากหนังสือของ คุณสุชีลา มีหลายเหตุการณ์ที่คุณสุชีลา กล่าวถึงประเด็นนี้ ซึ่งเป็นคำพูดที่สะท้อนสังคมไทยในยุค 6 ตุลาคม ว่าระบอบคอมมิวนิสต์เป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และส่งผลต่อมายังคดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม เช่น
-“การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป โดยให้เหตุผลว่า ใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ถือว่า เป็นมาร มิใช่มนุษย์ ดังนั้นการฆ่าคอมมิวนิสต์จึงไม่บาปแต่เป็นการฆ่ามาร” คำกล่าวของ พระกิตติวุฒโฑภิกขุ จากบทขวาพิฆาตซ้าย หน้า 92
-“ไอ้สัตว์ มึงหรือวะอีคอมฯ นมมึงเหมือนคนเขาไหมวะ” จากบทเชลยศึกจำเป็น หน้า 105
-“รองเท้าแตะญวณอะไรที่ไหนกัน ของฉันซื้อแถวประตูน้ำนี่เอง แหม! ไล่ยิงอย่างกับอะไรใครจะมัวใส่รองเท้าอยู่ได้” จากบทเชลยศึกจำเป็น หน้า 108
-“ที่นี่เขารักในหลวงกันทั้งนั้น อย่าได้คิดมาปลุกระดมอะไรทั้งสิ้น” จากบทสู่ประตูนรก หน้า 113
-“พวกนักศึกษาส่วนใหญ่มีเบื้องหลัง เข้าไปยุ่งกับเขาทำไมเป็นผู้หญิง” จากบทขึ้นศาล หน้า 154
-“นายสุธรรม แสงประทุม เป็นผู้ที่มีเบื้องหลัง ทำงานตามความประสงค์ผู้หวังร้ายต่อชาติ” จากบทขึ้นศาล หน้า 154
-“คดีคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ต้องถูกขังฟรีหลายปีใช่ไหม?” จากบทนักโทษการเมือง หน้า 149
ทัณฑสถานหญิงลาดยาว : เป็นคุกหญิงซึ่งได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นเรือนจำหญิงตัวอย่างแห่งเดียวในประเทศไทย คุกนี้ตั้งอยู่ถนนงานวงศ์วาน แขวงลาดยาว เดิมใช้เป็นที่กักกันนักโทษการเมือง แต่ได้เปลี่ยนคุมขังนักโทษหญิงทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะรายที่ต้องโทษหนักนั้นจังหวัดจะโอนมาอยู่จนกระทั่งพ้นโทษ คุณสุชีลา กล่าวถึงคุกหญิงแห่งนี้มากเป็นพิเศษ เพราะท่านได้อยู่ในคุกแห่งนี้นานถึงสองปี ในฐานะนักโทษการเมือง ในคดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 มีคำพูดที่ท่านได้เล่าผ่านหนังสือบันทึกเล่มนี้ได้อย่างน่าสนใจ อันเป็นการกล่าวถึงสภาพการดำรงชีวิตในคุก ในฐานะนักโทษ(หญิง)การเมือง หรือมุมมองของเจ้าหน้าที่ต่อนักโทษ เช่น
-“แน่นอนล่ะสิ คนที่ถูกส่งไปนครปฐมแต่ละคนถูกซ้อมจนคางเหลือง นี่ไม่ใช่เพราะคณะปฏิรูปหรอกหรือ คนเรานี่ก็แปลกจะว่าไม่มียางอายก็ไม่เชิง เพิ่งเอาปืนไล่ยิงมาหยกๆ พอตอนนี้กลับมาลูบหน้าลูบหลัง มันทุเรศ” จากคำพูดในบริบทการเข้าเยี่ยมนักโทษการเมืองของทางคณะปฏิรูปที่คุกหญิงลาดยาว บทเชลยศึกจำเป็น หน้า 108
-“อยู่ที่นี่เธอต้องนั่งกับพื้น ผู้ต้องขังทุกคนต้องนั่งกับพื้น มันเป็นระเบียบ” จากบทสู่ประตูนรก หน้า 115
-“ผู้ต้องขังในสายตาของผู้คุมไม่ผิดอะไรไปกับฝูงวัวควายที่ตอนเช้าก็ออกจากคอก ตอนกลางวันก็ต้อนไปกินข้าว เสร็จแล้วก็ต้อนไปทำงาน พอตกเย็นก็ต้อนเข้าคอกอีก” จากบทเรือนจำหญิงตัวอย่าง หน้า 121
-“การตรวจภายในเพื่อค้นหายาเสพติดจากนักโทษ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อทางช่องคลอด เพราะผู้ตรวจเป็นเพียงนักโทษที่มีความรู้ทางด้านพยาบาทเล็กน้อยเท่านั้น…” จากบทเรือนจำหญิงตัวอย่าง หน้า 122
-“การลงโทษมีหลายวิธี เช่นตีด้วยกระบองตันทำด้วยหวาย เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ยาว 1 เมตร หรือใช้กระบองสั้นความหนาเท่ากันแต่ยาวประมาณครึ่งเมตร ภายในหล่อด้วยเหล็กหนัก 3 หุน ตีลงที่กลางหลังของหนักโทษตั้งแต่ครึ่งโหลถึงสองโหลหรือมากกว่านั้น…การลงโทษแบบเวียนเทียน จะใช้ตีด้วยไม้หรือซ้อมก็ได้ โดยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดวันนั้นลงโทษผู้กระทำความผิด” จากบทเรือนจำหญิงตัวอย่าง หน้า 122
-“หน่อย (ชื่อผู้ต้องขังหญิง) อยู่โรงงานก็หลายแห่ง อาหารของคนงานนั้นแย่ขนาดไหนเพื่อนๆ ก็คงรู้รสชาติมันดีแล้ว แต่คราวนี้มาในคุก หน่อยยอมรับว่าหน่อยจำแนกอาหารบางอย่างของเรือนจำกับเศษขยะที่ถูกนำขึ้นมาจากถังเทศบาลไม่ออกเลย มันเหมือนกันจริงๆ” จากบทเรือนจำหญิงตัวอย่าง หน้า 123
-“บางมื้อหน่อยเห็นหนอนลอยอยู่กับผักราวกับหมูหรือปลาอย่างนั้นแหละ กลิ่นน้ำมันโซล่าคือส่วนที่ขาดไม่ได้ของอาหารทุกมื้อ กินข้าวเหมือนกำลังกินทราย เพราะในข้าวจะมีส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้คือกรวดและทราย…” จากบทเรือนจำหญิงตัวอย่าง หน้า 123
-“การซ้อมนักโทษหญิงโดยเจ้าหน้าที่มีน้อย…” จากบทเรือนจำหญิงตัวอย่าง หน้า 124
-“ชีวิตนักโทษคนหนึ่งไม่มีความสำคัญเท่ากับเวลาพักผ่อนของท่านหรอก” จากบทขังซอย หน้า 128
การพิจารณาคดี : ดังที่กล่าวมาในส่วนต้นแล้วถึงการพิจารณาคดีในคดี 6 ตุลาคม 2519 นี้ ซึ่งคุณสุชีลา ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็น 1 ใน 18 ผู้ต้องหาที่ถูกตั้งข้อหารวม 11 ข้อหา และถูกพิจารณาโดยศาลทหารเช่นเดียวกับเพื่อนๆ อีก 17 คนของท่าน สิ่งที่ท่านได้บันทึกลงในหนังสือจึงมีความน่าสนใจที่ควรนำมาเผยแพร่ เช่น
“เมื่อเราต้องเข้าคุกถูกคุมขัง ก็อยู่ยังแต่ทนายเป็นผู้สู้
เพื่อพิทักษ์ยุติธรรมให้เชิดชู ทนายสู้ไม่กลัวยากไม่กลัวตาย
มาบัดนี้มารร้ายหมายเข่นฆ่า ทนายความผู้ว่าความทั้งหลาย
ให้จำเลยหกตุลาที่รอดตาย จากความเหี้ยมโหดร้าย”เผด็จการ”
คำขู่จะเข่นฆ่าก็เหมือนคลื่น กระหน่ำซัดครืนๆ ลมผสาน
ทนายดั่งหลักศิลากล้าต้านทาน คลื่นลมมิอาจหาญหักหลักศิลา
สู้ไปเถิด สู้เข้าไป อย่าได้หยุด สู้เพื่อผู้บริสุทธิ์โดยถ้วนหน้า
ประชาชนจะแซ่ซร้องศรัทธา เรียกท่านว่า “ทนายประชาชน”
คารวะแด่ผู้เป็นทนาย แม้พวกเราทั้งหลายจะขัดสน
ถูกคุมขังติดคุกแสนทุกข์ทน จะไม่ยอมจำนนแก่ใครใคร
ขอศึกษาจิตใจกล้าต่อสู้ ทนายผู้ไม่ยอมค้อมหัวให้
แก่บัญชาผู้เข่นฆ่าของผู้ใด วันหนึ่งชัยจะเป็นของประชาชน”
จากบันทึกของสุชีลา กล่าวถึงทนายความที่นำโดยทนายความทองใบ ทองเปาด์ และทนายความอีก 44 คนที่เข้ามาอาสาช่วยเหลือการทำคดี โดยบทกลอนนี้ผู้ต้องหาทั้ง 18 คนเขียนกลอนเพื่อแสดงความขอบคุณและให้กำลังใจแก่ทนายความทั้งหมด จากบทขึ้นศาล หน้า 157
-“….ในการพิจารณาคดีวันที่ 9 มกราคม 2521 นั้นได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งคุ้นหน้า และรู้จักดีว่าเป็นผู้ใต้บงการของใครได้พากันชุมุนมต่อต้านคุกคามและขู่เข็ญทนายความของจำเลยด้วยวิธีการต่าง เช่น คุกคามด้วยกิริยาท่าทาง คำพูด ติดตามคุกคาม ส่งดอกไม้จันทน์ไปให้ คุกคามถึงบ้านและใช้รถติดตามทนายความ เป็นต้น” จากบทขึ้นศาล หน้า 158
3. เริ่มต้นกันใหม่กับ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519”
“…ความผิดความถูกนั้นก็รู้กันว่าใครผิด แต่อย่าไปนึกถึงดีกว่าเพราะยังก้ำกึ่งกัน ทุกคนอาจผิดก็ได้ในวันนั้น…”[9](พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์)
หลังจากการผ่านกระบวนการพิจารณาตามระบบศาลทหาร โดยสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์กว่า 400 ปาก และฝ่ายจำเลย นักโทษการเมืองเดือนตุลาทั้ง 18 คน พวกเขาต้องติดคุกนานเกือบสองปี ความคิดถึงเรื่องความตาย ความสิ้นหวังมีมากกว่าเดิม
แต่ด้วยบริบทโลกในยุคนั้นสังคมเปลี่ยนไปจากเมื่อสองปีก่อนที่พวกเขาถูกจับจำคุก ในขณะนั้นประเทศไทยมีความชัดเจนในระบอบการเมือง และระบอบเศรษฐกิจแม้จะยังกระท่อนกระแท่นเหมือนเด็กตั้งไข่ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ใช่ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างแน่นอน หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ชูนโยบายการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ประเทศไทยมีความสัมพันธ์แนบชิดกับประเทศสหรัฐอเมริกาแกนนำการต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ และทำให้ไทยถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกาให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และขอให้ไทยเคารพในสิทธิมนุษยชนของนักโทษการเมืองเหล่านี้ด้วย
ในการปกครองช่วงปี 2520-2523 ทหารมีอำนาจมากในสังคมไทย หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เพียง 1 ปี ก็ถูก พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหารอีกครั้ง และแต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายธานินทร์ กรัยวิเชียร การเมืองไทยในยุคนั้นจึงถูกควบคุมโดยทหารอย่างแท้จริง ทางด้านนักโทษทั้ง 18 คน ที่กำลังรอคำพิพากษาจากศาลทหารนั้น คงไม่มีอะไรจะน่ายินดีไปกว่าการทราบข่าวเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ให้พ้นจากความผิดและข้อกล่าวหาทั้ง 11 ข้อหา และให้ออกจากคุกกลับมาเป็นนิสิตนักศึกษาดังเดิม
วันที่ 15 กันยายน 2521 รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตาม “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519” เหตุผลท้ายพระราชบัญญัติคือ “ …ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพอย่างยิ่ง และเมื่อคำนึงถึงการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริง เพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนชาติ…” ข้อสังเกตต่อกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ออกบังคับใช้ ด้วยเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติที่มิได้มีการยอมรับความผิดพลาดใดๆของรัฐบาลในยุคนั้น แต่กลับโทษผู้ถูกกระทำคือ นิสิตนักศึกษา และประชาชน และปิดท้ายด้วยเหตุผลเรื่องความสามัคคีอันเป็นรูปแบบทั่วไปของกฎหมาย นิรโทษกรรมทุกฉบับ
แต่ถึงอย่างไร ใครผิดใครถูกก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป เพราะผลคือ ผู้ต้องหาทั้ง 18 คน ได้รับผลจากกฎหมายฉบับนี้ เป็นอันยุติคดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 อย่างสวยงามของฝ่ายผู้กระทำความรุนแรงที่ไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งใดที่ฝ่ายตนกระทำแม้แต่น้อย แต่การกลับมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งสำหรับผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์นี้ ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าความรู้สึกของฝ่ายผู้ถูกกระทำจะเป็นเช่นไร อาจจะดีใจที่ได้ออกจากคุก ได้หลุดพ้นจากข้อหาที่ตนไม่ได้ก่อแต่เพียงฝ่ายเดียว หรืออาจจะรู้สึกชิงชังกับกระบวนการยุติธรรมและการเมืองของประเทศนี้ก็เป็นไปได้
4. บทเรียนในการบังคับใช้ศาลทหารกับสังคมไทยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
“…การกระทำของจำเลยตามข้อความที่กล่าวในฟ้องนั้น โจทก์ถือว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495…” ( ส่วนหนึ่งของคำข้อท้ายฟ้อง คดีดำที่ 253ก./2520 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2520 )
จากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองครั้งประวัติศาสตร์นี้ เป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่มีการนำศาลทหารมาใช้กับพลเรือนตามกฎอัยการศึกอีกครั้งหนึ่งและมีระยะเวลายาวนานเกือบสองปี แสดงให้เห็นได้ว่า ทุกๆ เหตุการณ์ที่มีความรุนแรงหรือเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยและทหารเข้ามามีบทบาทในการปกครองประเทศ การนำศาลทหารมาบังคับใช้ให้มีเขตอำนาจเหนือพลเรือนย่อมเกิดขึ้นเป็นประจำ เพื่อหาคนผิดมาลงโทษหรือเพื่อการควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้อยู่ในความสงบ การนำมาบังคับใช้จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังสามารถพบเห็นได้ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 12 กันยายน 2559 ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่55/2559 จึงยุติ แต่คดีที่พลเรือนกระทำความผิดฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรัฐประหารหรือความผิดที่กฎหมายบัญญัติให้พลเรือนขึ้นศาลทหารยังคงพิจารณาอยู่ในศาลทหารดังเดิม
หากกล่าวถึงรูปแบบการพิจารณาของศาลทหารต่อพลเรือนในเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึง 6 ตุลาคม ด้วยนั้นจะพบว่าไม่ได้มีความต่างกันในแง่รูปแบบ การบังคับใช้กฎหมายหรือกระบวนการใดๆ ที่ผิดแปลกไปแม้แต่น้อยตั้งแต่เหตุการณ์ในอดีตจนถึงสถานการณ์ปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว ศาลทหารที่มีการใช้อำนาจเหนือพลเรือนนั้น เป็นเพียงวัตถุประสงค์ในการรักษาความสงบของประเทศเท่านั้นในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทาง การเมืองและทหารเข้ามามีบทบาทในการปกครองประเทศ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นย่อมมิใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันศาลทหารที่มีการใช้อำนาจเหนือพลเรือนในทุกยุคทุกสมัย ยังมีวัตถุประสงค์แอบแฝงคือ การใช้ศาลทหารเป็นเครื่องมือในการกำจัด ลงโทษ ศัตรูทางการเมืองที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลผู้คุมอำนาจ เพราะด้วยข้อจำกัดต่างๆ ในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่มีน้อยกว่าศาลยุติธรรมของพลเรือน ฉะนั้นศาล ทหารในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือ การใช้ศาลทหารที่มีอำนาจเหนือพลเรือนในเหตุการณ์ใดก็ตามล้วนมีความประสงค์แอบแฝงเช่นนี้ติดมาด้วยเสมอ
ท้ายที่สุดแล้ว เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เกิดจากความขัดแย้งของความเห็นต่างทางความคิด อันนำไปสู่การนองเลือดที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นระหว่างคนไทยด้วยกัน นอกจากนี้ 6 ตุลาคม ยังมีบทเรียนหลากหลายบทเรียนให้เราได้เข้าไปศึกษาทำความเข้าใจอีกมาก รวมถึง คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการนำศาลทหารมาใช้เป็นอาวุธหนักทางกระบวนการยุติธรรมในการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง ที่ร้ายแรงไม่แพ้กับอาวุธสงครามที่กราดยิงใส่นิสิตนักศึกษา และประชาชนที่ชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาวุธทางกระบวนการยุติธรรมนี้ยังมีให้เราพบเห็นในยุคปัจจุบัน และอาจจะได้พบเห็นกันในอนาคตอีกก็เป็นไปได้
อ้างอิง
[1]สุชีลา ตันชัยนันท์, เปิดบันทึกนักโทษหญิง 6 ตุลา, พิมพ์ครั้งที่ 1, คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. กรุงเทพฯ. หน้า 192
[2]กฤษฎางค์ นุตจรัส, ฤาจะเลือนลบกลบสิ้น, พิมพ์ครั้งที่1, คณะกรรมการ 40 ปี 6 ตุลา, นนทบุรี. หน้า 80
[3]Siam Parade, https://siamparade.wordpress.com/2010/10/08/6th_of_october_1976_part_3/, 2/11/2016,
[4]สุธรรม แสงประทุม, เกิดเดือนตุลา, พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพ, มติชน 2545. 208 หน้า. หน้า 116-117
[5]สมยศ เชื้อไทย, คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ใครคือฆาตกร, กองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ 2. 2531, กรุงเทพ. หน้า 392
[6] หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, เอกสารเกี่ยวกับคดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519, เอกสารเลขที่ B 5.3-1 หมวด คดีความ 6 ตุลาคม 2519
[7]เอกสารเกี่ยวกับคดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งหมด ได้รับความร่วมมือจาก หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์
[8] สุชีลา ตันชัยนันท์, เปิดบันทึกนักโทษหญิง 6 ตุลา, พิมพ์ครั้งที่ 1, คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. กรุงเทพฯ. หน้า 147-163
[9] พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, สยามจดหมายเหตุ 3:38, 15-21 กันยายน 2521