วันอังคาร, กันยายน 05, 2560

ชาร์ต"ตาลาย": คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่าด้วยการสืบทอดอำนาจของ คสช.





ใครออกแบบแว๊?

ชาร์ตคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ เหมือนย้อนยุคไปปี พ.ศ. 2484 ลายกราฟฟิกยังกะลายกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่น ตัดแถบใต้ชื่อด้วยก็จะดี

จะบอกใครดีเนี่ย


Sak Dara


ooo

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณิตศาสตร์ว่าด้วยการสืบทอดอำนาจของ คสช.


Published on Mon, 2017-09-04
ที่มา ประชาไท

เห็นรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สายผู้ทรงคุณวุฒิกันไปแล้วว่ามีใครบ้าง ‘ประชาไท’ ชวนนั่งคิดเลข ถอดสมการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านจำนวนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ





หากนับคณะกรรมการสายผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คนตามที่ คสช. แต่งตั้ง ตัวเลขคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติภายหลังการเลือกตั้งจะมีทั้งสิ้น 29 คน เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน

เป็นฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง 3 คน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี (ในกรณีที่ไม่ได้มาจากคนนอก) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย ทั้งนี้ไม่นับประธานวุฒิสภา 1 ตำแหน่ง เนื่องจากวุฒิสภาชุดต่อไปจะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด

ในคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คนนี้ยังมาจากฝ่ายกองทัพและความมั่นคง 7 คน

จากภาคราชการที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจเอกชน และตัวแทนเกษตรกร อีก 6 คน

มองโลกในแง่ดีว่า ตัวแทนส่วนนี้อย่างน้อย 5 คนไม่ใช่คนที่ คสช. สั่งให้ซ้ายหันขวาหันได้ตามใจชอบ ในอนาคต เป็นไปได้ว่า 5 คนนี้อาจจะยกมือสนับสนุนฝ่ายการเมือง





ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. อีก 12 คน ตามที่เห็นรายชื่อ ล้วนแต่เป็นคนของ คสช. ทั้งสิ้น

บวกลบด้วยสมการคณิตศาสตร์ระดับประถม 29 เสียงในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะแบ่งเป็น

-ภาคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 3 คน

-ภาคธุรกิจเอกชนและตัวแทนเกษตรกร 5 คน

-คณะกรรมการส่วนที่เหลืออีก 21 คนคือคนของ คสช.

8 ต่อ 21 หมายความว่าในการโหวตทุกครั้ง ไม่มีทางเลยที่ฝ่ายการเมืองจะชนะ ทุกมติที่ออกมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติจะเป็นสิ่งที่ คสช. ในวันนี้ต้องการ

หรือต่อให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดหน้าตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มอีก 5 คน ตามที่กฎหมายเปิดให้ตั้งได้ไม่เกิน 17 คน จำนวนเสียงก็ยังพ่ายแพ้อยู่ดี

คงกล่าวได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีสิทธิปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ แม้กฎหมายจะระบุให้ทำได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจาก คสช.

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง พบว่า วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป แต่การกำหนดว่าใครจะขึ้นมาก็เป็นสิทธิขาดของกองทัพ (อาจจะยกเว้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน อยู่ในวาระ 5 ปี ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระเพียง 4 ปี เท่ากับว่าคนของ คสช. จะมีอำนาจกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ชาติและกำกับควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 2 รัฐบาล