วันพุธ, ธันวาคม 21, 2559

‘ศีลธรรมอันดีเพื่อความมั่นคง’ คือ ?





ทั่นผู้รู้เรื่อง ‘ศีลธรรมอันดี’ บอกว่า “ผบช.น.นั่งที่ปรึกษาเอกชน ได้เงินเดือน ๕ หมื่น ถือเป็นเรื่องส่วนตัว”

(http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/732667)

พลเมืองขี้สงสัย อย่าง ‘Sɫoᵽ ➫ ÐαdjαꞧᎥɫ’ เลยถามว่า ถ้างั้น “น้องชายท่าน หลานชายท่าน น้องสะใภ้ท่าน ล้วนแล้วแต่มีศีลธรรมอันดีทั้งนั้น” ใช่มั้ย

เมื่อวาน (๒๐ ธ.ค.) ทั่นคุยโวเสียใหญ่โต เรื่องที่มีชาวเน็ตและอะนอนีมัสระดมถล่มเว็บไว้ท์ของทางราชการติดต่อกันมาสองสามวัน เพื่อประท้วงต่อการที่ สนช.ผ่านร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าไปล้วงข้อมูล ปิดกั้นข้อความ และจำกัดเนื้อหาอินเตอร์เน็ต เกินกว่าความพอเหมาะพอควรต่อสิทธิพื้นฐานของพลเมือง

“ทางรัฐบาลก็มีมาตรการต่างๆ ซึ่งจริงๆแล้วเขามีระบบรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว ฉะนั้นอย่าไปให้เครดิตมากนักเลย การจะล้มนู่นล้มนี่นั้นทำไม่ได้หรอก เพียงแต่ทำให้ไม่สามารถใช้การได้”

(http://www.matichon.co.th/news/400669)





ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดออกมาโดยไม่รู้ (หรือแกล้งเง่า) เหรอว่า นั่นละที่พวกเขาต้องการ เพียงให้เห็นว่าเขาสามารถเข้าไปแทรกแซงปิดกั้นไม่ให้ใช้การได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เป็นสัญญลักษณ์ถึงสิ่งที่ คสช.และลิ่วล้อทำไป มันชั่วร้ายกว่านี้หลายเท่า

แล้วยังจะมีหน้ามาอ้าง ‘ศีลธรรมอันดี’ อีก “ไม่รู้จักกันเหรอ...การทำผิดศีลธรรมอันดีคืออะไร ศีลธรรมคือความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศชาติ” ประยุทธ์พร่ำ

แต่ความมั่นคงของประเทศชาติที่อ้าง (อย่างน้อยๆ) จากพฤติกรรมของคณะทหาร คสช. กระทำต่อประชาชนที่เห็นต่างตลอดสามปีที่ผ่านมา มันคือความเหนียวแน่น มั่งคั่ง และยืดยาว สำหรับ คสช. และลิ่วล้อ เท่านั้น

ทั่นถามว่า “เขาจะนั่งโพสต์กันได้ตลอดเวลาไหม ก็เป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จากนั้นเราก็ทำงานต่อก็ไม่เป็นไร แต่การจะล้วงระบบต่างๆ ผมว่าไม่ง่ายนักหรอก เขามีระบบรองรับไว้หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะระบบการเงินการคลังต่างๆ ของประเทศ”

Exactly! เขาไม่งั่งมานั่งโพสต์ทั้งวันหรอกทั่น แต่มีพิกัด มีกำหนด พอเห็นผลแล้วก็หยุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากมาย ไม่เหมือนพวกทั่นชอบจองล้างจองผลาญ กระทั่งกำแพงอิฐปูนก็ยังสั่งอายัติเป็นของกลาง

“โดยเฉพาะระบบการเงินการคลัง” นั่นแหละ วันนี้ (๒๑ ธ.ค.) เป็น ‘ยุทธการ ยกระดับ หนักกว่าเดิม’ เป้าหมายเดิมสองแห่ง ลงมือตั้งแต่ ๘.๒๐ น. คือ

1. ระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐ
http://www.gfmis.go.th/
IP= 124.109.28.31
2. ระบบการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ
http://process3.gprocurement.go.th/EGPWeb/jsp/index_new.jsp
IP= 203.170.16.12

ส่วนเป้าหมายใหม่อีกสองแห่ง เริ่มเวลา ๑๔.๐๐ น. “ทนได้ ทนไป เบิกเงินไม่ได้ก็ทนกันไป อดเงินใส่ซองก็ทนกันไป”

แต่กระนั้นยังมีการอธิบาย “พวกเราต้องขออภัยประชาชนและข้าราชการที่ได้รับผลกระทบในสงครามไซเบอร์นี้ (ที่พวกเราไม่ได้ก่อขึ้น) แต่นี่คือสงคราม เพื่ออนาคตของลูกหลานพวกเราทุกคน เพราะหากสิ้นไร้ซึ่งเสรีภาพ อนาคตคือทาสดีๆ นี่เอง

วันนี้ ทุกอย่างจะหยุด เพียงลุงตู่ออกคำสั่งให้หยุด (ใช้ ม.44 ยกเลิกมติการประชุม สนช.วันที่ 18 ธค.และรวมถึงกระบวนการยกร่างกฎหมายนี้เท่านั้น)

อย่าดื้อรั้นต่อไป และอย่าคิดว่าจะหยุดพวกเราได้ เพราะพวกเราคืออากาศ มองไม่เห็น แต่สัมผัสได้ว่ามีอยู่จริง แล้วเจอกัน”

ป่านนี้อาจจะกำลังรัวๆ อยู่ หรือเสร็จสิ้นไปแล้วรอยกระดับปฏิบัติการใหม่ หรือฝ่อก็สุดแท้ หากแต่ไม่ใช่แค่ “ไล้ค์ต่อๆ กันไปเรื่อยๆ” แน่ๆ





ไม่เชื่อต้องฟังอดีตเลขาฯ สมช. พล.ท.พลาดร พัฒนถาบุตร พูดถึงการ “โจมตีระบบของหน่วยงานราชการ และการออกแถลงการณ์ข้อห่วงกังวลการละเมิดสิทธิจากยูเอ็น” ว่า

“จำเป็นต้องรับฟังด้วยการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกัน แต่ดูจากท่าทีของรัฐบาลแล้วคงไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มเคลื่อนไหวก็จะไม่หยุดโจมตี จนกว่ากฎหมายจะเริ่มประกาศใช้...

ความพร้อมของหน่วยงานราชการไม่เพียงพอต่อการรับมือการโจมตีทางเทคนิคขั้นสูงแบบนี้ได้ อาจมีแค่บางหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงบางหน่วยเท่านั้นที่ทำได้...

ส่วนในแง่ความมั่นคงทางไซเบอร์ กฏหมายความมั่นคงที่มีอยู่ก็เพียงพอต่อการป้องกัน

เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็กินความถึงเรื่องที่เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ด้วย หากเกิดภัยคุกคามในสถานการณ์พิเศษ กฎหมายนี้ก็สามารถรับมือได้”

(http://www.matichon.co.th/news/400917)

นั่นละคือวิธีคิดสำหรับการบริหารงานประเทศในยุคดิจิทัล ส่วน ‘ศีลธรรมอันดีเพื่อความมั่นคง’ ควรใช้ในกรณีวัดธรรมกายเหมาะกว่า เพราะถ้าหาแต่เรื่อง ฟ้องนั่นนี่ถี่ยิบ ห้ามโน่นนี่ยุบยับ กระทั่งห้ามใช้อุโบสถ แล้วยังจะ ‘จับสึก’ อีกละก็วุ่นแน่ ไม่มั่นคงและขาดศีลธรรมอันดี ชัวร์

แล้วที่ ‘ประจิน’ อยากเห็นข้อเสนอของกลุ่มต้าน พรบ.คอมฯ “อยากเห็นประเด็นที่อยากให้แก้ ว่ากฎหมายดังกล่าวมีความบกพร่องตรงไหน แล้วจะนำไปสู่อะไรต่อไป”

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกระแสคัดค้านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่า “ที่ผ่านมาระหว่างการร่างกฎหมายมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ๖ เดือน”

(http://www.nationtv.tv/main/content/politics/378528109/)





นี่ไง รับฟังเฉพาะแต่ ‘หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ แต่พวกทั่นไม่เคยฟังเสียงจากภาคประชาชนเลย ข้อเสนอจาก พลเมืองฯ เอย ไอลอว์ เอย พูดกันมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ไม่มีใครยอมเงี่ยหู

ถ้าพวกทั่นอยากจะอยู่นาน ต้องรู้จักขวนขวายศึกษาหาความชำนาญในศาสตร์การปกครองแบบประชาธิปไตย ที่จะต้องสอดส่องดูและฟังว่าความจำเป็นต่อชีวิตของประชาชนคืออะไร ความต้องการของพวกเขามีอย่างไรบ้าง แล้วเอามากำหนดนโยบาย

โดยเฉพาะในด้านนโยบายไซเบอร์ ไม่ใช่ตั้งชื่อไทยแลนด์ ๔.๐ ก็มโนว่านี่ดิจิทัลแล้ว แถมดันยัดศีลธรรมอันดีเข้าไปอีก

OMG WTF