วันพุธ, ธันวาคม 21, 2559

ชวนอ่าน 'นายผี' 7 เล่ม 7 ร้อย + 50 บาทค่าจัดส่ง (สำนักพิมพ์อ่าน)





ตามนี้...


"อ่านนายผี 7 เล่ม 7 ร้อย"

มีผู้อ่านสอบถามมาเกี่ยวกับโครงการอ่านนายผี สำนักพิมพ์อ่านขอแจ้งว่าเราได้จัดพิมพ์หนังสือในโครงการนี้มาจนถึงลำดับที่ 7 แล้ว และขอทบทวนลำดับผลงาน ดังนี้

เราปักหมุดโครงการอ่านนายผีด้วย ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ที่มีลายมือของผู้เขียนโปรยบนปกเพียงสั้นๆ ว่า “ตื่นแล้ว! ตื่นแล้ว!” เพราะนี่คืองานเขียนของคุณอัศนี พลจันทร ที่มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 และคุณอัศนีเป็นผู้ติดต่อคุณอารีย์ พื้นนาค เจ้าของสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา ด้วยตนเอง เพื่อขอให้จัดพิมพ์หนังสือของเขา

คำสำคัญที่ “ศรีอินทรายุธ” ริเริ่มไว้อย่างเช่น กาพยายุธ อหังการแห่งกวี ปรากฏอย่างโดดเด่นอยู่ในหนังสือว่าด้วยกาพย์กลอนเล่มนี้ ราวกับจะยืนยันว่าคุณอัศนียังคงเชื่อมั่นในการต่อสู้กับเผด็จการด้วยตัวหนังสือ ทั้งๆ ที่ขณะนั้นเขาต้องหลบซ่อนตัวจากการตามล่าเอาชีวิตมาตั้งแต่หลังกรณีกบฎสันติภาพ (10 พ.ย. 2495)

หนังสือลำดับที่ 2, 3 และ 5 คือ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 1, 2 และ 3
เป็นงานกลุ่มกาพย์กลอนที่สร้างชื่อให้กับนายผี และตีพิมพ์ใน เอกชน สยามนิกร นิกรวันอาทิจ สยามสมัย อักษรสาส์น และ ปิยมิตรวันจันทร์ ระหว่าง พ.ศ. 2484-2502

การจัดพิมพ์ได้แยกเป็น 3 เล่ม โดยมีกาพย์กลอน 25 เรื่อง ที่นายผีเขียนไขคำหรือสถานการณ์ประกอบไว้ให้ด้วยตั้งแต่เมื่อเขาเตรียมรวบรวมต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือ และต่อมาป้าลม ผู้เป็นภรรยา ได้สานต่อความตั้งใจของเขา โดยค้นคว้าหาข้อมูลและคำอธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจสถานการณ์แวดล้อมที่นายผีเขียนกาพย์กลอนแต่ละเรื่อง

แต่กว่าที่ผลงานเหล่านี้จะรวบรวมพิมพ์ได้ตามความตั้งใจทั้งของนายผีและป้าลม ก็ต้องใช้เวลานานร่วม 60 ปี และคนทั้งสองได้ลาจากโลกนี้ไปเสียแล้ว

หนังสือลำดับที่ 4 - เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า...
นายผีใช้รูปแบบของกาพย์กลอนแต่งเป็นเรื่องเล่าถึงครอบครัวกรรมกรหญิงครอบครัวหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2495 โดยมีเค้ามาจากเรื่องจริงของกรรมกรหญิงชื่อเล็ก แห่งบริษัทอีสต์เอเชียติค นายผีระบุว่า การต่อสู้ของเธอจนท้ายที่สุดต้องสูญเสียมารดาและน้องไป ควรได้รับการคารวะจากผู้ก้าวหน้าทั้งหลาย

ในกาพย์กลอนเรื่องนี้ เราจะได้เห็นบทบรรยายฉากความทุกข์ยากของกรรมกรโดยล้อกันกับฉากว่ายน้ำกลางมหาสมุทรของพระสมุทรโฆษใน สมุทรโฆษคำฉันท์ รวมทั้งการนำกลุ่มคำศัพท์ของฝ่ายสังคมนิยมมาใช้คู่ขนานกันไปกับคำศัพท์ในวรรณคดีแนวขนบ ซึ่งอาจมองว่าเป็นการปรับฐานให้แนวคิดของทั้งสองฝ่ายได้อยู่ในระนาบเดียวกันอย่างทัดเทียม

ในหนังสือเล่มนี้ ยังมีกาพย์กลอนเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเล่าถึงประวัติครอบครัวและบ้านเกิดที่ราชบุรี รวมพิมพ์อยู่ด้วย นายผีเคยเล่าว่าเขาเขียนงานเรื่องนี้เพื่อให้กำลังใจคุณอุทธรณ์ พลกุล ญาติคนหนึ่งของเขาที่ต้องติดคุกจากกรณีกบฏสันติภาพ

หนังสือลำดับที่ 6 - เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ
เป็นงานรวมบทความ 2 ชุดที่ตีพิมพ์ใน ปิยมิตรวันจันทร์ ในปี 2502 และ 2504 ตามลำดับ นับเป็นผลงานรุ่นหลังที่สุดก่อนที่นายผีจะเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว

เคล็ดกลอนและเคล็ดแห่งอหังการเป็นข้อแนะนำทำนองเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการแต่งกาพย์กลอนและการเขียนเรื่องขนาดสั้น เพื่อกระตุ้นให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ เขียนงานของตนด้วยความมั่นใจ แต่ก็ว่ากันด้วยว่า นี่คืองานที่พัฒนามาจากข้อเขียนสำคัญสองชุดของนายผีในยุค อักษรสาส์น คือ “ข้อไม่น่าศึกษาทางการประพันธ์” และงานแปลเรื่อง “ศิลปและวรรณคดี” ของเหมาเจ๋อตุง

ล่าสุด โครงการอ่านนายผีเพิ่งจัดพิมพ์ ข้อคิดจากวรรณคดี ซึ่งเคยตีพิมพ์อยู่ใน อักษรสาส์น ในช่วงปี 2492-2493 เป็นหนังสือลำดับที่ 7

ข้อคิดจากวรรณคดี ถือเป็นบทความวิจารณ์วรรณคดีในแนวมาร์กซิสม์ยุคแรกๆ ของไทย โดยอินทรายุธเขียนชำแหละวรรณคดีแบบฉบับอย่างลิลิตพระลอ, รามเกียรติ์ และขุนช้างขุนแผน จนเป็นที่ฮือฮาในยุคสมัยของเขา แต่ที่น่าแปลกก็คือ ทรรศนะการวิจารณ์วรรณคดีในแบบที่เคยเรียกกันว่า “ก้าวหน้า” เมื่อกว่าหกสิบปีมาแล้วของอินทรายุธ กลับยังเข้ายุคเข้าสมัย (เผด็จการ) กับเราอย่างไม่น่าเชื่อ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนาที่เขาเห็นว่าเป็นความเชื่อและศรัทธาเฉพาะบุคคล รัฐจึงไม่ควรเข้าไปยุ่มย่าม หรือเรื่องบทบาทของผู้หญิง นายผียกกรณีของศกุนตลาให้เห็นว่า ต้นฉบับแรกเริ่มใน มหาภารตะ นั้น นางศกุนตลาเป็นผู้หญิงที่ทรนงในศักดิ์ศรีของตน แต่ในฉบับที่มีผู้เขียนแต่งเติมใหม่ภายหลังเพื่อเอาใจชนชั้นปกครอง นางศกุนตลากลับเหยาะแหยะและยอมตกเป็นทาสของสามี

ในเรื่องการใช้ภาษา นายผีมีมุมมองแบบนักภาษาศาสตร์สมัยใหม่ ว่าขึ้นอยู่กับผู้ใช้ภาษา คือคนส่วนใหญ่ ฉะนั้นภาษาของไพร่สามัญชน (แม้แต่คำหยาบทั้งหลาย) จึงสำคัญเพราะเป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลายทั่วไป

ทั้งหมดข้างต้นคือข้อมูลย่นย่อเกี่ยวกับหนังสือในโครงการอ่านนายผีที่สำนักพิมพ์อ่านจัดพิมพ์ออกมาแล้ว ขณะนี้เรากำลังรวบรวมและเตรียมต้นฉบับนิทานการเมืองและเรื่องสั้นซึ่งมีอยู่ราว 40 เรื่อง (ยังจำ “กุลิศ อินทุศักดิ์”, “อินทรายุธ” และ “หง เกลียวกาม” ได้ไหมคะ) หลังจากนั้นก็จะเป็นบทความวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองที่มีอีกจำนวนไม่น้อย (หลายคนคงนึกถึงนามปากกา “สายฟ้า”) อีกทั้งยังมีบทความในรูปจดหมายที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร สายธาร และข้อเขียนสัพเพเหระเรื่องการบ้านการเรือนที่เขาใช้นามปากกา “อำแดงกล่อม” ใน ปิยมิตรวันจันทร์ รวมถึงงานแปลยุคแรกๆ อย่าง ภควัทคีตา และเรื่อง จิตรา ด้วย

การจัดชุดหนังสือโครงการอ่านนายผี 7 เล่ม 7 ร้อย ครั้งนี้ก็เพื่อระดมเงินสำหรับต่อโครงการออกไป หากโครงการมีความคืบหน้าใดๆ จะมาบอกกล่าวกันทางหน้าเพจนี้ต่อไปค่ะ

แอดมินมะยม


สำนักพิมพ์ อ่าน


...


ล่าสุดเราได้มาทบทวนดูหนังสือที่จัดชุดขายไปในงาน และพบว่าหนังสือชุด “อ่านนายผี 7 เล่ม 7 ร้อย” มีผู้สนใจกันมากพอสมควร อีกทั้งตอนนี้เราก็กำลังต้องการระดมเงินทุนเพื่อต่อโครงการนี้ด้วย จึงขอเสนอว่าเราจะจำหน่ายหนังสือชุดนายผีที่จัดพิมพ์ออกมาแล้วทั้งหมด 7 เล่ม ในราคา 700 บาทอีกครั้ง แต่ขอรบกวนเพิ่มค่าจัดส่งอีก 50 บาทค่ะ

นอกจากนั้น ผู้อ่านที่ต้องการสั่งซื้อเพื่อมอบให้กับห้องสมุดใดเป็นของขวัญปีใหม่ ก็สามารถแจ้งชื่อห้องสมุดและที่อยู่มา แล้วเราจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือหากต้องการให้เราเลือกห้องสมุดให้ ก็ได้เช่นกันค่ะ

สั่งซื้อได้ทางลิงก์นี้ http://readjournal.org/product/naiphi-set/
หรือทางกล่องข้อความของเพจนี้ค่ะ

ส่วนผู้ที่ต้องการทราบว่าหนังสือในโครงการอ่านนายผีที่จัดพิมพ์ออกมาแล้ว 7 เล่มมีอะไรบ้าง กรุณาอ่านจากสเตตัสที่รีโพสต์นี้นะคะ