วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 01, 2559

เปิดคำพิพากษาคดี “ละเมิดอำนาจศาล” และประวัติการเมือง “อาจารย์ตุ้ม”




ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ


เปิดคำพิพากษาคดี “ละเมิดอำนาจศาล” และประวัติการเมือง “อาจารย์ตุ้ม”


Wed, 2016-11-30 19:54

ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม
ประชาไท

เป็นข่าวเล็กๆ ที่สร้างความประหลาดใจพอสมควร เมื่ออาจารย์ที่จบกฎหมายและเชี่ยวชาญอาชญวิทยาอย่าง สุดสงวน สุธีสร หรือ อ.ตุ้ม อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล เป็นเวลา 1 เดือน เมื่อ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้จำคุก 1 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จากให้จำคุกเปลี่ยนเป็นการกักขัง 1 เดือนแทน เนื่องจากเห็นว่าสุดสงวนมีตำแหน่งถึงรองศาสตราจารย์ ถือว่าได้ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการ ขณะที่ศาลฎีกานั้นมองประเด็นการเป็นรองศาสตราจารย์ด้านอาชญวิทยาต่างออกไป (อ่านคำพิพากษาด้านล่าง)

รองศาสตราจารย์สุดสงวน จบนิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในสาขาอาชญวิทยาละการบังคับใช้กฎหมาย มีความเชี่ยวชาญเรื่อง ความรุนแรงในครอบครัว, สาเหตุและทฤษฎีอาชญากรรม, การประทุษร้ายเด็ก เป็นต้น
อาจารย์ตุ้มในสายตาชาวบ้าน

บางคนอาจไม่คุ้นเคยที่นักวิชาการซึ่งจบการศึกษาจากต่างประเทศ สอนหนังสือในสถาบันชั้นนำ มีไลฟ์สไตล์แบบคนชั้นกลางระดับสูง จะมาคลุกคลีตีโมงและทำกิจกรรมทางการเมืองกับมวลชนบ้านๆ แต่

อาจารย์ตุ้มเป็นหนึ่งในความแปลกนั้น

เพื่อนคนหนึ่งของสุดสงวนที่เคยเป็นอดีตอาจารย์และกระโจนมาต่อสู้ทางการเมืองกับประชาชนอย่างเต็มตัว พูดถึงสุดสงวนว่า

“แกเข้าถึงง่ายๆ เหมือนจะเป็นคุณครูชอบสอน แต่ก็ไม่เคยวางตัวอยู่เหนือมวลชน แม้แกพยายามยึดมั่นในสิ่งที่เรียนมาและสอนในห้องเรียน แต่ก็มีลักษณะ natural ธรรมชาติของแกค่อนข้างเอียงไปกับความเป็นสามัญ” อดีตอาจารย์กล่าว

“ถ้าความรับรู้เกี่ยวกับคนเสื้อแดงของกลุ่มลิเบอรัลเป็นยังไง นั่นก็คืออาจารย์ตุ้ม บางทีปัญญาชนจึงไม่รวมแกเป็นส่วนหนึ่งของ community เท่าไหร่” อดีตอาจารย์สรุป

หลังสุดสงวนถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง ในทุกๆ เช้า ช่วงเวลาใกล้ 10.00 น. เราจะเห็นมวลชนกลุ่มหนึ่งไปนั่งรอในทัณฑสถานหญิงกลาง พวกเขาทำสมุดเยี่ยมให้อาจารย์ตุ้มของพวกเขาด้วยเพื่อให้คนที่มาแต่เข้าเยี่ยมไม่ได้ มีโอกาสเขียนข้อความฝากไว้เพื่อรอให้อาจารย์ตุ้มออกมาอ่าน เนื่องจากมีเพียงครอบครัวของอาจารย์ตุ้ม 10 คนเท่านั้นที่สามารถเข้าเยี่ยมได้ตามกฎปกติของเรือนจำ แม้ว่าใน 2 วันแรกนั้นมีการอะลุ่มอล่วยให้บุคคลอื่นเข้าเยี่ยมได้ แม้มวลชนเหล่านั้นจะเข้าเยี่ยมไม่ได้ แต่พวกเขายังคงมาเฝ้าสมุดเยี่ยม และต้องการแสดง solidarity ร่วมกันทุกวันตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

สุดสงวน ไม่ใช่แกนนำดาวเด่น ไฮด์ปาร์กดุเดือด หรือนำเสนอแนวคิดแนวทางการต่อสู้อย่างถึงพริกถึงขิงเช่นคนอื่นๆ

“เรารักอาจารย์ตุ้ม แกไปทุกที่ ไม่ว่ามวลชนจะชวนแกไปไหน ไปทำกิจกรรม ไปงานศพ งานบวช งานแต่ง ถ้าแกไปได้ แกไปหมด” หน่อย ผู้ไปเรือนจำแทบทุกวันกล่าว

“ไปคุยกันนี่แหละ ไปพูดคุยเรื่องต่างๆ ไปให้กำลังใจ” หน่อยกล่าว

“อาจารย์แกชอบสอน แกมักจะบอกว่าทำแบบนี้สิๆ แบบนั้นไม่ได้อาจโดนข้อหา คือ บางทีเรายังรำคาญแก อะไรๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะเรามันบ้านๆ อึดอัดกับความไม่ยุติธรรมหลายๆ อย่าง ซ้ำแล้วซ้ำอีก บางทีเราก็อยากจะแรง แต่ตอนนี้กลายเป็นแกที่ต้องมาติดคุก ตลกไหมล่ะ” ซิว ผู้ไปเรือนจำแทบทุกวันอีกคนกล่าว

ท่ามกลาง ‘กีฬาสี’ ทางการเมืองที่หนักหน่วงตลอดทศวรรษ ก่อนสุดสงวนจะเป็นที่รักของประชาชนเสื้อแดง เธอเคยเป็น “เหลือง” มาก่อน โดยเริ่มต้นติดตามการเมืองอย่างจริงจังเมื่อการเมืองประชิดตัวเธอในครั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมที่สนามหลวง

เคยเป็นเหลือง ก่อนเป็นแดง

“แต่ก่อนอาจารย์ตุ้มก็เคยไปฟังฝ่ายเสื้อเหลือง เป็นคนเสื้อเหลือง ฟังแล้วก็เชื่อในสิ่งที่เขาพูด แค่ฟัง แต่ไม่ได้ไปร่วมอะไร เขาพูดที่สนามหลวงไงตอนนั้น สอนเสร็จก็ไปฟังเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งเขายึดทำเนียบฯ เราก็ตามไป ถึงสองสามทุ่มแล้วไปนั่งฟัง ณ ช่วงนั้น รัฐบาลสมชายสั่งให้ตำรวจพยายามจับตัวแกนนำจะได้เลิกชุมนุม ปรากฏว่าแกนนำประกาศด้านหน้า ไม่ได้ขึ้นเวทีนะ เขาไม่กล้า แต่มาพูดอยู่ด้านหน้ามวลชน เขาบอกประชาชนว่า ถ้าพี่น้องเห็นใครก็ตามที่ปลอมตัวมา แล้วจะมาจับแกนนำให้พี่น้องจัดการได้เลย จะวิธีไหนก็ได้เพราะว่ายังไงก็จับมือใครดมไม่ได้ ประเด็นนี้ทำให้เรา โอ้โห เราสอนกระบวนการยุติธรรม เราเชื่อว่าฝ่ายนี้ถูกต้อง แต่มันไม่ใช่แล้ว ทำไมเป็นแบบนี้ ก็เลยกลับเลย” สุดสงวนเคยเล่าประวัติตัวเองไว้ในรายการ ที่นี่ความจริง ช่องเอเชียอัพเดท เมื่อ 2 ม.ค.2555 สมัยที่ยังจัดรายการคู่กับสุดา รังกุพันธุ์ หรือ อาจารย์หวาน แม้แต่อาจารย์หวานเองก็เคยสมาทานความคิดและแนวทางการต่อสู้ของ พธม.มาก่อนเช่นกัน ก่อนสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ทั้งคู่เปลี่ยนแปลง

แล้วจุดเปลี่ยนของสุดสงวนอยู่ตรงไหน เธอเล่าว่า





“คนเสื้อเหลืองแต่ละคนก็มาด้วยใจบริสุทธิ์ มาฟังเอาข้อมูลเพราะเรื่องทุจริตเป็นเรื่องสำคัญและเรารับไม่ได้ แต่ละคนจะมีจุดยืนของตัวเอง แต่เมื่อความเชื่อนั้นถูกลบล้าง กรณีนี้เราเชื่อเรื่องความถูกต้อง แต่ถ้าบอกประชาชนว่าจัดการตำรวจแบบไหนก็ได้ มันทำให้รับไม่ได้ ...ตอนนั้นก็เริ่มดูสามเกลอช่อง 11 ตอนแรกไม่ชอบ เริ่มทีละนิด ดูทีละ 15 นาที 20 นาที ขยายเป็น 30 นาที ขณะเดียวกันก็หาข้อมูลเองด้วย พอหาข้อมูลแล้ว รู้สึกเลยว่าทำไมหลงเชื่อมาได้ มันทำให้อาจารย์ตุ้มเขียนจดหมายถึงคุณหญิงพจมาน บอกว่าที่สนธิพูดจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงต้องออกมาชี้แจง จะมาเงียบให้เวลาให้การทำงานพิสูจน์ไม่ได้ ไม่ทัน ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์มาตรา 4 บอกว่าถ้าใครว่าอะไรเราแล้วไม่โต้ตอบ แปลว่าเรายอมรับ คนสอนกฎหมายก็เชื่อตามนั้นจริงๆ เพราะรัฐบาลไทยรักไทยไม่ตอบคำถามตอบโต้ชัดๆ กว่าจะตอบก็ช้า”

“พอรู้สึกว่าตัวเองคิดผิด ก็ไม่รู้จะไปทางไหน มีที่ไหนจะไปฟังได้อีกไหม ก็ไปที่วิทยุชุมชนคนแท็กซี่ ซึ่งมันอยู่ใกล้บ้าน ก็ไปเลย ปกติไม่เคยฟังเพลงลูกทุ่งเลยในชีวิต จบโรงเรียนฝรั่งด้วยไง พอไปก็เจออาจารย์ชินวัฒน์ (หาบุญพาด) ก็พูดคุยกัน หลังจากนั้นก็ซื้อขนมไปแจกคนที่สถานีแจกชาวบ้านที่ไปที่นั่น พยายามให้ความรู้สึกผิดหายไป ตอนนั้นดูไม่ค่อยเข้าพวกเลย แต่งตัวอีกสไตล์ ใส่ผ้าไหมด้วย เราก็พยายามจะแนะนำพวกดีเจว่าต้องพูดแบบไหน ประชาชนจะได้เก็ตและไม่ผิดกฎหมาย” สุดสงวนเล่า

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอกลายเป็นผู้จัดรายการวิทยุ ได้รู้จักผู้คนต่างๆ มากมาย รวมถึงสุดา รังกุพันธุ์ และจารุพรรณ กุลดิลก หรือ อาจารย์จา

ลักษณะกิจกรรมที่สุดสงวนเข้าร่วมมีหลายระนาบ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นวิทยากรรายการ D Station ก่อนการชุมนุมใหญ่ ปี 2553 ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการไปยื่นจดหมายให้ UN ส่งตัวแทนสังเกตการณ์การชุมนุมเพื่อป้องกันการสลายการชุมนุม และช่วงระหว่างชุมนุมซึ่งเริ่มมีเหตุความรุนแรงแล้วก็เป็นตัวแทนติดต่อเข้าพบองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการชุมนุมของคนเสื้อแดง เช่น กาชาดสากล Friends of Thailand ทูตประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังจัดรายการ “ที่นี่ความจริง” ทางสถานีเอเชียอัพเดต ตั้งแต่หลังสลายการชุมนุมในช่วงที่ 9 แกนนำนปช.อยู่ในคุก โดยเน้นให้ความรู้ด้านกฎหมาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และยังเป็นวิทยากรตามงานสัมมนาของกลุ่มประชาธิปไตย เช่น อบรมผู้นำของ บ้านเลขที่ 111 ที่สำคัญเธอเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงศึกษาข้อมูลและแนวทางการยื่นฟ้องคดีการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากผ่านทางศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

นอกจากนี้เธอยังเป็นวิทยากรให้เวทีปฏิญญาหน้าศาลของสุดา และร่วมเข้าเยี่ยมเยียนให้กำลังใจนักโทษการเมืองในเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศ พร้อมติดต่อประสานขอความช่วยเหลือ ความร่วมมือจากเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้กับนักโทษการเมืองอย่างแข็งขันโดยตลอด รวมถึงร่วมเคลื่อนไหวปล่อยนักโทษการเมือง “29 มกรา 10,000 ปลดปล่อย” เป็นต้น ส่วนหลังรัฐประหาร 2557 เธอถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง 5/2557 ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมา

ไม่ใช่คดีแรกที่ละเมิดอำนาจศาลแล้วติดคุก

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคดีละเมิดอำนาจศาลนั้นมีการพิพากษาให้จำคุกกันไปกี่ราย และโทษหนักเพียงไหน แต่สำหรับคดีการเมืองแล้ว เท่าที่ทราบเคยมีการลงโทษจำคุก 1 เดือนสำหรับการละเมิดอำนาจศาลอยู่ 2 ราย แต่เนื่องจากเป็นชาวบ้านธรรมดาจึงไม่ทราบรายละเอียดพฤติการณ์และรายละเอียดคำพิพากษา ทราบเพียงว่า เรณู และ ฐิติรัตน์ (ท้ายตารางข่าว) ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 เดือนพฤติการณ์เกิดในวันพิพากษาคดีพล.อ.ต.วาสนา เพิ่มลาภ ทั้งสองคนถูกคุมขังในช่วงที่คดีการเมืองทั้งหมดถูกย้ายมาอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ และนักข่าวได้รวบรวมรายชื่อผู้ต้องขังที่เรือนจำดังกล่าวไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง





คำพิพากษาฎีกา: สุดสงวน

คดีนี้ผู้กล่าวหาคือ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่ง ผู้ถูกกล่าวหามี 3 รายคือ นางดารุณี กฤตบุญญาลัย, นางสุดสงวน สุธีสร, นายพิชา วิจิตรศิลป์

สำหรับดารณีนั้นลี้ภัยไปต่างประเทศแล้ว ขณะที่พิชา ซึ่งเป็นทนายความก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อปี 2558 ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้จึงเหลือเพียงสุดสงวนคนเดียว

เหตุของเรื่องนี้ก็คือ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามพร้อมกับประชาชนจำนวนหนึ่งไปประท้วงคำพิพากษาของศาลแพ่งด้วยการถือป้ายวิพากษ์วิจารณ์ ร้องเพลงเสียดสี มีพวงหรีด กระทั่งประชาชนบางคนถือปลัดขิกไปถ่ายรูปอยู่หน้าศาล พวกเขาประท้วงอะไร?

ช่วงนั้นเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ก่อนการรัฐประหารครั้งล่าสุดเพียง 2 เดือน ขณะนั้น กปปส.กำลังชุมนุมอยู่ เพิ่งมีมาตรการ shut down Bangkok เมื่อเดือนมกราคม นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยและมีคำสั่งเพิกถอนการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและห้ามสลายการชุมนุม กปปส. ต่อมาศาลแพ่งพิพากษาแบบเรียกง่ายๆ ตามพาดหัวข่าวของสื่อว่า “ศาลแพ่งไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ห้ามสลายการชุมนุมกปปส. เนื่องจากชุมนุมด้วยความสงบ

หลังจากนั้นไม่กี่วันจึงมีกลุ่มประชาชนรวมถึงสุดสงวนที่มาประท้วงคำพิพากษานี้ของศาลแพ่ง (คลิป)

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสุดสงวน 1 เดือน

“ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-3 ยอมรับว่าเป็นคนเดียวกับบุคคลในภาพ และผู้ถูกกล่าวหายังขอแถลงถอนคำให้การปฏิเสธทั้งหมดคดีนี้ โดยขอแถลงรับสารภาพ ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหา ระบุว่าไม่รู้จักกับหญิงชุดดำที่ถือตราชูและปลัดขิก ศาลแพ่ง จึงมีคำสั่งว่า นางสุดสงวน และนายพิชา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2- 3 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้จำคุกคนละ 2 เดือน ซึ่งคำรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงเห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน แต่การกระทำนั้นอุกอาจ เป็นการท้าทายศาล ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ถูกกล่าวหา ที่ 3 เป็นถึงทนายความย่อมมีความรู้ดีว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติไม่สมควร ทำให้ศาลเสื่อมเสีย จึงไม่สมควรให้รอการลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง” ข่าวระบุ




ภาพจาก ASTV ผู้จัดการ


ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนประกันตัวและยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า

“ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต และปริญญาโท สาขาอาชญาวิทยา จากสหรัฐอเมริกา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ย่อมทราบดีถึงขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล และย่อมทราบว่าการที่ร่วมกันชุมนุมในบริเวณศาล โดยนำพวงหรีดที่มีข้อความว่า “แด่ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง” พร้อมตะโกนว่าศาลแพ่งอยุติธรรม ซึ่งเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อถือ ศรัทธาของสังคมต่อศาลยุติธรรม พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีความยำเกรงต่อกฎหมาย และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศชาติอันเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนก็ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษให้ อย่างไรก็ดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 รับราชการเป็นอาจารย์ในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีตำแหน่งถึงรองศาสตราจารย์ ถือว่าได้ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการ จึงเห็นควรให้ลงโทษกักขังผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แทนโทษจำคุก” ข่าวระบุ

สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งพิพากษาแก้ให้ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ระบุเหตุผลไว้ดังนี้

“คดีสืบเนื่องมาจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่งมีบันทึกข้อความรายงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งโดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามกับพวกประมาณ 130 คน นำพวงหรีด 1 พวง ป้ายเขียนข้อความต่างๆ มีข้อความกล่าวหาศาลแพ่ง เช่น แด่ความอยุติธรรมของศาลแห่ง และใช้เครื่องขยายเสียงร้องเพลงเสียดสีเกี่ยวกับการตัดสินคดีของศาลแพ่ง พร้อมตะโกนว่า อยุติธรรม รวมทั้งมีผู้นำตาชั่งและปลัดขิกมาถือและถ่ายภาพที่หน้าศาลแพ่ง อันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31(1)

ผู้ถูกกล่าวหาที่1 ไม่มาศาลเพื่อการไต่สวน ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับและจำหน่ายคดีสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่1 ชั่วคราว

ผู้ถูกกล่าวที่2 และที่3 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา 31(1), 33 จำคุกคนละ 2 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 เดือน

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ 3 อุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ออกจากสารบบความ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นกักขังแทน มีกำหนด 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23

ผู้กล่าวหาโดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฎีกา และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 สำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขาอาชญาวิทยา (การบังคับใช้กฎหมาย) จากต่างประเทศ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 กับพวกประมาณ 130 คน นำพวงหรีด 1 พวง ป้ายเขียนข้อความต่างๆ ไปยืนอยู่บริเวณศาลแพ่ง ป้ายข้อความเขียนถ้อยคำกล่าวหาศาลแพ่ง เช่น แด่ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง นอกจากนี้ยังมีการพูดโดยใช้เครื่องขยายเสียงร้องเพลงเสียดสีการทำงานของศาลแพ่งพร้อมทั้งตะโกนคำว่า อยุติธรรม เนื่องจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 544/2557 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ออกคำสั่งห้ามนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกับพวก ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวดำเนินการบางประการตามที่โจทก์ในคดีดังกล่าวฟ้อง โดยในวันเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่าจะนำพวงหรีดมามอบให้แก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ซึ่งบุคคลในกลุ่มที่มาพร้อมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นหญิงแต่งกายด้วยผ้าถุงสีดำ เสื้อดำ ใส่แว่นตาดำ คาดผ้าปิดปากสีดำ ถือตาชั่งและปลัดขิกยืนให้ช่างภาพถ่ายภาพ ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีระวางโทษจำคุกสูงสุดหกเดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 ที่ศาลชั้นต้นให้ละวางโทษจำคุก 2 เดือนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีกำหนด 1 เดือนนั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว และพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมาตามฎีกาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดว่า กรณีมีเหตุควรเปลี่ยนโทษจำคุกของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นโทษกังขังหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นบุคคลที่มีความรู้ทางกฎหมาย มีตำแหน่งหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ย่อมรู้ดีว่าคำพิพากษาของศาลย่อมมีทั้งก่อความพอใจและไม่พอใจแก่คู่ความได้ เนื่องจากมีผู้แพ้และผู้ชนะในคดี แต่ฝ่ายแพ้คดีย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไปได้ตามที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำ ซึ่งนานาอารยประเทศยอมรับว่าศาลย่อมพิจารณาพิพากษาอรรถคดีแล้วมีความเห็นไปโดยอิสระ การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นำคณะบุคคลมากดดันดุลยพินิจของศาลย่อมเป็นการบ่อนทำลายสถาบันศาล ด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของตุลาการ ให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ นำไปสู่ความวุ่นวายโกลาหล ไร้ความมั่นคงของประเทศ เป็นการใช้กำลังเข้าหักหาญ ข่มขู่คุกคามเพื่อให้ศาลยอมจำนนตามความประสงค์ของฝ่ายตน โดยไม่เคารพกติกาของกฎหมายแห่งบ้านเมือง พฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่2 แสดงถึงความเหิมเกริมไม่หวั่นเกรงกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ตนมีความรู้ทางกฎหมาย จึงไม่มีเหตุใดๆ ที่ควรปราณีเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดฟังขึ้น

พิพากษากลับให้บังคับคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”