วันศุกร์, มิถุนายน 14, 2567

“วงจร” ที่ใช้กำจัดพรรคอนาคตใหม่ และต่อไปคือพรรคก้าวไกล แม้จะดูไม่ต่างจากวงจรรุ่น 2 ที่เป็นการใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกัน นั่นคือ “วงจร 3” นี้ไม่ได้ใช้เพียงกลไกทางกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องรีบเร่งต่อสู้ทางวัฒนธรรมความคิดด้วย


Atukkit Sawangsuk
15 hours ago·

“วงจร” ที่ใช้กำจัดพรรคอนาคตใหม่ และต่อไปคือพรรคก้าวไกล แม้จะดูไม่ต่างจากวงจรรุ่น 2 ที่เป็นการใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกัน นั่นคือ “วงจร 3” นี้ไม่ได้ใช้เพียงกลไกทางกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องรีบเร่งต่อสู้ทางวัฒนธรรมความคิดด้วย
:
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ทำไมการโจมตีของเครือข่ายปฏิบัติการจิตวิทยาระดับอาชีพ จึงมุ่งโจมตีไปที่พรรคก้าวไกลเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่กลุ่มสมัครเล่นนั้นเลือกตีทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย
:
โดยเฉพาะมุ่งเน้นไปโจมตีถึงประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ 2475 คณะราษฎร ตัวตนของจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ แนวคิดประชาธิปไตย ความเสมอภาค เสรีภาพ รวมถึงแนวความคิดที่ก้าวหน้าต่างๆ
:
นั่นก็เพราะแนวคิดเหล่านี้ในที่สุดจะเป็นปฏิปักษ์กับอำนาจจารีตนิยม ที่ทำให้คนตั้งคำถามว่า ทำไมยังต้องยังคงสิ่งนี้ไว้ ทำไมไม่มีใครแก้ไขเรื่องนั้น
ที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อระบบระเบียบของพวกเขาได้ที่สุด
:
เราจึงได้เห็นกลุ่ม IO พวกนี้ปกป้องในเรื่องไร้สาระ แม้แต่เรื่องเครื่องแบบนักเรียนไปถึงการบังคับกร้อนผม หรือซาบซึ้งกับการที่วัยรุ่นกราบงามไหว้สวย หรือแต่งชุดไทยไปงานฮาโลวีน เพราะเขาอยากให้พวกเราเชื่อว่า อะไรที่เคยมีอยู่ ที่เคยทำต่อๆ กันมาแต่เดิมนั้น มันดีอยู่แล้ว สิ่งใดที่เคยปฏิบัติมาเป็นจารีตนั้นอย่าได้ไปรื้อแคะแตะต้อง เพราะการทำเช่นนั้น อาจจะทำให้ได้เห็นบางสิ่งที่ทับซ้อนซ่อนอยู่
(https://www.matichon.co.th/columnists/news_4620034)
.....

BREAKING THE CYCLE อำนาจ ศรัทธา อนาคต (ไม่ใช่บทความวิจารณ์ภาพยนตร์)

กล้า สมุทวณิช
วันที่ 12 มิถุนายน 2567
มติชนสุดสัปดาห์

นานๆ ที่ถึงจะมีภาพยนตร์แนวสารคดีที่ได้รับความสนใจเป็นกระแสหลักขนาดที่ได้ฉายไปทุกโรงทั่วประเทศ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะสารคดีดังกล่าวนั้นคือเรื่อง “อำนาจ ศรัทธา อนาคต (Breaking The Cycle)” บันทึกเส้นทางการก่อกำเนิดขึ้นจนถึงจุดจบของ “พรรคอนาคตใหม่” ของผู้กำกับสองคน เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ และธนกฤต ดวงมณีพร

สิ่งหนึ่งที่ช่วยจุดกระแสความสนใจให้หนังเรื่องนี้ คือ การโหมโจมตีอย่างเกินปกติของทีมงานปฏิบัติการเชิงจิตวิทยา (IO) ในเครือข่ายสื่อโซเชียลทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ที่ทำเอาจนสารคดีที่น่าจะเป็นที่รู้จักแค่ในกลุ่มผู้นิยมพรรคอนาคตใหม่และก้าวไกลที่ชอบดูหนังแนวสารคดีเท่านั้น กลายเป็นหนังกระแสหลัก และได้เข้าฉายในเครือโรงภาพยนตร์เครือใหญ่ทั่วประเทศไปได้เสียอย่างนั้น ขอสารภาพว่าเป็นอีกคนรู้ว่ามีภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จากที่เพจ IO จ่ายเงินจนโพสต์มาขึ้นถึงหน้าเฟซบุ๊ก นี่แหละ

สำหรับเรื่องว่าหนังจะมีคนดูจริงหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ใครไปดูจริงก็คงจะได้เห็นบรรยากาศในโรงกันในแต่ละรอบซึ่งไม่น่าจะเหมือนกัน ทำรายได้จริงเท่าไรหักบัตรฟรีที่ได้รับการสนับสนุนไปเท่าไร โรงภาพยนตร์ติดต่อขอไปฉายเองหรือไปจ่ายเงินจ้างฉายอะไรก็มีแต่ผู้จัดจำหน่ายกับเครือข่ายโรงภาพยนตร์เท่านั้น ที่จะรู้ข้อเท็จจริง ป่วยการที่จะไปต่อล้อต่อเถียง เพราะต่อให้ใครไปหาภาพคนยืนชูสามนิ้วยืนกันเต็มหน้าโรง อีกฝ่ายก็หาภาพโรงโล่งๆ ในบางรอบมาได้อยู่ดี หรือต่อให้เปิดเผยรายได้วันแรกออกมาได้เป็นล้าน อีกฝ่ายก็ไปเที่ยวควานหาโพสต์ว่า ส.ส.คนนั้นแจกบัตรฟรีกี่ที่นั่งมาปลุกปลอบใจให้คนฝั่งเขาเฮฮากันว่าไม่มีใครไปดูหนังสามกีบอยู่ดี 

เพราะยังไม่ได้ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยภารกิจการงาน จึงไม่ทราบแน่ชัดว่า “The Cycle” ที่ภาพยนตร์ดังกล่าวนำมาเป็นชื่อเรื่องนั้นหมายถึง “วงจร” หรือ “วงเวียน” ใด แต่คำว่า “วงจร” หรือ “วงเวียน” นี้ ก็ทำให้นึกถึงข้อสังเกตเรื่อง “วงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย” ที่ผู้ติดตามการเมืองไทยตั้งแต่ยุค 2520 คงจะนึกกันออก 

“วงจรอุบาทว์” ที่ได้แก่การที่เมื่อนักการเมืองในระบบบริหารปกครองประเทศไปสักพักก็จะมีข้อครหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น จากนั้นผู้นำกองทัพก็จะออกมารัฐประหาร แล้วก็จะใช้เวลาสักพักหนึ่งเพื่อร่างรัฐธรรมนูญไปพลางกระชับอำนาจและผลประโยชน์ เมื่อพร้อมแล้วก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้ง และเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วก็มีนักการเมืองในระบบเข้ามาบริหารปกครองประเทศไปจนเกิดข้อครหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นอีกครั้ง นำไปสู่การรัฐประหารเริ่มต้นวงจรครั้งใหม่

เราเหมือนจะหลุดจาก “วงจรอุบาทว์” นี้ได้ครั้งหนึ่งหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ.2534 ตามด้วยการเข่นฆ่าประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ที่ผู้คนรู้เท่าทันและคิดว่ามันต้องมีปัญหาบางอย่างที่เกิดจากกติกาในรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหารซึ่งทำให้ได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ อำนาจของวุฒิสภาที่ครอบงำโดยอำนาจเก่าแต่งตั้งเข้ามา หากกลับมีบทบาทอำนาจทางการเมืองเทียบเท่ากับผู้แทนของประชาชน กระบวนการป้องกันการทุจริตที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เกิดการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง เกิดเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 

แต่รัฐธรรมนูญที่สร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งและกลไกการตรวจสอบที่แม้จะมีแนวโน้มที่ดีแต่ก็ยังไม่รอบคอบและมีช่องว่าง ก็ทำให้เกิดปัญหาในอีกรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลทักษิณและพรรคไทยรักไทยซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงจากประชาชนแต่มีความเข้มแข็งเกินควรจนยากต่อการตรวจสอบ ไม่รู้ว่าเป็นเคราะห์ร้าย หรือเคราะห์ดีที่ในตอนนั้นเกิดนักปลุกระดมมวลชนและการสร้างวาทกรรมบางอย่างที่สามารถขับเคลื่อนอารมณ์ของสังคมจนละทิ้งหลักการไปเรียกร้องจนเกิดการรัฐประหารได้อีกครั้งในปี พ.ศ.2549 

ในตอนนั้นเองที่เราได้เห็น “วงจร 2” ที่มีการใช้กลไกอำนาจทางกฎหมายเข้ามายุบพรรคไทยรักไทยที่ถูกมองว่าเป็นเสี้ยนหนาม และความพยายามในการใช้กลไกกติการทางรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมืองที่อาจจะได้รับความนิยมของคนทั้งประเทศ แต่การดังกล่าวก็เหมือนจะไม่สำเร็จ เมื่อ “พรรคพลังประชาชน” ที่สืบทอดไปจากพรรคไทยรักไทยก็ยังเอาชนะการเลือกตั้งเข้ามาได้อยู่ดี เพื่อหลังจากนั้นก็จะถูกนักปลุกระดมกลุ่มเดิมที่ขณะนั้นพัฒนาไปเป็นอันธพาลทางการเมืองไปแล้ว ได้ออกมาเคลื่อนไหวจนเกิดความวุ่นวายจนมีการใช้กลไกทางกฎหมายออกมายุบพรรคพลังประชาชนไปอีกครั้งหนึ่ง แล้วมอบอำนาจให้กับพรรคการเมืองฝั่งที่ฝ่ายอำนาจน่าจะเห็นชอบแล้ว ถึงกระนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง “พรรคเพื่อไทย” ที่ก่อตั้งสืบทอดมาจากพรรคพลังประชาชน (ที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทยอีกต่อหนึ่ง) ก็ยังชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายกลับมาเป็นรัฐบาลอยู่ดี 

เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว พบว่าพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากพรรคเดิมที่ถูกยุบนั้นกลับมาชนะการเลือกตั้งอีก “วงจร 2” นี้ก็เริ่มรู้ตัวว่าทำงานไม่สำเร็จ จึงมีการใช้อันธพาลทางการเมืองกลุ่มใหม่ และนำไปสู่การรัฐประหาร (อาจจะเรียกว่าเป็น “วงจร 2.5” ก็ได้) ที่เป็นการรัฐประหารที่ผู้ก่อการถืออำนาจต่อเนื่องยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมอำนาจและเอาชนะพรรคการเมืองที่ประชาชนน่าจะลงคะแนนเลือกมากที่สุดให้ได้ด้วยกลไกทางรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และองค์กรที่ควบคุมและชี้ขาด 

เพราะสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามของพวกเขาคือ เสียงของประชาชน ที่จะเป็นเครื่องตัดสินว่าจะให้ใครได้เป็นตัวแทนผู้ใช้อำนาจสูงสุดในแผ่นดินนี้แทนเจ้าของประเทศตัวจริง 

ในระหว่างนั้นเองที่อำนาจจารีตเร้นลึกได้เผยตัวตนอย่างชัดเจนระหว่างการเคลื่อนไหวใช้งานวงจร 2 ว่า ไม่ใช่เพียงกองทัพเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกลไกอำนาจราชการและอำนาจทางกฎหมายตลอดจนองคาพยพที่เกี่ยวข้องโดยในระหว่างการเวียนวนของวงจรทุกระยะก็ได้สั่งสมอำนาจของเครือข่ายเหล่านี้จนครอบงำประเทศ รวมถึงกลุ่มทุนที่หวังที่จะผูกขาดได้หนทางที่ง่ายและปลอดภัยที่สุด คือการสวามิภักดิต่ออำนาจเร้นลึกเหล่านั้น หรือเข้าร่วมเป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกันกับอำนาจเหล่านั้น 

การมาถึงของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ได้รับฉายาว่า “ไพร่หมื่นล้าน” ที่เข้าสู่การเมืองโดยการก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่” นี้จึงเป็นภัยคุกคามต่อเครือข่ายดังกล่าวอย่างยิ่ง เพราะเขามีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะปฏิเสธการ “เดินไปตามวงจร” และพยายามชี้ให้ผู้คนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดอันแท้จริงในประเทศเห็นว่า จริงๆ แล้วเรากำลังติดกับแห่งวงจรประหลาดอะไรบางอย่างอยู่อย่างไม่รู้จบ 

“พรรคอนาคตใหม่” ที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นแค่กลุ่ม “เด็กเบียว” ประชาธิปไตย กลับได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับสาม ได้ที่นั่งมาเกิน 80 ที่นั่ง และได้รับเสียงจากประชาชนกว่า 6 ล้านเสียง แนวทางของพรรคที่น่าจะเป็นปัญหาต่อ “วงจร” ทำให้กลไกป้องกันตัวเองของวรจรเริ่มทำงาน และในที่สุดก็อย่างที่รู้กัน พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปโดยกลไกทางกฎหมายไม่ต่างจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน แต่ที่แตกต่างคือ พรรคอนาคตใหม่ยังไม่เคยมีอำนาจรัฐ ยังไม่เคยใช้อำนาจใดในทางที่รบกวนแก่กลุ่มอำนาจจารีตและเครือข่ายผลประโยชน์เลย 

หากเพียงการมีอยู่ของพรรคการเมืองที่มีแนวคิดดังกล่าวจึงน่ากลัวสำหรับกลุ่มอำนาจจารีตนิยมกับเครือข่ายทุนที่เป็นพันธมิตรกันแล้ว และก็ยิ่งน่าขนพองสยองเกล้ามากขึ้น เพราะหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ท่าทีของสังคม โดยเฉพาะเยาวชนทั้งหลาย กลับมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับเครือข่ายอำนาจนิยมและจารีตนิยมในระดับที่ตีไปที่หัวใจของระบบ เริ่มมีการรื้อฟื้นและศึกษาถึงแนวคิด “ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์” ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรซึ่งกลับมาสู่วัฒนธรรมร่วมสมัยอีกครั้ง หนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยุค 2475 กลายเป็นเรื่องขายดี การล้อเลียนวิพากษ์วิจารณ์ขยายขอบเขตไปแบบกู่ไม่กลับ ภาพบางอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น 

ชัยชนะถล่มทลายเป็นอันดับหนึ่ง และเสียงของผู้คน 14 ล้านเสียงที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่มีการเสนอนโยบายที่แหลมคมแต่กลับได้รับการตอบรับอย่างสูงยิ่งจากประชาชน จึงน่าจะเป็นคืนอันชวนตื่นตระหนกของเครือข่ายอำนาจนิยมจารีตนิยมที่จะต้องจัดการอย่างเด็ดขาด 

“วงจร” ที่ใช้กำจัดพรรคอนาคตใหม่ และต่อไปคือพรรคก้าวไกล แม้จะดูไม่ต่างจากวงจรรุ่น 2 ที่เป็นการใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกัน นั่นคือ “วงจร 3” นี้ไม่ได้ใช้เพียงกลไกทางกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องรีบเร่งต่อสู้ทางวัฒนธรรมความคิดด้วย 

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ทำไมการโจมตีของเครือข่ายปฏิบัติการจิตวิทยาระดับอาชีพ จึงมุ่งโจมตีไปที่พรรคก้าวไกลเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่กลุ่มสมัครเล่นนั้นเลือกตีทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย และโดยเฉพาะมุ่งเน้นไปโจมตีถึงประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ 2475 คณะราษฎร ตัวตนของจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ แนวคิดประชาธิปไตย ความเสมอภาค เสรีภาพ รวมถึงแนวความคิดที่ก้าวหน้าต่างๆ นั่นก็เพราะแนวคิดเหล่านี้ในที่สุดจะเป็นปฏิปักษ์กับอำนาจจารีตนิยม ที่ทำให้คนตั้งคำถามว่า ทำไมยังต้องยังคงสิ่งนี้ไว้ ทำไมไม่มีใครแก้ไขเรื่องนั้น ที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อระบบระเบียบของพวกเขาได้ที่สุด 

เราจึงได้เห็นกลุ่ม IO พวกนี้ปกป้องในเรื่องไร้สาระ แม้แต่เรื่องเครื่องแบบนักเรียนไปถึงการบังคับกร้อนผม หรือซาบซึ้งกับการที่วัยรุ่นกราบงามไหว้สวย หรือแต่งชุดไทยไปงานฮาโลวีน เพราะเขาอยากให้พวกเราเชื่อว่า อะไรที่เคยมีอยู่ ที่เคยทำต่อๆ กันมาแต่เดิมนั้น มันดีอยู่แล้ว สิ่งใดที่เคยปฏิบัติมาเป็นจารีตนั้นอย่าได้ไปรื้อแคะแตะต้อง เพราะการทำเช่นนั้นอาจจะทำให้ได้เห็นบางสิ่งที่ทับซ้อนซ่อนอยู่ 

นี่คือ “The Cycle” หรือวงจรที่เราคงจะต้องวนเวียนอยู่นาน ที่ไม่รู้ว่าในภาพยนตร์ดังกล่าวจะได้แตะไว้หรือไม่แค่ไหน และบอกตามตรงว่า โอกาสที่เราจะหลุดจาก “วงจรอุบาทว์” นี้ก็ยาก เพราะการต่อสู้ภายใต้กติกานั้นเสียเปรียบที่นอกจากกติกาเป็นของพวกเขาแล้ว ผู้ที่ควบคุมและชี้ขาดกติกาก็เป็นของพวกเขา เห็นได้ว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปที่ควรเป็นการเลือกผู้มาใช้อำนาจบริหารและปกครองประเทศ พรรคการเมืองที่คนเลือกมากที่สุดในประเทศก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคที่จัดตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของเครือข่ายอำนาจจารีต และก็ปกครองบริหารประเทศไปได้เพียงเท่าที่เขาอนุญาตแบบง่อยๆ เปลี้ยๆ เท่าที่เห็นในทุกวัน ส่วนพรรคที่ชนะการเลือกตั้งสูงสุดก็ขึ้นแท่นรอถูกยุบพรรคอยู่ ถึงจะบอกว่ายุบใหม่ก็ตั้งใหม่ เลือกตั้งอีกก็ชนะอีก แต่เรื่องจริงก็คือ ต่อให้ชนะอีกเขาก็ยุบพรรคใหม่ได้อีกนั่นแหละ 

เราอาจจะปลอบใจว่าเวลาอยู่ข้างเรา แต่ก็ได้เห็นแล้วจากที่ผ่านมาว่าพวกเขาก็ไม่ได้อยู่นิ่งให้ทำลายลงเฉยๆ ยังคงมีการปรับปรุง “วงจร” ของพวกเขาให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่อภัยคุกคาม ซึ่งก็คือประชาชนคนอย่างพวกเราอยู่ตลอดเวลา