เพื่อไทยทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่กี่โมง ‘ไอลอว์’ เขาถาม สงสัยถึงครึ่งปี ๖๗ ก็ยังไม่ได้เริ่ม เพราะนี่เข้ามา ๖ เดือน ทุกอย่างยังอยู่ในลิ้นชัก ร่วมทั้งฉบับ #Conforall ของประชาชนกว่า ๒ แสนรายชื่อ ที่ กกต.โอเคแล้ว
อันเนื่องมาแต่ระหว่างที่พรรคเพื่อไทยปีนข้ามขั้วไปจับมือกับฝ่ายสืบทอดอำนาจรัฐประหาร เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกล ได้ประกาศนโยบาย “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดย สสร.จากการเลือกตั้ง ให้ดูดีว่ายังอิงแอบ ‘ประชาธิปไตย’
ตั้งรัฐบาลเสร็จ ทั้งที่แถลงว่าจะเริ่มกระบวนการทำประชามติ ‘ทันที’ ในการประชุม ครม.ครั้งแรก แต่กลับกลายเป็นมีคำสั่งให้ตั้ง ‘คณะกรรมการศึกษา’ ขึ้นมาเท่านั้น โดยมอบให้ ภูมิธรรม เวชยชัย ดูแล ได้ข้อสรุปใน ๓ เดือนต่อมาว่า
“จะต้องทำประชามติทั้งหมด ๓ ครั้ง โดยครั้งแรกให้ตั้งคำถามพร้อมเงื่อนไข ‘ไม่แก้ไขหมวด ๑ – ๒’ และไม่ได้ระบุชัดเจนว่าประชามติจะเกิดขึ้นเมื่อใด” ทางภาคประชาชนจึงรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อเขียน รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.เลือกตั้ง ๑๐๐%
ได้ ๒๑๑,๙๐๔ ชื่อส่งให้ กกต.ตรวจสอบ เมื่อ ๓๐ สิงหา ๖๖ กกต.ให้ผ่านแล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณาบรรจุ แต่ ครม.เศรษฐาทำเฉยชา ไม่นำคำถามประชามติของ Conforall ไปพิจารณา “ไม่ได้มีการตอบกลับว่าเห็นด้วยหรือไม่”
เมื่อ ครม.ไม่เคลื่อนไหว ก็มี ส.ส.เพื่อไทย ๑๒๒ คนร่วมกัน “ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ พร้อมระบบเลือกตั้งให้ได้มาซึ่ง สสร.ชุดใหม่ ต่อประธานรัฐสภา” นัยว่าแนวทางนี้จะทำให้การสร้างรัฐธรรมนูญใหม่เดินหน้าไปได้
โดยจะมีการทำประชามติเพียงสองครั้ง ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคฯ บอกว่า ต้องการให้ร่างฯ ผ่านสภาไปก่อนจนถึงขั้นตอนยกร่างโดย สสร. แล้วค่อยทำประชามติถามประชาชนว่า “ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” แต่ร่างฯ นี้ก็ยังไม่ผ่าน
ต้นกุมภา ๖๗ สำนักเลขาฯ รัฐสภาส่งความเห็นกลับมาว่าการแก้ไข รธน.จะนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำตามความเห็นศาล รธน. ให้จัดทำประชามติถามประชาชนเสียก่อนว่าจะเอารัฐธรรมนูญใหม่ไหม กลุ่ม ส.ส.เพื่อไทยหาทางออกใหม่
ขอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปถามศาล รธน.อีกครั้ง ว่าถ้างั้นเพิ่มคำถามประชามติอีกคำถาม เอาความเห็นของศาล รธน.ที่วินิจฉัยไว้นั้นไปทำประชามติด้วย ตอนนี้ก็รอประชุมสองสภาหามติเพื่อส่งเรื่องให้ศาล รธน. จากนั้นรอฟังวินิจฉัย ๓-๔ เดือน
ศาล รธน.จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างข้อเสนอแก้ไข รธน.มาตรา ๒๕๖ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การตั้ง สสร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (โดยไม่แตะหมวด ๑ และ ๒) ก็จะยังเริ่มก้าวแรกไม่ได้จนกว่าจะเลยครึ่งปีไปแล้ว