วันศุกร์, มีนาคม 22, 2567

บัสบาสยังอดอาหารต่อ กำลังใจยังดี ติดตามข่าว กมธ.นิรโทษกรรม - ชวนจับตา การประชุม กมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองฯ หลังขยายเวลาศึกษาออกไปอีก 60 วัน


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
11h
·
บัสบาสยังอดอาหารต่อ กำลังใจยังดี ติดตามข่าว กมธ.นิรโทษกรรม
.
.
วันที่ 21 มี.ค. 2567 ที่เรือนจำกลางเชียงราย ทนายความเดินทางเข้าเยี่ยม “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำคุก 50 ปี ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่ศาลเห็นว่ามีความผิดจำนวน 25 ข้อความ และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา ทำให้เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2567
.
บัสบาสอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 24 วันแล้ว เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั้งหมด แต่ขณะนี้ได้กลับมาดื่มน้ำ หลังจากอดไปช่วงหนึ่ง
.
บัสบอกว่าตอนนี้กำลังใจยังดี เขาบอกว่าอาทิตย์ที่นี้ มีอาการความดันต่ำ และหน้ามืดวูบเป็นบางครั้งระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน แต่โดยรวมก็ยังพอไหวอยู่ น้ำเสียงเขายังชัดเจน
.
เขาบอกว่าช่วงคืนวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา มีฝนตก พายุฤดูร้อนเข้า ลดฝุ่นควันไปได้บ้าง ทำให้อากาศดีขึ้นกว่าเดิม
.
เขาแจ้งว่าตั้งแต่ถูกคุมขังมาเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ยังไม่ได้รับจดหมายหรือโปสการ์ดจากเพื่อน ๆ ภายนอกเลย จึงไม่แน่ใจว่ามีส่งมาให้เขาบ้างหรือไม่ ทราบแต่ว่ามีอาจารย์ที่ส่งโปสการ์ดเข้ามา แต่เขาก็ยังไม่ได้รับ จึงไม่แน่ใจว่าเหตุเกิดจากอะไร มีการปิดกั้นหรือไม่ จึงอยากรอดูอีกสักช่วงหนึ่ง ว่าจะได้รับจดหมายอะไรหรือไม่ โดยเขาต้องได้รับจดหมายที่ส่งเข้ามาก่อน ถึงจะเขียนตอบออกไปได้
.
บัสบาส ยังสอบถามถึงกระบวนการขอประกันตัวระหว่างฎีกาก่อนหน้านี้ ซึ่งในครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ที่ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กว่าที่เขาจะได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งศาล ก็กินเวลาไปประมาณ 1 อาทิตย์แล้ว แต่ในการยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 ซึ่งศาลฎีกาก็สั่งไม่ให้ประกันเช่นกัน เขาไม่เคยได้รับทราบคำสั่งมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้มีการแจ้งผลผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพียงแต่ได้ทราบผลจากทนายความที่ได้เข้าเยี่ยม และแจ้งให้ทราบเท่านั้น
.
ในส่วนการยื่นฎีกาคำพิพากษาในคดีนี้ ทนายความคาดว่าจะยื่นในช่วงเดือนเมษายนนี้ ขณะที่บัสบาสยังมีคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดี ซึ่งเขาถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี 6 เดือน และได้ยื่นอุทธรณ์คดีไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีวันนัดฟังคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์
.
บัสบาสยังสอบถามเรื่องสถานการณ์การ #นิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งขณะนี้ทราบว่ากรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นกำลังพิจารณาแนวทาง จึงได้อัปเดตสถานการณ์ที่ทาง กมธ. ได้เชิญตัวแทนจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงต่าง ๆ ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ไปให้ความเห็น โดยหลายคนก็เห็นว่าควรต้องรวมนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 ด้วย แต่ก็ยังไม่รู้ว่าทิศทางการนำร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ เข้าสภาจะเป็นอย่างไรต่อไป
.
สามารถส่งจดหมายพูดคุยกับบัสบาสไปที่ มงคล ถิระโคตร แดน 1 เรือนจำกลางเชียงราย เลขที่ 222 หมู่ที่ 3 ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ (https://tlhr2014.com/archives/65688)
.....

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
13h
·
ชวนจับตา-อ่านบันทึกประชุม กมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองฯ หลังขยายเวลาศึกษาออกไปอีก 60 วัน
.
.
หลังจากเครือข่าย #นิรโทษกรรมประชาชน รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง และเป็นก้าวแรกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า 35,905 รายชื่อ และยังต้องรอติดตามการนำกฎหมายร่างต่าง ๆ ทั้งของภาคประชาชน และพรรคการเมืองเข้าสู่การพิจารณาสภา
.
ขณะที่ในสภาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ตั้ง #กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ขึ้น โดยมี ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธานกรรมาธิการ และมี สส. หรือผู้เชี่ยวชาญ สัดส่วนของพรรคต่าง ๆ ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวมจำนวน 35 คน
.
จนถึงปัจจุบัน กมธ. ชุดนี้ประชุมกันไปแล้ว 6 ครั้ง โดยกำหนดประชุมทุกบ่ายวันพฤหัส ในช่วงอาทิตย์นี้ กรรมาธิการยังมีมติขอขยายเวลาศึกษาเพิ่มเติมออกไปอีก 60 วัน เพื่อให้มีเวลาศึกษาข้อเท็จจริงที่กว้างขวางขึ้น จากเดิมที่กำหนดเวลาการทำงานไว้จนถึงวันที่ 1 เมษายนนี้ ทำให้ กมธ. จะดำเนินการขยายไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้
.
สำหรับการประชุมที่ผ่านมา นอกจากการเสนอความคิดเห็นระหว่างกรรมาธิการ ยังมีการเชิญตัวแทนจากการหน่วยงานรัฐ ทั้งกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลปกครอง และกระทรวงการต่างประเทศ มาร่วมรับฟัง และให้ข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการในการประชุมทุกครั้ง
.
การอภิปรายในที่ประชุมกรรมาธิการที่ผ่านมา มีทั้งในประเด็นว่าการนิยามคำว่า “ความขัดแย้งทางการเมือง”, เป้าหมายของการนิรโทษกรรมคืออะไร, ควรใช้คำอื่นแทนคำว่า “นิรโทษกรรม” หรือไม่, แนวทางในการนิรโทษกรรมนั้นควรรวมคดีประเภทใด บุคคลใด และช่วงเวลาใด หรือเรื่องกระบวนการอื่น ๆ ที่ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการนิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง
.
ข้อสรุปในเบื้องต้นของกรรมาธิการ คือกำหนดกรอบเวลาการนิรโทษกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 จนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาในส่วนฐานความผิด โดยเฉพาะข้อถกเถียงสำคัญในสังคม เรื่องผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ควรได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่
.
รวมทั้งมีประเด็นที่น่าสนใจ ในส่วนที่มีผู้แทนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ เพื่อนำข้อเสนอให้ควรรวมการนิรโทษกรรมคดีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เข้ามาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทั้งพบปัญหาการใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน
.
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 กรรมาธิการยังมีมติให้ตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อประกอบการพิจารณาอีกด้วย โดยอนุกรรมาธิการนี้มี นิกร จำนง เป็นประธาน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลคดีและสถิติคดีทางการเมืองในรอบเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา
.
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา กรรมาธิการยังได้เชิญตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุมสำคัญในช่วงต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เข้าไปให้ข้อมูลด้วย รวมทั้งมีตัวแทนของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าร่วม
.
การประชุมในครั้งต่าง ๆ ของกรรมาธิการได้ทยอยถูกเผยแพร่บันทึกการประชุมโดยละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ของสภา จึงชวนกันเข้าไปอ่านบันทึกการประชุมเหล่านั้น ว่าตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ พูดคุยในเรื่องการนิรโทษกรรมทางการเมืองกันอย่างไรบ้างแล้ว และชวนติดตามจับตาการทำงานของกรรมาธิการชุดนี้ต่อไป
.
ดูหน้าเว็บไซต์ของ กมธ.ศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม (https://shorturl.asia/2JpvV)
.
อ่านบันทึกการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมา (https://www.shorturl.asia/CwbYU)
.