วันอังคาร, ตุลาคม 17, 2566

นำร่องสองสาย รถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย ที่เหลือไม่ง่ายต้องเจรจาหนัก “วาทะศิลป์ไม่สำคัญเท่า ‘incentives’ ที่รัฐจะเอาอะไรไปแลก”

รถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย ครม.อนุมัติแล้ว ๒ สาย สีม่วงกับสีแดง เริ่มทางการเมื่อวาน ๑๑ โมง ด้วยความปลื้มปีรติของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นั้น สำหรับคนที่ใส่ใจที่ไปของโครงการนี้ ฟัง รมว.คมนาคมอธิบายแล้วยังงงๆ อยู่ ลองมาดูที่ @SaiSeeMaP พยายามทำให้เข้าใจ

ก่อนอื่นต้องแจงเสียหน่อยว่าทำไมต้องใส่ใจเรื่อง ที่ไปกันนักหนา ประชากรไม่กินหญ้าเขามีวิตกจริตว่าโครงการลดแลกแจกแถม บางทีมันมีอะไรหลังหลืบ สำหรับผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ก็ต้องหน้าชื่นละ ลดค่าใช้จ่ายรายวันเห็นๆ

แต่หลังม่านมันจะเป็นภาระรับผิดชอบทางการเงิน ผ่านระบบภาษีอากรของรัฐบาล ผันเอามาใช้เป็นงบประมาณเสี่ยงกับการขาดทุนในเบื้องต้น กว่าจะฟื้นทุนได้อาจต้องงอมพระรามไปก่อน ยิ่งชาวต่างจังหวัดซึ่งไม่ค่อยได้เข้ากรุง ยิ่งรู้สึกเสียเปรียบ

ที่

Sai-See-Ma บอกว่ายังงงกับคำของสุริยะ “ส่วนจะเป็นภาระงบประมาณหรือไม่นั้น เชื่อว่ารัฐไม่จำเป็นต้องชดเชย และไม่เป็นภาระงบประมาณ เพราะคาดว่าจะมีผู้โดยสารมากขึ้น” ฟังคุ้นๆ เหมือนตรรกะของโครงการแจกเงินดิจิทัลคนละหมื่น

เรื่องนั้นจนป่านนี้ก็ยังไม่มีหน้าไหน ไล่จากนายกฯ ลงมา ที่จะตอบให้ชั้วๆ ลงไปว่าจะเอาเงินจากไหน ๕๖๐,๐๐๐ ล้านบาท มาจ่ายให้โครงการ ข้อสงสัยและกังขาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บ้างระแวงจะซ้ำรอยจำนำข้าว บ้างมองรัศมี ๔ กิโลเมตร “มองไปไม่มีร้านเลย”

เป็นเครื่องกีดขวางแบ่งกั้นชั้นชน นายกฯ ต้องมาแก้ต่าง ยืนยัน #ดิจิทัลวอลเล็ต “ไม่ได้เป็นการแบ่งแยก ไม่ได้เป็นการปลุกระดม” สำหรับโครงการรถไฟฟ้าราคาย่อมเยาเท่ากันหมดนั่น มีการทำตารางออกมาให้ดูว่า รัฐจะต้องเตรียมงบประมาณชดเชยไว้กว่า ๗,๔๖๘ ล้านบาท

เขาให้ไปดูที่สัญญาสัมปทาน สีแดงเป็นลักษณะ จ้างเดินรถ (รังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ลดค่าโดยสารเหลือ ๒๐ บาท รัฐทำได้เพราะเก็บรายได้ค่าบริการมาหมด แล้วค่อยไปจ่ายค่าจ้างวงเงินตายตัว ส่วนสายสีม่วงเป็นแบบ ‘Gross Cost’ ก็เช่นกัน

“รัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้ทั้งหมด และจ่ายค่าตอบแทนให้เอกชนตามที่ตกลง ในอัตราที่แน่นอน” อันนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานในระยะยาว ๒๐ บาทตลอดสายรัฐสั่งให้ทำได้ เพราะจะลดความเสี่ยงใน ๑๐ ปีแรก ที่มักประสบภาวะขาดทุน ไม่แน่นอน

รวมความในชั้นนี้ ชาวบ้านรีบเฮกันได้ก่อนเลย หลังจากสองสายนี้จะมีแต่สัมปทานแบบ ‘Net Cost’ ซึ่งรัฐต้องเจรจากับผู้รับสัมปทานดำเนินการอย่างหนัก ให้ลดค่าโดยสาร วาทะศิลป์ไม่สำคัญเท่า ‘incentives’ ที่รัฐจะเอาอะไรไปแลกล่ะ

(https://twitter.com/SaiSeeMaP/status/1713882706252267735 และ https://youtu.be/TFIHR0bjByI?si=-dkTvXh4bUjku7rG)