วันศุกร์, ตุลาคม 27, 2566

ตีตกไปแล้วญัตติเสนอจัดทำประชามติ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

เชือดนิ่มๆ อย่าง ตระบัดสัตย์ส.ส.รัฐบาล ๒๖๒ เสียง ตีตกไปแล้วญัตติเสนอจัดทำประชามติ ให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งพ่ายด้วนคะแนนเพียง ๑๖๒

เหตุผลของการไม่เอา น่าจะตามที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยคนหนึ่งอภิปรายค้านว่า เป็นญัตติที่เขียนไม่รอบคอบ และเป็นคำถามที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้เสนอญัตติได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วว่าญัตตินี้แทบจะเรียกได้เป็นญัตติเดียวกับ ปี ๖๕

คราวนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ๗๙ คน พรรคภูมิใจไทย ๕๗ คน พรรคพลังประชารัฐ ๖๒ คน และพรรคประชาธิปัตย์ให้ความเป็นชอบในเสียงท่วมท้น ๓๒๓ ต่อ ๐ แล้ว ส.ส.เหล่านั้นก็ได้มาอยู่ในสภาชุดนี้กันเกือบถ้วนหน้า บางคนอาจเปลี่ยนสังกัดพรรคการเมืองบ้าง

ก็เท่ากับว่า ส.ส.พวกนี้ลงมติคราวนั้นด้วยความไม่รอบคอบ ทั้งที่มันขัดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดียังมีร่างกฎหมายแบบเดียวกันอีกฉบับ เสนอโดยประชาชน ๒๑๑,๙๐๔ รายชื่อ ตาม พรบ.ประชามติ มาตรา ๙(๕) ซึ่งต้องการรายชื่อเพียง ๕ หมื่น

อีกทั้ง กกต.ได้ตรวจรายชื่อเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ร่างฯ จึงไปสู่คณะรัฐมนตรีตามระเบียบรัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนร่างฯ นั้นพลัดหลงอยู่ในลิ้นชักเลขาธิการ ครม.รอพิจารณา ขณะที่รัฐบาลชุดสร้างเศรษฐีขอทำเอง

นายกฯ เศรษฐาตั้ง คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ขึ้นมาใหม่ ๑ ชุด ให้ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน ตั้งกรรมการขึ้นมาแล้ว ๓๕ คน โดยมี ๑ ที่นั่งให้แก่พรรคก้าวไกล แต่พรรคก้าวไกลทวงว่าแนวทางประชามติเคยมีมาแล้ว

เคยผ่านสภาแล้วด้วย จะต้องมาศึกษาใหม่หาแก้วเก้าประการอันใด แค่ยึดหลักเดิมทำประชามติ เลือก สสร.โดยตรง จะได้ไปต่อไวๆ ทว่าทั่นภูมิธรรมไมสนโนแคร์ ก้าวไกลก็เลยไม่ได้ส่งชื่อตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นอันดับที่ ๓๕ ในคณะกรรมการด้วย

ตานี้เกิดมี ส.ส.เพื่อไทย ชื่อ จาตุรนต์ ฉายแสง ออกมาท้วงว่า “ถ้าทำประชามติไปแบบที่ฝ่ายค้านเสนอมา มีโอกาสสำเร็จน้อยมาก และมีความเสี่ยงสูงมากที่จะปิดทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีกยาวนาน” เขาเสนอให้ฝ่ายสภาทำการแก้กฎหมายประชามติเสียก่อน

เนื่องจาก พรบ.ประชามติ มาตรา ๑๓ กำหนดว่าผู้ออกเสียงประชามติต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ แล้วเกณฑ์ผ่านประชามตินั้นก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิ ดังนี้จาตุรนต์คิดว่าขืนดันกันไปอย่างนี้ ยากที่จะผ่านถ้าไม่แก้ กม.ประชามติเสียก่อน

เป็นอันว่าทั้งขึ้นทั้งล่อง การทำประชามติเพื่ออนุมัติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นั้นเจอทางตันแล้ว ทั้งในเส้นทางสภา และเส้นทางประชาชนผ่านคณะรัฐมนตรี

เหลือแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบผัดหน้าประแป้งของรัฐบาลเศรษฐาสร้างเศรษฐีเท่านั้น

(https://twitter.com/chaturon/status/1717154141469057196, https://www.facebook.com/iLawClub/postsTLGqBwVl และ https://ilaw.or.th/node/6672)