วันศุกร์, ตุลาคม 27, 2566

รัฐบาล ส่งสัญญาณถอย ขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ไม่ทัน 1 ม.ค.2567



วันนี้ (26 ตุลาคม 2566) ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการหารือกับพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับประเด็นด้านแรงงาน ว่า นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2567 อาจทำได้ยาก และคงต้องดูข้อมูลเกี่ยวกับเงินเฟ้อประกอบด้วย

“การประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท พร้อมกันทั้งประเทศ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะวันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำสุด อยู่ที่วันละ 328 บาท สูงสุดที่วันละ 354 บาท โดยจะแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด หากจะปรับขึ้นก็คงต้องปรับขึ้นแต่ละจังหวัดจะไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ก็ต้องหารือกับทางคณะกรรมการไตรภาคีก่อน” นายพิพัฒน์ ระบุ

อย่างไรก็ดีแม้ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศไม่ทันวันที่ 1 มกราคม 2567 แต่ รมว.แรงงาน ยืนยันว่า ในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ จะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงานไทยแน่นอน เพื่อประกาศให้เป็นของขวัญปีใหม่ก่อนวันสิ้นปี ซึ่งแต่ละจังหวัดจะปรับไม่เท่ากัน โดยกระทรวงแรงงานจะขอดูรายละเอียดอีกครั้ง

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท อาจเป็นการจ่ายตามทักษะ โดยเน้นแรงงานไทยเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้เดินสายหารือกับนายจ้าง และลูกจ้างมาอย่างต่อเนื่อง และจะดูรายละเอียดอีกครั้งว่า จะปรับขึ้นในภาคอุตสาหกรรมไหนได้บ้าง และต้องดูข้อมูลของ คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งคาดว่า จะสรุปตัวเลขการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะเมื่อขึ้นมาแล้วจะมีทั้งข้อดี และข้อเสีย เรื่องนี้ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี โดยเฉพาะกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือกลุ่มเอสเอ็มอี อาจจะไปต่อไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันเอสเอ็มอี มีการจ้างงานอยู่ 16-17 ล้านคน หากขึ้นไปแล้วอาจทำให้คนตกงานอีก 8-9 ล้านคน สุดท้ายแล้วก็ต้องดูความเหมาะสม และไม่ให้ใครได้รับผลกระทบ” นายพิพัฒน์

แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า ในการหารือวันนี้ คณะกรรมาธิการการแรงงาน เข้าใจถึงปัญหาเรื่องของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท คงทำได้ยากมากในบริบทของประเทศในปัจจุบัน และเมื่อดูแล้วคงทำไม่ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ตามนโยบายรัฐบาลแน่นอน

ทั้งนี้จากการหารือร่วมกับ รมว.แรงงาน ก็บอกถึงเหตุผลหลายอย่างถึงการปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบาย ซึ่งสอดคล้องกับข้อห่วงใยของคณะกรรมาธิการการแรงงาน แต่สุดท้ายแล้วแม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่ได้ปรับขึ้นสูงสุด 400 บาท แต่ รมว.แรงงาน ก็ยืนยันว่า การขึ้นค่าจ้างจะปรับขึ้นแน่เป็นของขวัญปีใหม่ โดยจะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยให้สอดคล้องกับตัวเลขเงินเฟ้อ และข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทางคณะกรรมการไตรภาคีจะสรุปมารายงานอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้


รมว.แรงงาน หารือกับ คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
26 ตุลาคม 2566