'อยากบอกโลกว่ายังสู้อยู่' ชาวพม่าในไทยรวมตัวชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหารพม่า หน้า UN ESCAP ในวาระครบรอบ 1,000 วันหลัง รปห. ขอรัฐบาลไทยปฏิเสธเชิญเผด็จการพม่าเข้าร่วมประชุมทุกระดับ
— prachatai (@prachatai) October 29, 2023
อ่านต่อ https://t.co/LJrYEbOvyR#ประชาไท #UN #พม่า #WhatsHappeninglnMyanmar pic.twitter.com/Hy66ecU3jd
2023-10-29
ประชาไท
'อยากบอกโลกว่ายังสู้อยู่' ชาวพม่าในไทยรวมตัวชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหารพม่า หน้า UN ESCAP ในวาระครบรอบ 1,000 วันหลัง รปห. ขอรัฐบาลไทยปฏิเสธเชิญเผด็จการพม่าเข้าร่วมประชุมทุกระดับ
29 ต.ค. 2566 ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย หรือ UN ESCAP ถ.ราชดำเนินนอก เวลา 9.48 น. กลุ่มแรงงานข้ามชาติเมียนมาในไทยรวมตัวจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ประท้วงเผด็จการเมียนมา ในวาระครบรอบ 1,000 วันหลังการทำรัฐประหาร เมื่อปี 2564 นัดหมายโดยกลุ่ม Bright Future ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติในไทย
ทั้งนี้ วันพรุ่งนี้ (30 ต.ค.) ถือเป็นวันครบรอบ 1,000 วัน หลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนนำโดยพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี เมื่อ 1 ก.พ. 2564
สำหรับข้อเรียกร้องวันนี้ (29 ต.ค.) มีด้วยกัน 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอให้มีการส่งความช่วยทางด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน และมีการเปิดระเบียงทางมนุษยธรรม หรือ Humanitarian Corridor โดยกำหนดให้บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เป็นเขตปลอดปฏิบัติการทางทหาร และการโจมตีทางอากาศ
2. ขอให้รัฐบาลไทยช่วยกดดันรัฐบาลเมียนมาให้ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยเฉพาะข้อที่ 1 ยุติความรุนแรงทั่วประเทศเมียนมา และข้อที่ 4 เร่งดำเนินการภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
3. รัฐบาลไทยต้องยอมรับกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา ร่วมมือและให้การช่วยเหลือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา หรือ NUG รวมมีมาตรการคว่ำบาตรกองทัพเผด็จการเมียนมา และ ข้อ 4 ระงับการเชิญรัฐบาลเผด็จการพม่าเข้าร่วมประชุมทุกระดับกับรัฐบาลไทย
สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรม มีการปราศรัย และการอ่านแถลงการณ์โดยแกนนำผู้จัดกิจกรรม ก่อนยุติการทำกิจกรรมเมื่อ 11.00 น.
อยากบอกให้โลกรู้ชาวพม่ายังสู้เผด็จการ
โซฟี (สงวนชื่อ-นามสกุล) แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย อายุ 48 ปี ให่สัมภาษณ์ว่า เธออยากมาเพราะว่าวันนี้เป็นวันครบรอบ 1,000 วัน และอยากบอกโลกว่าเรายังไม่ยอมแพ้เรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา ก็เลยต้องมา และอยากให้เราชนะ
แรงงานชาวเมียนมาวัย 48 ปี ระบุต่อว่า สถานการณ์ในพม่าตอนนี้แย่มาก กองทัพพม่าโหดเหี้ยม ยังคงมีการกดปราบประชาชนที่ออกมาเลี้ยงมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยจำนวนมาก บางคนต้องหนีเข้าป่าเพื่อหนีการจับกุม และเราก็เสียใจมากที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น
โซฟี กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาชนชาวพม่ายังสู้อยู่ และชาวพม่าในต่างประเทศยังสู้อยู่ และอยากบอกว่า "เราอยากได้ประชาธิปไตย และเราจะต้องชนะ"
สุรัช กีรี แกนนำเครือข่าย Birght Future กล่าวว่า ที่อยากมาจัดงานในวาระครบรอบ 1,000 วันหลังรัฐประหาร เพื่อระลึกถึงการสูญเสียของประชาชนชาวเมียนมา สูญเสียบ้านเรือน และสูญเสียอนาคตทั้งประเทศ และเราอยากให้ทั่วโลกรับรู้ว่า หลังผ่านมา 1,000 วันแล้ว ประเทศพม่ายังไม่ได้ประชาธิปไตย
"อยากให้รัฐบาลไทย และประชาคมโลกรับรู้ว่าเราจะสู้ต่อไป สู้อยู่ และจะสู้ต่อไป จนกว่าชัยชนะเป็นของเรา" สุรัช กีรี กล่าว
สุรัช กีรี
สุรัช มองว่า การต่อสู้ อาจจะมีบางช่วงที่ท้อใจ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าเราคือคน แต่อยากบอกว่ากลุ่มที่มา และตัดสินใจสู้กับเผด็จการให้มันสุดทางสุดซอยไปเลย เพราะฉะนั้น เราอ่อนไหวมีบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกคน
แกนนำ Bright Future กล่าวว่า เรายังมีความหวัง อยากให้มีการเปิดระเบียงมนุษยธรรม หรือ Humantitarian Corridor เพื่อเข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชนในประเทศเมียนมา และอยากให้รัฐบาลไทยสนับสนุนกองกำลัง PDF และรัฐบาลของประชาชนเมียนมา คือ NUG
"อยากให้รัฐบาลไทยช่วยดูแลชาวพม่าในไทย ให้ดีขึ้น เรื่องพาสสปอร์ต (passport) หรือเรื่องใบอนุญาตทำงาน ซึ่งน่าจะทำแค่ใบเดียวพอ จะได้สะดวก… เรามาสร้างประเทศให้คุณ คุณต้องดูแลพวกผมหน่อย" สุรัช กล่าว และระบุว่า อีกเรื่องที่กังวลคือเรื่องที่เผด็จการพม่าจะบังคับให้แรงงานข้ามชาติส่งเงินจำนวน 25% ของรายได้กลับประเทศผ่านระบบธนาคารที่ได้รับการรับรองจากทางการเมียนมา ซึ่งคนพม่ามีความกังวลอย่างสูงว่า กองทัพพม่าอาจจะเอาเงินของพวกเขาไปต่ออายุรัฐบาล และนำไปใช้ฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยในบ้านเกิด เลยอยากให้เรียกร้องรัฐบาลไทยช่วยเหลือเรื่องนี้ด้วย