วันเสาร์, ตุลาคม 28, 2566

The MATTER สำรวจข้อพิพาทและคดีในโครงการของรัฐต่างๆ ที่รัฐเสียค่าโง่ ต้องจ่ายด้วยกระเป๋าตังค์ของคนในชาติ


รัฐเสีย ‘ค่าโง่’ ไปเท่าไหร่? ย้อนเหตุที่รัฐต้องจ่ายในคดีและข้อพิพาทต่างๆ


26 October 2023 
smitanan yongstar
The Matter

การเสีย ‘ค่าโง่’ หรือพูดให้ดูดีหน่อยว่าค่าซื้อความรู้ หากเกิดขึ้นบ้างประปรายก็อาจถือเป็นบทเรียนที่พอจะยอมรับได้ เพื่อให้ถี่ถ้วนมากขึ้นในอนาคต แต่ถ้าเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คงไม่ไหว โดยเฉพาะถ้าต้องจ่ายด้วยกระเป๋าตังค์ของคนในชาติ

‘ใช่ คือเรือดำน้ำลำเดียวกัน!’ เชื่อว่านับแต่กระแสเรือดำน้ำกลับมาเป็นที่พูดถึง หลายคนคงเริ่มสับสน ว่านี่คือเรือดำน้ำที่มีประเด็นยืดเยื้อมานานกว่า 8 เดือนหรือไม่ คำตอบคือทุกคนเข้าใจไม่ผิด เพราะโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ขาดเครื่องยนต์คราวนั้น กำลังจะถูกแปรสัญญาเป็นการซื้อเรือฟริเกตแทน

แล้วค่าส่งบุคลากรไปอบรม? ค่าเตรียมสถานที่จอดเรือดำน้ำ? เป็นราคาที่รัฐไทยต้องจ่ายอีกครั้งหรือไม่ นับเป็นเสียงวิจารณ์ที่ยังไม่มีความชัดเจน

ในวันที่เศรษฐกิจโลกยังผันผวนจากภาวะสงคราม ไทยเองก็ต้องรัดเข็มขัดกับการใช้งบเต็มกำลัง The MATTER จึงชวนสำรวจเหตุข้อพิพาทและคดีในโครงการของรัฐต่างๆ ที่บทสรุปแล้วรัฐก็ต้องรับผิดชอบจากผลการทำสัญญาที่ไม่รอบคอบ หรือไม่เป็นธรรม

เหมืองทองอัครา


การกลับมาเดินเครื่องผลิตอีกครั้งในเดือนมีนาคมปีนี้ของเหมืองทองคำชาตรี ที่ดำเนินกิจการโดยบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หลังอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจ ม.44 สั่งปิดเหมืองไปนานถึง 6 ปี จากข้อร้องเรียนถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ผลลัพธ์ว่าทุกข้อพิพาทได้รับการคลี่คลายแล้ว


เพราะข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30,000 ล้านบาท ด้วยเหตุว่ามีคำสั่งปิดเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แถมยังละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ยังคงค้างคาอยู่

เพียงแต่ยืดเยื้อกันมาจากการเลื่อนอ่านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ด้วยเหตุผลว่าคู่กรณีได้ร้องขอ เพราะการเจรจายังไม่เป็นที่ยุติ

และถึงคดียังไม่สิ้นสุดว่ารัฐไทยต้องชดใช้อะไรบ้าง แต่การที่ บ.คิงส์เกต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ได้แจ้งข่าวสารต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์อยู่เป็นระยะ ทั้งในปี 2563 ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ (อายุ 5 ปี) จำนวน 44 แปลง บนพื้นที่ราว 3.95 แสนไร่ใน จ.เพชรบูรณ์ ก่อนที่ปี 2564 ได้ต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทอง (อายุ 10 ปี) จำนวน 4 แปลง และปี 2565 ได้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม (อายุ 5 ปี) ฯลฯ ซึ่งล้วนดูเป็นสัญญาณว่าการเจรจาน่าจะเป็นบวกต่อพวกเขา

ถึงขนาดที่ สส. จากพรรคเพื่อไทย จิราพร สินธุไพร เคยอภิปรายไว้ในสมัยประชุมสภาฯ ครั้งก่อน พร้อมตั้งคำถามว่า การให้อนุญาตต่างๆ ของทางการไทยแก่ บ.อัครา ระหว่างที่คดีในชั้นอนุญาโตฯ ยังไม่สิ้นสุด เป็นการ “เอาสมบัติชาติไปมัดจำไว้ก่อน” หรือไม่

แต่นั่นนำไปสู่การคาดการณ์ที่ว่า บริษัท คิงส์เกตฯ อาจจะถอนคดี หรือขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งที่ผ่านมาท่าทีก็ดูเป็นไปในทิศทางหลัง

อย่างไรก็ดี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล เคยเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่สู้คดีเหมืองทองอัครามีการของบประมาณรายจ่ายประจำปีไปใช้ในการสู้คดี กว่า 400 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2562 ใช้งบ 60 ล้านบาท ปี 2563 ใช้งบ 218 ล้านบาท และปี 2564 ใช้งบ 99 ล้านบาท

แม้ไทยยังไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในประเด็นนี้ แต่สุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของความขัดแย้งก็เป็นสิ่งที่รัฐต้องปกป้องเสียยิ่งกว่า

นับตั้งแต่ บ.อัครา เริ่มทำเหมืองทองเชิงพาณิชย์ในปี 2544 แม้จะสามารถผลิตทองคำได้มากขึ้นตามลำดับ จาก 1 ล้านตัน/ปี ไปเป็น 5 ล้านตัน/ปี จนสามารถผลิตทองได้ราว 1 แสนออนซ์/ปี จนกล้าประกาศว่าเป็นผู้ประกอบการเหมืองที่มีสินแร่และผลิตทองคำได้ ‘มากที่สุดในประเทศไทย’ แต่ก็มาพร้อมข้อร้องเรียนนานานับ

ทั้งสร้างผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง นอกจากเรื่องฝุ่น เสียง แรงสะเทือนจากการระเบิด น้ำอุปโภค-บริโภคยังเหือดแห้ง หลายคนผิวหนังเกิดตุ่มคัน จนมีคนร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เข้ามาช่วยเหลือ ต่อมายังมีชาวบ้านบางกลุ่มยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ความขัดแย้งเข้มข้นขึ้น ในปี 2557 มีผู้ยื่นหนังสือต่อหัวหน้า คสช.จนเป็นจุดเริ่มต้นของการปิดเหมืองนั่นเอง

ตามข้อคิดเห็นของ กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่เผยแพร่ช่วงปี 2561 ชี้ว่า รัฐสามารถใช้อำนาจในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศได้ แต่ต้องคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก และต้องชี้แจงได้ว่า จำเป็นต้องใช้อำนาจ โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติระหว่างบริษัทท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติ ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ

GT200


เป็นอีกกรณีที่หน่วยงานรัฐ ต้องเสียค่าซื้อความรู้เสียสูงลิ่ว สำหรับคดี GT 200 หรือไม้ล้างป่าช้าในตำนาน ตามคำนิยามของ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาตั้งข้อสงสัยในอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นคนแรกๆ

สำหรับอุปกรณ์ชิ้นนี้ที่ถูกล้อเลียนว่าคล้ายเสาหนวดกุ้งนั้น มาจากแดนไกลเชียวนะ ถูกผลิตและเริ่มจำหน่ายโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษ ในปี 2544 และไทยก็นำมาใช้ในงานเก็บกู้ระเบิดของกองทัพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้

ไม่เพียง GT200 ยังมีเครื่องที่ผลิตโดยเจ้าอื่นและอ้างคุณสมบัติที่คล้ายกัน อย่าง ADE-651 และ Alpha 6 ซึ่งไทยก็ไม่พลาดเป็นลูกค้าเบอร์ต้นๆ

แล้วคำกล่าวที่ว่า เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ก็ไม่เกินจริง เพราะเกิดความผิดพลาดในการใช้ GT200 อยู่บ่อยครั้งจนผิดสังเกต รัฐบาลอภิสิทธิ์สมัยนั้น ถึงมอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิสูจน์ให้กระจ่าง จนผลออกมาประสิทธิภาพไม่ต่างกับการสุ่ม จนมีคำสั่งระงับการซื้อทันที

เรื่องนี้ไม่ใช่เราที่คิดเองเออเอง แต่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษเอง ก็มีการส่งคำเตือนถึงทุกชาติที่เป็นลูกค้า GT200 และ ADE-651 ว่าเป็นเครื่องที่ไร้ประสิทธิภาพ

กว่าที่เราจะรู้ตัว ในเวลาราว 5 ปี หน่วยงานของบ้านเราได้จัดซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาใช้งานแล้ว ถึง 1,354 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าราว 1,135 ล้านบาท ต่อมา DSI นำทีมฟ้องเรียกค่าเสียหายกับตัวแทนจำหน่าย ทั้งมีการยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ

จนในปี 2564 มีการชี้มูลความผิดคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง หนึ่งในนั้นคือ พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะอดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ออกตัวแรงว่า ทำงานได้จริง

ทั้งนี้ ในปี 2565 กองทัพบก (ทบ.) ก็ได้ช่วยประหยัดเงินภาษีของประชาชนไปได้กรณีหนึ่ง เพราะได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอกชน จนคดีเป็นที่สิ้นสุดในศาลปกครอง หลัง ทบ. มีการจัดซื้อ GT200 มากถึง 757 ชิ้น ซึ่งนี่เป็นเพียงคดีเดียวในอีกกว่า 20 คดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว

ไม่เพียงมูลค่าสินค้าที่รัฐจ่ายไปเท่านั้น แต่เพื่อตรวจสอบ GT200 ที่ทุกคนต่างรู้กันว่าเป็นอุปกรณ์เก๊ ทบ. ก็ได้ตั้งงบประมาณรวมถึง 7.57 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งโฆษกกระทรวงกลาโหมในตอนนั้น เคยชี้แจงว่าต้องตรวจสอบ GT200 ทุกเครื่อง “เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ”

เรือ(ดำน้ำ) ฟริเกตจีน?


ยังคงเป็นมหากาพย์ที่ยังต้องใส่ดอกจันทน์ พร้อมเครื่องหมายคำถามถึงบทสรุปที่ยังไม่ปรากฏ แต่สิ่งที่ชัดเจน คือเราไม่มีทางเลี่ยงเสียประโยชน์จากโครงการนี้ได้แน่แล้ว หลังยืดเยื้อมากว่า 18 เดือน

“ทั้งนี้ไม่ได้มองว่าจีนผิดสัญญา แต่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงมากกว่า เพราะเป็นเรื่องของจีทูจี ประเทศไทยมีมิติของความเป็นมิตรประเทศ ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ที่จะต้องมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ใช่ดำเนินการซื้อขายอย่างเดียว”

ด้วยคำพูดของ สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหมพลเรือนคนแรก ที่ไม่ใช่นายกฯ จะว่าชัดเจนแล้วแต่ยังไม่เอ่ยปากเป็นทางการก็ว่าได้ ตามขั้นตอนยังต้องรอ ครม.อนุมัติปรับสัญญา สำหรับการชะลอไม่เอาเครื่องยนต์จากจีนต่อ แต่พิจารณาปรับสัญญาซื้อเรือฟริเกตแทน

มองแง่บวกคือเราจะได้เดินหน้าต่อเสียที แต่แง่ลบที่ก็ลบจนน่าเจ็บใจ คือ มีการประเมินว่าหากเดินหน้าปรับสัญญาอาจทำให้ไทยต้องจ่ายเพิ่มอีกนับพันล้าน

เพราะจากการศึกษา เรือฟริเกตลำใหม่ราคาอยู่ที่ 17,000 ล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งใกล้เคียงราคาเรือดำน้ำเดิม โดยหากปรับปรุงหรือเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ภายใต้สัญญาจีทูจีเดิมได้ ไทยจะเสนอให้นำส่วนเงินที่จ่ายไปแล้ว เคลมเป็นค่าเรือฟริเกต ราว 7,000 ล้านบาท ทำให้เมื่อหักลบกับที่ยังค้างชำระ เราต้องจ่ายเพิ่มราว 1,000 ล้านบาท

นี่ยังไม่นับรวมค่าเสียโอกาสอื่นๆ ที่ลงทุนไปก่อนหน้า อย่างการส่งบุคลากรไปอบรม การเตรียมสถานที่จอดเรือ รวมถึงความกังวลในอนาคต ว่าเรือฟริเกตลำใหม่มีระบบการสื่อสารที่ต่างจากเรือฟริเกตที่มีใช้อยู่ ตนเราอาจต้องลงทุนใหม่กับระบบอีกหลักพันล้าน

เล่าย้อนสักนิด ว่าไทยสั่งซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class รุ่น S26T จากจีน แต่เป็นเรือที่ยังใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องยนต์ ความตั้งใจแรกจะใช้เครื่องยนต์เยอรมนีตามที่ระบุในสัญญา แต่เยอรมนีผู้ผลิตไม่ส่งเครื่องยนต์ MT396 ให้ เนื่องจากมีข้อพิพาทกับทางจีน จนมาจบที่ว่าจะลองพิจารณาสเปกเครื่องยนต์จีนแทนแต่ก็ไม่ได้ข้อสรุป จนนำมาสู่การตัดสินใจชะลอสัญญาซื้อ

ลองจินตนาโดยไม่ได้คำนึงถึงข้อตกลงตามสัญญาแล้ว การที่ไทยในฐานะลูกค้าไม่ได้รับสินค้าตามตกลง ผู้ขายก็ควรจะรับผิดชอบ แต่อีท่าไหน ไปๆ มาๆ เราถึงต้องยอมเปลี่ยนสัญญา แถมยังจ่ายเพิ่มไปกว่าเดิม จึงไม่น่าแปลกที่ผู้คนจะร้องเอ๊ะตามกัน

โฮปเวลล์


ถูกต้องที่เราจะตัด ‘คดีโฮปเวลล์’ ออกจากกลุ่มโครงการที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะท้ายสุดในเดือนกันยายนปีนี้ ศาลมีคำพิพากษาว่ารัฐบาลไม่ต้องจ่าย เพราะ ‘คดีหมดอายุความ’

ตามที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จ่ายเงินจำนวน 24,000 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ ในปี 2565 และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการยื่นฟ้องพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

แม้จะเป็นข่าวดีที่อาจช่วยเซฟเงินภาษีของชาติไปได้หลายหมื่นล้านบาท แต่นั่นก็ไม่ได้ลบความผิด ของความไม่รัดกุมในการทำงานของรัฐ ทั้งในการอนุมัติ ดำเนินโครงการ และการทุจริตของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงความหละหลวมของข้อสัญญา ตามที่ TDRI ชี้ให้เห็นปัญหา ทำให้แพ้คดียกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมในตอนต้น จนเกือบต้องควักกระเป๋าจ่ายเสียแล้ว

สำหรับโฮปเวลล์ มีชื่อเต็มว่า ‘โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร’ ที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ของกอร์ดอน วู นักธุรกิจชาวฮ่องกงได้รับงานไป คนจึงเรียกติดปากว่า โครงการ Hopewell

และเมื่อสร้างไม่เสร็จตามเดดไลน์ คืบหน้าไปได้เพียง 13.7% เท่านั้น ทั้งจากปัญหาการเวนคืนที่ดินล่าช้าและปัญหาทางการเงินขอบริษัทเอง รัฐจึงขอยกเลิกสัญญาสัมปทานช่วงต้นปี 2541

เหมือนจะจบดี แต่มาติดกับดักที่เราวางตัวเอง ที่มีการระบุในสัญญาให้เอกชนยกเลิกสัญญาได้ แต่รัฐบาลไทยยกเลิกไม่ได้ นำมาสู่มหากาพย์การฟ้องร้องครั้งใหม่ เมื่อการรถไฟเข้าใช้ประโยชน์ในโครงสร้าง จนบริษัทโฮปเวลล์ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญา และปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการ จึงมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้รัฐจ่ายเงินชดเชยจำนวน 11,889 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ก่อนที่จะมีการรื้อคดีจนนำมาสู่การเพิกถอนคำพิพากษา

การดำเนินโครงการของรัฐเพื่อเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศ ยังคงเป็นหมุดหมายที่ผู้คนเห็นชอบไม่แตกแถว เพียงแต่ต้องลดข้อผิดพลาด และเพิ่มความถี่ถ้วนให้มากขึ้น — การจัดซื้อเรือดำน้ำที่กำลังเป็นประเด็นเช่นกัน คงต้องติดตามว่า รัฐไทยจะต้องจ่ายค่าซื้อความรู้กับบทเรียนี้อีกเท่าไหร่

Graphic Designer: Krittaporn Tochan