‘ศิริกัญญา’ ขุดวิจัย-ย้อนถาม ‘เงินโตกระเป๋าใคร?’ เอะใจ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ใช้งบฯ เหมือนจำนำข้าว?
28 ตุลาคม 2566
มติชนออนไลน์
‘ศิริกัญญา’ ขุดวิจัย ย้อนถามรายใหญ่เข้าร่วม ‘เงินโตกระเป๋าใคร?’ – เอะใจ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เหมือนจำนำข้าว ใช้เงินนอกงบ? ห่วง10 ล้านคนถูกตัดสิทธิ แนะทำ ‘แพคเกจสวัสดิการ’ ลดเหลื่อมล้ำได้ชัวร์
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ห้อง SC 1001 อาคาร SC1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี มีการจัดเสวนาหัวข้อ “ประชาธิปไตย การเมืองไทย และการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งวิชาเรียน TU100 พลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา โดยมี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายสรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ ร่วมวงเสวนา ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนเคยทำวิจัยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เกี่ยวกับเรื่องของความเหลื่อมล้ำโดยเป็นการเปรียบเทียบ ซึ่งไม่ใช่ว่ามีคนจนในประเทศแล้วจะเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง
“หลายกรณี ถ้าจนเท่าๆ กันหมดทั้งประเทศ ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่สูงได้ ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่เรียกได้ว่าประชาธิปไตย แม้รายได้ต่อหัวจะไม่มาก แต่ความเหลื่อมล้ำเขาก็ไม่ได้สูงมาก เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศเขาไม่ได้มีความแตกต่างในเรื่องของรายได้มากนัก แต่พอย้อนกลับมาดูประเทศไทย หลายคนพูดกันเยอะว่าเหลื่อมล้ำ จริงๆ แล้วมันมีตัววัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไปดูค่าจีสัมประสัทธิ์จีนี (Gini coefficient) สัดส่วนของคนรวยเป็นจำนวนเท่าไหร่ของสัดส่วนคนจน ต้องบอกว่าตัววัดหลายตัวอาจจะไม่ได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำมากขนาดนั้น ซึ่งข้อมูลที่รัฐใช้จะเป็นการสำรวจตามครัวเรือน สุ่มเคาะตามประตูบ้าน แล้วถามว่าคุณว่า มีรายได้เท่าไหร่ ทำอาชีพอะไร มีทรัพย์สินเท่าไหร่” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ข้อมูลพวกนี้ก็จะมีปัญหา ว่าไม่สามารถเข้าไปเคาะถามพวกหมู่บ้านจัดสรรไม่ได้ เข้าถึงตรงนี้ไม่ได้ ก็เลยมีปัญหาว่าไม่สามารถเก็บข้อมูลของคนที่รวยได้ แต่สำหรับคนจนข้อมูลน่าจะแม่นอยู่
“10 ปี ที่แล้วดิฉันทำวิจัย บอกว่าถ้าเราเอาแต่ละครัวเรือนในประเทศ มาเรียงลำดับกัน ตั้งแต่บ้านที่จนที่สุด ไปจนถึงบ้านที่รวยที่สุด แล้วมาจัดให้อยู่เป็นหมู่บ้าน สมมติประเทศนี้มีอยู่ 22 ล้านครัวเรือน 10 เปอร์เซ็นแรกที่จนที่สุด คือ 2.2 ล้านครัวเรือน 10 ปีที่แล้วที่ทำ รายเฉลี่ยของกลุ่มนี้น่าจะประมาณ 3,000 กว่าบาท ตอนนี้ขึ้นมาอยู่ประมาณ 7,000 บาท” น.ส.ศิริกัญญาชี้
น.ส.ศิริกัญญากล่าว เมื่อถามว่าหน้าตาของครอบครัวที่จนที่สุดเป็นอย่างไร เขาทำอาชีพอะไร คำตอบ คือเขาไม่มีงานทำ เป็นผู้สุงอายุ ไม่ได้มีรายได้หลักจากการทำงานแล้ว อยู่ได้จากเงินรายเดือนที่ลูกหลานส่งมา และเบี้ยยังชีพ แล้วถามว่าชนชั้นกลางในประเทศนี้เป็นอย่างไร
“ยินดีด้วยถ้าในที่นี้มีครอบครัวที่มีรายได้ เกิน 25,000 บาทต่อตัวเรือน เหมือนที่เขาจะตัดสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต คุณเป็นชนชั้นกลางถึงชนชั้นบนแล้ว ซึ่งดิจิทัลวอลเลตตัดที่รายได้บุคคล ไม่ใช่รายได้ของครัวเรือน และถ้าคุณได้เงินเกือบ 70,000 บาทต่อเดือน คุณจะเป็นท็อป 10 เปอร์เซ็นแรกของประเทศนี้ไปแล้ว ลองคิดดูว่าประเทศนี้มันเหลื่อมล้ำขนาดไหน มันไม่น่าแปลกหากเรามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ เราก็น่าจะเป็นคนที่รวยในระดับต้นของประเทศนี้แล้ว ซึ่งมันเป็นมันเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำมาอย่างยาวนาน” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทย ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมา ไม่ใช่เพื่อการแก้ไขความเหลื่อมล้ำแน่นอนอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ซึ่งเคยอภิปรายเรื่องนี้ตอนที่แถลงนโยบาย ก็มีหัวข้อแจงว่า เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงโอกาส
“พอลงไปดูในรายละเอียดแต่ละหัวข้อ มาดูว่ามีอะไรบ้าง เช่น เพิ่มรายได้ เขาก็จะมีดิจิทัลวอลเล็ต ลดรายจ่าย เขาก็บอกว่าจะลดค่าครองชีพ ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน พอลดความเหลื่อมล้ำ เขาข้ามไปพูดเรื่อการขยายโอกาสทางการเกษตร เพิ่มความก้าวหน้า คือไม่ได้มีเจตนานี้ตั้งแต่ต้น ที่จะพยายามช่วยลดความเหลื่อมล้ำขนาดนั้น” น.ส.ศิริกัญญาชี้
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า การที่เราจะไปบีบบอกว่าดิจิทัลวอลเล็ตใช้เงินเยอะขนาดนี้ ทำไมไม่ลดความเหลื่อมล้ำเลย ก็จะว่าเขาไม่ได้ เพราะไม่ได้ตั้งใจลดความเหลื่อมล้ำ วัตถุประสงค์ของดิจิทัลวอลเล็ตคือ ทำให้ GDP มันโต ซึ่งอันนี้เถียงกันมาทุกเวทีดีเบตกับเพื่อไทย
“ทำให้เศรษฐกิจมันโตก่อน ทำให้ก้อนเค้กมันโต แล้วค่อยมาแบ่ง หรือว่า แบ่งก่อนแล้วค่อยให้เค้กโต มันก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ ว่านโยบายและวิธีการแจกเงิน มันอาจจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เยอะ อย่างที่ได้มีการโฆษณากันเอาไว้ แล้วหลายประเทศเขาก็ทำกันมา มันไม่ได้มีแค่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว ช่วงโควิดเขาแจกกันทุกประเทศเลย แต่เขาก็มีการทำวิจัยว่า การแจกเงินแบบนี้ ถ้ามันแจกเพื่อเยียวยาสร้างค่าครองชีพในระยะสั้น ก็ตรงไปตรงมาสำเร็จอยู่แล้ว แต่แทบจะไม่มีอันไหนได้ผลกลับมาเกิน 1 เท่าเลย มันจึงถูกตั้งคำถามเรื่องความคุ้มค่า ถ้าจะแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า เกิดการตั้งคำถามต่อว่า เงินมันจะไปโตที่ไหน ในกระเป๋าใคร มันก็เป็นคำถามด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมันไม่มีทางบอกได้เลยว่า เงินที่มันจะไปเพิ่มจะไปเพิ่มในกระเป๋าของประชาชนคนที่ด้อยโอกาสที่สุดหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการจำกัดร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็เข้าร่วมได้หมด
“โอกาสที่มันจะไปงอกในกระเป๋าตังค์ของประชาชนตัวเล็ก ตัวน้อย มันก็อาจจะไม่ได้มีมากนัก ในขณะที่มันมีโอกาสที่เขาจะไปช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านค้าสะดวกซื้อเครือใหญ่อย่างเดียว อันนี้มันก็ชัดเจนว่า เค้กมันจะไปโตที่กระเป๋าใคร” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เราเห็นตั้งแต่ต้นว่า ตัวเลขก้อนใหญ่ขนาดนี้ ไม่น่ายัดในงบประมาณประจำปีได้อยู่แล้ว ซึ่งทางออกที่รู้กันในกระทรวงการคลัง ก็พูดกันว่ามีความพยายามในการใช้เงินนอกงบประมาณ คือการให้ธนาคารออมสินดำเนินการไปก่อน โดยให้ธนาคารออมสินตั้งโครงการ ควักเงินจ่ายไปก่อน แล้วรัฐบาลค่อยตั้งงบประมาณคืนย้อนหลัง เหมือนการประกันรายได้ จำนำข้าว
“ธนาคารออมสินมี พ.ร.บ.ให้ทำการได้แค่ธุรกรรมการเงิน ไม่สามารถตั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่มันไม่ใช่ว่าแก้กฎหมายไม่ได้ มันแก้กฎหมายได้ แต่ถ้าจะแก้กฎหมายเพื่อโครงการนี้ โครงการเดียว มันจะชัดเจนไปหน่อย มันจะเกิดปัญหา ซึ่งก็ทำให้ตัวเลือกที่จะใช้ธนาคารออมสินถูกตีตกไป” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า การที่เราแจกเงินไปที่คนรวยมาก โอกาสที่เขาจะใช้จ่ายเกินที่เขาจะได้รับค่อนข้างน้อย เช่น ปกติใช้เงินเดือนละ 50,000 บาท ได้มา 10,000 บาท ก็อาจใช้แค่เงินที่ได้รับแจก ไม่ได้ใช้ไปมากกว่านั้นแล้ว ดังนั้นเราต้องให้ไปถึงคนที่มีรายได้น้อย ไปถึงคนที่มีรายได้ปานกลาง
“การแจกแค่คนรายได้น้อย เขาไม่มีเงินออก การที่เขาจะควักเงินออกมาจ่ายเพิ่ม มันจึงจำเป็นต้องมีคนชนชั้นกลางในระดับหนึ่ง พอเริ่มมากตัดคนที่เงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท มีเงินออมเกิน 100,000 บาท ปรากฏว่าตัดไปได้แค่ 10 กว่าล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจที่มีคนอยู่ใต้เส้นความจนจำนวนมาก ซึ่งจำนวนงบก็ไม่ได้ลดลงมากไปได้ขนาดนั้น” น.ส.ศิริกัญญาชี้
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า หากเราเสนอเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ เราควรมีแพคเกจด้านสวัสดิการ เช่น เบี้ยคนชราสักคนละ 3,000 บาท มันทำให้ลดความเหลื่อมล้ำได้แน่นอน เพราะคนจนส่วนใหญ่เป็นคนชราที่รอเงินจากลูกหลาน และมันทำให้ประชาชนมีความมั่นคง
“มันเป็นสวัสดิการ ดังนั้นมันจะไม่มีผลในการไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ เพิ่มรายได้คนมากขึ้น แต่มันเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิต ซึ่งใช้งบประมาณที่สูงมาก ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่คนบางกลุ่ม กลับเข้ามาเรื่องประชาธิปไตยกับความเหลื่อมล้ำ หลายครั้งโครงการที่ดี อาจจะถูกกีดกันจากคนที่มีรายได้สูง เพราะเขารู้สึกว่า คุณได้แล้วทำไมฉันไม่ได้ แล้วมาเก็บภาษีจากฉันอย่างเดียว ดังนั้นการที่เราให้แบบถ้วนหน้า มันเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน คุณก็ได้ฉันก็ได้ โดยที่คนที่มีกำลังมากกว่าก็จ่ายภาษีให้กับรัฐมากกว่า ซึ่งมันเป็นเรื่องในระยะยาว” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญากล่าว เราอาจจะไม่ได้พูดถึงเมกะโปรเจ็กต์ซึ่งไม่รู้ตอนไหนจะเสร็จสิ้น แต่เราพูดถึงการลงทุนเล็กน้อย เพื่อปรับปรุงคุณภาพพื้นฐานให้ดีขึ้น เช่น สร้างสาธารณูปโภค น้ำประปา สร้างคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้น แล้วผลพลอยได้จะเกิดกับการลงทุน ซื้อท่อ ฝังท่อน้ำ เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนในชุมชนทันที แบบนี้จะได้ 2 ต่อ ทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้บริโภคน้ำที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานล่าง ให้เกิดการจ้างงานได้ด้วย
อ่านข่าว : ศิริกัญญา แนะรบ.ยึดเป้าหมาย ทำศก.โต 5% ตามสัญญา แล้วปรับวิธี อย่ามุ่งแต่แจกเงิน