วันอาทิตย์, มิถุนายน 18, 2566

"จะดีกว่าไหมหากมีการยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง แก้ปัญหาขาดแคลนชุดนักเรียนไปในตัว"


นักเรียนเลว
1d
·
ภาพของผู้ปกครองยืนต่อแถวเข้าโรงรับจำนำในช่วงใกล้เปิดเทอมเป็นภาพที่หลายคนเห็นจนชินตา เพราะเมื่อบุตรหลานต้องไปโรงเรียน ผู้ปกครองก็ย่อมมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าขนมของบุตรหลาน รวมไปถึงอีกค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระอย่างยิ่งยวด นั่นคือ "ค่าเครื่องแบบนักเรียน"
ช่วงใกล้เปิดเทอม ผู้ปกครองจะต้องซื้อเครื่องแบบนักเรียนให้บุตรหลานใส่ไปโรงเรียน ซึ่งเครื่องแบบเหล่านี้เป็นภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองอย่างมาก บางครอบครัวต้องจำนำสิ่งของเครื่องใช้ หรือกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงใกล้เปิดเทอมให้กับบุตรหลาน
เมื่อพิจารณารายจ่ายในส่วนของเครื่องแบบนักเรียนที่ผู้ปกครองต้องจ่าย ผู้ปกครองต้องซื้อชุดนักเรียน ชุดพละและชุดเครื่องแบบอื่น ๆ เช่น ชุดลูกเสือ ชุดยุวกาชาด ชุดเนตรนารี ชุดผู้บำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว หากประมาณว่าชุดเครื่องแบบชุดละ 500 บาท ซื้อชุดนักเรียน 2 ชุด ชุดพละ 1 ชุด ชุดลูกเสือ ยุวกาชาด เนตรนารี หรือผู้บำเพ็ญประโยชน์ 1 ชุด ก็จะคิดเป็นเงินประมาณ 2,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่ารองเท้านักเรียนและรองเท้าผ้าใบรวมกันประมาณ 500 บาท ค่ากระเป๋านักเรียนประมาณ 300 บาท ค่าเข็มขัดประมาณ 100 บาท อุปกรณ์ประกอบการแต่งกายต่าง ๆ ที่โรงเรียนกำหนด เช่น คอซอง เข็มตราโรงเรียน ตรายศลูกเสือ รวมกันประมาณ 100 บาท เท่ากับว่าผู้ปกครองต้องเสียเงินค่าเครื่องแบบนักเรียนรวมกันประมาณ 3,000 บาทเลยทีเดียว
สมมติว่าผู้ปกครองมีรายได้วันละ 331 บาท เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และทำงานหนึ่งเดือนโดยไม่มีวันหยุด รายได้เดือนหนึ่งของผู้ปกครองจะอยู่ที่ 9,930 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียนที่ประมาณไว้ 3,000 บาทจะคิดเป็น 30.2% ของรายได้ผู้ปกครองในหนึ่งเดือน
หากจะอ้างว่าชุดนักเรียนใช้ได้นาน คุ้มค่าที่จะลงทุน อย่าลืมว่าผู้ปกครองที่รายรับแทบไม่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือนจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายเงินก้อนนี้ แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะมีเงินอุดหนุนในการซื้อเครื่องแบบและอุปกรณ์การเรียนให้นักเรียนเป็นรายหัว แต่เงินที่ได้ก็ไม่ถึง 1,000 บาทด้วยซ้ำ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการซื้อเครื่องแบบนักเรียน
จากสถิติในปี พ.ศ. 2561 นักเรียนกว่า 3,552,487 คน ขาดแคลนชุดนักเรียน ซึ่งนักเรียนจำนวนนี้คิดเป็น 52% ของนักเรียนทั้งหมด นั่นแสดงให้เห็นว่านักเรียนไทยมากกว่าครึ่งไม่มีชุดนักเรียนใส่ ดังนั้น ชุดนักเรียนจึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสามารถจัดหาได้ และเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเข้าถึงการศึกษา
จะดีกว่าไหมหากมีการยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง แก้ปัญหาขาดแคลนชุดนักเรียนไปในตัว เพราะการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องแบบนักเรียน แต่อยู่ที่หลักสูตรการสอน และความเท่าเทียมทั่วถึง หากกระทรวงศึกษาธิการตั้งใจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา และพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพเท่ากับที่ตั้งใจออกกฎระเบียบมากมายเกี่ยวกับการแต่งกายของนักเรียน การศึกษาก็คงพัฒนาไปได้ไกลอย่างแน่นออน
——
#นักเรียนเลว
#ใต้เตียงเกียมพัด
#saveหยก

(https://www.facebook.com/photo/?fbid=310461151305033&set=a.220707713613711)