วันเสาร์, มิถุนายน 03, 2566

บทเรียน “รัฐบาลแห่งชาติ” จากทั่วโลก ช่วยประเทศปรองดองได้จริงหรือไม่



บทเรียน “รัฐบาลแห่งชาติ” จากทั่วโลก ช่วยประเทศปรองดองได้จริงหรือไม่

1 มิถุนายน 2023
บีบีซีไทย

รัฐบาลแห่งชาติ เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมายาวนาน รวมถึงกรณีล่าสุดที่ ส.ว. คนหนึ่ง เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อพาประเทศไทยไปสู่ “ทางออกทางการเมือง”

“รัฐบาลแห่งชาติ” ที่มักถูกเสนอขึ้นพร้อม “นายกฯ คนกลาง” หรือ “นายกฯ พระราชทาน” แม้ไม่เคยเกิดขึ้นในไทย แต่ปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองโลกมานานแล้ว ในฐานะโมเดลเพื่อผ่าทางตันทางการเมือง รวมถึงการผลักดันให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ในภาวะสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และภัยธรรมชาติ

บีบีซีไทย พาสำรวจการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือแปลตรงตัวจากภาษาอังกฤษ คือ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (National Unity Government) ในต่างประเทศว่า เกิดขึ้นจากสาเหตุใดบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลว่า ประเทศไทยถึงจุดวิกฤตทางการเมือง ถึงขั้นต้องพิจารณาโมเดล “รัฐบาลแห่งชาติ” แล้วหรือไม่

เมียนมา: รัฐบาลแห่งชาติ... “รัฐบาลเงา” ต้านรัฐประหาร

ภายหลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อเดือน ก.พ. 2564 ซึ่งนำมาสู่การประท้วงต่อต้านรัฐประหาร และการปราบปรามผู้ประท้วง จนเกิดการนองเลือดบนท้องถนน

หลังเกิดรัฐประหารได้ 2 เดือน สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) กลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อย และพรรคขนาดเล็กอื่น ๆ ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” ขึ้น ในฐานะ “รัฐบาลเงา” เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา

สำหรับประชาคมโลก โดยเฉพาะชาติตะวันตก มองว่า รัฐบาลแห่งชาติเมียนมา หรือ เอ็นยูจี เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมตามกฎหมาย แต่ในมุมมองของรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่า เอ็นยูจี เป็น “องค์กรก่อการร้าย”

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา เรียกร้องให้ประชาชนทุกคนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหาร และเมื่อเดือน พ.ค. 2564 ได้ประกาศจัดตั้ง “กองกำลังพิทักษ์ประชาชน” เพื่อทำการสู้รบกับกองทัพเมียนมา นำมาสู่ภาวะสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาถึงปัจจุบัน

“การปฏิวัตินี้ เป็นการปฏิวัติที่ชอบธรรม เป็นการปฏิวัติที่จำเป็นเพื่อสร้างประเทศที่สงบสุข” ดู่หว่า ละชี ละ (Duwa Lashi La) รักษาการประธานาธิบดีรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา ประกาศเมื่อเดือน ก.ย. 2564 ในแถลงการณ์ “ประกาศสงครามต่อต้านรัฐบาลทหาร”

แอฟริกาใต้: รัฐบาลแห่งชาติ... ก้าวข้าม “การแบ่งแยกสีผิว”

เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่ประเทศแอฟริกาใต้เผชิญกับวิกฤตแบ่งแยกสีผิว (apartheid) ภายหลังพรรคแห่งชาติ (National Party) ขึ้นครองอำนาจในปี 2491 และดำเนินนโยบายการแบ่งแยกสีผิวอย่างถูกกฎหมาย ทำให้คนผิวดำถูกกีดกันและกดขี่


คนผิวดำรวมตัวประท้วงใหญ่บ่อยครั้ง

การปกครองที่คนผิวขาวเป็นใหญ่ อยู่บนพื้นฐานว่า คนผิวขาวที่แม้เป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่จะต้องเป็นใหญ่ในประเทศทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เหนือคนท้องถิ่นที่เป็นคนผิวดำ และคนผิวสีมาจากชนเผ่าต่าง ๆ ในแอฟริกา กฎหมายยังระบุห้ามการแต่งงานและมีเพศสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาติด้วย

การปกครองที่กดขี่และแบ่งแยกอย่างรุนแรงอันชอบธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญ นำมาสู่การประท้วงใหญ่ และประชาชนรวมตัวติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลนานหลายสิบปี ช่วงเวลานั้น ชื่อของ เนลสัน แมนเดลา กลายเป็นที่รู้จัก ในฐานะผู้นำที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ก่อนจะมีการเพิกถอนกฎหมายในปี 2534

คำว่า “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” ปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้ ในฐานะรัฐบาลที่นำการเปลี่ยนผ่าน สู่การเมืองยุคหลังการแบ่งแยกสีผิว โดยรัฐธรรมนูญฉบับเฉพาะกาล ในชื่อ “รัฐบาลแบ่งอำนาจเพื่อการเปลี่ยนผ่าน” (Powersharing Transitional Government) ในเวลานั้น ระบุว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 10% จากการเลือกตั้ง จะมีสิทธิเข้าร่วมในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

ภายหลังชัยชนะการเลือกตั้งของแมนเดลา ในปี 2537 เขาได้ขึ้นนำรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่หลอมรวมพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แต่การบริหารนั้นเต็มไปด้วยปัญหา เพราะแม้จะได้ชื่อว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ แต่พรรคแอฟริกันเนชันแนลคองเกรส (เอเอ็นซี) ของแมนเดลา มีอำนาจมากกว่าพรรคอื่น ๆ อย่างชัดเจน จนทำให้พรรคแห่งชาติ ที่มีคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 ถอนตัวในปี 2539


เนลสัน แมนเดลา

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของแอฟริกาใต้ ดำรงอยู่จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2542

รวันดา: รัฐบาลแห่งชาติ... ปรองดองหลัง “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

หนึ่งในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เป็นตราบาปประวัติศาสตร์โลก และเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา ในช่วงปี 2537 ที่ในเวลาแค่ 100 วัน มีประชาชนถูกสังหารไปกว่า 800,000 คน

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มจาก ชาวทุตซี ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย แต่เป็นชนชั้นนำที่ปรกครองประเทศ ถูกโค่นอำนาจโดยชาวฮูตู ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ชาวทุตซีจำนวนมากต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

ผู้ลี้ภัยชาวทุตซีรวมตัวกันเป็นกลุ่มติดอาวุธชื่อ กลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติรวันดา หรือ อาร์พีเอฟ โดยบุกเข้าสู้รบในรวันดาในปี 2533 ต่อเนื่องจนมีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพในปี 2536


ภายในช่วงเวลาแค่ 100 วัน กลุ่มหัวรุนแรงเชื้อสายฮูตูได้สังหารผู้คนไปราว 8 แสนคน

แต่แล้ว คืนวันที่ 6 เม.ย. ปี 2537 เครื่องบินที่ จูเวนัล ฮับยาริมานา ประธานาธิบดีรวันดา และไซเปรียน ทายามิรา ประธานาธิบดีของบุรุนดี โดยสารอยู่ ถูกยิงตกทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต

ด้วยความที่ประธานาธิบดีทั้งสองคนต่างก็เป็นชาวฮูตู และกลุ่มหัวรุนแรงชาวฮูตูก็กล่าวหาว่ากลุ่มอาร์พีเอฟ อยู่เบื้องหลังเหตุดังกล่าว จึงเป็นต้นตอสู่การเริ่มขบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่โลกได้เห็นความโหดเหี้ยม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านฆ่าฟันกันเอง สามีสังหารภรรยา การฆ่าชาวทุตซีตามท้องถนนด้วยมีดขนาดใหญ่ รวมถึงผู้หญิงชาวทุตซีหลายพันคนถูกจับตัวไปเป็นทาสเพื่อสนองความต้องการทางเพศ

เอกสารของคณะกรรมการเพื่อเอกภาพแห่งชาติและการปรองดองแห่งรวันดา ระบุว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ถูกจัดตั้งขึ้นในเดือน ก.ค. 2537 ภายหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พุ่งเป้าไปที่ชาวทุตซี โดยพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล นำโดยกลุ่มอาร์พีเอฟ เพื่อสร้างเอกภาพและปรองดองในประเทศ

แต่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (ที่กลุ่มอาร์พีเอฟ มีอำนาจมากกว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ) กลับไม่สามารถหยุดความขัดแย้ง ที่ยังบานปลาย และครั้งนี้กลับกลายเป็นชาวฮูตูที่ถูกไล่ล่าแทนชาวทุตซี รวมไปถึงในประเทศคองโกด้วย

ทำให้จนถึงปี 2546 มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้ง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา กว่า 5 ล้านคน และกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มก็ยังปฏิบัติการอยู่จนถึงทุกวันนี้บริเวณใกล้เคียงชายแดนรวันดา


เพื่อนบ้านฆ่ากันเอง สามีฆ่าภรรยา ศพเรียงรายตามท้องถนน

กระทั่ง พอล คากาเม ขึ้นเป็นประธานาธิบดี (ปี 2543 ถึงปัจจุบัน) เขาได้รับการชื่นชมว่าสามารถเปลี่ยนให้ประเทศเล็ก ๆ ซึ่งถูกทำลายล้าง กลับมามีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้ด้วยการใช้นโยบายต่าง ๆ เขายังได้เปลี่ยนให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีในภูมิภาคอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีผู้วิพากษ์วิจารณ์เขาว่าไม่อดทนอดกลั้นต่อผู้ที่เห็นต่าง และก็มีคนที่อยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองที่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำทั้งในและต่างประเทศ

อิสราเอล: รัฐบาลแห่งชาติ... ผ่าทางตัน แต่ไร้เสถียรภาพ

อิสราเอล เป็นหนึ่งในประเทศที่ปรากฏ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” บ่อยครั้ง ในหลายเหตุผลด้วยกัน

อย่างไรก็ดี นับแต่เกิดโควิด-19 ระบาดทั่วโลก เหตุผลที่ต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มาจากการที่ไม่มีพรรคการเมืองใดจัดตั้งรัฐบาลได้ เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งเดือน เม.ย. 2562 ที่ไม่มีพรรคใดรวมที่นั่ง ส.ส. (ส.ส. ทั้งหมด 120 ที่นั่ง) ได้พอจัดตั้งรัฐบาล และแม้จะจัดเลือกตั้งอีก 2 ครั้ง รวม 3 ครั้ง ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

จนกระทั่ง พรรคการเมืองต่าง ๆ บรรลุข้อตกลง “แบ่งอำนาจ” เมื่อเดือน เม.ย. 2563 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ โดยมี เบนจามิน เนทันยาฮู หัวหน้าพรรคลิคุด (Likud) แนวคิดฝ่ายขวา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นเวลา 18 เดือน ส่วนหัวหน้าพรรคคู่แข่งชื่อ “บลู แอนด์ ไวท์” (Blud and White) สายกลาง เบนนี แกนต์ส จะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก่อนจะขึ้นเป็นนายกฯ ต่อจากเนทันยาฮู เรียกว่า สลับกันดำรงตำแหน่ง


เนธันยายู (ซ้าย) และ เบนนี แกนต์ส (ขวา)

แต่รัฐบาลเอกภาพฯ ของอิสราเอล กลับมีอายุไม่นาน และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเดือน มี.ค. 2564 หลังรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณได้สำเร็จในช่วงปลายปี 2563 ขณะที่ตัว เนทันยาฮู เอง ก็เผชิญคดีคอร์รัปชัน

และเช่นเคย ผลการเลือกตั้งครั้งที่ 4 นับแต่ปี 2562 ก็ยังไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากพอจัดตั้งรัฐบาล นำมาสู่การทำข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ “เบนเน็ตต์-ลาพิด” ช่วงกลางปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีหลากหลายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอิสราเอล เพราะมีทั้งพรรคฝ่ายขวา ฝ่ายกลาง ฝ่ายซ้าย และพรรคสายอิสลาม ร่วมรัฐบาลด้วย

แม้จะผ่านกฎหมายงบประมาณได้ แต่ท้ายสุดรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติอิสราเอล ก็ต้องยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือน พ.ย. 2564 (ครั้งที่ 5 นับแต่ปี 2562) ซึ่งครั้งนี้ พรรคลิคุดของเนธันยาฮู ได้คะแนนเสียงเพิ่ม จนเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ มาจนถึงปัจจุบัน
.
รัฐบาลแห่งชาติ ชงตั้ง 8 ครั้ง ในรอบ 18 ปี ใครเสนอบ้าง
.
ย้อนอ่านสาเหตุของการเสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติในอดีต https://bbc.in/42kuL5R