วันอาทิตย์, มิถุนายน 11, 2566

พ.ร.บ. อุ้มหาย : เหตุใดรัฐบาลประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบต่อ พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ภาพผู้วายชนม์ในเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในเดือน พ.ค. 2535

พ.ร.บ. อุ้มหาย : เหตุใดรัฐบาลประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบต่อ พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

วัชชิรานนท์ ทองเทพ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
9 มิถุนายน 2023

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการอุ้มหายทรมานว่า "ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบหรือไม่

ทั้งนักการเมืองและนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ต่างตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล แม้ว่าจะอยู่ในสถานะ "รัฐบาลรักษาการ" ก็ตาม

นอกจากนี้ ภาคประชาชนหลายฝ่ายยังออกมาประณามพฤติการณ์ของรัฐบาลที่ใช้กระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญ จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญด้วยว่า "ไร้ความรับผิดชอบ"

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนจะมองต่างออกไป เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เคยมีกรณีทำนองนี้มาก่อน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยออก พ.ร.ก. ส่งไปสภาแล้วไม่ผ่าน นายกฯ จึงเลือกยุบสภา เป็นการที่รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบโดยยุบสภาหรือลาออก แต่วันนี้ไม่ต้องไปถึงขั้นนั้น เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลได้ยุบสภาแล้ว จะมาลาออกซ้ำอีกก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นไปนั้นต้องรักษาการ

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมว่า หากมีคนไปร้องเอาผิดกับรัฐบาลชุดนี้จะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า "ไม่เป็นไร เชิญทำได้ และยังไม่รู้ว่าจะเอาผิดข้ออะไร มาตราไหน"

เป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ประชาชนเสียหาย

ในมุมมองของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เรื่องดังกล่าวเป็น "เรื่องใหญ่" เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจการบริหารที่ไม่เคารพในสิ่งที่เป็นกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร และยังเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อจนกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และทำให้ประชาชนเสียหาย


ผบ.ตร. ชี้ว่า เมื่อกฎหมายออกมา สำนักงานตำรวจฯ ก็เร่งสำรวจอุปกรณ์เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย แต่พบว่าจัดซื้อได้เพียงกว่า 1 แสนตัว ยังไม่เพียงพอ และขาดเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการขอเลื่อนบังคับใช้โดยทำหนังสือไปที่กระทรวงยุติธรรม

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกกับบีบีซีไทยว่าครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกเมื่อรัฐบาลออก พ.ร.ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย เมื่อรัฐบาลทำผิดกฎหมาย จะมีการลงโทษอย่างไร เพื่อที่จะไม่ให้มีการทำเรื่องเหล่านี้อีก เพราะถ้าเกิดไม่มีการลงโทษอีก และปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป ก็จะทำให้เกิดการทำผิดกฎหมายแบบนี้โดยรัฐบาลอีก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม

"คุณเป็นรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรี มีฝ่ายกฎหมายจำนวนมาก และเป็นผู้บังคับกฎหมายในการบริหาร จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ กลับไปทำผิดกฏหมายเสียเอง เราอยากให้เกิดบรรทัดฐานในการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แบ่งอำนาจออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และตุลาการให้ชัดเจน"

ทั้งนี้ สิ่งที่ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งดำเนินการด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนเรียกร้องคือ ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปโดยระบอบประชาธิปไตยที่มี "หลักนิติธรรม หรือหลักกฎหมายบังคับใช้กับทุกคนโดยเสมอภาคกัน" โดยคาดว่าหากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการกำหนดการรับโทษหากว่าฝ่ายบริหารทำผิดกฎหมาย จะต้องรับผิดรับชอบอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้อีก

รัฐบาล "ประยุทธ์" ต้องรับผิดชอบอย่างไร

ในการจัดเสวนางานวิชาการ "พระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการอุ้มหายทรมาน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลอย่างไร และใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ" โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า "แม้ว่าไม่ได้เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 แต่อยู่ในความรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชน"

เขาชี้ว่า นี่คือความบกพร่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรัฐสภาให้เวลาเตรียมแล้ว 120 วัน แต่กลับไม่ยอมเตรียมการ พอเวลาใกล้เข้ามาก็ขอเลื่อนเป็นวันที่ 1 ต.ค. คนที่รับผิดชอบนั้นไม่ได้มีแค่ ผบ.ตร. แต่รวมถึงผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ใหญ่กว่า ผบ.ตร. ก็คือ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบด้วย

"ท่านพึงพิจารณาว่า จะรับผิดชอบอย่างไร" ผศ.ดร.ปริญญาตั้งคำถาม


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นต่ำที่สุดที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องดำเนินการคือ การออกมาขอโทษประชาชน และดำเนินการเยียวยาต่อกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐหลังจาก พ.ร.บ. อุ้มหายมีผลบังคับแล้วนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. จนถึงปลายเดือน พ.ค. หรือแสวงหาหลักฐานเท่าที่มีเพื่อให้เป็นไปตามหมาย

"นอกจากนี้ ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบสวนในกรณีดังกล่าว ที่เป็นต้นเหตุของการชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย" ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว

จะเกิดอะไรขึ้นหากพบว่ารัฐบาลฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. กลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 2535 และสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดรัฐบาลที่เสนอออก พ.ร.ก. ดังกล่าว ถือว่าเข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

สำหรับในกรณีนี้ หากว่า ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดและส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งแล้ว อาจจะส่งผลให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 โดยเฉพาะในวรรคที่ 5 ที่ระบุว่า

"มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง"

ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หากคณะรัฐมนตรีรักษาการต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ สามารถเปิดช่องให้ปลัดแต่ละกระทรวงสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนไปพลางก่อน โดยจะต้องเลือกปลัดกระทรวงหนึ่งคนขึ้นรักษาการนายกรัฐมนตรี



พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิ์บุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ได้เคยให้ความเห็นในงานเสวนาเวทีญาติวีรชน 35 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ว่า ป.ป.ช. สามารถทำหน้าที่ดำเนินการต่อเรื่องดังกล่าวได้ โดยที่ไม่ต้องรอมีผู้ยื่นคำร้อง เนื่องจากการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในการออก พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. อุ้มหายดังกล่าว เข้าข่ายพฤติการณ์กระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญ จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 234

"ถ้า ป.ป.ช. รีบไต่สวนวินิจฉัยแล้วส่งให้ศาลฎีกา เมื่อศาลฎีกาประทับรับฟ้อง คณะรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคิดว่าน่าจะทันก่อนที่จะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ ก็จะเป็นอีกตัวแปรหนึ่งทางการเมืองของไทย และจะเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ใช้อำนาจทางการเมืองไม่ว่าในระดับใด ได้ตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่ว่าฝ่าฝืนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ได้ แม้ว่าจะพ้นวาระไปแล้ว แต่ความผิดยังติดตัวของคุณอยู่"

เปิดที่มา-ไทม์ไลน์ของเรื่องนี้

ภาคประชาสังคมมีความพยายามที่จะทำให้กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายเกิดขึ้นจริงเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ก่อนที่จะได้รับการหยิบยกมาพิจารณาในช่วงปลายปี 2564 หลังจากกรณี "ผู้หมวดโจ้" ที่ตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ ทรมานผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดจนเสียชีวิตและกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคม จนทำให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว
  • 17 ส.ค. 2564 - พล.อ.ประยุทธ์ ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายดังกล่าวขึ้น ซึ่งร่างโดยกระทรวงยุติธรรมและผ่านความเห็นชอบของ ครม.
  • 23 มิ.ย. 2565 - รัฐสภาฯ พิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน และมีการแก้ไขบางมาตราโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
  • 25 ต.ค. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลภายในระยะเวลา 120 วัน หรือวันที่ 22 ก.พ. 2566
  • 14 ก.พ. 2566 - ครม. เห็นชอบให้ออก พ.ร.ก. ชะลอบังคับใช้ พ.ร.บ. อุ้มหายใน 4 มาตรา ตามการเสนอของกระทรวงยุติธรรม หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ว่ามีปัญหาขัดข้องในการเตรียมการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย และได้ระบุอุปสรรคและข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยขอให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไป 4 มาตรา
  • 19 ก.พ. 2566 - ครม. ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2566
  • 23 ก.พ. 2566 - ครม. เสนอ พ.ร.ก. ดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
  • 28 ก.พ. 2566 - สภาฯ ประชุมนัดพิเศษพิจารณา พ.ร.ก. ดังกล่าวของรัฐบาล และมี ส.ส. รัฐบาล 100 คน เสนอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
  • 18 พ.ค. 2566 - ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8:1 ชี้ขาดว่าการออก พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย 4 มาตรา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
4 มาตราดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
  • มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
  • มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน