กลุ่ม ศปปส. ยื่นจดหมายเรียกร้องรัฐบาลสหรัฐฯ ยุติแทรกแซงการเมืองไทย เมื่อ 24 พ.ค.
ค้นรากวาทกรรม “สหรัฐฯ แทรกแซงไทย” จากยุค 14 ตุลาฯ สู่หลังเลือกตั้ง 66
ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
26 พฤษภาคม 2023
การไปยื่นหนังสือของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกายุติการแทรกแซงการเมืองไทยทั้งในเรื่องการเลือกตั้งและการสนับสนุนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดคำถามว่า สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยจริงหรือไม่
เนื้อหาที่กลุ่ม ศปปส. ยื่นต่อสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 พ.ค. อ้างถึงกรณีที่ ส.ส. สหรัฐฯ เสนอร่างมติต่อสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องสิทธิมนุษยชน ยุติคดีการเมือง แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และปล่อยนักโทษทางการเมือง ว่าคือการเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย
นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส. ได้เรียกร้องให้สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยุติการแทรกแซงกิจการในไทย ในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้ง หลังจากทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ออกมาแสดงความยินดีกับผลการเลือกตั้งและระบุว่าขอให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว
"พวกเราไม่ได้ขัดข้องกับผู้ที่มีเสียงข้างมาก และการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ห้ามยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 112 เด็ดขาด" นายอานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่ม ศปปส. ระบุ
ด้านนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ชี้แจงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของสถานทูตฯ ย้ำว่า "สหรัฐฯ เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย รวมทั้งการที่ประชาชนไทยยกย่องเทิดทูนพระบรมวงศานุวงศ์อย่างสูง" และ "สหรัฐฯ ไม่ได้หวังให้ผลการเลือกตั้งเป็นแบบหนึ่งแบบใด และไม่ได้สนับสนุนพรรคหรือผู้สมัครใด”
ทูตสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ “ตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตยของไทย ประชาชนชาวไทยเท่านั้นควรเป็นผู้เลือกว่าใครจะเป็นผู้บริหารประเทศ"
สถานทูตสหรัฐฯ ยังชี้แจงต่อสื่อมวลชนในประเด็นอื่นที่ถูกกล่าวหาด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เข้ามาตั้งฐานทัพในไทย และไม่ได้พยายามควบคุมสื่อไทย พร้อมยืนยันการสนับสนุนเสรีภาพสื่อในทั่วโลก และชี้ว่าสื่อที่เป็นอิสระถือเป็นรากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย
ไม่เพียงแต่กลุ่ม ศปปส. แต่ในช่วงหลังการเลือกตั้งเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ยังมีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการแทรกแซงของต่างชาติของบุคคลใน "ฝ่ายอนุรักษนิยม" ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน และการให้สัมภาษณ์ของคนมีชื่อเสียง หลังผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้เสียงข้างมากเป็นอันดับหนึ่ง และกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล
"เราก็ไม่ต้องการไปเป็นทาสของอเมริกา เราไม่ต้องการเป็นทาสของประเทศอะไร" คือคำให้สัมภาษณ์ของ จารุณี สุขสวัสดิ์ นักแสดงหญิงที่เดินทางไปให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของกระแสวาทกรรม “อเมริกาหยุดแทรกแซงไทย” ที่ปรากฏขึ้นในช่วงกำลังจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
"วาทกรรมต่างชาติแทรกแซงไทย" เกิดขึ้นมาได้ยังไง หากปักหมุดเวลาไปที่การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 นับได้ว่าวาทกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการต่อต้านการรัฐประหารของกลุ่มนักศึกษาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “ประชาธิปไตยใหม่” หรือกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง”
ปี 2557 ปรากฏการเผยแพร่ข้อมูลจาก "ฝ่ายอนุรักษนิยม" อย่าง นายสมชาย แสวงการ ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่าเป็นภาพการพบปะหารือของผู้นำนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ
ปี 2563 ช่วงการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" มีการเกิดขึ้นของกลุ่ม "ไทยภักดี" ที่กล่าวหาว่า “ต่างชาติ” อยู่เบื้องหลังกระแสการชุมนุมและมีการไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตสหรัฐฯ ในไทย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ เพื่อแสดงความยินดีในงานวันครบรอบ 2 ปีวันก่อตั้งสถานีข่าว เมื่อเดือน ก.พ. 2566
สหรัฐฯ แทรกแซงไทยจริงไหม แล้วประเทศอื่นมีหรือไม่
ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สหรัฐฯ มีนโยบายในการ "แทรกแซง" ทุกประเทศในโลกอยู่แล้ว ในบทบาทของการส่งเสริมประชาธิปไตย แต่เป็นไปในแง่ของการติดตามว่านโยบายของประเทศนั้น ๆ จะส่งผลทางบวกหรือทางลบอย่างไรในฐานะที่เป็นประเทศมหาอำนาจ แต่ "การแทรกแซง" ในที่นี้ ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยในทางใด
"สหรัฐฯ ต้องการจะดูว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลใหม่ มันจะมีผลในทางบวกทางลบต่ออเมริกาอย่างไร เป็นจุดหลัก ๆ ที่อเมริกาอยากทราบ" ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ กล่าว พร้อมอธิบายด้วยว่าในทางการทูต การแทรกแซงมีทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย
แต่ในขณะเดียวกันมีประเทศอื่นหรือไม่ที่ทำเช่นนี้ อย่างจีนที่ถูกมองว่ามีอิทธิพลต่อประเทศไทย นักวิชาการด้านการต่างประเทศจาก มธ. ระบุว่า จีนก็มีเช่นกัน แต่วิธีการแทรกแซงมีลักษณะที่แตกต่างไปจากสหรัฐฯ เพราะความเป็นพี่เป็นน้องกับไทย ซึ่งสถานะของไทยตอนนี้ จีนเองก็มองว่าไทย "ไม่ได้โปรอเมริกา" ดังนั้นหากไทยดำเนินนโยบายแบบ “คบทั้งจีน ทั้งอเมริกา” จะปลอดภัยกับประเทศไทย แต่ถ้าเมื่อใดที่ไทยเลือกข้างชัดเจนจะสร้างปัญหาให้เกิดกับไทย
“เพราะจีนอยู่ใกล้ไทย เพราะฉะนั้น อิทธิพลของเขาสูงมาก ถ้ามีปัญหากับเขาจะมีผลต่อการค้ากับประเทศเราอย่างชัดเจน”
วาทกรรม “ไทยจะตกเป็นของจักวรรดินิยมอเมริกา" มาจากไหน
แล้วข้อกล่าวหาที่มีต่อสหรัฐฯ ของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ระบุว่า ไทยจะตกเป็นของ "จักวรรดินิยมอเมริกา" และสหรัฐฯ หนุนหลังกระแส "ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย" ในไทย มีที่มาอย่างไร
ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอเมริกาบอกว่า ไม่อาจรู้ได้ แต่เห็นว่าพฤติการณ์เช่นนี้น่าจะใช้อธิบายความเป็นไปในช่วงที่ประเทศไทยปราบปรามคอมมิวนิสต์เมื่อ 50-60 ปีที่แล้วมากกว่า นั่นคือในสมัยรัฐบาลทหารหลังปี 2506 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
"สมัยที่ฐานทัพสัตหีบ อเมริกาส่งทหารจากฐานทัพในไทยไปรบในเวียดนาม ตอนนั้นชัดเจนเลยว่าเรายืนอยู่ข้างอเมริกาแน่นอน แต่ตอนนี้ผมคิดว่านโยบายอย่างนั้น คงใช้ไม่ได้แล้ว เพราะว่า อเมริกาเองก็ไม่ได้จะจริงจังกับเรามากขนาดนั้น ไม่มีประโยชน์ต่อเขา" ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ กล่าว พร้อมยืนยันว่า "ประเทศไทยไม่ได้มีประโยชน์ต่ออเมริกาเหมือนเมื่อสมัยทศวรรษ 1960-70 นี่คือการเมืองของโลก ที่มันเปลี่ยนแปลงไป"
สหรัฐฯ กับสถาบันกษัตริย์ของไทย
บางส่วนของการออกมาเผยแพร่วาทกรรมสหรัฐฯ แทรกแซงการเมืองไทย ยังปรากฏกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ด้วย
การออกมาของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเลิกแทรกแซงประเทศไทย พร้อมแสดงความไม่พอใจที่ ส.ส. สหรัฐฯ เสนอร่างมติที่มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยให้แก้กฎหมายมาตรา 11 2 และเรื่องให้ปล่อยนักโทษนักกิจกรรมทางการเมือง
เมื่อถามถึงการวิเคราะห์ประเด็นนี้ ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ มองว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในไทย และไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่สหรัฐฯ จะได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
"destabilize (สร้างความไร้เสถียรภาพ) แก่ประเทศไทย ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับอเมริกาเลย ถ้า destabilize ขึ้นมาจริง ๆ มันจะยิ่งเลวร้ายกับอเมริกาเสียอีก โอกาสที่จะ destabilize แล้วจะทำให้ไทยไปเข้ากับอเมริกามากขึ้น กลับไม่ใช่แบบนั้น อาจจะทำให้ไทย เป็นศัตรูกับอเมริกามากขึ้นด้วยซ้ำไป" ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ กล่าว พร้อมชี้ว่า ไทยมีความสัมพันธ์ในทางประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อย่างเช่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยพำนักที่นั่น
"ตรงกันข้าม ถ้าสามารถทำให้มันมี stability (ความมีเสถียรภาพ) ในประเทศไทย มันน่าจะเป็นประโยชน์กับเขามากขึ้น"
สงครามเย็น “ระบอบสฤษดิ์-ถนอม” กับ “ยุคอเมริกันในไทย”
สำหรับยุคที่สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลต่อไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า คือยุครัฐบาลเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ช่วงปี 2500-2516
รศ.ดร.ประจักษ์ ชี้ว่า ในช่วงนั้นมีทหารสหรัฐฯ ประจำการในไทย 3-4 หมื่นนาย และรัฐบาลทหารยอมให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพในไทยถึง 7 แห่ง โดยปกปิดต่อประชาชนและสื่อ จนถูกขบวนการนักศึกษาและประชาชนต่อต้าน
ในงานศึกษาของ รศ.ดร.ประจักษ์ ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ดีเด่น "ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)" ซึ่งต่อมาถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือ "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ" ระบุว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกได้เข้าสู่ยุคสงครามทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ กับค่ายทุนนิยมเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ หรือที่เรียกว่า "สงครามเย็น"
สงครามเย็นได้ส่งผลกระทบให้แต่ละประเทศในหลายภูมิภาคถูกพาเข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งไทย ซึ่งนักวิชาการรัฐศาสตร์ มธ. อธิบายในงานศึกษาของเขาว่า “ประเทศไทยดำเนินบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศในฐานะพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาในสงครามอินโดจีน”
สำหรับการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม เริ่มขึ้นตั้งแต่มีการสู้รบในลาว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มเข้ามาสร้าง ปรับปรุง ขยาย และยกระดับฐานทัพในประเทศไทยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ช่วงปี 2504 เป็นต้นมา
- ฐานทัพอากาศที่สหรัฐอเมริกาใช้ในประเทศไทยช่วงปี 2504-2519
- ฐานทัพอากาศดอนเมือง (2504) - สหรัฐฯ เริ่มติดตั้งระบบเตือนภัยทางอากาศ
- ฐานทัพตาคลี จ.นครสวรรค์ (2504) - ฐานทัพกองบินขับไล่ที่ 421, 255 และ 390 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ / กองบินที่ 4 ย้ายจากดานัง เวียดนามใต้ มาประจำการที่นี่
- ฐานทัพนครราชสีมา (2505) - สหรัฐฯ เริ่มส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการในปี 2505 เริ่มปฏิบัติการโจมตีจากฐานทัพนี้ในปี 2507
- ฐานทัพนครพนม (2505) - ฐานปฏิบัติการพิเศษของกองทัพอากาศ, ฐานปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์, ฐานปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์และการลำเลียง, ฐานกองบินปฏิบัติการพิเศษ และสนับสนุนการรบในลาว
- ฐานทัพอุดรธานี (2507) - ฐานส่งหน่วยบินขับไล่, ฐานปฏิบัติการเครื่องบินขับไล่ RF-4C มีภารกิจในอินโดจีน และส่งยุทธปัจจัยสนับสนุนการรบในลาว, กองบินส่งกำลังบำรุงที่ 13, โรงเรียนฝึกบินให้กองทัพอากาศลาว, สำนักงานของ CIA ดูแลทหารรับจ้างในลาว และสำนักงานของแอร์อเมริกาและคอนติเนนตัลแอร์เซอร์วิสเซส
- ฐานทัพอู่ตะเภา (2508) - ฐานวางแผนทางยุทธ์ศาสตร์, หน่วยสนับสนุนการต่อสู้ที่ 635 และฐานเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้ใช้ในปี 2510
- ฐานทัพอุบลราชธานี (2509) - ฐานส่งกองบินขับไล่ที่ 8 และสำนักงาน CIA เพื่อประสานหน่วยข่าวในลาว
- ฐานทัพน้ำพอง จ.ขอนแก่น (2515) - รองรับหน่วยบินทิ้งระเบิดขับไล่ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งย้ายมาจากฐานทัพดานังในเวียดนาม
ค่ายรามสูรที่ ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี สถานที่ที่กองทัพสหรัฐฯ เคยใช้เป็นสถานีเรดาร์ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยมีการก่อสร้างเมื่อปี 2507 ปัจจุบันยังหลงเหลือเสาเรดาร์อยู่ในภายในค่าย ซึ่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์
การต่อต้านอเมริกาและรัฐบาลเผด็จการจอมพล ของขบวนการนักศึกษาก่อน 14 ตุลาฯ 2516
งานของ รศ.ดร.ประจักษ์ ชี้ว่า "ยุคอเมริกันในไทย" ไม่เพียงมีอิทธิพลต่อนโยบายทางการเมืองและการทหารของรัฐบาล และเศรษฐกิจ แต่ยังมีอิทธิพลต่อการสร้างความตื่นตัวทางปัญญาให้แก่นักศึกษาและประชาชน จากการได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ การรับแนวคิดสื่อสิ่งพิมพ์ ตำราวิชาการ ข้อเขียนของปัญญาชนสหรัฐฯ รวมทั้งภาพยนตร์และเพลงของศิลปินที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตและการต่อต้านสงคราม
รศ.ดร.ประจักษ์ วิเคราะห์ด้วยว่า การคัดค้านสงครามอินโดจีน เชื่อมโยงนักศึกษาปัญญาชนให้เกิดความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารไปด้วย เนื่องจากขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนเห็นว่า "ประชาชนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อประเทศชาติ" ไม่ว่าจะเป็นการตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ และการเข้าร่วมสงคราม
นอกจากนี้ ประชาชนยังถูกรัฐบาล "โกหกพร้อมกับปิดบังความจริง" ไม่ให้รับรู้ข้อมูลมาโดยตลอด นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาเห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร พร้อมยังมองว่า การที่ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามอินโดจีน เป็นวิธีคิดแบบ "ทหาร" และเสี่ยงทำให้ไทยเสียอธิปไตย และยังทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมในหมู่นักศึกษาประชาชนที่ระบุว่า “เผด็จการทหารเป็นทั้งผู้ทรยศชาติและผู้ขายชาติ” ซึ่งต่างจากแนวคิดชาตินิยมของรัฐราชการสมัยนั้น
“วาทกรรมต่อต้านสงครามจึงแยกไม่ออกจากวาทกรรมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในกรณีของนักศึกษาและปัญญาชนไทยก่อน 14 ตุลาฯ" ข้อความตอนหนึ่งในรายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ” ของ รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุ