วันอังคาร, มิถุนายน 13, 2566

อัพเดทชีวิต 7 ผู้ต้องขังการเมืองที่ศาลยังไม่ให้ประกัน ลุ้นได้อิสรภาพยุครัฐบาลก้าวไกล



อัพเดทชีวิต 7 ผู้ต้องขังการเมืองที่ศาลยังไม่ให้ประกัน ลุ้นได้อิสรภาพยุครัฐบาลก้าวไกล
 
12/06/2566
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา จนถึงต้นเดือน มิ.ย. นี้ ทนายความได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ได้แก่ “ธี” ถิรนัย, “มาย” ชัยพร, เวหา แสนชลชนะศึก, “อาร์ต” สุวิทย์, “วุฒิ” และ “มาร์ค” ชนะดล

รวมทั้งสิ้นขณะนี้มีผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดี อย่างน้อย 7 ราย นอกจากผู้ต้องขังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมี “แน็ค” ทัตพงศ์ เป็นผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีอีกรายด้วย แต่คดีความใกล้จะถึงที่สุดแล้ว รอการครบกำหนดอุทธรณ์คดี จากนั้นเขาจะถูกคุมขังในฐานะนักโทษเด็ดขาดต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดโทษ

ทั้ง 7 รายถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี มีทั้งระหว่างการพิจารณาคดี ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา ในจำนวนทั้งหมดนี้ ถิรนัยและชัยพร คือผู้ถูกคุมขังเป็นเวลานานที่สุด ด้วยเวลาเกือบ 4 เดือนแล้ว ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ตามมาด้วยทัตพงศ์, ชนะดล, วุฒิ, สุวิทย์ และเวหา ตามลำดับ โดยวุฒิ คือผู้ต้องขังที่มีอายุมากที่สุด ด้วยวัย 50 ปี

แน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดในตอนนี้ คือ “อิสรภาพ” หวังว่าศาลจะให้ประกันตัวตามคำร้องขอโดยเร็วที่สุด นั่นทำให้แทบทุกคนดีใจกับชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 และกำลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทิศทางการเมืองที่เปลี่ยนไปอาจทำให้สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในประเทศไทยเป็นไปในแง่บวกมากขึ้น โดยเฉพาะความคาดหวังกับนโยบาย “ให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง” ที่พรรคก้าวไกลแสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่าจะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาฯ ภายใน 100 วันแรกหลังจากที่ได้จัดตั้งเป็นรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ภายหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ผู้ต้องขังเกือบทุกคนแสดงความกังวลว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำอาจจะไม่สำเร็จก็เป็นได้ และนั่นย่อมหมายถึงอิสรภาพของพวกเขาอาจจะริบหรี่ลงไปด้วย

ด้านสถานการณ์ในเรือนจำ โดยเฉพาะเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งที่ถูกคุมขังอยู่ในที่ดังกล่าวได้สะท้อนเสียงออกมาว่า ช่วงนี้เรือนจำค่อนข้างมีจำนวนผู้ต้องขังที่หนาแน่น ทำให้เกิดความแออัดและการระบาดของโรคติดต่อหลายโดยง่าย เช่น ไข้หวัด โควิด วัณโรค เป็นต้น เหตุผลอีกประการหนึ่งนั้นคาดว่าเป็นเพราะระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนไปเป็นฤดูฝน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยจึงทำให้ผู้ต้องขังหลายรายเจ็บป่วยได้ง่ายด้วย

ธี ถิรนัย: ดีใจก้าวไกลเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล พร้อมถามความคืบหน้า ‘ยุติคดีการเมือง’



15 พ.ค. 2566

ธีชูไม้ชูมือ ทำท่าทีดีใจตั้งแต่เราเปิดประตูห้องเข้าไป วันนี้เขาดูมีความสุขมาก ธีบอกว่าติดตามผลการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด และยังจดตัวเลขจำนวน ส.ส. ของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยมาตรวจสอบความถูกต้องอีกด้วย

“เมื่อคืนผมหลับๆ ตื่นๆ มันตื่นเต้นมาก ถึงผมจะอยู่ในคุก แต่ผมดีใจมากพี่

“ส่วนใหญ่คนข้างในนี้เขาจะเชียร์เพื่อไทยกัน แต่ผมเชียร์ก้าวไกล คือโคตรดีใจเลย! ผมบนบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่าถ้าก้าวไกลชนะ ผมจะแก้บนด้วย ‘การวิ่งรอบแดน 3 ชั่วโมง’ ก่อนออกมาเจอพี่ ผมก็เพิ่งวิ่งมาเลยเนี่ย คนมองกันเต็มเลย (หัวเราะ), ผมอยากตะโกนดังๆ ไม่คิดเลยว่าก้าวไกลจะชนะ ผู้ต้องขังแดน 5 จะรู้เลยว่าวันนี้ผมมีความสุขมาก!

“เป็นวันที่ดีของผมจริงๆ รอมาแล้ว 8-9 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมามีคนตายจริง เจ็บจริง ถูกจับติดคุกจริง แต่วันนี้คือชัยชนะของประชาชนที่แท้จริง ผมดีใจนะที่เป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยมาตลอด หวังว่าได้รับชัยชนะแล้วจะไม่ลืมพวกผมนะ…”

ธีถามเราว่า กระบวนการหลังเลือกตั้งจะเป็นยังไงต่อไป เราเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่า จากนี้จะต้องการรับรอง ส.ส. จาก กกต. ก่อนเปิดประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภาฯ โหวตนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาล ตามลำดับ ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จก็คงใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือนเลย แต่อุปสรรคสำคัญที่หลายคนกังวลกันตอนนี้ก็คือเรื่อง ‘ส.ว.’ ว่า สว.ส่วนใหญ่อาจจะโหวตนายกฯ สวนทางกับมติของประชาชน

“ผมอยากรู้ว่าได้รัฐบาลใหม่แล้วมันจะมีผลกับการประกันตัวของผมมั้ย”

เราเล่าให้ฟังว่า ตอนปราศรัยใหญ่ของพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตและหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังพูดถึง ‘หยก’ เยาวชนอายุ 15 ปี ที่เคยถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านปรานี ด้วยมาตรา 112 และพรรคก้าวไกลก็เคยบอกไว้ว่าจะผลักดัน ‘ร่างกฎหมายให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง’ เข้าสู่สภาฯ ภายใน 100 วันแรกพร้อมกับร่างกฎหมายอื่นๆ ด้วย

“ผมอยากรู้ว่าเขาพูดถึงผมมั้ย, พูดถึงผู้ต้องขังคนอื่นที่ไม่ใช่คดี 112 บ้างรึเปล่า บางทีพวกผมก็น้อยใจ กลัวเขาจะลืม

“กรุงเทพฯ ได้ ส.ส. เขตจากพรรคก้าวไกลเกือบทั้งหมดเลยเหรอ, ดีจัง! ผมอยู่เขตบางขุนเทียน ส.ส. เขตคือคุณกาย (ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์) ถ้าได้ออกไปผมก็จะเลือกเขานะ และถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเจอพิธามากเลย ผมเชื่อมั่นในตัวเขา”

26 พ.ค. 2566

เราบอกว่า ศาลให้ปล่อยตัว ‘หยก’ จากบ้านปรานีแล้ว น้องมีผื่นเต็มหลังเหมือนที่ธีเป็นเลย ธีบอกว่าน่าจะเพราะอากาศร้อนและน้ำที่นั่นสกปรก อย่างที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลายคนก็มีอาการแพ้น้ำ มีผื่นคัน ผิวอักเสบคล้ายกับหยก รวมถึงธีเองก็เช่นกัน

“ตอนแรกผมเป็นอีสุกอีใสด้วยซ้ำ ได้ยาทามา 3 ตัว ยังใช้ไม่หมด บางวันก็ดีขึ้น บางวันก็คันมาก

“เมื่อวาน (25 พ.ค.) มีเพื่อนหลายคนมาเยี่ยม มากันเยอะเลย เจ้าหน้าที่ไล่บางคนที่ไม่ได้อยู่ใน 10 รายชื่อคนที่เข้าเยี่ยมได้ออกไป บางคนเลยต้องเกาะลูกกรงรออยู่ข้างนอก ส่วนคนที่เยี่ยมได้ก็ได้คุยกันนิดเดียว เพราะกว่าเจ้าหน้าที่จะเช็คนู่นนี่เสร็จก็เกือบหมดเวลาเยี่ยมแล้ว

“ดีใจ มีกำลังใจขึ้นมาบ้าง”

ธีถามเรื่องความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลกับเราบ่อยๆ เขาให้เหตุผลว่า “คนข้างในหวังกับรัฐบาลชุดใหม่มาก ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลได้ ผมอาจจะได้ออกจากเรือนจำ เศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น”

29 พ.ค. 2566

ธีบอกว่าเบื่อ อยากกลับบ้าน ช่วงนี้เริ่มนอนไม่หลับ จากแต่ก่อนนอนไม่เคยเกิน 4 ทุ่ม แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะพยายามข่มตาแค่ไหนก็นอนไม่หลับ กว่าจะหลับก็เที่ยงคืน หรือไม่ก็ตีหนึ่งตลอด สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นกังวลเรื่องคดีความและการที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวสักที

ช่วงนี้ธีชอบใช้เวลาไปกับการเล่นกีฬาในเรือนจำ หลายวันก่อนพลาดโดนเพื่อนเตะขาตอนเล่นฟุตบอล ทำให้ที่ขามีรอยเขียวจนช้ำ หรือไม่งั้นก็จะอ่านหนังสือ ช่วงนี้เขากำลังอ่านหนังสือของ ส.ศิวรักษ์ ที่เกี่ยวกับกษัตริย์กับประชาธิปไตย โดยในหนังสือพูดถึงการต่อต้านเสื้อแดงปี 2549-2551 ด้วย ส่วนช่วงกลางวัน จันทร์-ศุกร์ก็ต้องทำงานที่ห้องธุรการของแดน และจะได้หยุดในวันเสาร์-อาทิตย์

8 มิ.ย. 2566

ธีเล่าว่า ช่วงนี้ในแดนของเขาค่อนข้างวุ่นวาย ไม่ว่าจะมีเหตุนักโทษทะเลาะกัน หรือนักโทษพยายามแหกคุก ระหว่างนี้มีคนสั่งของให้ธีและเพื่อนๆ เยอะมาก จนเขาอยากรู้ว่าเป็นใครบ้างที่ใจดีกับพวกเขาขนาดนี้

15 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ ทนายความจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาล ซึ่งธีคาดว่าในวันนั้นอาจจะมีการยื่นประกันตัวด้วย เขาจึงมีความหวังและตื่นเต้นมากว่าศาลอาจจะให้ประกันตัวก็เป็นได้

“อยู่ในคุกก็เสียดายเวลา แต่ผมอยู่ข้างในก็ช่วยงานเจ้าหน้าที่เยอะ ไม่ได้เกเรอะไร อยากให้ศาลปล่อยผมออกไปมีอนาคตข้างนอกดีกว่า ถ้าได้ประกันตัวออกไป อย่างแรกเลยผมจะอยู่บ้าน 2 อาทิตย์ แล้วก็ไปบวชชีพราหมณ์ 5-7 วัน แล้วจะกลับมาดูเรื่องคดีและเรื่องเรียนต่อ

“ผมอยากออกไปทำงาน แล้วก็ไปเรียนต่อมาก เสียดายเวลาที่ประเทศไทยกำลังดีขึ้น กำลังจะมีรัฐบาลประชาธิปไตย มีนายกฯ ที่เราเลือกมาเอง แต่ผมกลับต้องโดนคดีแล้วมาอยู่ในคุก

“ผมแผ่เมตตาให้ศาลทุกวันเลยนะ (หัวเราะ) อยากให้ผู้พิพากษามีความเมตตา พวกผมออกไปชุมนุมก็เพื่อให้บ้านเมืองเราดีขึ้น ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อประเทศชาติเลย”
________________

มาย ชัยพร: หวั่นก้าวไกลถูกขัดขาตั้งรัฐบาล ภาวนาให้การเมืองเปลี่ยนทิศในเร็ววัน



18 พ.ค. 2566

มายดูอารมณ์ดีมาก ยิ้มแย้มตลอดการพูดคุย แม้ช่วงนี้จะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยก็ตาม มายบอกว่า ตอนนี้แดน 6 ที่เขาถูกคุมขังอยู่เริ่มมีผู้ต้องขังทยอยเจ็บป่วย มีอาการไอ และเป็นไข้หลายคนแล้ว คาดว่าเป็นผลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย

ในคืนวันเลือกตั้งที่ผ่านมา มีคนวิ่งมาบอกมายและเพื่อนๆ ว่าพรรคก้าวไกลชนะ ทำให้เขารู้สึกดีใจมาก “นี่แหละคือสิ่งที่ผมเฝ้ารอ ตั้งแต่ติดคุกผมเฝ้าลุ้นกับการเลือกตั้ง ผมมองว่าการที่ก้าวไกลได้เข้ามาทำงานเป็นการเปิดโอกาสให้คนเห็นว่าพวกเขาทำงานอย่างซื่อตรงจริงๆ

“ถึงผมจะไม่ได้ออกจากคุก แต่ก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ผมก็คิดว่าพวกผมประสบความสำเร็จแล้ว เหมือนเราต่อสู้มาด้วยกัน ผมก็สู้ในแบบของผม แต่เราสู้เพื่อประชาธิปไตยเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกภูมิใจในความสำเร็จนี้

“ถ้าเปรียบเป็นการว่ายน้ำในทะเล ตอนนี้ผมก็ ‘เห็นฝั่ง’ แล้ว” มายพูดจบประโยคก็ปริยิ้มอย่างชื่นมื่น

“การที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง มันมีความหมายกับผมมาก ทำให้ผมสบายใจขึ้น แล้วก็มีความหวังว่าผมจะได้ออกไป คืนก่อนผมนอนหลับๆ ตื่นๆ อยากให้ถึงวันที่ กกต. ประกาศรับรองผลไวๆ จากนั้นผมน่าจะนอนหลับเต็มอิ่มขึ้น

“การที่ก้าวไกลชนะเลือกตั้งมันสะท้อนเจตจำนงของประชาชนแล้วว่า พวกเราเอือมระอากับสภาพสังคมปัจจุบันเต็มที”

24 พ.ค. 2566

ไม่กี่วันก่อน ทนายความเจ้าของคดีได้มาเข้ามาเยี่ยมมายอีกครั้ง การได้พูดคุยถึงความคืบหน้าในคดีทำให้มายสบายใจขึ้นมาได้บ้าง มายเป็นหวัดมาประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว เขาบอกว่า ตอนนี้ในเรือนจำแออัดมาก เวลามีใครสักคนป่วยขึ้นมา คนอื่นๆ ก็มักจะติดไปด้วย แต่เขาไม่ได้ไปพบหมอแต่อย่างใด เพราะถ้าอาการไม่หนักมากก็มักจะได้แค่ยาพาราเซตามอล ต้องอาการหนักมากจริงๆ ถึงจะถูกพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

ช่วงนี้มายได้รับมอบหมายให้ช่วยทำงานที่ร้านค้าสวัสดิการของเรือนจำกับ ‘เอ’ (กฤษณะ ผู้ต้องขังคดีสหพันธรัฐไท) การทำงานทำให้ลดความฟุ้งซ่านได้ดี แต่งานนี้ต้องใช้ความรอบคอบมาก ต้องระวังของหาย การทำงานนี้ไม่ได้ค่าจ้างแต่อย่างใด แต่ถ้าของหายหรือชำรุด มายและเอจะต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง

ครั้งนี้มายยังถามข่าวคราวเรื่องการเมืองเยอะเหมือนเคย เขากังวลว่าก้าวไกลอาจจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีที่พิธาถูกร้องเรียนว่าถือหุ้นบริษัทสื่อ ITV “ช่วงไคลแมกซ์แบบนี้ ผมดันอยู่ในเรือนจำ มันเป็นเรื่องที่ผมอยากเห็นมาตลอด แต่กลับไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง เสียใจอะ…


“ในเรือนจำมีทั้งคนที่ ‘เห็นด้วย’ และ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการที่พวกผมออกมาชุมนุม บางคนให้กำลังใจ บางคนก็ถามว่าออกมาเรียกร้องจนโดนจับแล้วได้อะไร เขาได้มาตอบแทนเราไหม, ผมก็ตอบไปว่าการที่เราทำเพื่อคนอื่นต้องหวังสิ่งตอบแทนด้วยเหรอ ช่วงแรกๆ ผมก็รู้สึกแย่เพราะคำพูดแบบนั้น แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว”

“จะให้คนร้อยคนมาคิดเหมือนเราไม่ได้หรอก เราแค่มั่นใจว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้องก็พอ”

สุดท้ายมายฝากข้อความถึงทุกคนที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ข้างนอกว่า “ผมขอบคุณจริงๆ ที่ยังไม่ลืมกัน แต่อยากให้ระวังกันไว้ด้วย ผมไม่อยากให้ใครเข้ามาในนี้อีกทั้งนั้น ผมเห็นคนไม่ผิดกลายเป็นแพะรับบาปมาเยอะแล้ว บางคนไม่ได้ทำผิด แต่ต้องมาอยู่กับอาชญากรที่ทำความผิดมาจริงๆ…”

1 มิ.ย. 2566

ผ่านมาเป็นสัปดาห์แล้ว แต่มายยังไม่หายจากอาการไข้หวัด โดยยังเวียนหัวอยู่ และเราก็รู้สึกว่าเขาเสียงแหบมากขึ้นด้วย เมื่อวาน (31 พ.ค.) พี่ชายของเขามาเยี่ยมและได้อัพเดทข่าวคราวของที่บ้านให้ฟัง มายบอกว่า สิ่งเดียวที่ห่วงตอนนี้ก็คือ ‘ครอบครัว’ พอรู้ว่าทุกคนยังสบายดี เขาก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว

จนถึงตอนนี้มายถูกคุมขังมาเกือบ 4 เดือนแล้ว ทว่าเขายังมีความหวังว่าสถานการณ์การเมืองจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น “ผมภาวนาให้มันมีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้ามันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย คนจะต่อแถวเข้าเรือนจำเยอะขึ้น แม้แต่กลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมที่มาเยี่ยมเราก็อาจจะต้องกลับเข้ามาในนี้อีกครั้ง ผมไม่อยากให้ใครต้องมาเจอสังคมในเรือนจำเลย …”

“ช่วงแรกๆ ที่เข้ามา ผมรู้สึกอยาก ‘ฆ่าตัวตาย’ สมเพชชีวิตตัวเองมาก มีแค่พี่ชายแท้ๆ ที่ผมให้มาเยี่ยมได้ พวกรุ่นน้องอาชีวะที่อยากเข้ามาเยี่ยม ผมก็ไม่อยากให้มา เพราะผมรักพวกเขาเหมือนเป็นน้องแท้ๆ ของผมเอง ผมคิดเสมอว่าเราควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้อง ก็เลยไม่อยากให้น้องเข้ามาเห็นผมในสภาพนี้

“เวลามีคนมาเยี่ยม มันก็มีหลายความรู้สึกนะ ทั้งดีใจ แล้วก็เสียใจ ที่เขาต้องมาเจอเราในเรือนจำ ไม่ใช่ตอนเราประสบความสำเร็จ”

9 มิ.ย. 2566

มายบอกว่าสบายดี อาการป่วยดีขึ้นแล้ว แต่ยังไม่หายขาดเสียทีเดียว จากนั้นเขาได้ถามถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมแสดงความกังวลหากก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ “การเมืองตอนนี้เหมือนมีตัวละครใหม่ผุดขึ้นมาตลอด ไม่จบไม่สิ้น, ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมกลัวว่าจะมีคนเข้ามาในเรือนจำมากขึ้น”

นอกจากนี้ มายยังมีความกังวลเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและยื่นประกันตัวในคดีของตัวเอง “ถ้ายื่นอุทธรณ์ ยื่นประกันตัวไปแล้ว ศาลยังไม่ให้ประกัน ผมก็คงต้องติดคุกจริงๆ แล้วล่ะ แต่ยังมีความหวังอยู่ ถ้าทางนั้นไม่ใช่ทางออก เราก็หาทางออกใหม่ไปเรื่อยๆ

“ไม่อยากนั่งนับวันรอออกจากคุก ไม่อยากได้คำว่า ‘พ้นโทษ’ ผมอยากออกไปเหมือนว่าเราไม่เคยเข้ามาติดคุกเลย”

เราถามว่า ถ้าได้ประกันจะทำอะไรเป็นอย่างแรก เขาตอบว่า “ออกไปผมจะไปกราบเท้าแม่ก่อนเป็นอย่างแรก แล้วก็จะใช้ชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม คงต้องขอตั้งหลักก่อน จะให้ผมออกไปขอเงินพ่อแม่ใช้อีกก็ใช่เรื่อง เพราะผมเลี้ยงดูตัวเองมาตลอด

“รุ่นพี่ที่รู้จักติดต่อให้ผมไปทำงานด้วย แต่เขาไม่รู้ว่าผมติดคุกอยู่ การทำงานข้างในทำให้เวลามันผ่านไปวันๆ ได้ก็จริง แต่มันเลือกงานไม่ได้ ข้างนอกเราเลือกงานที่เราชอบ เราสบายใจที่จะทำได้ ผมเลยรู้สึกว่าในนี้กว่าจะหมดไปวันๆ หนึ่ง เวลามันผ่านไปโคตรช้า

“ผมไม่อยากมาเติบโตในนี้ อยากออกไปเติบโตข้างนอก”
________________

เวหา: ถอดเฝือกแขนเอง เหตุเรือนจำเมินคำขอ ซ้ำถูกเอารูปติดหน้าแดน ขึ้นประวัติเป็นผู้ต้องขังสำคัญ



25 พ.ค. 2566

นี่เป็นการเยี่ยมเวหาครั้งแรก วันนี้เราเข้าเยี่ยมเขาผ่านระบบจอภาพคอนเฟอร์เรนซ์ของเรือนจำ จนถึงตอนนี้เวหาถูกคุมขังมากว่าสัปดาห์แล้ว แต่เขาก็ยังไม่ถูกย้ายไปแดนขังปกติ เพราะในแดนแรกรับนี้มีผู้ต้องขังติดโควิด ทำให้เวหาต้องกักตัวนานขึ้นไปอีก

เวหาบอกว่าเขาสบายดี เพราะก่อนหน้านี้เคยต้องถูกคุมขังในเรือนจำมาก่อนแล้ว และตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ทำใจไว้แล้วว่าอาจจะต้องกลับมาอยู่ในนี้อีก จึงไม่ได้รู้สึกเครียดหรือกังวลอะไรมากมาย แต่อย่างเดียวที่เป็นทุกข์ใจ คือ ความรู้สึกคิดถึงและเป็นห่วงแม่ เป็นห่วงเพื่อนๆ พร้อมกับฝากบอกทุกคนว่า ‘ให้รักษาเนื้อรักษาตัว ยังคิดถึงเสมอ’

ความเป็นอยู่ในเรือนจำเวหาบอกว่าไม่ได้ลำบากอะไร ผู้ต้องขังในห้องเดียวกันค่อนข้างเป็นมิตร ชวนคุยเรื่องการเมืองกันได้ “ผมเคยติดคุกมาแล้ว 2-3 รอบ ก็เลยไม่ได้ปรับตัวยากขนาดนั้น กฎเกณฑ์บางอย่างเราที่ขัดกับจุดยืนของเรา เราก็ยืนกรานจะไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งผู้คุมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ก็รู้ว่าเรามีแนวคิดแบบนี้ เขาก็ไม่ได้ลงโทษอะไร”

อย่างไรก็ตาม เวหามีความกังวลเรื่องแขนที่ยังใส่เฝือกแข็งอยู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างมาก ก่อนหน้านี้เมื่อกลางคืนของวันที่ 13 เม.ย. 2566 เวหาถูกชายปริศนาสวมหมวกกันน็อคอำพรางใบหน้าใช้ไม้เบสบอลเหล็กฟาดใส่จนได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดูกแขนข้างซ้ายแตกและหัก รวมถึงมีรอยฟกช้ำตามร่างกายหลายจุด

ต่อมา เวหาต้องเข้ารับการผ่าตัดแขนถึง 2 รอบ และต้องใส่เฝือกดามแขนเรื่อยมา ครั้นเมื่อถูกคุมขังในคดีนี้แพทย์ในเรือนจำก็ปฏิเสธยังไม่ให้ถอดเฝือก โดยให้เหตุผลว่า สถานพยาบาลในเรือนจำไม่มีประวัติการรักษาอาการบาดเจ็บของเวหา และยังไม่มีเครื่องเอกซเรย์ที่จะตรวจดูว่ากระดูกแขนสมานกันดีแล้วหรือไม่ อีกทั้งไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่าจะสามารถถอดเฝือกได้เมื่อไหร่ อย่างไรด้วย
 



30 พ.ค. 2566

เวหาบอกว่า ตอนนี้สภาพจิตใจยังสบายดีมากๆ แต่ก็มีสิ่งรบกวนจิตใจอยู่บ้าง นั่นก็คือผู้ต้องขังร่วมห้องบางคนมีความเห็นต่างทางการเมือง จ้องคอยแต่จะด่าด้วยสารพัดประโยค เช่น หนักแผ่นดิน, ถ้ามีคนด่าพ่อคุณจะรู้สึกยังไง, ข้าวที่กินทุกวันนี้เป็นข้าวของใคร ฯลฯ ซึ่งเวหาได้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบแล้ว

เวหาบอกอีกว่า ตั้งแต่เขาถูกคุมขังในครั้งนี้ เขาสังเกตว่าเรือนจำไม่เปิดข่าวการเมืองทางโทรทัศน์เลยแม้แต่ครั้งเดียว และยังมีการเรียกเวหาไปเพื่อซักข้อมูลสำหรับการจัดทำประวัติ ‘ผู้ต้องขังรายสำคัญ’ ประเภทคดีการเมือง ทำให้ตอนนี้มีรูปใบหน้าเวหาติดอยู่หน้าแดนว่าเป็นผู้ต้องขังรายสำคัญ

ตอนนี้เวหาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าห้องขัง มีหน้าที่ต้องคอยปลุกให้ตื่นและดูแลความเรียบร้อยต่างๆ โดยในห้องมีกันทั้งหมด 24 คน ในมุมมองของเวหาเขาคิดว่าเรือนจำยังคงมีปัญหาเดิมๆ ซ้ำซาก เช่น ความสะอาด การแพร่ระบาดของโควิด และการจัดการโรคที่ไม่มีประสิทธิภาพ

“มันเหมือนเอาคนมากักโรครวมกันให้เป็นโรคก่อนถึงจะได้แยก …”

สุดท้ายเวหาฝากความคิดถึงถึงทุกคน และฝากบอกว่าถ้าใครสะดวกก็มาเยี่ยมเขาบ้าง เขาเองอยู่ข้างในนั้นก็จะพยายามดูแลตัวเอง และทำตัวให้มีความสุขตามสภาพ

7 มิ.ย. 2566

ล่าสุด เวหาได้จัดการถอดเฝือกแข็งออกด้วยตัวเองแล้ว เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตในเรือนจำ โดยที่ไม่ได้เอกซเรย์ว่ากระดูกแขนสมานกันดีหรือยัง เพราะแพทย์ในสถานพยาบาลของเรือนจำไม่ได้อำนวยความสะดวกในส่วนนี้ให้ อีกทั้งการทำเรื่องส่งตัวไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้นก็ใช้เวลานาน หลังจากถอดเฝือกออกแล้วเวหาบอกว่ายังมีความรู้สึกปวดแขนอยู่บ้าง


อ่านเพิ่มเติม: ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี 18 เดือน คดี ม.112 ของ “เวหา” กรณีทวีตเรื่อง #คุกวังทวี และ #แอร์ไม่เย็น ก่อนศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว
________________

อาร์ต สุวิทย์: เสียดายไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ชี้ต้องปฏิรูปเรือนจำ ให้โอกาสคนทำผิด มองผู้ต้องขังเป็นคนเท่ากัน



9 พ.ค. 2566

อาร์ตถามถึงกระแสช่วงเลือกตั้งข้างนอกว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะพรรคที่เขาชื่นชอบ “ผมเชียร์ก้าวไกลมาตลอด อยากรู้ว่าข้างนอกก้าวไกลมาแรงมั้ย ผมอยากให้ก้าวไกลได้นะ ประเทศจะได้มีอนาคต อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

“พูดไปก็เสียดายมากๆ ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผมตั้งใจจะเลือกก้าวไกล แต่ก็เชื่อแหละว่าจะมีคนออกมาเลือกเขาเยอะๆ … อยากให้กำลังใจพิธา ถึงไม่ได้ออกไปเลือกตั้ง แต่ก็หวังให้เขาไปให้ได้ไกลที่สุด ได้เป็นนายกฯ มาแก้ไขสิ่งชั่วร้ายที่เผด็จการทำไว้

“จากตรงนี้ เรือนจำพิเศษธนบุรีที่ผมถูกจองจำ ผมอยากจะให้พี่ลงมาดูเรื่องเรือนจำแต่ละที่อย่างจริงจัง อยากให้มา ‘ปฏิรูปเรือนจำไทย’ เรือนจำควรเป็นสถานที่ที่ทำให้คนเคยทำผิดมาได้มาสำนึกและกลับตัวกลับใจ แต่กลายเป็นว่าเรือนจำไม่ได้ให้อะไรเลย ไม่ได้ให้โอกาสคน มีแต่การกดขี่

“อยากให้เรือนจำเคารพความเป็นคนของนักโทษ อยากเห็นเรือนจำมีมาตรฐานที่ดีขึ้น และสุดท้าย ‘อย่าลืมนักโทษทางการเมืองทุกคน’ ทุกคนออกมาเรียกร้องเพราะอยากเห็นสังคมดีขึ้นทั้งนั้น …”

25 พ.ค. 2566

อาร์ตเดินมาในชุดนักโทษสีน้ำตาล นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เจอกันแบบตัวต่อตัว เพราะตั้งแต่อาร์ตถูกขังเขาต้องกักตัวอยู่ที่แดนแรกรับมาตลอด ที่ผ่านมาคุยเราเลยต้องคุยกับเขาผ่านทางโทรศัพท์โดยไม่เห็นหน้า

อาร์ตเล่าว่าได้รับจดหมายจากเพื่อนที่อยู่ข้างนอกหลายฉบับ เลยพอจะรู้ข่าวสารข้างนอกอยู่บ้าง เมื่อเราชวนคุยถึงเรื่องผลการเลือกตั้ง อาร์ตบอกว่าเขาและคนรุ่นใหม่ในเรือนจำดีใจกันมากๆ ที่พรรคก้าวไกลชนะ ทำให้มีความหวังมากว่าจะได้รับอิสรภาพ และร้องขอให้ก้าวไกลช่วยมาดูแลเรือนจำให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

อาร์ตบอกว่า หากย้ายแดนอีกรอบเขาจะได้ไปช่วยกองงานเย็บถุง เย็บรองเท้า สุดท้ายเราแจ้งกับอาร์ตว่า ครอบครัวของเขาอยากให้คดีจบเพียงแค่ชั้นอุทธรณ์นี้ และอยากให้อาร์ตรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จนครบ ไม่อยากให้ยื่นฎีกาคำพิพากษาอีก อาร์ตตอบกลับว่า เรื่องนี้เขาได้คุยกับครอบครัวตั้งแต่ก่อนเข้ามาแล้ว แต่ยังไงแล้วจะขอปรึกษาทนายความเจ้าของคดีก่อน เพราะตอนนี้ยังเหลือเวลาที่จะสามารถยื่นฎีกาได้อยู่
________________

วุฒิ: ผิดหวังศาลไม่ให้ประกันซ้ำอีก ยัน ‘จะผิดถูกย่อมมีสิทธิได้ประกันตัวสู้คดี’



1 มิ.ย. 2566

“ผลประกันเป็นยังไงบ้าง” วุฒิถามทันทีที่เจอหน้าเรา

เราตอบไปว่า ครั้งนี้ศาลก็ไม่ให้ประกันอีกเหมือนเคย พอวุฒิได้ยินก็มีสีหน้าสลดลงแทบจะทันที “พอได้ออกไปศาลในนัดตรวจพยานเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา ก็รู้สึกมีความหวังว่าศาลจะให้ประกันตัว รู้สึกมีความหวังมากๆ แต่พอไม่ได้ประกันก็ผิดหวังมากๆ รู้สึกแย่ …

“ตอนนี้รู้สึกเครียดเรื่องประกันมากๆ ตอนออกไปศาลก็ไม่ค่อยได้คุยกับแฟนเลย จะคุยทีเจ้าหน้าที่ก็ห้าม

“แปลกใจมากๆ ว่าทำไมศาลไม่ให้ประกันตัว จะผิดจะถูก เราก็มีสิทธิได้รับการประกันตัวออกไปสู้คดีข้างนอก รูัสึกแย่มากกับคำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาล เหมือนศาลไม่มีความเป็นธรรมกับนักโทษคดีนี้เลย

“กฎหมายบ้านเมืองมันเป็นแบบนี้ไง คนมันถึงยอมไม่ได้

“รัฐบาลจะปิดปากคนแบบนี้ตลอดไปไม่ได้หรอก จะปิดปากคนทั้งประเทศไม่ได้หรอก จะเอามาตรา 112 มาควบคุมทุกคนไม่ได้ ถึงรุ่นพวกผมตายหมด ก็ยังมีคนรุ่นต่อๆ ไปออกมาสู้อีก ‘การเลือกตั้งครั้งนี้คือความหวังของนักโทษทางการเมืองทุกคนจริงๆ’ ถ้าพรรคก้าวไกลโดนเตะตัดขา คนไทยก็ต้องออกมาสู้อีกครั้ง ขอให้ทุกคนที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน ขอให้มีสติ มีชีวิตอยู่ต่อ รอสู้ไปด้วยกัน”

7 มิ.ย. 2566

วุฒินั่งรอเราด้วยท่าทีค่อนข้างเครียด เมื่อเจอกันเขาก็รีบถามถึงเรื่องคดีทันทีว่าจะต้องออกไปศาลอีกครั้งเมื่อไหร่ เราตอบไปว่า คดีของวุฒิศาลอาญามีนบุรีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 22-24 พ.ย. 2566 เมื่อวุฒิได้ยินก็ทำหน้าตกใจมาก

“อีก 6 เดือนเลยเหรอ ถ้ารวมกับที่ถูกขังมาแสดงว่าต้องอยู่ในนี้ไปอีกตั้ง 8-9 เดือนเลยนะ”

“ผมยิ่งรู้สึกแย่ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ประกันตัวออกไป ตอนนี้นับวันรอผลประกันอยู่ตลอด วันที่ออกศาลก็ไม่ค่อยได้คุยกับแฟนกับญาติเลย เจ้าหน้าที่ไม่ให้คุยเลย

“ผมก็ยังมีความหวังให้จัดตั้งรัฐบาลได้ไวๆ เพื่อมาแก้ปัญหาคดีการเมือง คนเห็นต่างไม่ควรถูกกลั่นแกล้งแบบนี้ ผมอยากให้ยุติคดีทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกผมมันไม่ยุติธรรม ยุติคดีทางการเมือง คือการยุติความอยุติธรรมในสังคม

“ตอนนี้เครียดมากๆ เรื่องประกันตัว รูัสึกเหมือนผมทำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีสิทธิต่อสู้คดีอย่างที่ควรจะเป็น ผมเห็นคดีอื่นร้ายแรงกว่าคดีผมอีก ยังได้ประกัน แต่พอเป็นคดีทางการเมือง, 112, ทะลุแก๊ส ที่ผมตามข่าวมา ต้องติดคุกกันไปก่อน 5-6 เดือนถึงได้ประกัน ‘เหมือนบีบให้ทุกคนต้องรับสารภาพ’

“ในคำสั่งศาล เหมือนศาลจะไม่ให้สิทธิการประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชนเลย เอาแต่อ้างว่าอัตราโทษสูง ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ทั้งๆ ที่ไม่มีใครตายจากคดีแบบนี้เลย …”

อ่านเพิ่มเติม: ศาลอาญามีนบุรีไม่ให้ประกันตัว “วุฒิ” อดีตช่างเชื่อม หลังถูกฟ้องคดี ม.112 โพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ
________________

มาร์ค ชนะดล: ถูกขังเกือบ 3 เดือน ห่วง ‘แม่’ ต้องผ่าตัดหัวเข่าเสื่อม แต่ศาลยังไม่ให้ประกันครั้งที่ 6 อ้างไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม



26 พ.ค. 2566

มาร์คนั่งรอเราเข้าเยี่ยมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ตั้งแต่พ่อกับน้องมาเยี่ยมเมื่อไม่กี่วันก่อนเขาก็นอนไม่ค่อยหลับอีกเลย เพราะที่บ้านส่งข่าวมาว่าแม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวเข่า จากอาการป่วยเป็นโรคหัวเข่าเสื่อมมาหลายปี มาร์คเลยเป็นกังวลและเป็นห่วงแม่เอามากๆ

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการยื่นประกันตัวมาร์คต่อศาลอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 6 ซึ่งต้องรอเวลาประมาณ 2-3 วันจึงจะรู้ผลคำสั่ง มาร์คลุ้นกับการยื่นประกันครั้งนี้มาก เพราะอยากออกไปดูแลแม่ มาร์คมีท่าทีเครียดมากๆ ไม่สดใส พูดถึงแม่ตลอด เขาบอกว่า “ทุกๆ วันคิดถึงแต่ครอบครัว ข้าวก็กินไม่ค่อยลง ปวดหัวบ่อยๆ”

ตลอดการเข้าเยี่ยมมาร์คชอบพูดกับเราว่า “ผมภาวนาให้ตัวเองได้ประกันสักที, อยากให้เขาเห็นใจผมบ้าง …”

31 พ.ค. 2566

เราแจ้งผลคำสั่งประกันตัวครั้งที่ 6 กับมาร์คว่า ศาลอุทธรณ์ยังไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” เหมือนทุกครั้ง เมื่อได้ยินมาร์คสลดไปสักครู่และบอกกับเราว่า พอจะเดาได้อยู่แล้ว เพราะตลอดหลายวันที่ผ่านมาไม่มีหมายปล่อยมาที่เรือนจำเลย

จนถึงตอนนี้มาร์คถูกคุมขังระหว่างรอสืบพยานมาเกือบ 3 เดือนแล้ว โดยคดีมีกำหนดนัดสืบพยานในวันที่ 24-25 ต.ค. 2566 เขาบอกว่า “เบื่อมากเลย มันอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม ผมได้แต่ภาวนาให้ตัวเองได้ออกไปจากที่นี่สักที ภาวนาให้ตัวเองยังมีแรงสู้ต่อไปในทุกวัน พยายามหากิจกรรมทำไม่ให้ตัวฟุ้งซ่าน …”

“ตอนนี้เป็นห่วงแม่มากๆ ไม่รู้ว่ามีนัดผ่าตัดหัวเข่าเมื่อไหร่ อาการเป็นยังไงแล้วบ้าง แล้วอาทิตย์นี้ (29-31 พ.ค. 2566) แม่กับที่บ้านไม่ได้มาหาเลย ผมเลยยิ่งเป็นห่วงมากๆ

“ทุกวันนี้มันก็รู้สึกท้อแหละ แต่ไม่ถอยหรอก ผมอยู่กับคำถามเดิมๆ เลยคือ ‘ทำไม, เพราะอะไร’ ไม่เข้าใจสิ่งที่เขา (ศาล) กำลังทำอยู่ ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมศาลถึงไม่ให้ประกันตัว ไม่เข้าใจเลยจริงๆ ผมเห็นคนอื่นคดีร้ายแรงกว่านี้ยังได้ประกันเลย


“ผมไม่เข้าใจศาลเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิที่ผมควรจะได้รับเหมือนคนอื่น คดีผมยังไม่ได้ตัดสินเลย ทำไมศาลทำแบบนี้ เหมือนตัดสินผมไปแล้ว แม่ผมก็ป่วย ผมก็แจ้งไปแล้ว ทำถึงไม่ให้ประกัน …

“ตอนนี้ผมพยายามอ่านหนังสือ แต่เรื่องของแม่มันก็แวบเข้ามาในหัวตลอด ผมไม่เคยต้องห่างกับแม่นานขนาดนี้ แม่อายุเยอะแล้วด้วย ผมเป็นห่วงเขามากๆ บางทีมันคิดมากจนเหมือนจะเป็นบ้าไปเลยนะพี่

“ถ้าเขาไม่รัฐประหาร ถ้าเขาบริหารประเทศได้ มันก็คงไม่มีคนออกมาม็อบหรอก แต่ที่ผมหรือคนอื่นๆ ออกมาม็อบ ออกมาเรียกร้อง เพราะมันคือการแสดงออกอย่างหนึ่งที่เราทำได้ แต่พอเราออกมาเรียกร้อง ก็กลับกลายเป็นเราไม่ดีไปอีก”

ก่อนกลับมาร์คพูดย้ำกับเราเหมือนกับทุกครั้งว่า “ผมยังสู้อยู่นะพี่ …”

อ่านเพิ่มเติม: อัยการฟ้อง “ชนะดล” วัย 24 ปี คดีครอบครองระเบิด ร่วมชุมนุม #ม็อบ20สิงหา64 ก่อนศาลอาญาไม่ให้ประกัน อ้างโทษสูง – เกรงหลบหนี แม้ชนะดลไม่มีพฤติการณ์หลบหนี


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2566

พฤษภาฯ ของผู้ต้องขังการเมือง: 7 รายยังรอสิทธิประกันตัว 15 รายต่างหวังรัฐบาลใหม่ดัน ‘กม.ยุติคดีการเมือง’ เป็นจริงโดยเร็ว