วันอังคาร, มิถุนายน 13, 2566

หุ้นไอทีวี : กรรมการไอทีวี 4 จาก 5 คน ถูกเปลี่ยนหลังจาก "กัลฟ์" เข้าถือหุ้นใหญ่ "อินทัช" เพียง 4 เดือน - ประวัติ 5 กรรมการไอทีวีชุดปัจจุบัน



หุ้นไอทีวี : กรรมการไอทีวี 4 จาก 5 คน ถูกเปลี่ยนหลังจาก "กัลฟ์" เข้าถือหุ้นใหญ่ "อินทัช" เพียง 4 เดือน

12 มิถุนายน 2023
บีบีซีไทย

จากกรณีคลิปเสียงการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี วันที่ 26 เม.ย. 2566 อันปรากฏหลักฐานที่อาจพลิกคดีถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีชื่อของกรรมการบริษัทไอทีวีเข้าร่วมประชุม 5 คน และการตั้งคำถามจากผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเกี่ยวกับสถานะการดำเนินธุรกิจสื่อของไอทีวี

กรรมการบริษัทไอทีวี 5 คน ที่ปรากกฏชื่อในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีนั้น 4 รายแรกล้วนมีตำแหน่งบริหารในบมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ โดยทั้ง 4 ไม่ได้ถือครองหุ้นไอทีวี มีเพียงกรรมการรายที่ 5 ที่ถือเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งถือหุ้นอยู่เพียง 0.0655%

สำหรับกรรมการ 4 คนแรก เพิ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทไอทีวี ในเดือน ธ.ค. 2564 ภายหลังกัลฟ์ ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ บมจ.อินทัช ด้วยสัดส่วนหุ้น 42.25% เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564

ทั้งนี้ กรรมการชุดเดิม 4 คน เป็นกรรมการบริษัทไอทีวีมาตั้งแต่ปี 2550-2551 และ 2560 โดยไม่มีคนใดเป็นผู้บริหารของ บมจ.อินทัช มาก่อน มีเพียงนายสุพจน์ วาทิตต์พันธุ์ ที่เคยเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานกฎหมาย ของบริษัท แอดว๊านซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2540-2553

บีบีซีไทย สำรวจประวัติที่มาของตัวละครในเรื่องนี้ กับข้อมูลของกรรมการบริษัทไอทีวีทั้ง 5 ราย

กรรมการบริษัทไอทีวี 4 คน ถูกเปลี่ยนหลังกัลฟ์ เข้าถือหุ้นใหญ่อินทัช 4 เดือน

กรรมการบริษัทไอทีวีชุดปัจจุบันจำนวน 4 คน จาก 5 คน ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 โดยทั้งหมดมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารของ บมจ.อินทัช อยู่เดิม

การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทไอทีวีครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. 2564 หลังจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 ว่า ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับหนึ่งของ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ แล้ว ด้วยสัดส่วนหุ้น 42.25% จากเดิมที่ถืออยู่ 18.93%

นั่นเท่ากับว่า การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทไอทีวีในครั้งดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่กัลฟ์ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.อินทัช เพียง 4 เดือนเศษเท่านั้น

ทั้งนี้ กรรมการ 4 คนเดิมชุดก่อนการเปลี่ยนแปลง เป็นกรรมการบริษัทไอทีวีมาตั้งแต่ปี 2550 โดยไม่มีคนใดเป็นผู้บริหารของ บมจ.อินทัช มาก่อน

สำหรับกรรมการบริษัทไอทีวี 4 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งในเดือน ธ.ค. 2564 ได้เข้ามาแทนที่กรรมการชุดเดิมรายต่าง ๆ ดังปรากฏในรายงานประจำปี 2565 ของบริษัทไอทีวี ดังนี้

1. คิมห์ สิริทวีชัย แต่งตั้งเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564

เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการมาตั้งแต่ 19 ก.พ. 2550 และถูกเสนอชื่อมาเป็นกรรมการอีกอย่างน้อย 5 ครั้ง ประวัติการทำงานของนายสมคิดเป็นทนายความของสำนักงานกฎหมายหลายแห่ง

2. จิตชาย มุสิกบุตร แต่งตั้งเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564

เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายสมบูรณ์ วงษ์วานิช ซึ่งเป็นกรรมการมาตั้งแต่ 15 พ.ค. 2550 ประวัติการทำงานนายสมบูรณ์เคยนั่งตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบบริษัทไอทีวี ระหว่างปี 2550-2557 เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บุญรอดเทรดดิ้ง และรับจ้างอิสระในด้านบัญชีและธุรกิจ

3. เมโธ เปี่ยมทิพย์มนัส แต่งตั้งเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564

เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายวุฒิพร เดี่ยวพานิช ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทไอทีวีมาตั้งแต่ 10 เม.ย. 2551 ประวัติการทำงานของนายวุฒิพรเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคไทย นายกสมาคมสิทธิผู้บริโภค กรรมการ บจ.วีคอมเทค อุปนายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

4. ธัญลักษณ์ บัวทอง แต่งตั้งเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564

เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายสุพจน์ วาทิตต์พันธุ์ กรรมการไอทีวี ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 10 พ.ย. 2560 ประวัติการทำงานของนายสุพจน์ เคยเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ/ รองกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานกฎหมาย บริษัท แอดว๊านซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ปี 2540-2553 ผู้จัดการฝ่ายคดีและบังคับคดี บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่นส์ ปี 2538-2540


ประวัติ 5 กรรมการไอทีวีชุดปัจจุบัน

1. คิมห์ สิริทวีชัย

คิมห์ สิริทวีชัย เริ่มเข้ามาเป็นกรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2564 โดยอีกหมวกหนึ่งเขามีตำแหน่งใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 2 ตำแหน่ง ได้แก่ กรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการของ บมจ. อินทัช

คิมห์ ร่วมงานกับ บมจ. อินทัช เป็นครั้งแรกในปี 2557 ในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุน และมีการเปลี่ยนตำแหน่ง เคยเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินจนถึงปี 2564 ในระหว่างนี้คิมห์ ดำรงตำแหน่งในบริษัทด้านมีเดียอีกหลายบริษัท

2. จิตชาย มุสิกบุตร

จิตชาย มุสิกบุตร เป็นกรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แทนกรรมการคนเดิม เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 โดยจากรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีปีล่าสุด จิตชายปรากฏชื่อเป็นกรรมการผู้สอบทานและแก้ไขรายงานการประชุม

ตำแหน่งปัจจุบันของจิตชายในไอทีวี คือเป็นกรรมการ และยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไอทีวีด้วย โดยเพิ่งเข้ารับตำแหน่งในปี 2566

ส่วนตำแหน่งของจิตชายใน บมจ.อินทัช คือ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารด้านกฎหมายและเลขานุการบริษัท หัวหน้าสายงานกฏหมายเลขานุการบริษัทและกำกับกฏเกณฑ์ และเลขานุการบริษัท โดยเข้ามาร่วมงาน กับ บมจ. อินทัช ครั้งแรกในปี 2560

3. เมโธ เปี่ยมทิพย์มนัส

เมโธ เปี่ยมทิพย์มนัส เป็นกรรมการไอทีวีแทนกรรมการคนเดิม เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 ฐานข้อมูลเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า นายเมโธ เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงินของ บมจ. อินทัช

ตำแหน่งปัจจุบันของเขาในอินทัชคือ รักษาการหัวหน้าสายงานการเงินและบัญชี และผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานการเงิน โดยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 เมโธเข้ามาเริ่มงานกับอินทัชตั้งแต่ปี 2555 ในตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานการเงิน

4. ธัญลักษณ์ บัวทอง

ธัญลักษณ์ บัวทอง เริ่มเป็นกรรมการไอทีวี เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 ปัจจุบันมีตำแหน่งทางการบริหารใน บมจ.อินทัช ด้วย โดยเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริหารการลงทุน ทั้งนี้ ธัญลักษณ์มีประวัติร่วมงานกับอินทัชมาตั้งแต่ปี 2560 ในตำแหน่งผู้ชำนาญการส่วนงานบริหารการลงทุน

5. รัตนาพร นามมนตรี

นางรัตนาพร ปัจจุบันอายุ 57 ปี เป็นอดีตกรรมการบริษัทไอทีวีชุดเก่าเพียงคนเดียวที่ยังดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน เธอเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัทมาตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2550 จนกระทั่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง รัตนาพรเพิ่งได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาเป็นกรรมการอีกครั้งเมื่อ วันที่ 8 เม.ย. 2564 โดยถือเป็นการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการครั้งที่ 7

นางรัตนาพร นับเป็นกรรมการคนเดียวที่มีหุ้นอยู่ในไอทีวี โดยมีสัดส่วนการถือครองหุ้นคิดเป็น 0.0655% และได้รับค่าตอบแทนประจำปี ซึ่งในปี 2565 เอกสารรายงานประจำปีระบุว่า เธอได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 600,000 บาท

นางรัตนาพร ยังมีอีกบทบาทในการเป็นประธานกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยไอทีวี ซึ่งเคยดำเนินการเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีไม่ให้นำทรัพย์สินของบริษัท ไอทีวี ไปแปลงสภาพเป็นโทรทัศน์สาธารณะ ก่อนร่าง พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย จะมีผลบังคับใช้ เมื่อปี 2551



ไอทีวี-อินทัช-กัลฟ์

ไอทีวีเริ่มดำเนินธุรกิจสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ทำสัญญากับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2538 และยุติการดำเนินธุรกิจไปเมื่อปี 2550 หลังจาก สปน. ยึดคืนสัมปทานเพื่อปฏิรูปเป็นสื่อสาธารณะ

ปัจจุบัน ไอทีวีมีผู้ถือหุ้นใหญ่ (ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุด วันที่ 22 ธ.ค. 2565) คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นกว่า 52.92%

หากดูผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของอินทัชในปัจจุบัน ก็คือเครือบริษัทกัลฟ์ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ถือหุ้นรวม 46.61% (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ GULF ENERGY DEVELOPMENT PCL.) โดยกัลฟ์ ได้ทยอยเข้าซื้อหุ้นของอินทัชจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ระหว่างปี 2564-2565 ที่ผ่านมา

ในรายงานประจำปี 2565 ของไอทีวี ระบุว่า "กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัท คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)"

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของอินทัชที่ถือหุ้นเกินกว่า 5% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยมีจำนวนกว่า 46% และ SINGTEL GLOBAL INVESTMENT PTE LTD ถือหุ้น 24.99%

สำหรับเส้นทางของ บมจ. อินทัชฯ แรกเริ่มเป็นบริษัทที่มีตระกูลชินวัตรเป็นเจ้าของ ในชื่อ ชิน คอร์เปอร์เรชั่น การขายหุ้นครั้งสำคัญ เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 กลุ่มชินฯ ได้ขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ มูลค่า 73,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาเรื่องของการเลี่ยงภาษีขายหุ้น แต่ทว่ากลุ่มชินฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่กว่า 40%

จนกระทั่งในปี 2556 บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัทในเครือเทมาเส็ก ได้เข้าซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 41.62% ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนชื่อบริษัท จากเดิมคือ ชิน คอร์ปอเรชั่น เป็นอินทัช โฮลดิ้ง ในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อเดือน มี.ค. 2557 ซึ่งมีการแก้ไขตราสำคัญของบริษัท นับเป็นการสิ้นสุดการใช้ชื่อธุรกิจของตระกูลชินวัตรนับแต่นั้น

การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ยังปรากฏในปี 2559 ที่กลุ่มแอสเพนขายหุ้น 21% ให้กับกลุ่มสิงเทล ของสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นอินทัชอยู่ 24.99%