วันเสาร์, พฤษภาคม 21, 2565

คนรุ่นนี้ ‘มุ่งมั่น’ สู้ด้วยความเชื่อถือในสิทธิ ศาล ‘ดึงดัน’ กักขังพวกเขาเพื่อแสดงอำนาจเยี่ยงเผด็จการ

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อดอาหารประท้วงในที่คุมขัง เป็นเวลา ๓๑ วันแล้ว ต่อการที่ศาลไม่ยอมให้ประกันปล่อยตัวทั้งที่คดียังไม่ได้เริ่มกระบวนพิจารณา สุขภาพร่างกายทรุดหนักลงไปทุกวัน แต่ก็ยัง มุ่งมั่น สู้ต่อเพราะเชื่อในความถูกต้องของ สิทธิ

แต่ศาลยังคง ดึงดันไม่ให้ประกันและยืดเวลาคุมขังต่อไปครั้งแล้วครั้งเล่า แม้หลังจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลยื่นประกันเป็นครั้งที่สองด้วยหลักฐานต่างๆ ตามที่ศาลตั้งแง่ข้างๆ คูๆ เมื่อครั้งแรก ครบถ้วนถูกต้องทุกอย่าง

แม้กระทั่งคำวิงวอนของ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่ว่า “น้องอดอาหารมา ๓๐ วัน ระบบต่างๆ ในร่างกายอาจล้มเหลว ถึงแก่ชีวิต โปรดเมตตาให้น้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อไปพบแพทย์เถอะครับ” หาได้มีความหมายใดๆ ต่อศาล

ความ ดึงดันของศาลนั้นต่างกับความ มุ่งมั่นของผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นกษัตริย์ ดั่ง เหวกับภูผาในเมื่อศาลใช้ข้ออ้างต่อการไม่ให้ประกันครั้งหลังสุดว่าจะต้อง “รอให้มีการไต่สวนแนวทางการควบคุมความประพฤติของตะวันเป็นพิเศษ” เสียก่อน

ศาลนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ ๒๖ พฤษภา “และเสนอให้มีผู้กำกับดูแล ตะวัน เพื่อไม่ให้ทำผิดเงื่อนไขหากได้ปล่อยตัว” เบญจา แสงจันทร์ แจ้งผลคำสั่งประกัน #ตะวัน จากการใช้ตำแหน่ง ส.ส.ของพิธายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว

ศาลวางตัวประดุจผู้ทรงอำนาจที่ชี้เป็นชี้ตายต่อผู้ถูกกล่าวหา แทนที่จะประพฤติเยี่ยงผู้ทรงธรรม ตาม “หลักการที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้กับ ICCPR และระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรค ๒ เกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัว” ออกมาสู้คดี

ดังที่พิธากล่าวพาดพิงไว้ในการยื่นประกันครั้งแรกว่า “กฎหมายอาญามาตรา ๑๐๘/๑ ระบุเหตุในการฝากขังได้ไว้ทั้งหมด ๕ ข้อ แต่การกระทำของทานตะวันไม่อยู่ในเงื่อนไขทั้ง ๕ ข้อที่จะฝากขังได้ จึงถือเป็นการลิดรอนสิทธิของทานตะวันในการสู้คดี”

ตะวัน ถุกจับกุมด้วยข้อหา ม.๑๑๒ และ พรบ.คอมพิวเตอร์ “เพราะมีการใส่เสื้อสีดำและ Live ก่อนมีขบวนเสด็จเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม...และมีการทำโพลขบวนเสด็จ” ว่าสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้ถนนหรือไม่ ผลออกมาเต็มไปด้วยคำตอบ เดือดร้อน

ศาลต้องการลงโทษผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่เข้าสู่กระบวนพิจารณาคดี อันจะทำให้เห็นข้อเท็จจริงว่า มีความเดือดร้อนจากการปิดถนนรอขบวนเสด็จครั้งละเป็นชั่วโมงๆ ประชาชนจำนวนมากมิได้ชื่นชมหรือรับได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้น

การที่ศาลดึงดันอ้างเหตุหยุมหยิม และวลีลุแก่อำนาจ “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง” หยามหมิ่นต่อระบบยุติธรรมสากลนั้น ทำให้มองเห็นเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเหลิงอำนาจเยี่ยงเผด็จการที่เป็นเสมือนนายเหนือหัวพวกตน

กรณี ตะวัน เป็นเพียงตัวอย่าง หนึ่งในคดีลักษณะเดียวกันอีกหลายสิบ แต่เฉพาะหน้าปัจจุบันมี เก็ทโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ นักศึกษาแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล 'เมนู' สุพิชฌาย์ ชัยลอม 'ใบปอ' ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และ 'บุ้ง' เนติพร เสน่ห์สังคม

ทั้งหมดถูกกักขังด้วยข้อกล่าวหา จับยัดคุกรอการพิจารณา เจตนากลั่นแกล้ง ทรมาน ให้ต้องทนทุกข์ มุ่งหมายให้หลาบจำ และเป็นการ เชือดไก่ให้ลิงดูสร้างความหวาดหวั่น หงอกลัว ซึ่งเป็นวิธีการของโจรป่าห้าร้อย ไม่ใช่ผู้มีความยุติธรรม

วิธีการเช่นว่าใช้ไม่ได้แล้วกับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป ศาลทำกับพวกเขาได้ตราบเท่าช่วงชีวิตของพวกตนเท่านั้น ยุคสมัยย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามความรู้และจิตสำนึกของคนในรุ่น ศาลรุ่นนี้จะล่มสลายไปกับความทรงจำว่าเป็นผู้ ถ่วงความเจริญ

(https://www.facebook.com/waymagazine/posts/10158396482181456, https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2967627030195648 และ https://prachatai.com/journal/2022/05/98690)