วันเสาร์, พฤษภาคม 21, 2565

กรุงเทพเมืองเทพสร้าง แต่ห่วยแตก สารพัดปัญหา ช่วยกันออกไปใช้สิทธิกำหนดอนาคตตัวเองวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ


ภาพจาก เพจ Karnt Thassanaphak
.....
https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/posts/10162854205509848
Voice TV
22h

ผิวจราจรเสี่ยงอันตราย
.
ผิวจราจรบนถนนใน กทม. หลายพื้นที่พบปัญหาแผ่นเหล็ก-แผ่นปูนขนาดใหญ่ปิดไม่สนิท พื้นผิวไม่เรียบ จากงานก่อสร้างใต้ดินที่มีทั้ง งานบ่อพัก งานร้อยสายไฟสายสื่อสาร งานเปิดฝาบ่อ งานระบบประปา ฯลฯ ขณะที่ถนนบางช่วงมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือเป็นเนินสูง ผิวจราจรชำรุดไม่ราบเรียบ สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย
คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหาผิวจราจรเสี่ยงอันตรายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อสิทธิในชีวิตและความปลอดภัยบนท้องถนนสาธารณะ
.
ภาพถ่าย-รถจักรยานยนต์ขับผ่านพื้นถนนซึ่งถูกปิดด้วยแผ่นปูนจากงานก่อสร้างใต้ดิน บนถนนลาดพร้าว

ปฏิภัทร จันทร์ทอง



ปัญหาสายสื่อสาร
.
สายสื่อสารระโยงระยางไม่เป็นระเบียบ เสี่ยงต่ออันตราย โดยกว่า 50 % นั้นพบว่าเป็นสายที่ตายแล้ว ไม่สามารถใช้งานได้ แต่ดันกลายเป็นภาพชินตาที่ปรากฏทั่วพื้นที่ กทม.
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขา กสทช.ให้ข้อมูลว่าสายสื่อสารที่แขวนอยู่ในปัจจุบันจำนวนมากกว่า 50% เป็นสายที่ใช้งานไม่ได้ ทว่าการแก้ปัญหานำสายสื่อสารลงดินนั้นมีต้นทุนสูงเพิ่มขึ้นจากเดิมค่อนข้างมาก ปัจจุบันต้นทุนค่าเช่าพาดสายกิโลเมตรละ 1,000 บาท ขณะที่การนำสายลงดินจะมีต้นทุนค่าเช่าที่กิโลเมตรละ 8,000-9,000 บาท
ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการแก้ปัญหาจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยกรุงเทพฯ ได้ร่วมกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงนาม MOU ให้กทม.เป็นเจ้าภาพดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน มีมูลค่าโครงการรวมกว่า 20,000 ล้านบาท ตั้งเป้าจะนำสายสื่อสารลงใต้ดินระยะทางรวม 2,450 กิโลเมตร
โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในกำหนด เดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
.
ภาพถ่าย-ประชาชนเดินผ่ายสายสื่อสารที่พาดอยู่บริเวณสะพายลอยคนข้าม บนถนนเพชรบุรี



พื้นที่สีเขียว
.
ปัจจุบัน กทม.มีผู้อยู่อาศัยรวมประชากรแฝงประมาณ 10 ล้านคน มีพื้นที่สีเขียวนับรวมทั้งต้นไม้ริมถนน-เกาะกลาง รวมถึงสวนหย่อมในหมู่บ้านเอกชน ต่อจำนวนประชากรที่ 3.5 ตร.ม./คน ขณะที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานไว้ที่ 9 ตร.ม./คน
ที่ผ่านมามีความพยายามในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการกำหนดนโยบาย ‘มหานครกรุงเทพสีเขียว’ หรือ ‘Green Bangkok 2030’ วางแผนจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตร.ม./คน ในปี 2573

ปัญหาพื้นที่สีเขียวไม่พอและการกระจายตัวไม่ทั่วถึงมีมาเนิ่นนานด้วยข้อจำกัดเรื่องราคาที่ดินและการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับการดูแลจัดการต้นไม้ของกรุงเทพฯ ซึ่งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการดูแลบำรุงรักษา ตัดแต่งกิ่ง ไม่เป็นไปตามหลักรุกขกรรม

ภาพถ่าย-ต้นไม้ถูกตัดเหลือเพียงลำต้นบริเวณใต้ทางด่วน ย่านสาทร

น้ำท่วม
.
ปัญหาน้ำท่วมก่อให้เกิดความยากลำบากต่อการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก น้ำท่วมยังส่งผลต่อเนื่องให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วมระหว่างปี 2555-2564 ไปแล้วกว่า 51,767 ล้านบาท มีการก่อสร้างสารพัดโครงการ ทั้งการอุโมงค์ยักษ์ โครงการผันน้ำ การขุดลองคูคลอง ทว่าปัญหาน้ำท่วมก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน
ภาพถ่าย-แม่ลูกเดินจูงมือผ่านน้ำท่วมขัง บริเวณพระราม9ซอย7 ซึ่งเป็นจุดที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำเมื่อเกิดฝนตกหนัก

ขนส่งสาธารณะไร้คุณภาพ
.
รถเมล์เป็นบริการขนส่งสาธารณะราคาถูกที่คนกรุงเทพฯ ใช้บริการประมาณวันละ 5-6 แสนคน/วัน ขณะที่คุณภาพและการให้บริการยังคงมีปัญหาทั้งเรื่องสภาพรถ, ปริมาณรถ, การวิ่งทับซ้อน, มลพิษ รวมถึงการให้บริการ ท่ามกลางคำประกาศยืนยันอย่างต่อเนื่องว่าจะ "ปฏิรูปรถเมล์" เพื่อยกระดับมาตรฐาน

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของฝ่ายรัฐบาล เคยประกาศนโยบายหาเสียงเมื่อปี 2562 ว่า ปี 2565 รถเมล์ร้อน ต้องสูญพันธุ์ เปิดใช้รถเมล์รุ่นใหม่ และขนส่งสาธารณะพลังงานไฟฟ้า EV หนึ่งในนโยบายสีเขียวเพื่อคนกรุงเทพ พร้อมทิ้งทายท้ายว่า “เลือกเราไม่ร้อนแน่”

ตอนนี้ร้อนหรือเปล่า ?

ภาพถ่าย-รถเมล์สภาพทรุดโทรมวิ่งให้บริการประชาชนบริเวณแยกอโศก


รถไฟฟ้าราคาแพง
.
นอกจากสภาพความแออัดของการใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน รถไฟฟ้าของไทยยังเป็นบริการสาธารณะที่มีราคาแพงเมื่อเทียบอัตราค่าโดยสารต่อค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพ

เมื่อเทียบกับอัตราค่าโดยสารต่อค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงพบว่าค่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีอัตราเฉลี่ยแพงที่สุดเมืองหนึ่งของโลก

-โตเกียว ญี่ปุ่น คิดเป็น 25% ของค่าแรงขั้นต่ำ 1 ชั่วโมง
-โซล เกาหลีใต้ คิดเป็น 25% ของค่าแรงขั้นต่ำ 1 ชั่วโมง
-นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา คิดเป็น 20% ของค่าแรงขั้นต่ำ 1 ชั่วโมง
-ปารีส ฝรั่งเศส คิดเป็น 19% ของค่าแรงขั้นต่ำ 1 ชั่วโมง
-BTS กรุงเทพฯ คิดเป็น 93.75% ของค่าแรงขั้นต่ำ 1 ชั่วโมง

ปัจจุบัน BTS กรุงเทพฯ มีค่าโดยสารอยู่ที่ 16-59 บาท เฉลี่ย 37.5 บาทต่อเที่ยว, MRT กรุงเทพฯ
มีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 16-70 บาท เฉลี่ย 43 บาทต่อเที่ยว

ทั้งนี้มีการเสนอจากสภาองค์กรผู้บริโภค ว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยทั้งระบบไม่ควรเกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของคนกรุง ในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพสูงในปัจจุบัน

ภาพถ่าย-หญิงสาวใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รถไฟฟ้าในกรุงเทพมีราคาแพงที่สุดเมืองหนึ่งของโลกเมือเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ


ปัญหาการจัดการขยะ
.
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันมากที่สุดของไทย เฉลี่ย 1 หมื่นตัน/วัน เทียบเท่ากับรถสิบล้อ 400 คัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ตัน/วัน ในปี 2573
นอกจากจะส่งผลต่อทัศนียภาพของเมือง เป็นแหล่งก่อมลภาวะ ยังพบว่า กทม. ต้องใช้งบประมาณ 12,000–13,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 15–16% ของงบฯ ทั้งหมดเพื่อกำจัดขยะ ขณะที่งบฯ ด้านการศึกษาของ กทม. ถูกจัดสรรอยู่ที่ประมาณ 5–6% ของงบฯ ทั้งหมด
ขณะเดียวกันได้มีการเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีของแหล่งที่ก่อให้เกิดขยะอย่างห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการแยกขยะและจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหาและลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

ภาพถ่าย-นกกางเขนบ้าบินจับแมลงในจุดดักขยะบริเวณใต้สะพานตากสิน


ความปลอดภัย
.
กล้องวงจรปิด(CCTV) เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ช่วยบันทึกหลักฐาน ให้ความเป็นธรรม ใช้ในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีกล้องวงจรปิดอยู่จำนวน 57,770 ตัว ขณะที่ยังคงมีการร้องเรียนเรื่องความไม่ทั่วถึงของกล้องและปัญหากล้องเสีย ซึ่ง กทม. ยอมรับว่า ปัญหาส่วนใหญ่เป็นกล้อง CCTV ระบบ Stand alone ที่มีอยู่ประมาณ 45,000 ตัว ซึ่งมักฟิวส์ไฟฟ้าขาด หรือตัวบันทึกภาพชำรุด ขณะเดียวกันกทม.ยืนยันว่ามีการตรวจสอบและซ่อมแซมอย่างสม่ำเสมอทุก 15 วัน

ภาพถ่าย-กล้องวงจรปิดถูกรื้อทิ้งไว้ริมถนนลาดพร้าว ซึ่งคาดว่าเกิดจากการปรับพื้นที่โครงสร้างระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ปัญหาน้ำเสีย
.
น้ำเน่าในคลองแสนแสบเป็นมาตรฐานและความปกติของเมืองหลวงแห่งนี้ ผู้โดยสารเรือสาธารณะต้องเผชิญหน้า สัมผัสและเอาตัวรอดกับปัญหานี้โดยตรง

ภายหลังการรัฐประหาร คสช. มีแผนพัฒนาคลองแสนแสบโดยมีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นคนดูแล มีการตั้งโครงการและเพิ่มงบประมาณจัดการคลองอย่างต่อเนื่อง ในเดือน ก.ย. 2564 มีการสรุปงบประมาณ ทั้ง 84 โครงการ ในระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน 82,565 ล้าน
ถัดมาจากคลองแสนแสบในลำน้ำที่ต่อเนื่องกัน รัฐบาลและกรุงเทพมหานครได้พัฒนาปรับปรุงคลองโอ่งอ่างโดยใช้งบประมาณ 275 ล้านบาท เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ตามสมญานาม “เวนิสตะวันออก”
“คลองโอ่งอ่าง” ได้รับการโปรโมทจากรัฐบาลและกรุงเทพฯ ได้รับรางวัลต้นแบบในการปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตเมืองของเอเชียประจำปี ค.ศ. 2020 (2020 Asian Townscape Award) พร้อมทั้งมีการจัดกิจกรรมพีอาร์ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การพายเรือคายัคภายในคลอง

ภาพถ่าย-ปลาว่ายอยู่บนถุงพลาสติดภายในคลองโอ่งอ่าง


ปัญหาทางเท้า
.
ทางเท้าเป็นปัญหาอันดับ 1 ของการสำรวจ 10 อันดับปัญหาเรื้อรังที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่เร่งแก้ไข จากการสำรวจของ Real Smart
ทางเท้ามีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่เรียบ มีลักษณะเป็นลูกคลื่น มีสิ่งกีดขวาง ตลอดจนเบรลล์บล็อก(Braille Block)สำหรับผู้พิการที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นสิ่งที่คน กทม.พบเจอเป็นปกติแทบทุกเส้นทาง
ขณะที่ปัญหาการใช้ทางเท้าร่วมกันระหว่างผู้คนที่ใช้สัญจร กับแผงค้า รถเข็น ยังคงเป็นเรื่องหนักใจที่ต้องหาทางออกเพื่อให้เกิดความสมดุลในการประสานประโยชน์ในพื้นที่ร่วมกัน

ภาพถ่าย-แม่ค้ารถเข็นไอศครีมเข็นหลบพื้นที่ทางเท้าซึ่งไม่ได้มาตรฐาน บริเวณย่านรามคำแหง


กั๊กที่จอดรถบนถนนสาธารณะ
.
การกั๊กที่จอดรถหน้าบ้านหรือร้านค้าซึ่งอยู่บนพื้นที่ถนนสาธารณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯโดยเฉพาะพื้นในย่านธุรกิจและพื้นที่ซึ่งมีการอยู่อาศัยหนาแน่น
ด้วยข้อจำกัดเรื่องปริมาณรถซึ่งมีมากกว่า 4 ล้านคัน กับพื้นที่ซึ่งไม่สัมพันธ์กัน ทำให้เราสามารถพบเห็นโครงเหล็ก เก้าอี้พลาสติก จนถึงกระถางต้นไม้ ถูกนำมาใช้เป็นวัสดุจับจอง เปลี่ยนพื้นที่ถนนสาธารณะไปเป็นของตนเอง
ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ถนนสาธารณะดังกล่าวจะอยู่หน้าบ้านตัวเองก็ตาม

ภาพถ่าย-กระถางต้นไม้ถูกนำมาวางเพื่อกั๊กเป็นพื้นที่จอดรถ บริเวณหน้าบ้านแห่งหนึ่ง ย่านสัมพันธวงศ์

การพัฒนาเมืองโดยขาดการมีส่วนร่วม
.
‘ป้อมมหากาฬ’ เป็นชุมชนชานเมืองพระนครแห่งสุดท้ายซึ่งถูกรื้อย้ายไปในปี 2561 พร้อมกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน ชาวบ้านนับสิบครัวเรือนที่ตั้งรกรากในพื้นที่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่างต้องแยกย้ายกระจัดกระจาย

ก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวทางจากภาคประชาสังคมในการอนุรักษ์พื้นที่ ‘ป้อมมหากาฬ’ ซึ่งมีบ้านไม้เก่าแก่อายุนับร้อยปีหลายหลัง โดยเสนอให้ปรับพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอนุรักษ์วิถีชุมชน เนื่องจากชาวบ้านและภาคประชาสังคมใช้เวลากว่า 26 ปีในการต่อสู้
อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดผู้บริหารกรุงเทพฯ มองต่างออกไป ตัดสินใจผลักดันชาวบ้านชุดสุดท้ายออกจากพื้นที่ในเดือน พ.ค. 2561 พร้อมแทนที่ด้วยสวนสาธารณะมูลค่า 69 ล้านบาท ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง

ภาพถ่าย-บ้านไม้หลายสิบหลังและวิถีชุมชนถูกแทนที่ด้วยบันไดถ่ายภาพซึ่งตั้งไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพ หลังการเข้าพัฒนาพื้นที่ไล่รื้อ ‘ป้อมมหากาฬ’ ของกรุงเทพมหานคร


โครงการก่อสร้างขนาดใหญที่ล่าช้า
.
ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ โดยเฉพาะ ‘รถไฟฟ้า’ ที่กระจายอยู่หลายจุดทั่วพื้นที่

การก่อสร้างหลายโครงการพบปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า มีการขยายสัญญาเพิ่ม โดยยกเหตุผลเรื่องการส่งมอบพื้นที่และการขาดแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง เดิมเปิดให้บริการปลายปี 64 เลื่อนไปกลางปี 65
รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี สำโรง เดิมเปิดให้บริการต้นปี 65 เลื่อนเป็นกลางปี 65

ปัญหาการก่อสร้างหลายโครงการขนาดใหญ่ที่ล้าช้าเป็นหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญและส่งผลโดยตรงต่อปัญหาการจราจรติดขัด

ภาพถ่าย-การจราจรติดขัดบนถนนลาดพร้าวซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่เดิมกำหนดเปิดให้บริการปลายปี 2564


ความเหลื่อมล้ำ
.
ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกตามข้อมูลของ CS Global Wealth Report ของสถาบันวิจัย Credit Suisse ในปี 2018 ระบุคนไทย 1% ถือครองความมั่งคั่ง หรือมีทรัพย์สินรวม 66.9% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ

ความเหลื่อมล้ำ ถูกสะท้อนผ่านปัญหาคนไร้บ้านซึ่งเป็นผลลัพธ์หนึ่งของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ จากข้อมูลของมูลนิธิอิสรชนพบว่ามีจำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ กว่า 4,500 คนในปัจจุบัน โดยเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา
ขณะที่ปลัดกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ได้เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง

ภาพถ่าย-คนไร้บ้านนั่งพักด้านหน้าโชว์รูมรถยนต์แห่งหนึ่งริมถนนราชดำเนิน


การจราจรติดขัด
.
ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน จากการจัดอันดับของ TomTom Traffic Index พบว่ากรุงเทพฯเป็นเมื่องที่รถติดเป็นอันดับที่ 10 ของโลก มีวันที่รถติดหนักๆ 44 วันใน 1 ปี
คนกรุงเทพฯ ต้องสูญเสียเวลาบนท้องถนนในการเดินทางปีละ 71 ชั่วโมง ขณะที่ปริมาณรถกว่า 9 ล้านคัน ไม่สัมพันธ์กับพื้นที่ถนนที่มีอยู่ 7.2 ของพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งน้อยกว่าค่ามาตรฐานกว่า 3 เท่า
ปัญหารถติดเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจำนวนรถไม่สอดคล้องกับผังเมือง, การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่, ระเบียบวินัยการใช้ถนน จนถึงระบบขนส่งสาธารณะไม่มีคุณภาพ

ภาพถ่าย-สัญญาณไฟจราจร บริเวณแยกเพชรพระราม


ที่มา Voice TV