วันเสาร์, พฤษภาคม 21, 2565

วันนี้ ทั้ง 4 คน #ตะวัน #เก็ทโสภณ #บุ้ง #ใบปอ ที่ยื่นขอประกันตัว ไม่มีใครได้รับการปล่อยตัวเลย


Pipob Udomittipong
8h
#FreeTawan #ปล่อยเพื่อนเรา #เมื่อตะวันส่องฟ้า
https://twitter.com/Nopkarian/status/1527486942195359744

ศาลให้ฝากขัง “ตะวัน-เก็ท” ต่ออีก 7 วัน ก่อนนัดไต่สวนประกันตะวัน 26 พ.ค. – ไม่อนุญาตให้ประกันเก็ทครั้งที่ 3 อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม



20/05/2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

20 พ.ค. 2565 เวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอฝากขัง “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในผัดที่ 8 ในคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกกล่าวหาจากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 หลังพนักงานอัยการยื่นขอให้ศาลฝากขังต่อไปอีกเป็นเวลา 7 วัน โดยอ้างว่าขอเวลาเพื่อพิจารณาสำนวนเพื่อมีความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ รวมถึงรอความเห็นสั่งฟ้องจากคณะกรรมการอัยการสูงสุด ขณะที่ตะวันถูกขังมาแล้ว 31 วัน

ศาลยังได้นัดไต่สวนคำร้องขอฝากขัง “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ในผัดที่ 3 ในคดีตามมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 หลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยื่นขอฝากขังต่อไปอีกเป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างว่าต้องรอสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปาก รอผลตรวจพิสูจน์ของกลาง ลายพิมพ์นิ้วมือ และผลตรวจประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา

หลังดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตะวันและโสภณต่ออีก 7 วัน จากนั้นทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทั้งสองต่อทันที โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นประกันตะวัน และวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ในการยื่นประกันโสภณ ต่อมาศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตะวันในวันที่ 26 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ขณะที่ไม่อนุญาตให้ประกันโสภณ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
.
อัยการขอฝากขัง “ตะวัน” ต่ออีก 7 วัน อ้างเพิ่งได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน ต้องใช้เวลาพิจารณาสั่งฟ้อง – รอความเห็นจากคณะกรรมการอัยการสูงสุดตามนโยบายคดี 112

หลังศาลเพิกถอนประกันตะวันในคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ทำให้เธอถูกฝากขังระหว่างสอบสวนมาตั้งแต่ผัดที่ 4 และศาลอนุญาตให้ฝากขังเรื่อยมาจนถึงผัดที่ 7 ซึ่งจะครบกำหนดฝากขังในวันที่ 22 พ.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ โดยก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เจ้าของสำนวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง วันนี้พนักงานอัยการจึงมายื่นคำร้องขอฝากขังตะวันต่อเป็นผัดที่ 8 อีกเป็นเวลา 7 วัน (23-29 พ.ค. 2565) ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังต่อ ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้องขอฝากขัง

ณ ห้องพิจารณาคดี 916 ในเวลา 11.00 น. ก่อนกำหนดเวลาเดิมที่วางไว้ ศาลดำเนินการไต่สวนคำร้องขอฝากขังตะวันและโสภณตามลำดับ โดยเบิกตัวทั้งสองผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แม้ทนายความจะระบุในคำร้องขอให้เบิกตัวผู้ต้องหามาศาลก็ตาม การไต่สวนเริ่มขึ้นโดยเป็นการไต่สวนกรณีของตะวันเป็นลำดับแรก

ในการไต่สวนคำร้องขอฝากขังตะวัน มีพยาน 1 ปาก คือ ร.ต.อ.ทองสุข พิธรรม พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องขอฝากขังตะวันในครั้งนี้เบิกความว่า คดีนี้ตนเองได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 ในช่วงบ่าย และจะครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 ในวันที่ 22 พ.ค. 2565 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์

สำนวนคดีนี้มีเอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณาทำความเห็นและทำคำสั่งเป็นจำนวนมาก และคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ต้องเสนอให้คณะกรรมการสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งขณะนี้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้จัดส่งสำนวนการสอบสวนให้คณะกรรมการสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวพนักงานอัยการจึงขอยื่นคำร้องให้ฝากขังผู้ต้องหาไว้ต่ออีก 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 23-29 พ.ค. 2565

ทนายผู้ต้องหาถามค้านว่า “การขังผู้ต้องหาไว้ต่อไปเป็นการขังที่เกินแก่ความจำเป็นหรือไม่” ร.ต.อ.ทองสุข ตอบว่า “พยานยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาวันนี้เป็นไปตามหน้าที่และตามกฏหมายเท่านั้น ส่วนศาลจะอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่นั้นเป็นดุลยพินิจของศาล ศาลจะฝากขังหรือไม่ก็ไม่เป็นไร”

ทนายถามว่า “จะขังหรือปล่อยตัวผู้ต้องหาสำนวนคดีก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปใช่หรือไม่” ร.ต.อ.ทองสุข ตอบว่า “ไม่เปลี่ยน แต่หากไม่ขังไว้ก็อาจจะนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องคดีไม่ได้ เพราะคดีนี้เป็นคดีสำคัญและมีอัตราโทษสูง”

จากนั้นศาลได้ถามตะวันว่า “รู้จักกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ซึ่งใช้ตำแหน่ง ส.ส.ยื่นประกันตะวันในครั้งที่แล้ว (17 พ.ค. 2565) และในวันนี้หรือไม่” ตะวันตอบว่า “ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว”

จากนั้นศาลได้อธิบายถึง “คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว” ตะวันครั้งก่อน ที่ยื่นประกันโดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยศาลแถลงว่าคำสั่งไม่ให้ประกันดังกล่าวมีใจความสำคัญอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) สลิปเงินเดือน และ 2) พฤติการณ์พิเศษอื่น

“สลิปเงินเดือน” ศาลชี้แจงว่ามีความสำคัญเพื่อที่ศาลจะได้พิจารณาถึง “รายได้สุทธิ” ซึ่งต่างจาก “อัตราเงินเดือน” โดยอัตราเงินเดือนคือรายได้ที่ยังไม่ถูกหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ออกไป เช่น ภาษี ฯลฯ แต่สลิปเงินเดือนนั้นจะบอกให้ทราบถึงรายได้สุทธิที่หักค่าใช้ต่างๆ ออกไปแล้ว และแสดงจำนวนรายได้ที่ได้รับจริงๆ ว่าเท่าใดกันแน่ ซึ่งสำคัญต่อการประกอบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “เพราะเมื่อผู้ต้องหาหลบหนีจะได้บังคับเอาเงินจากนายประกันได้”

ส่วน “พฤติการณ์พิเศษอื่น” นั้นศาลชี้แจงว่า หมายถึงการที่ผู้ร้องอาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้รับรองความประพฤติผู้ต้องหาว่า หากถูกปล่อยตัวไปจะควบคุมไม่ให้ผู้ต้องหาฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวได้ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ศาลต้องการจะนำไปประกอบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป

ศาลกล่าวอีกว่า ตะวันเป็นเพียงเยาวชนอายุ 20 ปี ไม่ใช่คนก้าวร้าวอะไร แต่ที่ต้องขังไว้เพราะเป็นไปตามกฏหมาย เนื่องจากคดีมาตรา 112 มีหลักเกณฑ์ต่างจากคดีอื่นๆ ทั่วไป

สุดท้าย ทนายความแถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยได้มาตามนัดหมายของพนักงานสอบสวนและศาลทุกครั้ง ไม่เคยผิดสัญญาแม้แต่ครั้งเดียว

ทั้งนี้ ในระหว่างการไต่สวน ศาลได้ตักเตือนผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการจดบันทึกการไต่สวนว่า “หากจะจด ให้นำไปเผยแพร่ทุกเรื่อง อย่าเลือกเสนอเฉพาะบางประเด็นเท่านั้น”

เมื่อไต่สวนกรณีของตะวันแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ศาลได้เชื่อมต่อสัญญาณไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อติดต่อโสภณ และศาลได้ดำเนินการไต่สวนคำร้องขอฝากขังโสภณต่อทันที

ตร.ขอฝากขัง “โสภณ” เพิ่ม 12 วัน อ้างเหตุต้องสรุปสำนวนเสนอต่อผู้บังคับบัญชา-ตามตัวมาฟ้องต่อศาลได้ง่าย แม้ครั้งก่อนศาลเคยสั่งจะให้ฝากขังครั้งสุดท้าย

คดีนี้ โสภณถูกจับกุมตามหมายจับในช่วงค่ำเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 ในคดีตามมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 และถูกฝากขังระหว่างสอบสวนในผัดที่ 1 มาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. จนจะครบกำหนดฝากขังผัดที่ 2 ในวันนี้ (20 พ.ค. 2565) เช้าวันนี้พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ จึงได้ยื่นคำร้องขอฝากขังโสภณต่อเป็นผัดที่ 3 ต่อไปอีก 12 วัน ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังต่อ ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวน

11.45 น. ปรากฏภาพโสภณบนหน้าจอภาพ เขาเดินเข้ามาในห้องที่จัดไว้สำหรับการไต่สวนผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ด้วยชุดเสื้อสีฟ้า กางเกงสีน้ำตาล และสังเกตเห็นได้ว่าโสภณถูกตัดผมแล้วจนสั้นเกรียน ทำให้ไม่เหลือเค้าเดิมก่อนจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำเลย

การไต่สวนเริ่มขึ้น โดยมีพยาน 1 ปาก คือ ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวน สน. สำราญราษฎร์ ผู้ร้อง ขอฝากขังโสภณ เบิกความว่า ตนยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มอีก 1 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง (แผ่น DVD) รอผลตรวจลายพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา และตรวจสอบประวัติการต้องโทษ ประกอบกับผู้ต้องหาเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวการเมืองกลุ่มโมกหลวงริมน้ำซึ่งมีพฤติการณ์เป็นบุคคลเฝ้าระวังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเหตุผลข้อสุดท้ายคือ ต้องมีการสรุปสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาระดับกองบังคับการและระดับกองบัญชาการเพื่อพิจารณาตามลำดับ

ด้านพยานบุคคล 1 ปาก ที่พยานอ้างว่าจะต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น คือ ผู้อำนวยการกองกฎหมายของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งจะให้พยานปากนี้มาดูคลิปวิดิโอและถ้อยคำซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้แล้วให้ความเห็นว่าเข้าองค์ประกอบตามข้อกล่าวหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาหรือไม่

ส่วนผลตรวจพิสูจน์หลักฐานแผ่น DVD และลายพิมพ์นิ้วมือนั้น พยานยังไม่ได้รับมาแต่อย่างใด พยานจึงได้ส่งหนังสือทวงถามไปยังกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบกลับมาแต่อย่างใด ส่วนการตรวจประวัติการต้องโทษของโสภณนั้น พยานสามารถทำได้เอง แต่จะสามารถทำได้หลังจากได้รับผลตรวจพิสูจน์ของกลางและการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือก่อน

ร.ต.อ.โยธี ตอบคำถามศาลเพิ่มเติมในเหตุขอฝากขังที่เพิ่มมาในรอบนี้ว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษที่การสรุปสำนวนนั้นต้องเสนอต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งเป็นคณะทำงานในระดับกองบังคับการและระดับกองบัญชาการตามลำดับ พยานจึงขอฝากขังโสภณต่อเป็นครั้งที่ 3 อีกเป็นเวลา 12 วัน

จากนั้นศาลให้ข้อแนะนำกับพนักงานสอบสวนว่า ควรนำเสนอระเบียบภายในหรือหนังสือแต่งตั้งคณะทำงานมาให้เรียบร้อยในคราวหน้า ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้เบิกความถึงรายละเอียดของคณะทำงานในสองระดับนั้นต่อศาลแต่อย่างใด

ร.ต.อ.โยธี ตอบทนายผู้ต้องหาถามค้านว่า ในการรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลางและลายพิมพ์นิ้วมือนั้น ไม่ว่าอย่างไรผู้ต้องหาจะไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงหรือยุ่งเกี่ยวกับความเห็นของหน่วยงานนั้นได้อยู่แล้ว ส่วนพยานบุคคลที่จะต้องสอบสวนเพิ่มอีก 1 ปากนั้น ผู้ร้องเองไม่สามารถบังคับให้พยานมาให้ความเห็นในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ อีกทั้งผู้ต้องหาเองก็ไม่สามารถที่จะสั่งการพยานปากนี้ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ พยานยังยืนยันคำเบิกความในการไต่สวนฝากขังครั้งก่อนว่า “การปล่อยตัวโสภณไม่มีผลต่อการสอบสวนและทำสำนวนคดี” แต่พยานตอบเพิ่มเติมว่า “แต่เกรงว่าเมื่อมีการสรุปสำนวนแล้วหากไม่มีตัวผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจศาลหรือจะให้ทำการหมายเรียกผู้ต้องหาเองก็จะเป็นการยาก”

ร.ต.อ.โยธี รับว่า คดีนี้ตนไม่เคยออกมาเรียกโสภณให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาก่อน แต่ขอศาลให้ออกหมายจับเลย โดยอ้างว่าเนื่องจากคดีนี้มีโทษเกิน 3 ปี ซึ่งกฎหมายให้กระทำการเช่นนั้นได้ อีกทั้งจำได้ว่าการไต่สวนครั้งก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังต่อเพียง 5 วัน และกำชับว่าจะอนุญาตให้ฝากขังเป็น “ครั้งสุดท้าย”

จากนั้นศาลได้นัดฟังคำสั่งทั้งของตะวันและโสภณในเวลา 13.30 น.

ศาลให้ฝากขังตะวันต่ออีก 7 วัน (23-29 พ.ค.) อ้างให้เวลาอัยการพิจารณาสำนวน-รอความเห็นคณะกรรมการเพื่อมีความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่

เวลาประมาณ 14.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตะวันต่ออีก 7 วัน เนื่องจากพนักงานอัยการไม่อาจพิจารณาสั่งได้ทันทีและต้องรอความเห็นว่าจากคณะกรรมการอัยการสูงสุดก่อนจึงจะมีความเห็นสั่งฟ้องได้ กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นเพื่อการฟ้องคดี รายละเอียดคำสั่ง ดังนี้

“พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านของผู้ต้องหาแล้วได้ความจากผู้ร้องว่า ผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 เวลาประมาณ 13.00 น. ผู้ร้องจึงไม่อาจที่จะพิจารณาสั่งฟ้องได้ทัน

ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดเรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เอกสารหมาย ร.1 ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการของสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน และได้ส่งสำนวนให้ทางคณะกรรมการพิจารณาแล้วในวันเดียวกันหลังจากได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่ได้รับสำนวนกลับคืนมา ด้วยเหตุดังกล่าวจึงขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลในครั้งนี้อีก 7 วัน และผู้ร้องยืนยันว่าผู้ร้องเองและคณะกรรมการสามารถดำเนินการพิจารณาสั่งคดีได้แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้

ผู้ต้องหาคัดค้านว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หากไม่ฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลก็ไม่ได้เป็นเหตุที่จะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขัง

เห็นว่าเมื่อผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 เวลาประมาณ 13.00 น. ทำให้ผู้ร้องไม่อาจพิจารณาสั่งได้ทันที และคดีนี้ก่อนฟ้องคดี ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นเพื่อการฟ้องคดี

ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายอื่น จึงไม่มีเหตุที่จะขังผู้ต้องหานั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรค 1 บัญญัติว่า เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้วในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 57 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่า เหตุที่จะออกหมายจับได้ มีดังต่อไปนี้ 1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ดังนั้น ตามบทดังกล่าวให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 (1)

กรณีการฝากขังของผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66(2) ตามที่ผู้ต้องหาคัดค้าน

จึงเห็นสมควรให้ฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 8 นี้เป็นเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ 23 พ.ค. 2565 ถึงวันที่ 29 พ.ค. 2565 แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106”
.
ศาลให้ฝากขังเก็ทต่ออีก 7 วัน (21-27 พ.ค.) แม้ครั้งก่อนศาลเคยมีคำสั่งให้ฝากขังเป็น “ครั้งสุดท้าย” อ้างให้เวลาพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีให้แล้วเสร็จ-เสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา

ด้านโสภณ ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังต่ออีก 7 วันเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนยังทำสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ ซึ่งต้องทำการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 1 ปาก รอผลตรวจพิสูจน์ของกลาง ลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา มีรายละเอียดคำสั่ง ดังนี้

“พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวน คำร้องขอคัดค้านของผู้ต้องหาแล้วได้ความจากผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้ส่งหนังสือให้กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตรวจพิสูจน์หลักฐานแผ่น DVD และรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับผลการตรวจพิสูจน์กลับคืนมา

และการตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหานั้น ผู้ร้องสามารถดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้รับผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาแล้ว อีกทั้งผู้ร้องได้ออกหมายเรียกพยานเพิ่มเติมอีก 1 ปาก เพื่อมาให้การเพิ่มเติม ซึ่งพยานเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมายมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อมาให้ความเห็นในประเด็นเกี่ยวกับคลิปเหตุการณ์กระทำความผิดของผู้ต้องหาว่าพยานมีความเห็นอย่างไร อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาสั่งคดีของผู้ร้อง อีกทั้งผู้ร้องต้องเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาในระดับกองบังคับการและระดับกองบัญชาการพิจารณาสำนวนการสอบสวนก่อน

ผู้ต้องหาคัดค้านว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุที่ผู้ต้องขังผู้ต้องหาอีกครั้ง ประกอบกับพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเคยให้ความเห็นว่า “การไม่ฝากขังผู้ต้องหาไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน” กรณีจึงไม่จำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหา ขอให้ศาลยกคำร้อง

เห็นว่า ในการฝากขังครั้งนี้ผู้ร้องยังจะต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 1 ปาก ทั้งจะต้องสอบประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหา ซึ่งต้องดำเนินการภายหลังได้รับการการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือแล้ว และผู้ร้องได้อ้างเพิ่มเติมในการฝากขังครั้งนี้ว่าจะต้องส่งสำนวนให้กับผู้บังคับบัญชา ซึ่งการเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาจะต้องกระทำภายหลังที่การสอบสวนในส่วนอื่นๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

กรณีจึงมีเหตุจำเป็นแค่การสอบสวนที่จะอนุญาตให้ผู้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไปได้ ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อภยันตรายอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุที่จะขังผู้ต้องหานั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรค 1 บัญญัติว่า เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้วในระยะใดระหว่างสอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่า เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ 1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ดังนั้น บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายครั้งผู้ต้องหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 (1)

กรณีการฝากขังของผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 (2) ตามที่ผู้ต้องหาคัดค้าน

แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การดำเนินการสอบสวนในส่วนที่เหลือดังกล่าวไม่น่าจะใช้ระยะเวลานานถึง 12 วัน จึงอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 3 นี้ 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 21 – 27 พ.ค. 2565 แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106”

ทั้งนี้ คำสั่งอนุญาตให้ฝากขังต่อทั้งกรณีของตะวันและโสภณ ลงนามคำสั่งโดย สมบัติ บุญหิรัญ และครรชิต ช่อเกตุ ผู้พิพากษาศาลอาญา
.
ศาลสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอประกัน “ตะวัน” 26 พ.ค. ด้าน “เก็ท” ศาลยกคำร้องขอประกัน ชี้ “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

หลังศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตะวันและโสภณอีก 7 วัน ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวทั้งสองต่อทันที ด้านตะวันเป็นการยื่นขอประกันโดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ได้แนบเอกสารเพิ่มเติมเป็นสลิปเงินเดือนของพิธาไปด้วย หลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องในครั้งที่ผ่านมาด้วยเหตุผลว่า ยังไม่ปรากฏหลักฐานอัตราเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือนของผู้ร้อง ด้านโสภณทนายความได้ยื่นขอประกันครั้งที่ 3 โดยใช้เงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ต่อมา เวลา 15.50 น. กรณีคำร้องขอประกันตะวัน ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้อง และให้ทนายความรวมถึงผู้ร้องเสนอเงื่อนไขประกอบการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลเพิ่มเติม มีรายละเอียดคำสั่ง ดังนี้

“นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราววันที่ 26 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ให้ผู้ร้องเสนอพฤติการณ์พิเศษที่เป็นเหตุให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา เช่น ผู้ร้องขอเป็นผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้ผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้อีก ดังที่เคยผิดสัญญาประกันมาแล้ว และหากผู้ต้องหาผิดเงื่อนไข ผู้ร้องจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ให้ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขให้ศาลพิจารณาประกอบในการปล่อยตัวชั่วคราวก่อนหรือในวันนัด ให้แจ้งพนักงานสอบสวน หากขอคัดค้านให้ยื่นคำร้องขอคัดค้านก่อนหรือในวันนัด ให้ผู้ร้องมาศาลเพื่อไต่สวนพฤติการณ์พิเศษในวันนัดด้วย”

กรณีคำร้องขอประกันเก็ท ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง มีรายละเอียดคำสั่ง ดังนี้ “พิเคราะห์แล้วศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนตลอดการพิจารณาโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยกคำร้อง”

ลงนามในคำสั่งทั้งสองโดย พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
.
ตะวันอดอาหารมาแล้ว 1 เดือน นน.ลดมากกว่า 4 กก. ด้านเก็ท นน.ลดกว่า 5 กก. ทั้งคู่อ่อนเพลีย-หน้ามืด แต่ยังยืนกรานอดอาหารต่อ ตะวันประกาศจะดื่มแต่น้ำเปล่าเท่านั้นหลังจากไม่ได้ประกันในวันนี้

ตะวันเผยว่า อดอาหารมาครบ 1 เดือนแล้ว น้ำหนักตัวลงลงไปกว่า 4 กิโลกรัม เหลือเพียง 44 กิโลกรัม จากเดิมประมาณ 48 กิโลกรัม มีอาการหน้ามืดบ่อยครั้ง อ่อนเพลีย แต่ยังยืนยันว่ากำลังใจดีอยู่ และฝากขอบคุณทุกคนว่า “เป็นเพราะคนข้างนอกถึงยังมีกำลังใจดีอยู่อย่างนี้ ไม่รู้ว่าถ้าไม่มีกำลังใจจากทุกคน ตอนนี้จะเป็นยังไง”

ด้านโสภณเล่าว่า อดอาหารเกินครึ่งเดือนทำน้ำหนักตัวลดลงไปกว่า 5 กิโลกรัมแล้ว ประกอบกับมีอาการหน้ามืดและอ่อนเพลีย โสภณยังฝากข้อความถึงพ่อว่า “ให้พ่อเข้มแข็งไว้ รู้ดีว่าลูกโดนคดีคงทำให้พ่อแม่รู้สึกกังวลแต่ขอให้พ่อแม่ยังมีความสุขได้และมีชีวิตอยู่ต่อไป เราเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมยังคาดหวังได้”

สำหรับสิ่งที่อยากทำมากที่สุดตอนนี้โสภณบอกว่า นั่นคือ “การยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง” เพื่อจะได้ออกจากเรือนจำมาใช้ชีวิตปกติ โสภณบอกอีกว่า การถูกฝากขังระหว่างสอบสวนทำให้เขาไม่มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เนื่องจากจะไปสืบเสาะหาพยานหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ไม่มีความเป็นส่วนตัว มีข้อจำกัดหลายอย่างมาก

สุดท้าย โสภณฝากถึงคนข้างนอกว่า “ผมขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดี อยู่ในนี้มันก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว ทำอะไรไม่ค่อยได้ ดูแลตัวเองดีๆ นะครับ”
.
ดูฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “ทานตะวัน” ไลฟ์สดหน้า UN ก่อนขบวนเสด็จผ่าน ถูกกล่าวหา “ด้อยค่า” กษัตริย์

คดี 112 “เก็ท-โสภณ” เหตุปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว พาดพิงราชินี

อ่านเรื่องของเก็ทและตะวันเพิ่มเติม

‘สมบัติ’ เป็นห่วงครอบครัวข้างนอก แต่กำลังใจยังดี ขณะ ‘ตะวัน’ ยังอดอาหารต่อ แม้จะวูบ หน้ามืดทุกวัน อาการอาจทรุดหากยังถูกฝากขังผัดหน้า

บันทึกเยี่ยมตะวัน: บทกวีจากหลังลูกกรง กับการอดอาหารที่ยังยืนยันต่อไป

“เก็ท” #โมกหลวงริมน้ำ : จากนักศึกษาแพทย์รังสี สู่ผู้ถูกคุมขังในคดีความมั่นคงของรัฐ

บันทึกเยี่ยมเก็ท โสภณ: โมกหลวงในเรือนจำ อดอาหารวันแรกขอใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เรียกร้องสิทธิประกันตัว
6h

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2565)
คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยื่นคำร้องขอประกันตัวน้องตะวันอีกครั้งหลังจากที่ศาลอาญาเคยปฏิเสธเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 โดยอ้างว่าเอกสารไม่ครบ
ในวันนี้ ศาลอาญามีคำสั่งว่า
“นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราววันที่ 26 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ให้ผู้ร้องเสนอพฤติการณ์พิเศษที่เป็นเหตุให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาเช่น ผู้ร้องขอเป็นผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้ผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้อีกดังที่เคยผิดสัญญาประกันมาแล้วและหากผู้ต้องหาผิดเงื่อนไข ผู้ร้องจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ให้ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขให้ศาลพิจารณาประกอบในการปล่อยตัวชั่วคราวก่อนหรือในวันนัดให้แจ้งพนักงานสอบสวนหากขอคัดค้านให้ยื่นคำร้องขอคัดค้านก่อนหรือในวันนัดให้ผู้ร้องมาศาลเพื่อไต่สวนพฤติการณ์พิเศษในวันนัดให้เบิกตัวผู้ต้องหามาศาล”
ผมกับตะวันจะไปศาลในวันที่ศาลนัดคือในวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 แล้วเราจะตัดสินใจอีกทีว่าเราจะทำอย่างไรกันต่อไป
แต่ผมไม่แน่ใจว่าในวันนัดไต่สวนที่ศาลสั่งนั้น ตะวันจะมีสติสัมปชัญญะคุยกับผมรู้เรื่องหรือไม่ เพราะเมื่อถึงวันนัดไต่สวนของศาล ตะวันจะอดอาหารเป็นเวลา 46 วัน ตามที่เธอได้ประกาศไว้
ผมหวังว่า 26 พฤษภาคม 2565 ที่ศาลเบิกตัวเธอมานั้น ผมจะได้เจอตัวเธอจริงๆ
ขอให้เธอจงเข้มแข็งและอยู่รอดจนถึงวันนั้น ดั่งดวงตะวันที่เป็นชื่อของเธอ