วันจันทร์, พฤษภาคม 09, 2565

ขอร่วมส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจที่กำลังจะเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ เรื่องรถเมล์ที่ไม่มีแอร์ มันฟ้องถึงความล้าหลัง ความไม่แยแสของผู้มีอำนาจต่อประชาชนผู้เสียภาษีที่ต้องใช้รถเมล์


Puangthong Pawakapan
16h ·

มีเงินผลาญไปกับอาวุธ ที่จำนวนมากใช้ไม่ได้ แต่ไม่มีเงินเปลี่ยนรถทั้งหมดเป็นรถแอร์ให้ประชาชนที่ทำงานจ่ายภาษีให้รัฐบาล-ข้าราชการถลุงเล่น รถเมล์ร้อนคือสัญลักษณ์ของความยากจน ความล้าหลัง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่แยแสประชาชน ของประเทศนี้

มนุษย์กรุงเทพฯ
17h ·

“ผมทำอาชีพขับรถเมล์ ขสมก. มาตั้งแต่ปี 2532 ขับรถครีมแดงสาย 29 มาตลอดเลย จนกระทั่งปี 2563 ขสมก. ให้เอกชนมาสัมปทานสาย 29 ผมเลยเปลี่ยนมาขับรถแอร์สาย 510 จนถึงปัจจุบัน ปัญหาของรถเมล์ในสมัยก่อนมีทั้งเรื่องคุณภาพของรถ ช่วงแรกที่ผมขับยังเป็นรถขนาด 10 เมตร เบรคไม่ได้คุณภาพ เหยียบแต่ละทีแทบจะยืนเบรค ไม่ใช่พวงมาลัยพาวเวอร์ด้วย เวลาจะเลี้ยวต้องออกแรงเยอะ สภาพรถเก่า ขับยาก รถน้อย แต่คนขึ้นเยอะ อากาศบนรถครีมแดงร้อนมาก เวลารถจอดติดไฟแดง ผู้โดยสารชะเง้อแล้วชะเง้ออีก หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นรถขนาด 12 เมตร บางสายก็ยังใช้จนถึงทุกวันนี้ สำหรับคนขับถือว่าดีขึ้นหน่อย มีช็อบเบรค เป็นพวงมาลัยพาวเวอร์ แต่สำหรับผู้โดยสารก็ยังอยู่ร้อนๆ เหมือนเดิม
“บนรถเมล์ร้อนมีแต่ไอร้อน อยู่บนนั้นนานๆ แล้วแสบตา ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย จากร้อนก็เปลี่ยนง่วง เวลาเจอรถติดยิ่งหนักเลย เป็นอะไรที่ทรมานมาก คนขับก็เหนื่อย ผู้โดยสารก็เครียด ถ้าเวลาฝนตกแล้วปิดกระจก โอ้โห… สุดยอดเลย ร้อนเหมือนหม้อต้ม พอฝนตกแล้วข้างนอกเย็น แต่ข้างในร้อน ปิดกระจกแล้วเป็นฝ้าอีก ทำให้มองไม่ค่อยเห็นทาง ตั้งแต่มาขับรถเมล์แอร์ ผมไม่ร้อน ไม่ค่อยเหนื่อย ระหว่างวันเลยไม่ค่อยหงุดหงิด เท่าที่เห็นผู้โดยสารก็ไม่ค่อยเครียดด้วย บ้านเราเป็นเมืองร้อน อากาศร้อนมาก ถ้ารัฐสามารถทำให้ราคาของรถเมล์แอร์ไม่สูงขึ้นมาก คิดหาวิธีมาสนับสนุน มีส่วนลดหรือบัตรอะไรก็ว่าไป เช่น บัตรคนแก่ บัตรนักเรียน เอาให้ราคาอยู่ในระดับที่คนธรรมดาเข้าถึงได้ ผมว่าเปลี่ยนให้รถเมล์ทุกคันเป็นแอร์ไปเลยก็ดี
“ไม่ใช่แค่เรื่องร้อนอย่างเดียว รถเมล์ร้อนในบ้านเราเป็นแบบชานสูง พอบันไดสูงชัน ผู้สูงอายุก็ก้าวขึ้นลำบาก หลายคนก้าวแล้วเหมือนน้ำหนักตัวจะไปข้างหลัง ก็มีความเสี่ยงที่จะหล่นจากรถอีก ส่วนคนพิการที่ใช้วีลแชร์คือขึ้นไม่ได้เลย ถ้าสามารถเปลี่ยนให้เป็นรถเมล์ชานต่ำ ผู้สูงอายุก็ใช้บริการสะดวก คนพิการก็ได้ใช้บริการด้วย อย่างรถแอร์สาย 510 ที่ผมขับเป็นรถเมล์ชานต่ำ เวลาผู้สูงอายุมาใช้บริการ เห็นเลยว่าเขาก้าวขึ้นง่ายกว่า คล่องตัวกว่า ที่ผ่านมามีคนพิการเคยขึ้นบ้าง ผมว่าดีเลยนะ มันให้โอกาสคนพิการได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน เห็นข่าวว่าจะมีรถเมล์ชานต่ำเข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็ยังเงียบอยู่
“เวลาฝนตกหนักๆ สิ่งที่เจออยู่ตลอดคือถนนใน กทม. และชานเมือง มักน้ำท่วมขัง บางครั้งน้ำเข้ามาในรถเมล์ชานต่ำเลยด้วย เวลาขับแล้วเจอน้ำท่วมก็อันตรายนะ ถนนบางสายขุดอะไรมากมาย เป็นหลุม เป็นบ่อ พอเรามองไม่เห็นพื้นก็ขับแล้วอันตราย แล้วเดี๋ยวนี้ฟุตบาทมีอะไรเต็มไปหมด บางครั้งจะเข้าจอดที่ป้ายแทบหาป้ายไม่เจอ ตู้นั่นตู้นี่ เสานั่นเสานี่ ตอนนี้มีป้ายหาเสียงอีก อีกปัญหาหนึ่งที่เจอมาตลอด แต่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยคือ แท็กซี่ที่จอดแช่ตามป้ายรถเมล์ต่างๆ โดยเฉพาะหน้าสนามบินดอนเมือง และแถวสวนจตุจักร ทำให้รถเมล์ไม่สามารถเข้าป้ายได้ ทั้งช่วงเช้า 8-9 โมง และช่วงเย็นๆ มันทำให้รถติด เห็นปัญหานี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ไม่มีใครแก้ อยากให้คนที่รับผิดชอบมาแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย
“รายได้หลักของพนักงาน ขสมก. เป็นเงินเดือน เราเลยไม่ได้ซีเรียสเรื่องจำนวนผู้โดยสาร แค่เน้นบริการให้ดี ขณะที่รายได้ของพนักงานรถร่วมบางคนได้เป็นเปอร์เซ็นต์ ยิ่งบางคนต้องเช่ารถเอง เขาเหมือนลงไปในเกมแล้ว จำเป็นต้องแข่งขันและแก่งแย่ง คงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่รถร่วมหลายสายขับค่อนข้างเร็ว ผมเคยรถติดคู่กับรถร่วมแล้วถามเขาว่า ‘เป็นยังไงบ้างวันนี้’ คนขับรถเมล์สาย 8 บอกว่า 'แทบจะไม่เหลือเลย' ถ้าพนักงาน ขสมก. อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันก็อาจทำแบบเดียวกัน วิธีแก้คงต้องทำให้รถร่วมให้เงินเดือนเป็นหลัก หรือบางเส้นทางก็ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐเข้าไปรับผิดชอบ สุดท้ายความปลอดภัยจะได้เกิดกับผู้โดยสาร แต่ทุกวันนี้รถใหม่ๆ ให้เอกชนสัมปทานไปเยอะแล้ว บางเจ้าจ่ายค่าจ้างเป็นเงินรายวันหรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์
“พอมองปัญหาเหล่านั้นแล้ว หนทางมันยากนะ ไม่เห็นมีใครที่แก้ปัญหานี้ได้จริงๆ เลย เริ่มจากอย่างแรกต้องแก้ปัญหารถติดให้ได้ก่อน ถ้ารถไม่ติด ขนส่งสาธารณะได้มาตรฐาน คนวางแผนชีวิตแต่ละวันได้ เขาก็ไม่อยากขับรถ แต่ปัญหาก็งูกินหางน่ะ วนไปวนมาอีก พอขนส่งสาธารณะไม่ดี รถเมล์ไม่มาตามเวลา มาขาดช่วง ผู้โดยสารที่คอยก็เกิดคำถาม คนก็ไปซื้อรถยนต์ แล้วรถก็ติดอยู่บนถนน ถามว่าปัญหานี้ต้องแก้ยังไง (เงียบคิด) น่าคิดว่าทำไมต่างประเทศถึงทำรถเมล์ให้ดีได้ มันคงอยู่ที่โครงสร้างการบริหาร รัฐคงต้องเข้ามาดูแลจัดการให้จริงจังมากกว่านี้ ไม่ใช่ให้สัมปทานแล้วปล่อยให้เอกชนไปจัดการเลย เพราะสุดท้ายปัญหาเดิมๆ ก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม”
ภาพ : คชรักษ์ แก้วสุราช
-
#มนุษย์กรุงเทพฯxThairathTV
#เรียนผู้ว่ามหานคร
ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทุนทรัพย์ขนาดเป็นเจ้าของรถยนต์ และไม่มีเมืองคุณภาพที่ไหนพร้อมให้รถยนต์จำนวนมากมาแออัดอยู่บนท้องถนนพร้อมกัน เช่นนั้นแล้ว การแก้ปัญหารถติดที่ยั่งยืนที่สุด คือการพัฒนาขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพและเอื้อต่อการใช้งานจริงของทุกกลุ่มคน ซึ่งรถเมล์คือขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อประชาชนในวงกว้างมากที่สุด
มงคล แก้วสุราช เป็นพนักงานขับรถของ ขสมก. มากว่าสามสิบปี นอกจากมือของเขาจะกำพวงมาลัยแล้วบังคับทิศทางด้วยความชำนาญแล้ว ในฐานะผู้ใกล้ชิดและประสบภัยด้วยตัวเอง ต่อให้ไม่มีคำศัพท์ยากๆ และไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาผ่านทฤษฎีใด แต่มุมมองของเขาที่มองมายัง 'ระหว่างทาง' ของรถเมล์ก็ยังน่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง
แน่นอนว่า เสียงสะท้อนของเขาเป็นเพียงบางส่วนของปัญหา ดังนั้นใครพบเจอปัญหาของรถเมล์ในแง่มุมไหนอีก แล้วกำลังอัดอั้น หงุดหงิด เหนื่อยหน่าย อยากบ่น อยากระบาย หรืออยากร้องเรียนกับผู้ว่า กทม. เราอยากเชิญชวนมาบอกเล่าพร้อมกับติดแฮชแท็ก #เรียนผู้ว่ามหานคร ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง
เผื่อว่าเสียงของผู้ประสบปัญหาโดยตรงจะถูกส่งไปยังผู้มีอำนาจที่กำลังจะเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ ให้มหานครแห่งนี้เปลี่ยนไป ดีกว่านี้ และเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน