Gogoro สตาร์ทอัพ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ที่ทำให้ชาวไต้หวันเปลี่ยนมาใช้ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า แทนจักรยานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยการสร้างสถานีสลับแบตเตอรี เกือบ 2,000 แห่งทั่วประเทศ
ไต้หวันมีประชากรเพียง 23 ล้านคน ในขณะที่มีจำนวนสกู๊ตเตอร์ทั่วประเทศอยู่ถึง 14 ล้านคัน เท่ากับว่าในประชากร 2 คน หนึ่งคนเป็นเจ้าของสกู๊ตเตอร์ สกู๊ตเตอร์คือมอเตอร์ไซต์ขนาดเบา ที่มีล้อเล็ก ทำให้สามารถใช้งานในเมืองได้สะดวกกว่ามอเตอร์ไซต์ขนาดปกติ แต่อย่างไรก็ตามสกู๊ตเตอร์เหล่านี้ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันปิโตรเลียม เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ต่างกัน
ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ระบุออกมานานนับศตวรรษแล้วว่า สภาวะเรือนกระจกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภูมิอากาศโลก ด้วยการเข้าไปปกคลุมชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิสูงโลกขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ความเลวร้ายทางสภาพอากาศล่าสุดที่คนไทยส่วนใหญ่เพิ่งทำความรู้จักและตระหนักเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็มีสาเหตุหนึ่งมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบคมนาคมเช่นกัน ดังนั้นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าไทยถึง 14 เท่าอย่างไต้หวัน แต่มีจำนวนจักรยานยนต์น้อยกว่าเพียงไม่กี่ล้านคัน (ประเทศไทยมีจำนวนจักรยานประมาณ 20 ล้านคัน) จึงประสบปัญหาภาวะทางอากาศอย่างรุนแรงเช่นกัน
มีการคาดการณ์ว่ามลพิษ PM 2.5 ของไต้หวันกว่า 20 เปอร์เซ็นต์มาจากจักรยานยนต์ แม้โดยทั่วไปแล้วพวกมันจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่ารถยนต์และประหยัดน้ำมันมากกว่า แต่ก็ปล่อยไฮโดรคาร์บอนมากกว่าซึ่งจะสร้างหมอกควันไนโตรเจนออกไซด์และคาร์บอนมอนอกไซด์
แต่นั่นคืออดีต…
ผู้คนเดินเท้าบนบาทวิถีกว้างขวางร่วมรื่นในกรุงไทเป ท้องถนนไร้ซึ่งจักรยานยนต์ที่สร้างมลภาวะทางเสียงและมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เสียงโดยรอบที่ได้ยินคือบทสนทนาของผู้คน นกร้องเพลงเจื้อยแจ้วและยานยนต์ไฟฟ้าเสียงแผ่วเบา แม้แต่รถขนส่งมวลชนสาธารณะ ก็ล้วนขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า คุณมีทางเลือกในการเดินทางในเมือง จะเดินสูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอด หรือถ้ารีบหน่อย จะเช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่มีบริการอยู่ทุกมุมเมืองก็ได้
คือวิสัยทัศน์ที่หลายภาคส่วนในไต้หวันเห็นเมืองของพวกเขาในอนาคตร่วมกัน ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันเริ่มออกนโยบายส่งเสริมการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า ในขณะเดียวกันก็เกิดการขานรับอย่างคึกคักของเหล่าผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพที่เปลี่ยนโฉมการคมนาคม จากการสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดบนท้องถนนในชีวิตประจำวันได้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างภาพฝันและแผนนโยบายบนแผ่นกระดาษ เป็นเรื่องง่ายที่รัฐบาลประเทศไหนก็ทำได้ แต่อะไรคือหัวใจที่ทำให้ไต้หวันสามารถเปลี่ยนมอเตอร์ไซต์ที่ใช้น้ำมันนับแสนคัน เป็นมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าได้สำเร็จ นี่คือ
4 บทเรียนที่เราควรเรียนรู้จากกรณีศึกษานี้
01 ความจริงจังของรัฐบาลเรื่องสิ่งแวดล้อม
ไต้หวันนับหนึ่งในประเทศผู้นำของภูมิภาคเอเชียที่มีการผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ภายใน ค.ศ. 2050 โดยมีการประกาศใช้นโยบายสีเขียว (Green Policy) ที่มีเป้าหมายในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะทำให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ภายใน ค.ศ. 2025 ไต้หวันจะยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงรัฐบาลยังประกาศอย่างชัดเจนถึงความพร้อมในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เฉพาะจากหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แต่รัฐบาลพร้อมโอบอุ้มนวัตกรรายย่อยและสตาร์ทอัพรายใหม่ ๆ อย่างเต็มกำลัง
02 สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าและคำถามที่ต้องตอบ
ไต้หวันมีอัตราส่วนประชากรต่อจักรยานยนต์สูงที่สุดในโลก แม้มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่แข็งแรง แต่ด้วยวัฒนธรรมการใช้ชีวิต สกู๊ตเตอร์คือพาหนะอำนวยความสะดวกในเมืองที่แทบทุกบ้านจำเป็นต้องมี ดังนั้นถ้าสามารถเปลี่ยนการใช้งานสกู๊ตเตอร์เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนหลายล้านคัน ไปเป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ จะเป็นก้าวกระโดดสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน การสร้างสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่คำถามคือ ทั่วโลกมียานยนต์ไฟฟ้าถูกผลิตและปล่อยสู่ท้องตลอดมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ทำไมจึงยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร นั่นแบตเตอรีในยานยนต์ไฟฟ้าใช้เวลานานกว่าจะชาร์จไฟเต็ม และบรรจุกลับลงไปได้
เท่ากับว่าถ้าคุณขับรถอยู่และยังไม่ถึงที่หมาย แต่แบตเตอรีหมดเสียก่อน การเดินทางจะต้องชะงักไปหลายชั่วโมง ประกอบกับหลาย ๆ พื้นที่ยังไม่มีสถานีชาร์จไฟที่แพร่หลายพอ จนผู้ใช้รู้สึกสะดวกสบาย เมื่อเทียบกับปั๊มน้ำมันปิโตรเลียมที่มีอยู่ทั่วไป และผู้ใช้ไม่ต้องกังวลว่าแหล่งพลังงานยานยนต์จะหมดกลางทาง
ใน ค.ศ. 2011 Gogoro สตาร์ทอัพเล็ก ๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบคมนาคมไต้หวันไปตลอดกาล เมื่อพวกเขาหาคำตอบให้คำถามนี้ได้ ผ่านการสร้าง Gogoro GoStation หรือเครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เมื่อแบตเตอรีหมดระหว่างทาง ไม่ต้องรอชาร์จ เพียงเข้ามาสลับเอาแบตเตอรีลูกใหม่ที่ไฟเต็มไปได้เลย
นี่คือจุดเปลี่ยนเกมส์ที่ทำให้คนไต้หวันทยอยหันมาใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากันมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
03 รัฐบาลร่วมลงทุนสร้างสถานีแบตเตอรีไฟฟ้า
ทุกวันนี้ถ้าเดินไปบนถนนของกรุงไทเปและหลาย ๆ เมืองใหญ่ในไต้หวัน คุณจะพบ Gogoro GoStation กว่า 1,820 สถานี ตั้งอยู่ทุก 5 กิโลเมตร
เพียงแค่นำแบตเตอรีเข้าไปเสียบในแท่นของสถานี แบตเตอรีที่มีไฟฟ้าเต็มจะดีดตัวออกจากแท่นถัดไปให้สามารถนำไปใส่ในสกูตเตอร์ และแบตเตอรีที่ถูกเสียบไว้ที่ถูกชาร์จจนเต็ม และมีผู้ใช้รายอื่นเข้ามานำไปใช้ต่อ กระบวนการทั้งหมดนี้คือแนวคิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) นับตั้งแต่สร้างสถานี จนถึงทุกวันนี้มีการแลกแบตเตอรีของผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 22 ล้านครั้ง
ที่เป็นเช่นนี้ได้ เนื่องจากกองทุนพัฒนาแห่งชาติของรัฐบาลไต้หวัน เล็งเห็นว่าการขับเคลื่อนให้ตลาดสกูตเตอร์ไฟฟ้านั้นมีความจำเป็น จึงร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ Gogoro ตั้งแต่ปีแรก ๆ ของการก่อตั้ง ในการสร้างสถานีสลับแบตเตอรรัฐบาลจึงเข้ามารับผิดชอบการจัดหาที่ดินและค่าใช้จ่ายด้วย
ไต้หวันยังประกาศว่าภายใน ค.ศ. 2035 พวกเขาจะยุติการซื้อขายจักรยานต์เชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้ถาวร นอกจากนี้ การไปรษณีย์ไต้หวันซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ยังดำเนินนโยบายสอดคล้องกับการขับเคลื่อนของภาครัฐ โดยประกาศปลดระวางจักรยานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลรุ่นเก่า จำนวนกว่า 9,000 คัน เพื่อเปลี่ยนมาใช้จักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ให้ภายใน ค.ศ. 2023
04 คู่แข่งคือผู้ร่วมทางสู่เป้าหมาย
เมื่อ 3 ปีที่แล้วมีการก่อตั้งสมาพันธ์ยานยนต์ไฟฟ้าใต้หวัน (TEVA) ขึ้น จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผู้เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และการผลิตสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็ไม่ได้ผูกขาดกับ Gogoro เพียงแห่งเดียว โดยแบตเตอรีของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าทุกรายสามารถมาสลับแบตเตอรีที่ Gogoro GoStation ได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้
แม้แต่ผู้ผลิตจักรยานยนต์รายใหญ่ของไต้หวันอย่าง KYMCO ก็กระโดดลงมาพัฒนาสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แล้วเช่นกัน ยิ่งมีคู่แข่งในตลาดมาก ยิ่งมีทางเลือกให้ผู้ใช้มาก ยิ่งทำให้การใช้พลังงานสะอาดเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นผลดีโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันจักนยานยนต์ไฟฟ้ามีส่วนแบ่งในตลาดยานยนต์ไต้หวันถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในระดับโลก มีเพียงไม่กีประเทศที่พาหนะไฟฟ้ามีส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในตลาดยานพาหนะ นอร์เวย์เป็นประเทศแรกที่ไปถึงจุดนั้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตามมาด้วยไอซ์แลนด์และสวีเดน
ที่มา National Geographic
สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช
ภาพ Amaris Woo
ข้อมูลอ้างอิง
Taiwan to set up over 3,300 e-scooter battery charging stations in 5 years
A New Chapter in Taiwan’s Love Affair with Scooters
นโยบายอุตสาหกรรมไต้หวันกับการผลักดันเศรษฐกิจหมุ