วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 21, 2565

20 กุมภาพันธ์ - วันทนายความ อ่านเรื่องเล่าของทนายหนุ่มจากเมืองร้อยเอ็ดที่ชื่อ “อานนท์ นำภา”


นรเศรษฐ์ นาหนองตูม is with อานนท์ นำภา.
21h ·

ทุกวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถือเป็นวันทนายความ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ปีนี้ “อานนท์ นำภา” ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความด้านสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เรียนจบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 15 ปี ตอนนี้เขายังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพราะออกมาเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยความคิดถึงขอให้พี่ได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว ได้กลับออกมาทำหน้าที่ทนายความที่พี่รักอีกครั้งหนึ่ง ยังคงเฝ้ารอเสมอ….
ชวนอ่านเรื่องเล่าของทนายหนุ่มจากเมืองร้อยเอ็ดที่ชื่อ “อานนท์ นำภา”
.
“การว่าความคือความสนุก
เป็นการเสพชนิดหนึ่ง
เราลุ่มหลงกับการว่าความพอสมควร”
.
กับศาลและอัยการ เขาเป็นทนายหนุ่มฝั่งจำเลยว่าความคดีโต้แย้งทางสิทธิมนุษยชนให้กับจำเลยคดีการเมืองอยู่เสมอ หลายครั้งศาลไม่ให้ถามความในประเด็นที่ต้องการ เขาก็บอกเพียงว่า “ก็ถามต่อ เอาสิครับ ไม่ได้กลัวไง คือถ้าโดนขังจะยิ่งเท่ไปอีก เรามีความโรแมนติกกับตัวเอง”
.
กับลูกความ เขาเต็มที่กับการว่าความโดยเฉพาะคดีทางการเมือง ยิ่งหลังเหตุการณ์สลายชุมนุมพฤษภาคมปี 2553 มาจนยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคดีอยู่ในมือของ อานนท์ นำภา หลายสิบคดี “ในรุ่นเดียวกันผมว่าความเยอะสุดคือขึ้นว่าความเกือบทุกวัน” อานนท์กล่าวด้วยความมั่นใจในบทสนทนาครั้งหนึ่ง
.
ส่วนกับเพื่อนร่วมงาน เขาเป็นทั้งคนร่วมอุดมการณ์หัวใจเดียวกัน เมื่อพ้นไปจากนั้นเขาออกตัวเสมอว่าเป็นคอมมิวนิสต์น้อยบ้าง เป็นคนโรแมนติกบ้าง เป็นกวีบ้าง และสุดท้ายสิ่งที่ทำให้เขาเห็นภาพจำตัวเองเด่นชัดที่สุดก็คงเป็น “ทนายความสิทธิมนุษยชน” อาชีพที่เขาเคยบอกว่าจะทำไปจนตาย
.
20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี สภาทนายความบรรจุให้เป็นวันรำลึกวิชาชีพทางกฎหมาย หรือ “วันทนายความ” ในฐานะอาชีพหนึ่งที่โดยหลักการแล้ว มีส่วนต่อการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เราจึงอดที่จะนึกถึง “อานนท์ นำภา” ผู้ที่เป็นทั้งทนายความและจำเลยคดีการเมืองในเวลาเดียวกันไม่ได้
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอร่วมส่งความคิดถึงถึง “อานนท์ นำภา” ผ่านบทสนทนาที่ชวนรู้จักในอีกแง่มุมหนึ่ง ท่ามกลางสถานการณ์ที่เขาและใครอีกหลายคนต้องห่างเหินไปจากพวกเรา ด้วยโซ่ตรวนที่ชื่อว่า “ม.112”
.
.
## คอมมิวนิสต์น้อยของครูร้อยเอ็ดวิทยาลัย ##
.
“เด็กหนุ่มอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เข้ามาเรียนสังคมวิทยาฯ ที่ธรรมศาสตร์ ก่อนจะพบว่าตำรากฎหมายเข้ากับชีวิตเขามากกว่า จึงมุ่งมั่นเรียนนิติศาสตร์รามคำแหง กลายมาเป็นทนายความของประชาชน”
.
“คอมมิวนิสต์น้อย” เป็นฉายาของอานนท์ เด็กนักเรียนที่ถูกมองว่าเป็นพวกหลุดกรอบ หลุดจากขนบเดิม ใครๆ ก็มองว่าเขาเป็นพวกหัวรุนแรง อาจเป็นเพราะในช่วงเรียนมัธยม เขาอ่านหนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิตแล้วใฝ่ฝันอยากมีชีวิตดังเช่นในหนังสือ “เราอ่านคมทวน คันธนู ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เเละอีกหลายคน ตอนนั้นจัดโซนเนาวรัตน์เป็นกวีฝ่ายประชาธิปไตย เพราะเห็นเขามีงานเขียนพวกเพียงความเคลื่อนไหว งานเกี่ยวกับแรงงานและประชาธิปไตย นอกจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผนที่เราเรียนกัน ยังมีเรื่องพวกนี้ด้วย”
.
เมื่อขึ้นมัธยมปลาย อานนท์เริ่มเขียนบทกวีตำหนิครูในวันครู เพราะในความคิดของเขา ครูมักจะเปิดโรงเรียนสอนพิเศษให้กับนักเรียนเพื่อแลกกับการทำให้เกรดดีขึ้น “ไม่เวิร์ค มาใช้ชั่วโมง สถานที่โรงเรียน ใช้อะไรมาสอนแล้วก็ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษด้วย ผมก็เลยเขียนบทกวีวิพากษ์วิจารณ์ครูกับพวกเพื่อนและรุ่นน้อง เขียนใส่เอสี่แล้วก็ปิดรอบโรงเรียน”
.
จากนั้น เมื่อใกล้เรียนจบ เขาก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการล่ารายชื่อไม่เห็นด้วยกับการขยายคาบเรียนจาก 50 นาที เป็นหนึ่งชั่วโมงเพื่อเอื้อกับเด็กในตัวเมือง ขณะที่เด็กต่างอำเภอบ้านไกลอย่างเขาต้องประสบปัญหาเรื่องการเดินทาง เพราะหากเลิกเรียนช้าก็จะทำให้เดินทางกลับบ้านได้ช้าลง ไม่ก็ไม่มีรถกลับบ้าน “ได้รับเสียงสนับสนุนจากเด็กต่างอำเภอเยอะมาก พอจบ ม.5 เราก็สมัครประธานนักเรียนชนะขาดเลย”
.
ปีของการเป็นประธานนักเรียน อานนท์ได้ริเริ่มนำประวัติศาสตร์การเมืองยุค 6 ตุลา 19 มาติดที่บอร์ดโรงเรียน ซึ่งก็ได้รับการพูดถึงจากทั้งผู้บริหาร ครู และเพื่อนนักเรียนอย่างกว้างขวาง เขานำข้อมูลและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องมาจากอินเตอร์เน็ต และบางส่วนก็ได้มาจากการเดินทางไปสำรวจจากสถานที่จริง “ผมพยายามจัดเสียงตามสายก็พูดให้คนมาสนใจ ซึ่งก็จะมีคนคล้ายๆ กับเรา พวกคอมมิวนิสต์น้อยก็จะตาม สุดท้ายเขาก็จะไปเป็นประธานนักเรียนต่อ”
.
.
## เข้าเมืองหลวงเพื่อบ่มเพาะวิชากฎหมาย ##
.
ด้วยความสนใจบทกวี การสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกทนายหนุ่มจึงเลือกสาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนจะพบว่าบรรยากาศของสถาบันแห่งนี้ยังไม่ดึงดูดมากพอ เขาจึงสละสิทธิ์เพื่อลุ้นสอบในระบบเอนทรานซ์
.
เขาคิดว่าตนเองเหมาะกับธรรมศาสตร์ หลังได้อ่านงานสายการเมืองไทย เห็นดินสอโดม เป็นภาพอยู่ในสมอง ผลสอบปีนั้นปรากฎชื่ออานนท์ นำภา เป็นนักศึกษารั้วแม่โดมสมใจ แต่กลับไม่ได้เรียนในคณะนิติศาสตร์อย่างที่ตั้งใจ
.
“ถ้าสังคมวิทยาฯ เราไม่ได้ชอบเลย แล้วเราจะรู้สึกโหดร้ายมากที่เราเดินไปเจอเพื่อนคณะนิติฯ ที่เขาแบบต้องไปนั่งในจุดนั้นที่เรียน เราก็มองด้วยความริษยา ทำไมไม่เป็นกูว่ะ เราก็พักหอใน เราก็ฟังมันท่องกฎหมาย ปีหนึ่งจะท่องมาตรา 4 กฎหมายแพ่ง ผมก็ฟังมันท่องอยู่อาทิตย์หนึ่ง กูจำได้แล้วไง แต่มึงยังจำไม่ได้”
.
ความที่อยากเป็นนักกฎหมายมาตลอด ทันทีที่พ้นสองเดือนในรั้วธรรมศาสตร์ เขาเก็บข้าวของออกจากหอพักเพื่อไปเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง “คือมีเซ้นท์ว่าเราทำได้ดีกว่าเรื่องอื่น คือเรื่องเดียวกัน อาจจะไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นมาก แต่ที่ทำมาทั้งหมด อันนี้น่าจะดีกว่า เพราะว่าตอนม.5 เคยไปตอบปัญหากฎหมายระดับภาคอีสาน แล้วก็ได้ที่หนึ่งของภาค”
.
.
## อดีตพันธมิตรกลับใจเพราะนายกฯ พระราชทาน ##
.
บรรยากาศทางการเมืองราวปี 2546-2547 ในแวดวงสิทธิมนุษยชนยุครัฐบาลทักษิณ คงหลีกหนีไม่พ้นข้อครหากรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อีกปัญหาที่สั่งสมอย่างยืดเยื้อที่ทำให้นักเรียนกฎหมายอินไปกับสิทธิพลเมืองมาก คือเมื่อออกค่ายโครงการท่อก๊าซไทย–มาเลย์ จวบปี 2548 และ 2549 คาบเกี่ยวด้วยกระแสต่อต้านทักษิณเริ่มขึ้น และนักกิจกรรมแทบทุกคนต่างมุ่งไปทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
.
“เพราะว่าความเป็นพันธมิตรฯ ในช่วงแรกเขาก้าวหน้า ไม่เอานักการเมืองที่ลักษณะแบบเผด็จการ พอไปถึงจุดที่เรียกร้องนายกพระราชทาน กลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่เอา เราก็ออก แล้ววันรัฐประหารก็ร่วมต้านรัฐประหารตั้งแต่วันแรกๆ เลย
.
“พอรัฐประหารประมาณ 2-3 วันหลังจากนั้น พี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) แกเรียกนักกิจกรรมทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมดไปประชุมกันที่กระจกเงา ตอนนั้นเราอยู่ที่แถวๆ พญาไท ก็วางแผนจะต้านรัฐประหารยังไง รู้สึกว่าช่วงนั้นไม่รู้กี่วันนะ พวกอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ก็นัดรวมตัวไปใส่เสื้อดำที่พารากอน ผมก็ไปตอนนั้น รู้สึกเราเป็นนักกฎหมายก็ยืนดูอยู่ห่างๆ แต่พอพวกพี่หนูหริ่ง มาตั้งเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร เราก็ไปแจมกับเขาไปอ่านบทกวี มีหน้าที่อ่านบทกวี”
.
และนี่จึงเป็นที่มาที่บทกวีของเขาได้กลับมาทำงานอีกครั้ง จากนั้นชื่อของอานนท์ นำภา ก็เริ่มปรากฎในที่ชุมนุม กิจกรรมทางการเมือง และกวีนิพนธ์
.
.
## ทนายความน้อยๆ ที่รักใคร่ของราษฎร ##
.
หลังเรียนจบปริญญาตี เขาต้องไปใช้ชีวิตเป็นทหารเกณฑ์หนึ่งปีใกล้บ้านเกิด และได้เริ่มว่าความแก้ต่างในศาลทหารร้อยเอ็ดให้กับเพื่อนที่โดนคดีวินัยจากผู้บังคับบัญชาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าอานนท์เป็นหนึ่งในทนายความที่ว่าความในคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นจำนวนมาก
.
อานนท์เคยโพสต์ไว้ว่านวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ คือหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เขาประกอบวิชาชีพทนายความ เมื่อตัวเอกในนวนิยายที่พิมพ์ครั้งแรกปี 2496 เล่มนี้ คือ “สาย สีมา” ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายที่มีพื้นเพมาจากชาวนาในชนบท และมีอุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยาก แลดูไม่ต่างจากพื้นเพชีวิตของอานนท์
.
“ในรุ่นเดียวกันผมว่าความเยอะสุด คือขึ้นว่าความเกือบทุกวัน ส่วนพวกที่ทำคดี กยศ. ทำคดีธนาคาร อาจจะได้เป็นหมื่นเป็นแสนบาทต่อคดีก็ได้นะ แต่ถ้าว่าความจริงๆ นับชั่วโมงต่อกัน ผมว่าเยอะ เพราะผมว่าความทุกวัน นับตั้งแต่ปี 2551-2552 มานี้ อาจจะตามพี่ๆ ไปเก็บประสบการณ์ เก็บชั่วโมงบินอยู่ ยังไม่ได้ขึ้นเป็นไม้แรก
.
"พอปี 2552 เริ่มขึ้นแล้ว หลังพฤษภาคม 2553 ก็เริ่มเป็นทนายที่คนรู้จักในมุมทนายโรแมนติก บ้าๆ บอๆ คนหมั่นไส้เยอะ เป็นเรื่องการเมือง พอหลังปี 2553 สลายการชุมนุม ต้องสื่อสารทางการเมือง เราก็เล่าเรื่องคดี เล่าเรื่องคนที่เราไปเจอ คนโดนจับ แล้วตอนนั้นมันเป็นช่วงเริ่มของเฟซบุ๊กเลยเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็ทำคดีการเมืองมาจนถึงปี 2556 กะว่าจะเลิกทำ”
.
กับท่าทีทีเล่นทีจริงที่ว่าจะ “เลิกทำ” แต่หลังรัฐประหาร 2557 ชีวิตอานนท์ก็ไม่สามารถเลิกทำเช่นนั้นได้ เพราะต้องรับภาระหลักในการทำงานด้านกฎหมาย ที่ใช้คำว่า “หลัก” เพราะคนที่ถูกควบคุมตัวเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง อานนท์รู้จักมักคุ้นกับคนกลุ่มนี้ เมื่อมีคดีความ คนกลุ่มนี้ก็มักจะติดต่อให้เขาไปช่วยว่าความให้
.
เพราะความอิ่มเอมของการทำคดีการเมือง คือการรู้ว่าตัวเองเป็นเหมือนตัวละครวรรณกรรมที่อานนท์เคยอ่าน เขาได้รู้จักนิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) และโรม (รังสิมันต์ โรม) อานนท์มองว่าคนเหล่านี้ราวกับเป็น “เสกสรรค์” สมัย 14 ตุลาฯ “เหมือนกับประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแล้วเราไปเป็นตัวละครในนั้น เหมือนกงล้อประวัติศาสตร์”
.
.
## จะเป็นทนายจนวันสุดท้ายของชีวิต ##
.
กับวิชาชีพทนาย อานนท์ตอบทันทีว่า “ทำไปจนตาย ทำอย่างอื่น ไม่ได้หรอกเหมือนพระ พระพอบวชแรกๆ บวชสักยี่สิบพรรษาไม่ค่อยอยากสึกหรอก มีความขลัง แต่การว่าความมีความสนุกด้วย ไม่ได้สักว่าจะทำ การว่าความคือความสนุก เป็นการเสพชนิดหนึ่ง เหมือนอะไรที่เราเข้าไปเสพ เราลุ่มหลงกับการว่าความพอสมควร”
.
เขายังพูดเสมอว่า “เรามีความโรแมนติกกับตัวเอง เป็นทนายตอนนั้นไปว่าความ ชาวบ้านเอาฟักเอาแตงแบกขึ้นรถตู้ ว่าความแล้วได้ของกินกลับมาแล้วเท่ เนื้อแดดเดียวอย่างนี้ บางทีเหมือนกับเราหล่อ เป็นตัวแทน ก็คือคิดในมุมหล่อนะ แต่จะมีความสุขกับความคิด ที่หล่อเลี้ยงตัวเอง เพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกัน เขาก็ประสบความสำเร็จกันไปหมดแล้ว ก็มีเงิน ถ้าพูดเรื่องเศรษฐกิจเขาก็ไปกันสบายล่ะ ก็เหลือแต่เราที่ใช้ชีวิต ใช้ชีวิตแบบไม่ได้รวยมาก แต่ก็ไม่ได้จน”
.
ไม่รู้ว่าทุกวันคืนที่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทนายหนุ่มจะคิดถึงฉากชีวิตทนายสิทธิมนุษยชน และการว่าความของตัวเองแค่มากน้อยแค่ไหน? ในทุกที่ที่เขาอยู่ เราต่างเชื่อว่าเขาคงได้ใช้ความรู้ความสามารถทางกฎหมายอย่างเต็มปรี่ และเราคงจะรำลึกและถามไถ่ถึงกันเสมอๆ จนกว่าจะพบเจอกันอีก
……..
เรื่องเล่าและภาพโดย : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน