วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 21, 2565

หมดยุคอ้างคนดีชนะคนชั่ว มันเป็นมายาคติที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลานาน เรื่องพระรามตู่


...
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
12h ·

หมดยุค อ้างคนดีชนะคนชั่ว รามเกียรติ์ฉบับ ณัฐวุฒิ มันเต็มไปด้วยความไม่ยุติธรรม (ส่วนหนึ่งจากการให้สัมภาษณ์ Easy News )
ถาม : เห็นว่าการอภิปรายที่เพิ่งจบไป นายกฯ ก็มีการหยิบยกเรื่องของรามเกียรติ์ขึ้นมาพูดในสภาจนเป็นที่ฮือฮาในสังคม อยากจะถามถึงมุมมองของคุณณัฐวุฒิ มองเรื่องนี้ยังไงบ้างคะ?
ณัฐวุฒิ : มันเป็นมายาคติที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ว่าด้วยเรื่องความดีความชั่ว ฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม มายาคติแบบนี้ถูกอธิบายผ่านวรรณกรรมหลาย ๆ เรื่อง ว่าฝ่ายพระเอกก็เป็นฝ่ายคนดี ส่วนฝ่ายผู้ร้ายก็เป็นฝ่ายคนชั่ว ซึ่งผมคิดว่าในโลกของความเป็นจริงมันไม่สามารถเอาความดีความชั่วมาแยกขาดความเป็นมนุษย์กันได้ขนาดนั้น หมายถึงตัวคน ๆ หนึ่ง ก็คงมีคุณสมบัติทั้งที่เป็นข้อดีหรือข้อไม่ดีอยู่ในตัวคน ๆ เดียวกัน ดังนั้นการที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าด้วยมายาคติเพียงชุดเดียวว่าฝ่ายไหนดีฝ่ายไหนชั่ว ผมไม่คิดว่ามันจะนำพาสังคมไปสู่วิถีประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ในทางตรงกันข้าม มายาคติแบบนั้นมันสุ่มเสี่ยงที่จะผลักดันสังคมไปในวิถีอำนาจของเผด็จการ ไปในวิถีที่บอกว่าผู้มีอำนาจคือฝ่ายคนดี และต้องเชื่อ ต้องฟัง ห้ามสงสัย ห้ามตั้งคำถาม ใครก็ตามมีคำถามหรือลุกขึ้นมาแสดงการต่อต้านต่อสู้ก็จะกลายเป็นฝ่ายคนชั่วที่จะต้องถูกจัดการไปโดยทันที
เท่าที่เราพบการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยมาตลอดเวลาหลายสิบปี ตัดสั้น ๆ แค่เฉพาะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมคิดว่ามายาคติเรื่องคนดีคนชั่วมีอิทธิพลอย่างสำคัญ เราจะเห็นว่าแม้กระทั่งการขับเคลื่อนพลังมวลชนที่ถูกเรียกว่า “ม็อบ” จากหลายฝ่าย ก็จะมีบางม็อบที่ประกาศตัวว่าเป็นม็อบคนดี เรามีสภาคนดี เรามีรัฐบาลคนดี และถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ม็อบคนดี สภาคนดี และรัฐบาลคนดีเหล่านี้ มีอำนาจในประเทศไทยมาแล้วร่วม 8 ปี แต่สภาพของประเทศชาติและประชาชนก็เป็นอย่างที่เห็น ใครจะบอกว่าเรากำลังเจริญก้าวหน้า ผมไม่ยอมรับ ผมว่านี่กำลังเป็นภาวะลำบากและวิกฤติอย่างยิ่งของประชาชน ซึ่งบรรดาผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นคนดีทั้งหลายไม่มีปัญญาแก้ไข และไม่มีปัญญาที่จะรับผิดชอบด้วยซ้ำ
ถาม : ในส่วนที่ทางด้านของพล.อ.ประยุทธ์ รับบทเป็นพระเอกของเรื่อง หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ โดยส่วนตัวของคุณณัฐวุฒิมองยังไงบ้าง?
ณัฐวุฒิ : ผมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แค่รับบทนะ แกยึดเอาคำว่า “พระเอก” ไปไว้ในตัว ไปไว้ในพวกเสียเลย หมายความว่าจะทำอะไรก็ตามก็ในนามคนดี ในนามของคนรักชาติรักแผ่นดิน หรือในนามของการเสียสละอย่างสูงสุด ดังนั้นคำพูดประเภทว่าท่านอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุดแล้ว ท่านไม่ได้อยากมาแต่จำเป็นต้องเสียสละเพื่อประเทศ หรือไปไหนต่อไหนใครเขาก็ยอมรับ ใครเขาก็ชื่นชม ก็เป็นคำพูดที่มาจากความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของความเป็นพระเอกตลอดไป
ที่จริงสิ่งที่สังคมนี้ต้องการ ไม่ได้ต้องการพระเอกหรือฮีโร่ขี่ม้าขาวที่ไหน สังคมนี้จะอยู่กันโดยสันติและเดินไปข้างหน้าถูกทิศถูกทาง เราต้องการระบบการเมืองที่ถูกต้อง เราต้องการโครงสร้างอำนาจที่ยอมรับในอำนาจอธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง และเคารพในความเป็นมนุษย์ของทุกคนเท่าเทียมกัน ปกป้อง ให้โอกาสและให้ความเป็นธรรมกับทุกคนเท่า ๆ กัน ซึ่งถ้าเราจะเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเราต้องการระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย หลักการต้องเป็นพระเอก ไม่ใช่ตัวคนเป็นพระเอก สังคมไหนก็ตามที่ตัวคนเป็นพระเอก หรือกลุ่มคนเป็นพระเอกขึ้นมา สังคมนั้นกำลังเดินหน้าสู่ระบอบเผด็จการในที่สุด
ถาม : เห็นว่าทางด้านของคุณณัฐวุฒิเองเคยมีการเล่าเรื่องรามเกียรติ์ แล้วก็บอกว่าทศกัณฐ์เป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุดโดยเปรียบเหมือนกับประชาชนที่ถูกเอาเปรียบ อยากให้เล่าย้อนแบบสั้น ๆ สักนิด
ณัฐวุฒิ : ผมก็ไม่ได้แยกว่าฝ่ายไหนดีฝ่ายไหนชั่วนะ เพียงแต่ว่าผมอยากจะเสนอวิธีคิดใหม่ในการให้ความหมายกับวรรณกรรมหรือคติความเชื่อในสังคม แล้วก็ไม่ได้ยืนยันว่าสิ่งที่ผมพูดถูกต้องทุกประการ แต่ผมพร้อมที่จะยืนยันความเชื่อของผมอย่างที่ผมได้พูดไปแล้ว
การปราศรัยที่น้องถามถึงเป็นการปราศรัยช่วงต้นปี 2553 ประมาณ มกรา-กุมภา ก็ 12 ปีเต็มพอดี ช่วงนั้นกำลังจะมีการนัดหมายชุมนุมใหญ่ที่ผ่านฟ้า ผมก็ตระเวนเดินสายไปหลายจังหวัด ผมเสนอความคิดว่าการต่อสู้ของสังคมไทยที่แท้จริงแล้วเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นที่ชนชั้นนำในสังคมกดขี่เอาเปรียบชนชั้นล่างตลอดมาและตลอดเวลา
ดังนั้น ถ้าหากเราจะกลับมายืนเท่า ๆ กัน ก็ต้องทลายกำแพงชนชั้นนั้นเสียด้วยวิถีการต่อสู้ที่ถูกต้อง สร้างระบบการเมืองการปกครองที่ถูกต้องขึ้นมาให้ได้ ความที่ว่าพูดในหลายพื้นที่ แล้วเวลามันผ่านมา 12 ปี แทบลืมมันไปแล้ว แต่อยู่ ๆ ในสภาเกิดประเด็นว่าท่านนายกฯ ปรารภเรื่องพระราม เรื่องทศกัณฐ์ ขึ้นมา น้องทีมงานที่เขาทำงานให้ผม ติดต่อมาบอกว่า “พี่! มันมีเรื่องนี้ ผมนึกถึงคำปราศรัยที่อ่างทอง อยากเอามานำเสนอ” ผมก็บอกโอเค ลองทำมา แล้วก็เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ก็รู้สึกว่ามีผู้คนพูดถึง มีคนเข้าไปติดตามดูพอสมควร
ผมพยายามที่จะอธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น ในมิติของนิยายนะครับ ผมไม่ได้พูดถึงความเชื่อใด ๆ แต่ว่าในแง่ของความเป็นนิยาย ในแง่ของการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย คือฝ่ายพระรามกับฝ่ายทศกัณฐ์ มันเต็มไปด้วยความไม่ยุติธรรม มันเต็มไปด้วยความเอารัดเอาเปรียบโดยอภิสิทธิ์ชน และมันเต็มไปด้วยเล่ห์กลที่หลอกลวงโดยกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเช่นกัน ดังนั้นฝ่ายพระรามที่ถูกยกว่าเป็นฝ่ายคนดี จึงเต็มไปด้วยเทพเทวดาที่ส่งบุคคลพิเศษลงมาช่วย พระอาทิตย์ส่งลูกมาเป็นสุครีพ พระพายส่งลูกมาเป็นหนุมาน พระอินทร์ส่งลูกมาเป็นพระยากากาศ (พาลี) แล้วก็ยังมีเทพเทวดาอีกสารพัดส่งพลังพิเศษของตัวเองมาช่วยฝ่ายพระราม
เท่านั้นยังไม่พอ ในฝ่ายทศกัณฐ์ พระอิศวรก็ส่งเทพบุตรคนหนึ่งลงมาเกิดเป็นพิเภก น้องในไส้ของทศกัณฐ์เอง เพื่อเป็นไส้ศึกให้กับฝ่ายพระราม ดังนั้นเมื่อเรื่องเดินมาถึงขั้นจะจัดทัพรบ พิเภกก็มีเหตุผิดใจกับทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์ก็ไล่พิเภกไปอยู่กับพระราม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เขากำหนดมาตั้งแต่ต้น แล้วพิเภกรู้ทุกเรื่อง เพราะว่า 1. เป็นคนใน 2. พระอิศวรท่านให้แว่นวิเศษ สามารถเห็นเหตุการณ์ในอดีตในอนาคตได้ทั้งสามภพสามโลก อะไรที่เป็นความลับ อะไรที่เป็นเทคนิค อะไรที่เป็นจุดแข็งของฝ่ายทศกัณฐ์ พิเภกบอกพระรามเกลี้ยง เมื่อเพลี่ยงพล้ำก็จะบอกวิธีแก้ จนฝ่ายทศกัณฐ์ซึ่งแทบจะชิงความได้เปรียบได้ในบางกรณี ก็กลับเป็นเสียเปรียบดังเดิม
เทพเทวดาที่เขาส่งมาช่วยพระรามฆ่าไม่ตายสักตัวนะครับ กองทัพพลลิงในบางเหตุการณ์รบตายกันไปแล้ว ก็มีเหตุให้ฟื้นขึ้นมาใหม่อีก ผิดกับพวกยักษ์ฝ่ายทศกัณฐ์ พวกนั้นโดยมากตายแล้วตายเลย แล้วตายกันเป็นเบือ แล้วเหตุที่พวกยักษ์ต้องมาช่วยทศกัณฐ์รบ ไม่ได้มีเทพเทวดาที่ไหนส่งมานะครับ แต่มาเพราะเป็นญาติ มาเพราะว่าทศกัณฐ์มาเกิดเป็นลูกท้าวลัสเตียนแห่งกรุงลงกา ซึ่งมันมีวงศ์วารว่านเครือ ก็ญาติมีเรื่อง ไอ้พวกนั้นก็มาช่วย แล้วมาเจอของแข็ง เจอเจ้าใหญ่นายโต เจอคนที่มีเส้นมีสาย แล้วเจอไส้ศึกเป็นพิเภกเข้าไปด้วย คุณคิดดูก็แล้วกันว่าศึกนี้สู้กันไปถึงที่สุด ไม่ต้องสู้ก็รู้อยู่แล้วว่าฝ่ายทศกัณฐ์ต้องเป็นฝ่ายแพ้ ผมมองมุมนี้
แล้วผมก็เทียบเคียงกับการต่อสู้ของประชาชนในสังคมที่มิติทางชนชั้นยังคงเข้มข้น เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนลุกขึ้นสู้กับชนชั้นนำ อย่างแรกเลยนะครับ พวกเขาจะถูกทำให้กลายเป็นคนชั่ว คนผิด เป็นคนที่คิดร้ายทำลายบ้านเมือง สถานเบาก็ต้องบอกว่าเป็นคนโง่ ถูกเขาล่อลวง ถูกเขาล้างสมอง ถูกเขาจ้าง หรือบังคับใช้มา แล้วถ้ายังขืนที่จะสู้ต่อไปก็จะพบกับวิธีการอำมหิตหรือเล่ห์กลสารพัดที่จะเอารัดเอาเปรียบ แล้วก็เป็นการเอาเปรียบหรือเป็นการคดโกงในนามของคนดี ซึ่งสังคมก็จะถูกย้อมความคิดให้ต้องยอมรับอีกว่านี่เป็นวิธีการที่คนดีจะเอาชนะคนชั่วให้ได้ ซึ่งผมไม่คิดแบบนั้น
ผมคิดว่าความเป็นธรรมมันต้องมี ความเท่าเทียมมันต้องมี ความเคารพต่อความเป็นมนุษย์ร่วมกันมันต้องมี คือต้องเข้าใจก่อนนะว่าพระรามมาสู้กับทศกัณฐ์ในโลกมนุษย์นะ ดังนั้นผมเชื่อในสิ่งนี้ ผมก็เลยยกตัวอย่างบนเวทีปราศรัยนั้นแหละ ว่าเกมนี้ความจริงไม่ต้องมาสู้ให้เหนื่อยน่ะครับ ก็เขาล็อคผลมาตั้งแต่ต้นว่าทศกัณฐ์กับพวกน่ะตายแน่
ที่อำมหิตก็คือว่าส่งทศกัณฐ์มาแล้วพาพลอยให้ญาติวงศ์ยักษ์ตายเกลื่อนแทบสิ้นเชื้อสิ้นวงศ์ไปด้วย ก็ในเมื่อบรรดาท่าน ๆ ทั้งหลายจะรุมกันยำเขาอยู่แล้ว ต้องทำกันแบบนี้ทำไม อย่างที่ยกตัวอย่างว่าตัวช่วยของฝ่ายพระรามฆ่าไม่ตายสักอย่างนะ เวลานั้นผมก็พูดว่าองค์กรอิสระ, ป.ป.ช., กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินมายังไง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แค่ไหนใครไปทำอะไรได้บ้าง
แล้ว “พิเภก” นี่ผมไม่ได้นึกถึงอะไรเลยนะ ผมนึกถึงคำว่า “เนติบริกร” คือหาช่องชี้ซ้ายชี้ขวาบิดไปบิดมา เอาเปรียบได้ตลอด แนะนำวิธีการเอาตัวรอดของฝ่ายพระรามได้ตลอด แล้วคุณสังเกตมั้ย “เนติบริกร” มาจากไหน? มันก็มาจากวงศ์ยักษ์ชนชั้นล่างนี่แหละ ไม่ได้เป็นเทพเทวดามาหรอก ก็เหมือนเป็นพิเภก เป็นลูกชาวบ้านเหมือน ๆ เรานี่แหละ แต่พอมียศมีศักดิ์ขึ้นมาก็เลือกที่จะไปรับใช้ฝ่ายอำนาจ แล้วก็เอาความรู้ความสามารถของตัวเองมาบิดเบือนทุกอย่าง มาสร้างความได้เปรียบทุกอย่าง
ผมก็ยืนยันนะครับว่าความเชื่อนี้ผมไม่เปลี่ยน เหตุที่ต้องพูดแบบนี้เพราะว่า ในปี 53 ตอนที่ปราศรัยนั้น “อริสมันต์” โทรมาหาหลังจากปราศรัยไปแล้ววันสองวัน ว่ามีข้าราชการระดับผอ.สำนักคนหนึ่งในน่าจะกระทรวงวัฒนธรรมมั้งฮะ โทรมาบอกว่าณัฐวุฒิพูดเรื่องรามเกียรติ์แบบนี้ไม่ได้ มันไม่ตรงกับที่เขาเรียนกันหรือไม่ตรงกับที่เขาสื่อสารหรือเข้าใจกัน อย่างนี้ผิด!
ผมพูดแบบนี้แหละ นะครับ ก็ฝากคนในสังคมขบคิดก็แล้วกัน แล้วสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนมามันชัด ว่าลึก ๆ ท่านเข้าใจอย่างนั้น ว่าท่านเป็นคนดี เป็นฝ่ายคนดี เป็นฝ่ายพระราม ซึ่งจะเอาเปรียบเขายังไง จะกดขี่เขายังไงก็ได้ ในนามของความเป็นคนดี สังคมนี้มันต้องผลักให้วิธีคิดของผู้คนเดินมาถึงจุดที่เราเห็นให้ได้ว่าคนมันเท่ากัน และเราเชื่อให้ได้ว่าคนมันจำเป็นที่จะต้องได้รับความชอบธรรม ทั้งการดำรงอยู่ การต่อสู้ หรือการที่จะรักษาสิทธิเสรีภาพของตัวเอง และเมื่อใดก็ตามที่เกิดความไม่เท่าเทียมหรือความไม่ชอบธรรม เป็นสิทธิโดยชอบที่คนไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหนจะต้องลุกขึ้นต่อสู้

#ณัฐวุฒิ #ประยุทธ์ #รามเกียรติ์
หมดยุค อ้างคนดีชนะคนชั่ว รามเกียรติ์ฉบับ ณัฐวุฒิ มันเต็มไปด้วยความไม่ยุติธรรม

Feb 19, 2022

EasyYukhon