วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 22, 2565

เปิดพฤติการณ์โหดเหี้ยม ‘ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา’ ใช้มีด-ไม้-แส้ กักขัง เรียกค่าไถ่ จนตายนับร้อยศพ


The Reporters
16h ·

INVESTIGATIVE: เปิดพฤติการณ์โหดเหี้ยม ‘ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา’ ใช้มีด-ไม้-แส้ กักขัง เรียกค่าไถ่ จนตายนับร้อยศพ รองโฆษกอัยการสูงสุด เผยคดีอยู่ระหว่างฎีกา หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาไปเมื่อปี 62 และอยู่ระหว่างพิจารณาจำหน่ายคดีกรณี ‘พล.ท.มนัส คงแป้น’ หนึ่งในจำเลยเสยชีวิตในเรือนจำ
วันนี้ (21 ก.พ. 65) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยกับ The Reporters ถึงความคืบหน้าคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาว่า ภายหลังศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2562 ล่าสุดคดีอยู่ระหว่างฎีกา หลังจากมีการยื่นฎีกาไปเมื่อวันที่ 3 มี.ค.63 และหลังจาก พล.ท.มนัส คงแป้น หนึ่งในจำเลยเสียชีวิตในเรือนจำ ยังไม่พบการจำหน่ายคดีของ พล.ท.มนัส เนื่องจากถ้าจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธิในการดำเนินคดีอาญาก็สิ้นสุดไปด้วย แต่ศาลต้องไต่สวนให้แน่ชัดด้วยว่า จำเลยตายจริง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ทางกรมราชทัณฑ์ ได้ยืนยันผลการชันสูตรศพมาแล้ว คงต้องรอคำสั่งจากศาลฎีกา
สำหรับคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา เป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่มีจำเลยมากถึง 103 คน จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดี จากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เมื่อปี 62 และการยื่นฎีกาต้นปี 63 ผ่านมา 2 ปี คงต้องรอติดตามว่า ศาลฎีกา จะนัดพิจารณาคดีเมื่อใด ซึ่งกรณีนี้อยู่ในการดูแลของอัยการศาลสูงแล้ว แต่ในส่วนสำนักคดีอาญา 1 ที่รับผิดชอบคดีค้ามนุษย์ ก็ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น จนนำมาซึ่งการสั่งฟ้อง และศาลพิพากษาจำคุกจำเลย สูงสุด 94 ปี
The Reporters รวบรวมพฤติการณ์ของคดีที่มีการยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 103 คน พบว่า เมื่อประมาณต้นเดือน มกราคม 2554 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ต่อเนื่องกัน ขบวนการองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่เป็นจำเลยในคดีนี้ 103 คน และยังจับกุมไม่ได้อีกหลายคนร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมทั้งในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรโดยชักชวนหลอกลวงขู่บังคับชาวบังกลาเทศและชาวโรฮิงญาผู้เสียหาย 80 คนจากประเทศบังกลาเทศและประเทศเมียนมา พาเข้ามายังประเทศไทยและส่งไปประเทศมาเลเซีย
โดยตกลงแบ่งหน้าที่กันทำคือ มีนายหน้าชักชวนผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลและเด็กโดยหลอกลวงว่าจะสามารถส่งไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียได้รับเงินเดือนเดือนละประมาณ 6,000 ริงกิต (60,000 บาท) มีผู้เสียหายส่วนหนึ่งหลงเชื่อตามที่นายหน้าชักชวนส่วนผู้เสียหายที่ไม่สมัครใจไปจะถูกใช้กำลังประทุษร้ายอุ้มพาไปหรือใช้อาวุธปืนข่มขู่บังคับ
ผู้เสียหายบางคนเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และบางคนอายุเกิน 18 ปี เมื่อชักชวนและขู่บังคับแล้วได้นำผู้เสียหายไปยังบ้านพักใกล้กับทะเล อันเป็นน่านน้ำอาณาเขตประเทศบังกลาเทศ และประเทศเมียนมา เพื่อรวบรวมให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ แล้วพาไปลงเรือลำเล็ก เพื่อส่งขึ้นเรือลำใหญ่ที่จอดลอยลำรออยู่ในทะเล
เมื่อรวบรวมผู้เสียหายได้ประมาณ 200 ถึง 500 คนจึงเดินทางเข้ามาในทะเลเขตน่านน้ำของประเทศไทย
บนเรือลำใหญ่จะมีผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมที่มีปืนไม่ทราบจำนวน ชนิด และขนาด มีด ไม้ แส้ และหวาย เป็นอาวุธคอยควบคุมไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี และมีการตรวจสอบจำนวนผู้เสียหาย โดยใช้เชือกสีผูกข้อมือเป็นสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกว่ามาจากนายหน้า
ผู้เสียหายที่มีหมายเลขโทรศัพท์ของญาติ นายหน้า จะเขียนหมายเลขโทรศัพท์เก็บติดตัวไว้เพื่อจะให้ผู้เสียหายโทรศัพท์ติดต่อญาติเพื่อเรียกค่าไถ่ ผู้เสียหาย ถูกจำกัด อาหารและน้ำดื่ม หากขออาหารและน้ำดื่มเพิ่มหรือส่งเสียงดังก่อกวน จะถูกทุบตีทำร้าย จากนั้นจะมีเรือลำเล็กไปรับผู้เสียหายพาไปพักอาศัยอยู่บนเกาะอีกประมาณ 1-2 เดือน หรือพาขึ้นฝั่งไปหลบซ่อนอยู่ตามแนวป่า เพื่อรอรถยนต์มารับต่อไป
การรับผู้เสียหายขึ้นฝั่งนั้น จะขึ้นฝั่งในเขตจังหวัดระนอง และจังหวัดพังงาโดยมีการจัดเตรียมรถยนต์ ไปรับผู้เสียหายจำนวนหลายคัน คันละประมาณ 20 คน มีผู้ขับรถยนต์นำทาง เพื่อแจ้งเตือนไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมผ่านเส้นทาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและพัทลุง เพื่อนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ตามที่พักที่สร้างขึ้นไว้ชั่วคราว (แคมป์) ต่าง ๆ บนเทือกเขาแก้ว ในเขตตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ผู้เสียหายบางส่วน ถูกนำขึ้นฝั่งที่จังหวัดสตูล จากนั้นขึ้นรถยนต์ แล้วเดินเท้าเข้าป่าไปยังแคมป์ดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนหลายหลังหลายเรือนนอนอยู่บนเทือกเขา แต่ละแคมป์ จะมีผู้ควบคุมซึ่งมีอาวุธปืนหลายกระบอกไม่ทราบชนิด และขนาด มีดท่อนไม้ หวายและแส้ เป็นอาวุธทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนีผู้ควบคุม
อีกส่วนหนึ่ง จะดูแลทางขึ้นลงแคมป์ บางคนทำหน้าที่จัดหาเสบียงอาหารขณะอยู่ในแคมป์ผู้เสียหายถูกบังคับ ให้นอนสลับหัวสลับเท้าในลักษณะแออัด และน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคไม่ถูกสุขลักษณะ
ผู้เสียหายคนใดที่มีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อญาติได้ จะถูกบังคับให้โทรศัพท์ติดต่อญาติ และมีการทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ในขณะที่โทรศัพท์คุยกับญาติ เพื่อส่งเสียงร้องเป็นการบีบบังคับญาติให้ต้องยอมจ่ายเงินค่าไถ่ประมาณ 190,000-200,000 แตกา (สกุลเงินบังกลาเทศ) หรือ 1-1.5 ล้านจ๊าด (สกุลเงินเมียนมา) หรือประมาณ 5,000-13,00 ริงกิต (สกุลเงินมาเลเซีย) คิดเป็นเงินไทย 50,000-130,000 บาท
นอกจากนี้ผู้เสียหายจะถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ไปที่ใด และผู้กระทำความผิดจะพาผู้เสียหายย้ายที่พักหลายครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบของเจ้าหน้าที่ใช้คำเรียกผู้เสียหายว่า ‘ตัว’ ‘เชือก’ ‘ลัง’ ส่วนแคมป์ที่พักเรียกว่า ‘คอก’ มีการจัดทำบัญชีว่า ‘ขายได้’ ออกไปจากการควบคุมจำนวนเท่าใดโดยมีการขายผู้เสียหายให้กับผู้อื่น เป็นเงินไทยคนละประมาณ 60,000-70,000 บาท
ผู้เสียหายบางคนที่ไม่สามารถจ่ายเงินให้ผู้กระทำผิดตามที่เรียกร้องได้จะไม่ถูกส่งไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ตามที่ถูกชักชวนหรือหลอกลวง การควบคุมดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหาย อดอาหารหรือได้รับอาหารไม่เพียงพอ จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายบางคนเจ็บป่วย และถึงแก่ความตาย บางคนถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายจะถูกนำศพไปฝังใกล้กับบริเวณแคมป์
จำเลยทั้ง 103 คน กับพวกอีกหลายคน ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรม ต่างกันกล่าวคือเมื่อระหว่างต้นเดือนมกราคม 2554 เวลากลางวันถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เวลากลางวันต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด
โดยจำเลยที่ 1 นายบรรณจง ปองผล, จำเลยที่ 2 นายอ่าสัน อินทธนู, จำเลยที่ 6 นายประสิทธิ์ เหล็มเหล๊ะ ,จำเลยที่ 14 นายอาบู ฮะอุรา, จำเลยที่ 23 นายอนัส หะยีมาแซ, จำเลยที่ 24 นายพิชัย คงเอียง และจำเลยที่ 37 นายสมพล อาดำ ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น
จำเลย ที่ 5 นายยาหลี เขร็ม, จำเลยที่ 35 นายสมบูรณ์ สันโด เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง จำเลยที่ 7 ด.ต.อัศณีย์รัฐ นวลรอด, จำเลยที่ 9 ร.ต.ท.มงคล สุโร,จำเลยที่ 31 พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง , จำเลยที่ 33 ร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์,เป็นข้าราชการตำรวจ
จำเลยที่ 54 พล.ท.มนัส คงแป้น ,จำเลยที่ 90 เป็นทหาร สังกัดกองทัพบก จำเลยที่ 68 เป็นข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ กับจำเลยอื่นและพวกที่หลบหนีร่วมกัน เป็นสมาชิกและเครือข่ายขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมกันสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นธุระจัดหา และใช้กำลังบังคับลักพาตัวหลอกลวงบุคคล และเด็กชาวบังกลาเทศและชาวโรฮิงญาจากประเทศบังกลาเทศและรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เพื่อพาตัวผ่านเข้าทางประเทศไทยแล้วหน่วงเหนี่ยว กักขังขายจำหน่ายไปยังประเทศมาเลเซีย ด้วยวิธีการและลักษณะตามที่กล่าวไป อันเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงินทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันเป็นการกระทำความผิด
เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยการเอาคนลงเป็นทาส บังคับใช้แรงงาน ขูดรีดบุคคลโดยเป็นธุระจัดหาพามาจากหรือส่งไปยังที่ใด ด้วยการนำผู้เสียหาย 7 ราย ที่เป็นเด็กชาวโรฮิงญา อายุตั้งแต่ 12- 14 ปี ซึ่งมีอายุไม่เกิน 15 ปีจากประเทศบังกลาเทศ และรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาเพื่อพาตัวผ่านเข้าทางประเทศไทยและส่งไปยังประเทศมาเลเซีย และได้หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายดังกล่าวให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ข่มขู่ใช้กำลังบังคับข่มขืนใจ และกระทำทารุณจนผู้เสียหายดังกล่าวต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ครอบครัวและละทิ้งทรัพย์สินโดยไม่สมัครใจ
อันเป็นการกระทำโดยไม่เคารพและคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อเอาคนลงมาเป็นทาสหรือบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยการเอาคนลงเป็นทาสบังคับใช้แรงงานขูดรีดบุคคล โดยเป็นธุระจัดหาพามาจากหรือส่งไปยังที่ใดหน่วงเหนี่ยวกักขังจัดให้อยู่อาศัยหรือรับตัวไว้
ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้กำหนดโทษจำเลยไว้ ตั้งแต่ 4 ปี ถึงสูงสุด 94 ปี ติดตามได้ใน
คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้โรฮิงญา Ep1
https://www.facebook.com/2287975534786167/posts/3230110110572700/
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #ค้ามนุษย์โรฮิงญา #ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา