วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 21, 2565

ทีมชัชชาติกับเพื่อน ลงพื้นที่ดูเรื่องการเก็บขยะ เขียนบทสรุปและแนวทางในการปรับปรุง

https://www.facebook.com/chadchartofficial/posts/5057081634352648
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
11h ·

อาทิตย์ที่แล้วทีมเพื่อนชัชชาติลงพื้นที่บางคอแหลม แล้วพบว่าปัญหาที่ประชาชนแจ้งมาคือเรื่องการเก็บขยะ ทางทีมจึงได้ลงพื้นที่ซอยเจริญกรุง 91 อีกครั้ง ตอนช่วงเย็นของวันอังคารที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเข้ามาเก็บขยะในชุมชน เพื่อให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
.
ลักษณะชุมชนบริเวณนี้ และ อีกหลายๆแห่งใน กทม. เป็นชุมชนที่รถเข้าไม่ถึง มีตรอกเล็กๆ สำหรับคนเดิน จักรยาน และ มอเตอร์ไซค์ รถขนขยะขนาดใหญ่ต้องจอดที่ปลายซอยที่รถขยะเข้าถึง แล้วส่งพี่ๆเจ้าหน้าที่ ออกไปลากขยะจากแต่ละจุดมาส่งที่รถขนขยะอีกที
.
จุดที่พวกเราไปดูคือปลายซอยเจริญกรุง 91 ที่รถขยะจอด และ เป็นที่วางอุปกรณ์เข่ง รถลาก ถังขยะ ผมเดินไปกับพี่เตี้ยที่ทำหน้าที่ลากขยะบริเวณนี้มา 37 ปีแล้ว และจะเกษียณในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
.
พี่เตี้ยจะใช้รถลากออกจากจุดรวมขยะ เพื่อไปรวบรวมขยะตามจุดต่างๆ พอปริมาณมากจนลากไม่ไหว (ประมาณ 500 กก.) ก็จะลากไปเทรวมที่รถขยะ แล้วย้อนกลับไปเก็บขยะเพิ่ม จนถึงประมาณทุ่มนึง ได้ประมาณ 3 เที่ยว ปัญหาที่พบคือ
.
1. เป็นงานที่หนักและน่าจะอันตรายต่อสุขอนามัยมาก ขยะมีทุกรูปแบบ ขยะเปียกแห้งปนกัน ทิ้งล้นออกมานอกถัง ใส่ถุงพลาสติกกองไว้นอกถัง มีขยะอันตราย เช่น หลอดไฟนีออน ขยะที่บูดเน่า จำนวนมาก
.
2. รถลากขยะ ไม่สามารถเข้าไปตามซอยย่อยๆได้ ชาวบ้านไม่เอาขยะมารวมบนเส้นทางหลัก กองทิ้งไว้หน้าบ้าน ทำให้พี่เตี้ยต้องจอดรถลาก และ เดินไปขนขยะออกมาจากแต่ละจุด ทั้งเป็นแบบถัง และ แบบถุง เพื่อมาเทรวมใส่เข่งที่อยู่ที่รถลาก
.
3. อุปกรณ์ที่จัดเตรียมมาให้ ไม่เหมาะกับการปฏิบัติงาน พี่เตี้ยจะได้รับเข่งไม้ไผ่สำหรับใช้งาน โดยในโซนนี้ได้เข่งไม้ไผ่ 20 ใบ (ต่อพนักงาน 5 คน) ทุกๆ 6 เดือน พี่เตี้ยเล่าว่า เข่งไม้ไผ่นี้ไม่ทน ถ้าใช้จริงๆ อาทิตย์เดียวก็พังแล้ว สุดท้ายพี่เตี้ยต้องไปจ้างทำเข่งเหล็ก บุด้วยผ้าใบ (ออกเงินเอง) ราคาเข่งละ 800 บาท ซึ่งทนกว่าและรับน้ำหนักได้ดีกว่ามากมาใช้
.
4. ขยะมีปริมาณมาก บางครั้งขนไม่เสร็จ ต้องมาเก็บต่อวันรุ่งขึ้น ทำให้ขยะเน่าบูด ส่งกลิ่นเหม็น นอกจากนี้พี่วินปากซอยบอกว่ามีคนขับมอเตอร์ไซค์จากข้างนอกเอาขยะมาโยนทิ้งในชุมชนด้วย
.
5. จุดจอดรถขยะตรงปลายซอย เจริญกรุง 91 มีการวางอุปกรณ์สำหรับเก็บขยะไว้ ทำให้ชาวบ้าน บางคนรู้สึกว่ากีดขวางทางจราจร
.
ผมเดินกับพี่เตี้ยอยู่ประมาณ 1 ชม. เป็นงานที่หนักมากๆ แต่พี่เตี้ยก็ยังยิ้ม หัวเราะ ทำงานละเอียด ขยะถุงนึงก็ไม่ปล่อยให้หล่น เอามือโกยขยะที่ร่วงใส่เข่งจนหมด ทักทายชาวบ้านตลอด ถามว่าไม่ใส่ถุงมือไม่กลัวโดนบาด เชื้อโรคเข้าเหรอ พี่เตี้ยบอกว่าใส่แล้วทำงานไม่สะดวก ไม่รู้ว่าจับอะไรอยู่ ผมยังคิดว่า ถ้าพี่เตี้ยเกษียณไป เราจะหาคนที่เต็มใจและตั้งใจทำงานหนักแบบนี้มาแทนได้หรือ
.
.
ทีมงานเราลองคิดแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการเก็บขยะในพื้นที่เป็น 2 ส่วน ได้แก่
.
ส่วนบริหารจัดการขยะ
1. แยกขยะ - ทำการแยกขยะเปียกกับขยะแห้ง และ แบ่งวันเก็บ เนื่องจากขยะแห้งจะไม่ส่งกลิ่นเหม็นและเน่าเสีย
2. สร้างแรงจูงใจ - ชุมชนที่มีการจัดการดี มีการแยกขยะ อาจมีแรงจูงใจด้วยการปรับลดค่าเก็บขยะ
3. จัดการถังขยะ - จัดถังขยะให้เพียงพอ ไม่ให้ทิ้งขยะใส่ถุงกองไว้นอกถัง ชุมชนต้องช่วยกันดูแล
.
ส่วนบริหารจัดเก็บขยะ
1. จัดจุดทิ้งขยะ - จัดจุดทิ้งขยะ ให้ง่ายต่อการรวมขยะ เพื่อทำให้การขนประหยัดเวลา สะดวกขึ้น
2. จัดเตรียมอุปกรณ์ - จัดอุปกรณ์ในการเก็บขยะที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และ การใช้งาน อาจให้ระบบรถลากไฟฟ้าเข้ามาช่วยเพื่อให้การลากทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. จัดการจุดจอดรถขยะ - จุดจอดรถขยะ ทำให้สะอาดเป็นระเบียบ หาที่เก็บอุปกรณ์ที่ไม่กีดขวางการจราจร
.
ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญของ กทม. ที่ต้องได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เราไม่สามารถแก้ได้เพียงเฉพาะการเก็บหรือการกำจัด แต่การทิ้งขยะจากบ้านเรือนประชาชนก็ต้องร่วมมือกัน รวมถึง กทม. ต้องดูแล จัดหาอุปกรณ์ที่สะดวก เหมาะสม ปลอดภัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานอย่างพี่เตี้ยด้วยครับ