วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 28, 2565

บทวิเคราะห์ของ แฟรงก์ การ์ดเนอร์ ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของบีบีซี ว่าความเกรี้ยวกราดของประธานาธิบดีปูติน ที่สั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ “เตรียมพร้อมเป็นพิเศษ” นั้นสะท้อนถึงความคืบหน้าและแนวโน้มของปฏิบัติการโจมตียูเครนของรัสเซียได้อย่างไรบ้าง

https://www.facebook.com/BBCnewsThai/photos/a.1527194487501586/3153327951554890/?type=3

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้สั่งการให้กองทัพรัสเซียจัดการให้กองกำลังที่รับผิดชอบด้านอาวุธนิวเคลียร์ "เตรียมพร้อมเป็นพิเศษ" ซึ่งเป็นระดับการแจ้งเตือนสูงสุดของกองกำลังขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Missile Forces) ของรัสเซีย ด้านสหรัฐฯ ชี้ เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่อาจยอมรับได้

นายปูตินกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทหาร ซึ่งรวมถึงพลเอกเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ว่า ชาติตะวันตกได้ "ดำเนินท่าทีที่ไม่เป็นมิตร" อีกทั้งใช้มาตรการคว่ำบาตรโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อรัสเซีย

คำสั่งดังกล่าวของนายปูตินจะเปิดทางให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม นายกอร์ดอน โคเรรา ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของบีบีซีระบุว่า นี่คือวิธีที่รัสเซียใช้ในการส่งคำเตือนถึงองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต มากกว่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่ามีความตั้งใจที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์จริง

นางลินดา โทมัส-กรีนฟีลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับซีบีเอสนิวส์ของสหรัฐฯ ว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของรัสเซียเป็นเรื่อง "ที่ไม่อาจยอมรับได้"

"นี่หมายความว่าประธานาธิบดีปูตินยังคงเพิ่มความรุนแรงให้สงครามครั้งนี้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่ไม่อาจยอมรับได้ และเราจะต้องเดินหน้ายับยั้งการกระทำของเขาอย่างแข็งขันที่สุด"

แฟรงก์ การ์ดเนอร์ ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของบีบีซีวิเคราะห์ว่านี่เป็นสัญญาณถึงความโกรธเกรี้ยวของนายปูติน ต่อมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก และความหวาดวิตกเกินเหตุว่ารัสเซียกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากนาโต

ท่าทีเช่นนี้ของรัสเซียเป็นสิ่งที่นักวางแผนยุทธศาสตร์การทหารของนาโตวิตกอยู่แล้ว นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมพันธมิตรนาโตจึงประกาศตลอดเวลาว่าจะไม่ส่งกองทัพเข้าไปช่วยยูเครนขับไล่กองทัพรัสเซีย

นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ก็ออกมาวิจารณ์ท่าทีของรัสเซียว่าเป็น "สิ่งที่อันตราย" และ "ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ" ทำให้เห็นความก้าวร้าวของรัสเซียที่มีต่อยูเครนมากยิ่งขึ้น

การ์ดเนอร์เห็นว่าความเกรี้ยวกราดของนายปูตินครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครนก็ยังไม่คืบหน้าเท่าไรนัก การโจมตีผ่านไป 4 วันแล้ว รัสเซียยังพูดไม่ได้เลยว่าสามารถยึดครองเมืองใหญ่เมืองใดของยูเครนไว้ได้ และก็ยังสูญเสียรี้พลไปไม่น้อย

ขณะที่นายดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน ก็ออกมากล่าวว่า หากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์กับยูเครน "มันคงเป็นหายนะของทั้งโลก แต่มันจะไม่ทำให้เราต้องยอมแพ้แน่นอน"

นายการ์ดเนอร์ ชี้อีกว่าจากนี้รัสเซียน่าจะเพิ่มความรุนแรงในการโจมตีมากขึ้น และพลเรือนก็อาจได้รับความเสียหายมากขึ้น เพราะรัสเซียไม่ได้ให้ความระมัดระวังเรื่องนี้มาแต่แรกแล้ว

ก่อนหน้านี้ นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าว ว่าหากว่าพลเมืองอังกฤษเลือกที่จะเดินทางไปยูเครนเพื่อเข้าร่วมการต่อสู้ของยูเครน เธอจะสนับสนุนพวกเขา "อย่างเต็มที่ ถ้านั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการทำ"

คำพูดของนางทรัสส์เป็นการตอบสนองการเรียกร้องของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนที่อยากจะให้นักรบจากต่างประเทศเข้าไปร่วมเป็นกองกำลังชาวต่างชาติเพื่อปกป้องยูเครน ซึ่งตั้งขึ้นมาหมาด ๆ หลังจากที่ยูเครนถูกกองทัพของรัสเซียโจมตีเข้าสู่วันที่ 4 แล้ว

ที่มา บีบีซีไทย

อ่านบทความเต็มที่ https://www.bbc.com/thai/60543146