เป็นอันว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลากยาวสืบทอดอำนาจไปได้อีกหนึ่งสมัยประชุมสภาผู้แทนฯ (สมัย ๒ ปี ๖๔) ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ ๑ มีนาคมนี้ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายเคืองเตรียมตัวรอฟัดต่อสมัยหน้า (สมัย ๑ ปี ๖๕) ซึ่งจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม
ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเสนอโดยฝ่ายเคือง นำโดย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.พร้อมด้วยรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๗ หมื่นคน ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๒ “ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี”
โดยที่ประธานสภาฯ เปิดไฟเขียวให้ยื่นได้แล้วในวันพรุ่งนี้ (๒๒ กุมภา) ซึ่งสมชัยแถลงว่า “ได้เดินสายไปพบปะพูดคุยกับทางพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน...เบื้องต้นได้เสียงสนับสนุนจากฝั่งส.ส.มาแล้วประมาณ ๒๖๕ เสียง”
ด้วยความหวังว่าจะได้เสียงเพิ่มมาอีกตลอดการอภิปรายและพิจารณาของสภา จากการที่เปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเสริมต่อไปเรื่อยๆ แม้จะไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงสถานะของร่าง กม. แต่ก็จะแสดงให้สภาเห็นว่าประชาชนสนับสนุนมากเพียงใด
โดยเฉพาะต่อสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าร่าง กม.ต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภานี้อย่างน้อยจำนวน ๑ ใน ๓ หรือ ๘๔ คน ที่สมชัยระบุว่า “ขณะนี้ได้มีการไปพบปะบางคนเท่าที่คุ้นเคยแล้ว และรับปากที่จะให้การสนับสนุน”
ระหว่างนี้เป็นเวลา ๓๐-๔๕ วันที่รอการตรวจสอบรายชื่อร่วมเสนอ และเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน (ตามมาตรา ๗๗) ประมาณ ๑ เดือน สมชัยบอกว่าจะทำการเดินสายพบปะกับพรรคการเมืองอื่นๆ รวมทั้ง ส.ว. เพื่อเพิ่มเสียงสนับสนุนให้มากที่สุด
ก็ดูเหมือนว่านั่นจะเป็นงานหนักเอาการ ในเมื่อประยุทธ์ตั้งหน้าจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง (มีเสียงแทรกข้างๆ ว่า “ให้มันพังไปกับมือ” นะบ้านเมือง) ย่อมต้องการเสียงของ ส.ว.ที่ตั้งมากับมือให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ในสภาวการณ์ทีเสียง ส.ส.กำลังแกว่งสุดกู่
การเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ดูเหมือนจะไม่ค่อยสมหมายดังที่ออกแบบไว้เหมือนครั้งก่อน ทำนองเดียวกับราคาคุยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อตัวเลขการเติบโตในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว (Q4/64) ได้ภาพรวมแค่ ๑.๖%
ประมาณการของสภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปี ๖๔ จะอยู่ที่ ๒.๕ ถึง ๓.๕ ก็ได้แค่ ๑ ครึ่งกว่าๆ แล้วของปีนี้ที่คาดไว้ ๓.๕-๔.๕ ถ้าได้ถึง ๒ ก็ดีถมถื่นแล้วละ ฉันใดก็ฉันนั้น ทางการเมือง พรรค ‘แรมโบ้’ ที่ตั้งใหม่ไว้สำรองความเหลวไหลของ พปชร. ไม่รู้จะแจ้งเกิดไหม
ทำไปทำมาพรรคใหญ่ฝ่ายค้านทำท่าจะได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งใหม่ ‘บัตรสองใบ’ ที่เพิ่งผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหมาดๆ มากกว่า อีกทั้งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็ยังรอการบรรจุเข้าสมัยประชุม เข้าแล้วจะเป็น ‘แวมไพร์’ ลูกผีผสมลูกคนหรือไม่
ขณะนี้ร่าง กม.เลือกตั้งใหม่ (เสนอโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ผ่านพ้นวาระรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ ๗ กุมภา โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นไปที่เว็บไซ้ท์รัฐสภาเพียง ๐ ราย ผู้เขียนเพิ่งเข้าไปดูแล้วเห็นอะไรขัดตาเล็กน้อย
ในฐานะที่เป็นประชาชนธรรมดา ถนัดแต่ตรรกะชาวบ้านและสามัญสำนึกรากหญ้า อ่านข้อ ๑๓ เกี่ยวกับร่างฯ มาตรา ๑๕ แล้วฉงนต่อการ “แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง หรือการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักร”
ระบุว่าถ้าไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม เช่น “หีบห่อที่ส่งบัตรเลือกตั้งมีลักษณะถูกเปิดมาก่อน...หรือมีบัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งมิให้นับคะแนนนั้นโดยให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย” กรณีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรก็เช่นกัน
สมมุตินะ ว่าในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่นครลอส แองเจลีส สหรัฐอเมริกา ตลอดช่วงหาเสียงก่อนวันเลือกตั้ง ปรากฏว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการรณรงค์ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์กันอย่างครึกโครม เสียจนเทคะแนนให้ฝ่ายค้านท่วมท้น
ดังการแจ้งผลภายในวันเลือกตั้ง (ตามร่างมาตรา ๑๘) แล้วจู่ๆ เป็นข่าวว่าในคืนวันเลือกตั้งสถานกงสุลถูกงัดแงะและเปิดกล่องทำบัตรคะแนนเสียหาย อย่างนี้หมายถึงคะแนน ‘แลนด์สไล้ด์’ ของฝ่ายค้านต้องกลายเป็นบัตรเสียไปหรือ
เป็นไปได้ว่าอาจมีชนเชื้อสายไบลารุสรับสินจ้างจากใครไม่รู้ให้ไปก่อการร้าย เหมือนกับชนเชื้อสายเช็คโกรับจ้างไปคุกคาม ปวิน ชัชชวาลพงศ์พันธ์ ในเกียวโต หรือชนเชื้อสายฮิสแปนิครับจ้างไปติดตามก่อกวน จอม เพชรประดับ ในลอส แองเจลีส
ถ้าอย่างนี้ ฝากเจ้าของร่างหาทางแก้ไขหรือป้องกันไว้ก่อนได้ น่าจะดี
(https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=182 และ https://mgronline.com/politics/detail/9650000017222Zanok)