สมชาย ‘แสวงกาว’ บอกว่า ดูยูเครนแล้วให้ย้อนดู ‘ยัวเซ้ลฟ์’ ปล่อยนักแสดงได้อำนาจ ขาดยั้งคิด เพ้อฝัน นำไปสู่สงคราม ชาติหายนะ แต่ชาวบ้านเมื่อดูยูเครนแล้วเหลียวดู ‘ตู่’ กลับเห็นผู้บัญชาการทหารกลายเป็น ‘จำอวด’ ขณะที่ดาวตลกเปลี่ยนเป็น ‘รัฐบุรุษ’
สงครามยูเครนที่ ‘ปูติน’ ก่อ ยังไม่สิ้น แต่การหาญสู้ของพลเมืองและการเคลื่อนกำลังเนโต้เข้าสู่แนวเขตแดนยุโรปตะวันออก ทำให้รัสเซียเริ่มพูดถึงการเจรจาบ้างแล้ว เช่นกันกับหน่วยกู้ภัยควานหาร่าง ‘แตงโม’ มาสองวันไม่เจอทั้งที่นำ ‘ไสย’ ไปช่วย
ท้ายสุดวิทยาศาสตร์พิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อร่างไร้วิญญานอิ่มน้ำก็ลอยขึ้นมาสู่ผิว แล้วดูเหมือนความต้องการ ‘ประดาน้ำ’ เวลานี้อยู่ที่ภาคใต้ เมื่อน้ำเริ่มบากท่วมในหลายจังหวัด โดยเฉพาะนราธิวาส ได้เวลาประชาธิปัตย์แสดง ‘ศักยะ’ ในฐานะพรรคแห่งภูมิภาค
เหล่านั้นเป็นปัญหาพื้นฐานที่รัฐบาลขี้ตู่ไม่เคยแก้ตก พร้อมไปกับการรณรงค์ยกเลิก ม.๑๑๒ ไม่เคยหยุดยั้ง ‘ทานตะวัน’ ตัวตุลานนท์ ถูกมัดมือไพล่หลังอุ้มตัวยัดใส่รถตู้ไป สน.สำราญราษฎร์ ไม่ยอมให้ “เพื่อนหรือประชาชนแม้แต่คนเดียวตามเข้าไป”
แม้นว่าแกนนำเหล่า ‘ราษฎร’ ปฏิวัติ/ปลดแอก จะค่อยๆ ทะยอยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำที่คุมขังทีละคน เหลือแต่ ‘ทนายน้อย’ ผู้เคยเป็นตัวเอกว่าความแก้ต่างให้กับผองเพื่อนซึ่งต้องหา ‘หมิ่นเดชานุภาพ’ ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาทำแค่เรียกร้องความเป็นธรรมและโปร่งใส
ไม่มีใครสามารถคาดหมายในเวลานี้ได้ว่า อานนท์ นำภา จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไร หลังจากที่ถูกจองจำโดยคดีความยังไม่ได้เริ่มพิจารณามาแล้วกว่า ๖ เดือน หากไม่ได้ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ บอกเล่าเนื้อหาคดี คงมีน้อยคนรู้ว่าผู้ต้องหาถูกมัดมือไพล่หลังอย่างไร
“ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ ก.พ. ๒๕๖๕ ทนายความซึ่งรับมอบอำนาจจากพริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานรวม ๕ แห่ง” เพื่อร้องขอให้จัดส่งเอกสารเข้าไปในคดีความของศาลอาญา
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ สู้คดี ม.๑๑๒ และ ม.๑๑๖ “จากกรณีการชุมนุมที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๙ -๒๐ กันยายน ๒๕๖๓” ที่เรียกอีกชื่อว่า คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรเอกสารต่างๆ ที่จำเลยทั้งสี่ร้องขอ “จำเป็นในการต่อสู้คดี และพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคำปราศรัยที่จำเลยทั้งสี่คนถูกกล่าวหา” จากอัยการโจทก์ว่าคำปราศรัยของพวกเขา “มีข้อความอันเป็นเท็จ” ได้แก่ “คดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องร้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ”
เพื่อเรียกคืนทรัพย์สินซึ่งรัชกาลที่ ๗ ทรง “โอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นของส่วนพระองค์โดยไม่มีอำนาจ” เฉกเช่นการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้ต้องคดีจึงขอให้ส่งเอกสารพิสูจน์
“การใช้จ่ายงบประมาณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประจำปี ๒๕๖๐ ถึงปีงบประมาณ ๒๕๖๔” นอกนั้นยังขอเอกสารจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และการบินไทย เกี่ยวกับการเสด็จไปๆ มาๆ ระหว่างดอนเมืองกับมูนิคของ ร.๑๐
เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าระหว่างวันที่ ๑๓ ตุลา ๒๕๕๙ ถึง ๒๐ กันยา ๒๕๖๓ ทรง “ประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีขณะครองราชย์และในวันเกิดเหตุในคดีนี้” ศาลได้อิดเอื้อนไม่ยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวเหล่านั้น
แล้วให้ “เริ่มสืบพยานโจทก์ทันที โดยในนัดต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ สามารถสืบพยานโจทก์ไปได้ ๑ ปาก และกำหนดนัดสืบพยานคดีนี้ต่อไป คือวันที่ ๒๙ มี.ค. ๒๕๖๕ นี้” อีกหนึ่งเดือนพอดี ที่จะเป็นโอกาสให้ศาลสั่งปล่อยตัวอานนท์ออกมาเตรียมงานสู้คดี
และหากศาลยังจะดึงดันเตะถ่วงขังฟรีผู้ต้องหาต่อไปอีก โดยไม่ยอมเรียกเอกสารสำหรับการต่อสู้คดีของราษฎรทั้งสี่ละก็ ตีความได้ว่าศาลพยายามปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ (อัยการ) ต้องยกฟ้องคดี
ไม่เช่นนั้นฝ่ายกลุ่มผู้ถูกกล่าวหา สามารถฟ้องกลับได้ว่าศาลคดีนี้ มิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ดำเนินการอย่างลำเอียง และใช้อำนาจข่มเหงประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา
(https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/4836068443109638, https://prachatai.com/journal/2022/02/97445)