วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 24, 2565

ผู้พิพากษาทั้ง ๔ คน คงได้รับคำสั่งจากใครมา คิดว่าอำนาจอิทธิพลเหลือล้นเสียจน ไม่ใยดีกับศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพของพวกตน

อย่างที่หลายๆ คนคิด และ Pavin Chachavalpongpun ว่า น่าจะใช่ ผู้บริหารศาลอาญากรุงเทพใต้ ทำตัวเป็นจรเข้ขวางคลอง หักดิบคดีเพ็นกวิ้น และอานนท์ เนื่องเพราะ “เกิดกลัวพลังประชาชนขึ้นมา เพราะระดมทุนได้เร็ว เลยไม่ให้ประกัน”

ผู้พิพากษาทั้ง ๔ คน คงได้รับคำสั่งจากใครมา (ปวินว่า “คนที่ตัดสินใจอยู่เยอรมัน”) และคิดว่าอำนาจอิทธิพลเหลือล้นเสียจน ไม่ใยดีกับศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพของพวกตน ทั้งที่ควรรู้ดี “มีแต่จะทำลายความน่าเชื่อถือของศาลยุติธรรมในภาพรวม”

มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีนิติศาสตร์ มธ.มีความเห็นว่าทำให้ “ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ตกต่ำอยู่แล้วยิ่งตกต่ำมากขึ้นไปอีก” ในความเห็นนั้นอาจารย์กฎหมายท่านนี้อธิบายว่า มีหลักปฏิบัติในการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษา

ถึงแม้ “ผู้พิพากษาจะมีความเป็นอิสระในการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาททั้งหลาย แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องต้องกันของการใช้ดุลยพินิจ” ด้วย เรียกกันว่า คำพิพากษาบรรทัดฐานซึ่งก็คือต้องดูตาม้าตาเรือในความเห็นศาลอื่นว่าเป็นเช่นไร

โดยเฉพาะเมื่อ “ผู้ต้องหารายเดียวกัน ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายกรรมหลายวาระ แม้อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลที่แตกต่างกันไป แต่สภาพและความร้ายแรงของการกระทำความผิดมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และเป็นข้อหาเดียวกัน” นั้น

“การที่ผู้พิพากษาของแต่ละศาลใช้ดุลยพินิจที่ไม่สอดคล้องต้องกัน ทำให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบและตัดสินได้อย่างชัดเจนว่า การใช้ดุลยพินิจแบบไหนที่เป็นธรรมและมีเหตุผล” ยิ่งอ้างเป็นคำสั่งผู้บริหาร ทั้งคณะ ผิดไปจากธรรมเนียมปฏิบัติ ยิ่งแสดงพิรุจ

ดูได้จากคำอธิบายรูปการณ์แห่งคดีของทนาย นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ที่ว่าเมื่อ ๒๒ กุมภา “ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันทุกคดี โดยกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามเข้าร่วมชุมนุมก่อความวุ่นวาย,

ห้ามออกนอกราชอาณาจักร, ให้อยู่ในเคหสถานในเวลาที่จำกัด, ให้ติดกำไล EM ติดตามตัว...แม้ศาลอาญาจะไม่เคยให้ประกันตัวมาตลอด แต่ก็อนุญาตให้ประกัน คิดว่าคงเป็นเพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ศาลกำหนดนั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ศาลเชื่อ

ว่าปล่อยตัวไปแล้วอานนท์ฯ จะไปไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น หรือไม่หลบหนี” แต่ศาลกรุงเทพใต้กลับอ้างเหตุที่ขอปล่อยตัว “ว่ามีภารกิจต้องดูแลครอบครัวและต้องทำงานนั้น เห็นว่าเหตุที่ขอปล่อยตัวเป็นเหตุทั่วๆ ไป

ไม่ใช่เหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์ ทั้งที่เหตุดังกล่าวเป็นเพียงเหตุเดียวในเหตุอ้างอื่นๆ อีกหลายกรณี เช่นเดียวกับเงื่อนไขต่างๆ ที่ศาลอาญาใหญ่ตั้งเงื่อนไขสำหรับการปล่อยตัวทุกคดี กว่า ๘ คดี ทนายนรเศรษฐ์ถามว่า อย่างนี้จะให้ทำอะไรอีก

แม้นว่าการแหกโค้งของศาลกรุงเทพใต้ จะกระทำไปโดยอัตตาของผู้พิพากษาเอง (ไม่มีธงลงองค์) ความพิรุจก็มีปรากฏ ในวันที่ (๒๓ กุมภา) มีการยื่นขอประกันแกนนำราษฎรทั้งสอง มีตำรวจจาก สน.ทุ่งสองห้อง เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพ็นกวินในเรือนจำ

พ.ต.ท.วราวุธ หนูชู สารวัตรสอบสวน กล่าวหาและทำบันทึกจับกุม พริษฐ์ ชีวารักษ์ ในความผิด ม.๑๙๘ “ดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จากการโพสต์ข้อความบนเฟชบุ๊คเมื่อ ๒ ธันวา ๖๓ หลังศาลฯ ตัดสินว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ขาดคุณสมบัติเป็นนายกฯ

เพ็นกวิ้นโพสต์ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นสุนัขรับใช้เผด็จการ คดีนี้ “นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจให้ ส.ต.ท.มนตรี แดงศรี มาเป็นผู้กล่าวหา และมีหมายเรียกเมื่อปลายมิถุนา ๖๔ แต่พริษฐ์ยังถูกคุมขัง จึงไม่ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหา

สำหรับการร้องขอประกันตัวครั้งล่าสุดนี้ #คดีครอปท็อป “ศาลระบุว่า ให้จำเลยนำหลักฐานเรื่องการลงทะเบียนเรียน/ตารางเรียนมาแสดง โดยให้ทางมหาลัยเป็นผู้ออกหนังสือรับรอง แล้วศาลจึงจะพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว”

ทั้งนี้ เพ็นกวิ้นมีคดีการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั้งสิ้น ๕๔ คดี สิ้นสุดไปแล้ว ๑๑ คดีย่อย ส่วนใหญ่โทษปรับ จึงเหลือคดีหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกอีก ๔๓ คดี และคดีข้อกล่าวหา ม.๑๑๒ อีก ๒๓ คดี “นับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย”

หากศาลจะปักหลักเอาผิดกับพริษฐ์ เช่นเดียวกับวิธีการกัดไม่ปล่อยของผู้พิพากษาศาลกรุงเทพใต้ละก็ ตายแล้วเกิดใหม่อีกสามรอบก็คงยังไม่ได้ประกันปล่อยตัวชั่วคราว

(https://tlhr2014.com/archives/40715, https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3143089335978808&id=100008333165973 และ https://www.facebook.com/ronsan.huadong/posts/4879723445454278)